Interview

ดร.ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร

ด้วยใจที่รักและใฝ่ในความเป็น “ครู” ตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ อ.ศิริวรรณ เลือกแนวทางในการดำเนินชีวิตเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพแม่พิมพ์ของชาติ มาโดยตลอด

“ตอนปริญญาตรีเลือกเรียนภาษาไทยค่ะ ปริญญาโท ก็หลักสูตรและการนิเทศ พอปริญญาเอกเป็นหลักสูตรและการสอน ทิศทางจึงชัดเจนมาตั้งแต่เด็ก”… อ.ศิริวรรณ เล่าถึงที่มาของเส้นทางการเป็น “ครูมืออาชีพ”

ความชอบใน “ความเป็นครู” นั้น มาจากความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ โดยไม่มีสิ่งแวดล้อมมาชี้นำหรือโน้มน้าวใดๆ แต่เป็นเรื่องของ “ใจ” ที่มีให้กับอาชีพ “ผู้ให้” ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยที่เธอเองก็ไม่รู้ตัว

เมื่อลองนึกย้อนทบทวนว่า เกิดรู้สึกชอบความเป็นครูตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบที่นึกออกก็คงจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ “จำความได้” เพราะเธอชอบสอนหนังสือให้กับน้องๆ มีความสุขกับการเป็นผู้ถ่ายทอดตั้งแต่ยังเด็กๆ แล้วยิ่งเมื่อมาเรียนสาขาวิชาชีพครูจริงๆ ทั้งวิชาการแขนงต่างๆ รวมทั้งอาจารย์ผู้สอน ก็ยิ่งหล่อหลอมให้วิถีของการเป็นครูของเธอชัดเจนมากยิ่งขึ้น

พอเรียนจบปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย) จากราชภัฏนครปฐม ก็ทำงานทันทีในโรงเรียนเอกชน เริ่มจากสอนวิชาภาษาไทยในชั้นมัธยมต้น ระหว่างทำงานไป ก็เริ่มเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปกร (หลักสูตรและการนิเทศ) ควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งจบ

“อาชีพครูในโรงเรียนเอกชน สอนให้รู้จักคำว่า รับผิดชอบ เพราะทันทีที่เราทำงานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่รับมอบหมาย ก็มีสิทธิ์ตกงานได้ทันที ดังนั้น เรื่องของ ระเบียบ วินัย ข้อบังคับต่างๆ จึงถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเรียบร้อย บทเรียนชีวิตในช่วงนั้นจึงสอนตั้งแต่ต้นว่า การทำงานต้องรับผิดชอบ ชัดเจน ยึดถือความถูกต้องเป็นหลัก จนทำให้ทุกวันนี้มองว่า คนเป็นครูต้องรู้จักกับความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน นั่นคือประสบการณ์ตรงที่ได้เจอมากับตัว ถึงสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ได้”

แล้วชีวิตก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งหลังจบปริญญาโท เนื่องจากย้ายไปประจำอยู่ที่ ราชภัฏกาญจนบุรี และระหว่างทำงานไปนั้น พอดีที่มหาวิทยาลัยศิลปกรเริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน) เลยได้เรียนเป็นรุ่นแรก แล้วโชคก็เข้าข้างอีกครั้งเมื่อเรียนจบ เพราะจังหวะนั้นมหาวิทยาลัยศิลปกรเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ ซึ่งคุณสมบัติตรงกับเธอพอดี เป็นจังหวะชีวิตลงตัวมากๆ เพราะทุกทีที่เรียนจบในปริญญาแต่ละใบก็จะได้งานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถทุกครั้ง

ดร.ศิริวรรณ เริ่มชีวิตในรั้วศิลปกรด้วยการเข้ามาเป็นอาจารย์ผู้สอน หลังจากนั้นอีกไม่นานก็ได้รับมอบหมายตำแหน่งรองหัวหน้าภาควิชา ดูแลเรื่องงานบริหารทั่วไป โดยงานสอนนั้นสอนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การสอน หลักสูตร และการนิเทศ ตั้งแต่ระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท ไปจนถึง ปริญญาเอก

จากประสบการณ์ในการสอน ดร.ศิริวรรณ เห็นว่า ช่วงสำคัญที่สุดของการเรียนรู้นั้น คือการใช้ชีวิตตอนเรียนปริญญาตรี ช่วงนี้ถือว่าสนุกที่สุด เพราะยังมีความเป็นเด็กอยู่มาก กล้าพูด กล้าทำ กล้าถาม มีการโต้ตอบ ทำให้สนุก และยังต้องมีความรับผิดชอบกับชีวิตตัวและการเรียนสูงที่สุดอีกด้วย เพราะในวัยนี้หน้าที่สำคัญคือการเรียนอย่างเดียว ยังไม่มีสิ่งอื่นๆ มาปะปนให้วุ่นวายใจมากนัก

“ความสนุกของการทำงานในมหาวิทยาลัย คือการได้เจอเด็กที่หลากหลาย เพราะการศึกษาไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือเหมือนเด็กชั้นประถม ชั้นมัธยม แต่เราต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อมาสอนเขา แล้วเด็กของเราก็เก่ง ไม่ได้เรียนอยู่แค่ในห้องเช่นกัน บางเรื่องเขายังรู้เยอะกว่าเราด้วยซ้ำ ทำให้ต้องบอกกับตัวเองเสมอว่า เราต้องตามเด็กให้ทัน เป็นทั้งความสนุกปนกับความเครียดที่ต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา” ดร.ศิริวรรณ เล่าถึงมุมมองที่ได้สัมผัสกับชีวิตวัยใสในรั้วมหาวิทยาลัย

“ส่วนตัวชอบสอนวิชา “วิธีสอน” เพราะมีวิธีการที่หลากหลาย มีเทคนิคที่สนุกสนาน นักศึกษาได้ลงมือทำเองจริงๆ เป็นวิชาสนุก ไม่เครียด ได้ผลัดกันออกมาแสดงวิธีการสอนของตัวเอง เพื่อนำไปใช้กับวิชาชีพ ส่วนใหญ่ที่จบออกไปก็จะไปเป็นครู แต่เราจะติดอาวุธให้กับเขาด้วยเทคนิคที่ทำให้สอนแล้ว เด็กไม่เบื่อ ไม่หลับ ไม่คุย ตั้งใจในสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอด”

“งานบริหาร ก็ได้มาเริ่มลงมือทำที่นี่ จากการไว้วางใจของผู้บริหาร จากเดิมดูแค่การสอน เมื่อมาทำงานบริหารด้วย ความรับผิดชอบก็จะเพิ่มเป็นทวีคูณ ต้องตัดอะไรที่เป็นส่วนตัวทิ้งไปบ้าง เช่นลดการสอนมาเพิ่มเวลาให้กับการทำงานบริหาร บางเรื่องก็ดีบ้างไม่ดีบ้างในสายตาของคนอื่น แต่ก็พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเต็มกำลังตามความสามารถของตัวเรา ซึ่งจริงๆ แล้วชั่วโมงการสอนก็ไม่ได้ลดลง แล้วเราก็อยากจะรักษาคุณภาพเอาไว้ เพราะนี่คือหน้าที่หลัก เป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือด เป็นงานที่เรารักเราชอบ ถึงแม้จะยังไม่ค่อยลงตัวนัก แต่ก็ไล่เรียงดูแลตามลำดับของความสำคัญลงไป เพราะไม่อยากจะเสียเวลาอยู่กับการพัฒนาปรับปรุงแค่เพียงอย่างเดียว เราอยากจะก้าวเดินไปข้างหน้าบ้าง”

ช่วงที่ยังไม่มีภาระหน้าที่มากนัก ถึงไม่ได้เป็นนักกีฬา แต่ ดร.ศิริวรรณ ก็ชอบออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ทุกเย็นจะต้องไปวิ่งรอบสนามจันทร์ จนได้เหงื่อท่วมตัวแทบทุกวัน แต่พอมีงานเพิ่มขึ้น โอกาสจะไปดูแลตัวเองก็น้อยลงไป ทำให้ต้องไปเน้นที่จิตใจเป็นหลัก โชคดีที่เป็นคนไม่เครียดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังเลิกงาน เสร็จงานคือปิดจบ ถึงบ้านนอนหลับได้สนิท

และอีกสิ่งสำคัญในชีวิตการเป็นครูของ ดร.ศิริวรรณ ก็คือ

“การได้เห็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จของลูกศิษย์ เห็นเด็กของเราได้ทำงานที่ตั้งใจจนประสบผลสำเร็จนั้น ทำให้เกิดพลังที่เป็นแรงผลักดัน เพื่อจะพัฒนาเด็กที่กำลังเรียนอยู่ให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้ เราอยากเห็นความสำเร็จของเขาบ้าง สาขาเรามีโครงการ รับพี่ส่งน้อง โดยนำรุ่นพี่มาเป็นตัวอย่าง เชิญศิษย์เก่ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันโดยตลอด การดูแลเด็กทุกระยะเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่าเมื่อเราไม่ได้สอนแล้วจะไม่ติดตามผล เราจะติดตามดูแลเขาตลอดตั้งแต่เข้ามาจนเรียนจบสำเร็จการศึกษาออกไป อาจารย์ผู้สอน อาจารย์ที่ปรึกษา ก็มีความใกล้ชิดกับเด็ก เพราะเราไม่ได้รับเยอะมาก รับแค่ปีละห้อง แต่ละห้องมีแค่ราว 30 คน ทำให้สามารถดูแลกันอย่างทั่วถึง เหมือนกับลูกหลาน ระดับปริญญาโทและเอก ก็เช่นกัน”

“เด็กที่เราส่งไปฝึกงานจะได้รับคำชมกลับมาตลอด จนได้รับหนังสือว่าขอให้ส่งเด็กไปฝึกสอนอีกจากโรงเรียนหลายๆ แห่ง ซึ่งเราก็ต้องดูว่าเงื่อนไขตรงกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ เช่น ถ้าจะส่งนักศึกษาฝึกสอนภาษาจีนไป โรงเรียนนั้นก็ต้องมีอาจารย์ที่จบภาษาจีนมาด้วย เพื่อจะได้ประเมินผลการสอนให้กับเด็กเราได้ เมื่อจบไปก็จะเป็นครูที่มีคุณภาพ สอบบรรจุได้ในอัตราที่สูง และนอกจากไปเป็นครูซึ่งเป็นงานสายตรงแล้ว ก็ยังมีวิชาชีพให้เลือกได้อีกหลากหลาย เรามีลูกศิษย์ที่เป็นทั้ง นักแปล แอร์โฮสเตส หรือทำงานสถานทูต”

และก่อนจบบทสนทนา ดร.ศิริวรรณ ได้กล่าวถึงความประทับใจเมื่อได้มาอยู่ในองค์กรแห่งนี้…

“การจะประสบผลในการทำงานได้นั้น ต้องมีความร่วมมือในการดำเนินงานทุกเรื่องจากทุกคนที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งเราได้รับสิ่งเหล่านี้ด้วยดีตลอดมา คณาจารย์มีความร่วมมือกันมาก ไม่ว่าจะมีกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้น ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกัน ทำให้เรื่องต่างๆ ที่เคยคิดว่าจะเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก กลับเป็นไปได้ และผลลัพธ์ออกมาก็ดีเกินกว่าที่คาดคิดไว้ บางเหตุการณ์ทำให้เราถึงกับน้ำตาซึม รู้สึกตื้นตันใจเมื่อได้เห็นภาพแห่งความประทับใจที่ทุกคนให้ความร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และต้องชื่นชมนักศึกษาของเราอีกด้วยว่า มีความตั้งใจในการเรียน ในการทำกิจกรรม สิ่งเหล่านี้นับเป็นความอบอุ่นและเป็นความโชคดีที่เราได้มาร่วมอยู่ในองค์กรนี้ค่ะ”