Just Say Know

ไส้กรอก โปรตีนทางเลือก ไม่ใช่ตัวร้าย

ไส้กรอก โปรตีนทางเลือก ไม่ใช่ตัวร้าย

จากกรณีพบ ไส้กรอกลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ เข้ามาจำหน่ายและเสิร์ฟให้กับลูกค้าในร้านอาหารชื่อดัง ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ไม่นาน อาจจะทำให้ใครหลายต่อหลายคน ไม่กล้าที่จะรับประทานไส้กรอกกันต่อ แต่ไม่ต้องกังวลไป นักวิชาการธรรมศาสตร์ ได้ออกมายืนยันว่า ไส้กรอก สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย โดยแนะนำเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้รับรองมาตรฐาน สังเกตฉลาก ป้องกันอันตรายจากสารปนเปื้อน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ดร.รชา เทพษร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไส้กรอก เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ที่มีการเติมแต่งเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และเพื่อการบริโภคที่ง่ายขึ้น รวมไปถึงการขนส่งที่สะดวก โดยยังคงคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ หากปรุงอย่างดีจะได้รสชาติที่อร่อย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค

ไส้กรอก ไม่ใช่ตัวร้ายของสังคม สามารถบริโภคได้ ในปริมาณที่ไม่เบียดบังอาหารหลักจากธรรมชาติ โดยบริโภคอาหารให้หลากหลายมีสารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญต้องเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ป้องกันอันตรายจากสารปนเปื้อน เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค”

ในกระบวนการผลิตไส้กรอกอาจจำเป็นต้องเติมไนไตรต์ เพื่อยับยั้งการเจริญของสปอร์แบคทีเรีย คลอสทริเดียม โบทูลินัม ซึ่งเจริญได้ในที่อับอากาศ และอาจสร้างสารพิษโบท็อกซ์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการอัมพาตที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ และยังมีผลพลอยได้ทำให้เนื้อไส้กรอกสวย เป็นสีชมพู อย่างไรก็ตามการเติมไนไตรต์ ต้องอยู่ในปริมาณตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากกระบวนการผลิตแล้ว แหล่งที่มาของวัตถุดิบก็สำคัญ ไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัย อาจมาจากแหล่งผลิตในประเทศที่มีการระบาดของโรคในสัตว์ซึ่งยังไม่มีมาตรการควบคุม หรือมีการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสารนี้เป็นสารที่เร่งให้สัตว์มีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เร่งสารเร่งสีที่ทำให้เนื้อสัตว์มีสีแดง โดยส่วนใหญ่ใช้ในหมู เพราะหมูมีพฤติกรรมกินแล้วนอน ซึ่งจะทำให้เกิดการสะสมของไขมัน หากหมูมีไขมันเยอะ เนื้อหมูจะขายไม่ได้ในราคาที่ดี เพราะมันหมูราคาถูกกว่าเนื้อแดง ดังนั้นเพื่อให้หมูมีเนื้อแดงมากขึ้น เกษตรกรจึงมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงกระตุ้นหัวใจ ทำให้หมูงุ่นง่าน เพราะหัวใจเต้นเร็ว เดินไปเดินมา กล้ามเนื้อจึงเพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทยโดยกรมปศุสัตว์มีมาตรการห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงหากฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย อัตราโทษมีทั้งจำและปรับ

การเลือกซื้อไส้กรอก ต้องซื้อจากผู้ผลิตที่ได้รับมาตรฐาน โดยสังเกตจากฉลากที่ได้รับการรับรองจาก อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ระวัง ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากสารเคมี เพราะไม่สามารถทราบได้ว่ากระบวนการผลิตมีการเติมแต่งใส่สารอะไรลงไป ผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีการใส่สารกันเสียเกินปริมาณและจะทำให้มีการสะสมของสารไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น หากไม่แน่ใจในแหล่งที่มา แนะให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยง

ที่มา: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์