Interview

ต่อ ศรลัมพ์

ต่อ ศรลัมพ์
กงสุลใหญ่ ณ นคร ลอสแองเจลิส
“ไม่มีใครเป็นพระเอกตลอดกาลและไม่มีใครไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ”

โยธวาทิต : ผมเล่นดนตรีตั้งแต่สมัยประถม พอเข้ามัธยม ม.1 จนถึง ม.5 ก็เข้าไปอยู่วงโยธวาทิตของสามเสนวิทยาลัย ผมเล่นดนตรีตั้งแต่ประถม แล้วที่โรงเรียนสามเสน มีโครงการพิเศษสำหรับเด็กที่มีพื้นฐานทักษะด้านต่าง ๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ กีฬา เพื่อไปต่อยอดในโรงเรียน ผมก็เป็นเด็กในกลุ่มนั้นด้วย พอเข้าไปก็มีพันธกรณีจะต้องทำงานให้กับโรงเรียน ห้องผมจะเต็มไปด้วยเพื่อนแนว ๆ นี้ คนเก่งศิลปะก็จะวาดรูปส่งประกวด บางคนเก่งกีฬาถึงเวลาก็ต้องไปแข่งในนามโรงเรียน ส่วนผมก็อยู่ในวงโยธวาทิตเล่นเครื่องเป่า ยูโฟเนียม บาริโทน อยู่ในช่วงเสียงเทนเนอร์ พอผ่านไปสักสองปี พี่ ๆ เห็นหน่วยก้านดี เลยให้ไปเล่น เบส หรือบางคนเรียก ซูซาโฟน เครื่องเสียงทองเหลือตัวใหญ่สุดในวงที่คล้องตัว สมัยผมในวงมีแค่สองตัว ทำให้ต้องรับผิดชอบมากขึ้น พลาดไม่ได้ มีหน้าที่คอยซับพอร์ท คอยอุ้มวงไว้ คุมจังหวะ

ทำงานเป็นทีม : การอยู่ในวงฯ สอนอะไรเยอะมาก อาจารย์ที่ควบคุมวง เรียกว่าเป็นอีกท่านหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตผม ให้รู้จักการทำงานเป็นทีมเป็นคุ้นเคยกับการอยู่ด้วยกันเป็นทีม ทุกคนมีบทบาท มีหน้าที่ของตัวเอง เรื่องทักษะดนตรี เป็นความสนุกส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ทับซ้อนอยู่ คือความเข้าใจเรื่องการทำงานแบบนี้ และในวงจะมีตำแหน่งต่าง ๆ คนที่อาสาเข้าไปทำงานมากกว่าแค่เล่นดนตรี เช่น ประธานวงฯ รองประธานวงฯ หัวหน้ากลุ่มดนตรีประเภทนั้น ประเภทนี้ เราก็ใช้วิธีเลือกตั้ง เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกหลาย ๆ อย่าง เวลาที่อยู่ในวง ใกล้เคียงกับการทำงานจริง เรามีหน้าที่หลาย ๆ อย่าง ทับซ้อนกันอยู่ เครื่องดนตรีที่เล่นมีบทบาทของตัวเอง บางครั้งเด่น บางครั้งคอยสนับสนุนชิ้นอื่น แต่ทุกประเภท เหมือนกันหมดก็คือ ไม่มีใครเป็นพระเอกตลอดกาล และไม่มีใครไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ พอถึงเวลาทำงานกับคนเยอะ ๆ บริหารทีมงาน ทั้งหมดมันหล่อหลอมเรามาตั้งแต่เด็ก ให้รู้จักการทำงานเป็นทีมให้เป็น 

อักษรจุฬาฯ : ไม่ค่อยชอบเรียนสายวิทย์เท่าไหร่ ทำคะแนนได้ไม่ค่อยดี พอขึ้น ม.ปลาย เลือกเรียน ศิลป์ – ภาษา วิชาที่ไม่ถนัดหายไปหมด ไปเน้นทางภาษาอังกฤษ เยอรมัน ปรากฎว่า พอได้เรียนในสิ่งที่ชอบ คะแนนก็เริ่มขึ้นมาแบบเรียกว่าพลิกไปเยอะเลย เรียน ม.ปลาย แค่สองปี ก็สอบเทียบเข้าคณะอักษรจุฬาฯ จนจบเอกวิชาภาษาเยอรมัน วิชาโทศิลปการละคร ซึ่งต่อมาภายหลังพบว่า ได้ใช้ความรู้จากอย่างหลังเยอะกว่า (หัวเราะ) เพราะผมยังไม่มีโอกาสไปประจำการประเทศที่พูดภาษาเยอรมัน ส่วนใหญ่ก็ใช้ภาษาอังกฤษ เข้ามหาวิทยาลัยไปก็ทำกิจกรรมแบบเต็ม ๆ ตั้งแต่ปีหนึ่ง ช่วงเข้าไปแรก ๆ ปรับตัวยังไม่ค่อยเป็น คะแนนลดลงไปเยอะเหมือนกัน ตอนปีหนึ่งปีสอง เหมือนตอน ม.ต้นเลย (หัวเราะ) มีวิชาบังคับเยอะพอสมควร พอขึ้นปีสามปุ๊ป เข้าวิชาเอก วิชาโท ที่เลือกเรียนเอง ก็เหมือนกับตอนเรียน ม.ปลาย จนเทอมสุดท้าย ผมได้ เอ ทุกตัว 4.00 แต่ดึงขึ้นได้ไม่สุด เพราะตอนต้นแผ่วไปหน่อย ท้ายสุดไม่ถึงเกียรตินิยม แค่ปริ่ม ๆ (หัวเราะ) ไม่ได้ก็คือไม่ได้ แต่ก็ไม่ขี้เหร่ นำคะแนนไปสมัครเข้าเรียนต่อที่อังกฤษได้

ทำทัวร์ : ได้งานบริษัททัวร์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พี่ที่บริษัทบอกว่า ให้มาทำช่วงวันเสาร์ สัปดาห์ละวัน มาปรับตัวให้รู้จักพี่ ๆ ในบริษัท ผมไม่มีเวลาฮันนีมูนให้ได้พักหลังเรียนจบ ไม่ได้นอนพักอยู่กับบ้านเลย พอเรียนจบวันรุ่งขึ้นก็แต่งตัวผูกเนคไทไปทำงานจันทร์ถึงศุกร์ที่บริษัท ชีวิตไม่ได้พักเลย ทำทั้งในออฟฟิศและออกภาคสนาม พาลูกทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศ ผมเป็นพนักงานชุดแรกของบริษัทที่เจ้าของเพิ่งเริ่มก่อตั้งพอดี ไปสมัครในตำแหน่งหัวหน้าทัวร์ เพราะเมื่อตอนเด็กคุณพ่อคุณแม่พาไปเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ผมได้เห็นข้อดีข้อเสียที่เราไปกับทัวร์ โดยเฉพาะหัวหน้าทัวร์ ตอนที่สัมภาษณ์กับเจ้าของบริษัทรู้สึกถูกจริตกัน คุยกันว่า เราได้เห็นทั้งแบบที่ดีและไม่ดี เคยเห็นหัวหน้าทัวร์ที่ทำหน้าที่ได้ดี ก็จดจำวิธีของเขามาใช้ ต้องอ่านหนังสือไกด์บุคต่าง ๆ จดสิ่งสำคัญมาไว้บรรยายกับลูกทัวร์ พอถึงเวลาก็จะพาไปได้ ข้อมูลต้องถูกต้อง ไปดำน้ำไม่ได้ เพราะเคยเห็นมาแล้วว่า หากบอกข้อมูลผิดพลาดไปแต่เพียงเรื่องเดียว ข้อมูลที่เหลือก็ไม่มีใครเชื่อแล้ว ต้องทำการบ้านเยอะ พอเขารู้ว่าเรามีประสบการณ์มาแล้ว ปล่อยให้ลุยเดี่ยวตั้งแต่ทริปแรกเลย เครื่องลงที่อัมเตอร์ดัม ไปเยอรมัน ออสเตรีย สวิส บริษัทรู้ว่าผมพูดเยอรมันได้ พยายามให้ผมไปยังประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน เพราะเวลาที่ลูกทัวร์เขาเห็น จะรู้สึกมั่นใจว่าหัวหน้าทัวร์ติดต่อสื่อสารได้ หัวหน้าทัวร์ เป็นอาชีพที่สนุกและเป็นอาชีพที่ยังใฝ่ฝันอยู่ (หัวเราะ)

กระทรวงการต่างประเทศ : อยู่บริษัททัวร์แค่ครึ่งปีก็ไปขอลาออกเพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบ ถ้าจะเข้ากระทรวงการต่างประเทศให้ได้นั้นยากมาก ต้องทำการบ้านเยอะ เพราะไม่ได้จบด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศมาโดยตรง แต่เราสนใจ ตอนไปลาออกเพื่อเตรียมตัวอ่านหนังสือ เจ้าของบริษัทยังบอกเลยว่าน่าเสียดาย แต่เข้าใจ แล้วถ้าสอบไม่ได้ให้กลับมานะ (หัวเราะ) การอยากเข้าทำงานที่กระทรวงฯ ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดขึ้นตอนไหน แต่รู้สึกว่าตรงกับที่เรียนมาทางด้านอักษรศาสตร์ เรียกว่าเป็นมนุษยศาสตร์ เรียนเพื่อเข้าใจมนุษย์ เรียนวัฒนธรรม ดูว่าจะเข้าถึงคนได้อย่างไร เป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เป็นเรื่องของการใช้ความสามารถทางภาษา งานการต่างประเทศ การทูต ก็เป็นขั้นสูงสุดของการนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สมัยนั้นเรียกว่า เจ้าหน้าที่การทูต เป็นวิชาชีพเฉพาะ ทำงานให้กับกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเติบโตขึ้นไป จะเป็นตัวแทนของประเทศ เริ่มจากเจ้าหน้าที่เด็ก ๆ ฝึกฝนทักษะในเรื่องของการใช้ภาษา การเตรียมเอกสาร เรียนรู้เรื่องการเจรจา ไปเป็นตัวแทนประเทศ การให้บริการประชาชนไทยในต่างประเทศ เรียนงานในทุกมิติ ค่อย ๆ เรียนไป ทีละนิดทีละหน่อย

เรียนต่อ : ทำงานได้หนึ่งปีก็ลาไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวอร์วิก เมืองโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ตรงกับงานที่ทำ แต่ค่อนข้างบีบ เพราะใช้เวลาแค่ปีเดียวจะต้องจบ วิชาที่เรียนเป็นการสัมมนาทั้งหมด ต้องเตรียมตัว อ่านหนังสือเยอะ บางสัปดาห์รายชื่อหนังสือที่ต้องอ่านเป็นหลายร้อยหน้า เตรียมอ่านเพื่อจะไปคุยในห้องแค่สองสามชั่วโมง แล้วก็จบแล้ววิชานั้น ไปเตรียมตัววิชาอื่นอีก เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อย กลัวไม่จบ (หัวเราะ) แต่ไปแล้วก็ต้องจบ พ่อแม่ส่งไปแล้วไม่อยากให้เดือดร้อน พอผ่านช่วงคอร์สเวิร์คไปสองเทอม เทอมสุดท้ายมีเวลาเยอะแล้ว เป็นเรื่องของการเขียนงานส่ง พอเข้าเทอมสุดท้าย บริหารเวลาได้ รู้ว่าใช้เวลาแค่ไหน เหลือเวลาว่างแค่ไหน ผมก็ยังเป็นผม ไม่แค่เรียนแล้ว (หัวเราะ) หาเวลาไปทำงานร้านอาหาร ได้ค่าขนม ได้ประสบการณ์ ได้เห็นการทำงานในร้านอาหารไทย ได้ฝึกพูดคุยกับลูกค้า เรียนจบก็กลับมารายงานตัวทำงานต่อเลย

ประสบการณ์ : รวมเวลาราวสี่ปีกว่าตั้งแต่เริ่มทำงานและไปเรียนต่อ ก็ได้ไปประจำการต่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่ เวียดนาม ประจำการณ์ ณ กงสุลใหญ่ นครโฮจิมินห์ซิตี้ เป็นรองกงสุลฯ ทำหน้าที่หลายอย่าง ที่นั่น เป็นเมืองที่ดีสำหรับการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ออกไปทำงานต่างประเทศเป็นครั้งแรก ได้การต้อนรับเป็นอย่างดี ผู้คนขยัน ค่อนข้างเข้มแข็ง การใช้ชีวิตของเราก็ต้องเข้มแข็งตามไปด้วย เขาเป็นนักเจรจาต่อรองที่เข้มข้น เราก็ต้องเข้มข้นตามไปด้วย ภาษาเขาก็ต้องเรียนรู้ เพราะถ้าไปอยู่โดยไม่พูด จะโดนเอารัดเอาเปรียบ ต้องให้เขารู้ว่า เราก็พูดได้ แล้วทุกอย่างจะเป็นมิตร ราคาของถูกลง นั่งรถแท้กซี่ไม่พาไปวน (หัวเราะ) เพราะเขารู้แล้วว่าเราเป็นคนที่นั่น ซึ่งแต่ละช่วงที่ไปประจำการต่างประเทศ ต้องกลับมาเมืองไทยทุกครั้ง ถึงจะได้ออกไปอีก ผมออกไปประจำการต่างประเทศทั้งหมดสี่แห่ง โฮจิมินห์ เวียดนาม, ซิดนีย์ ออสเตรเลีย, บูดาเปส ฮังการี และ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ประจำอยู่ที่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสเองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อ พฤศจิกายน ปี 2564

ลอสแองเจลิส : เป็นเมืองใหญ่ คนไทยเยอะ พี่ ๆ หลายคนในกระทรวงฯ เคยพูดไว้ว่า เป็นเมืองปราบเซียน (หัวเราะ) เพราะว่าไม่ใช่มาแล้วจะจัดการอะไรต่าง ๆ ได้ง่าย ผมรู้สึกมาตลอดว่า คนที่มาอยู่ที่นี่ ควรมีอาวุโสพอสมควร ทั้งอายุและอาวุโสในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า พอได้มาอยู่ก็รู้แล้วว่า เราแบกความคาดหวังจากหลายฝ่ายไว้ที่เลือกให้มาทำหน้าที่สำคัญ, ชุมชนที่นั่นคาดหวังว่าจะได้กงสุลใหญ่คนใหม่ ค่อนข้างท้าทายและค่อนข้างโชคดี งานที่ ลอสเองเจลิส ไม่เหมือนกับสถานกงสุลใหญ่ที่อื่นซะทีเดียว เป็นงานเน้นไปที่การให้บริการพี่น้องที่เป็นคนไทยเยอะ เรามีกิจกรรมสนับสนุน หรือช่วยชุมชนให้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มีส่วนในการเสริมสร้างความสามัคคีให้กับชุมชน งานจะค่อนข้างเหมือนกับงานภายในประเทศ งานของจังหวัด คล้าย ๆ เป็นงานมวลชนสัมพันธ์ การดำรงอยู่ของเรา มีส่วนอย่างมากที่ต้องได้รับการยอมรับ สนับสนุนจากชุมชน ซึ่งอาจจะต่างจากหลาย ๆ ที่ เพราะว่าสถานทูต สถานกงสุลบางแห่ง ภาระกิจอาจเป็นเรื่องการไปส่งเสริมความสัมพันธ์กับเจ้าบ้านมากกว่า ซึ่งส่วนนี้เรามีอยู่แล้วตามปกติ แต่งานชุมชนไทยค่อนข้างใช้พลังงาน ทรัพยากร ค่อนข้างเยอะมาก ถือว่าโชคดี ที่ได้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โอบรับเข้าไปอยู่ในชุมชนตั้งแต่วันแรกที่ไป อาจเป็นเพราะเคมีลงตัวกันก็เป็นได้ (หัวเราะ)

ข้าราชการ : ภาพนี้ค่อนข้างเปลี่ยนไปเยอะแล้ว โดยเฉพาะพวกเราข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ เรามีสำนึกเรื่องของหน้าที่ว่าต้องให้บริการพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนไทย มาตั้งแต่ที่ผมเข้ากระทรวงฯ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ความรู้สึกเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังมายาวนาน ไม่นึกคิดว่า เราเป็นเจ้าขุนมูลนาย เรามีหน้าที่บริการประชาชน ในกรอบของกฎระเบียบ ทำให้ถูก ทำให้ดี ทำให้ประชาชนถูกใจที่สุด ภายใต้กติกาที่เรามี แต่ออกนอกกติกาไม่ได้ บางครั้งถ้าไม่ถูกต้อง ก็ต้องบอกว่าไม่ถูกต้อง ทุกอย่างถูกใจหมดไม่ได้ แต่มันต้องถูกต้องด้วย แล้วเราจะดูแลให้เต็มที่ นั่นเป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่เรายึดถือ กับทุกสถานกงสุล สถานทูตทั่วโลก 

บริหารเวลา : ครอบครัวเราย้ายไปอยู่ที่นั่นกันหมด วันหยุดเสาร์อาทิตย์ มักมีกิจกรรมชุมชนเข้ามาเสมอ เพราะวันจันทร์ถึงศุกร์ทุกคนต้องทำงานประจำกัน พอวันหยุดเริ่มมีกิจกรรม ทั้งที่วัด ทั้งงานเลี้ยงต่าง ๆ ก็มักได้รับการรับเชิญ ต้องแบ่งเวลา เช่น เช้านี้ไปวัด บ่ายต้องหาเวลาอยู่กับครอบครัว อยู่กับลูก ๆ อยากไปไหนก็พาไป พยายามไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องทำงานทุกวัน แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยมีวันไหนที่ได้หยุดจริง ๆ ซะที (หัวเราะ) ถึงแม้เป็นวันหยุดทางการก็ตาม ก็ต้องพยายามจัดเวลาในแต่ละวันให้ดี ๆ ไม่งั้นจะไม่มีเวลาของเราเลย โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจและสนับสนุน ภรรยามักจะไปร่วมงานด้วยกัน แต่ลูก ๆ บางครั้งเขาก็อยากจะเล่นเกมส์หรือพักผ่อนอยู่กับบ้านบ้าง

สุขภาพกาย : พยายามออกกำลังกาย เล่นกีฬาบ้างเท่าที่พอจะไหว อย่างที่แอลเอ มีทีมฟุตบอล บางทีพี่ ๆ ชวนไปเล่นออกกำลังกายกันสนุก ๆ แต่ช่วงหลังงานค่อนข้างเยอะ จนไม่ได้ไป ต้องขอโทษพวกพี่ ๆ ด้วย หรือใช้วิธีวิ่งแถว ๆ บ้าน เป็นพื้นที่ที่พอวิ่ง เดิน ออกกำลังกายได้ อากาศก็ดี ดูแลรักษาสุขภาพนิดนึง เพราะผมมีปัญหาสุขภาพอยู่บ้าง ต้องเฝ้าระวังอยู่อย่างสม่ำเสมอ

เข้าใจคนอื่น : งานเรามันโมโหคนยาก (หัวเราะ) อาชีพนี้จะปล่อยให้ใครเห็นเราในสภาพหลุดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้แบกตัวเราเองเพียงอย่างเดียว เราแบกหน้าตาของประเทศไปด้วย จึงต้องอยู่ในทรงของเรา แต่เทคนิคในการทำงาน ในการเจรจา บางครั้งต้องปลุกตัวเองเพื่อไปชนกับบางคนบ้าง การเรียนด้านละคร มีส่วนในการทำงานเป็นอย่างมาก ทำให้เราเข้าใจคน เพราะตอนที่เราเรียนละคร เราไม่ได้เรียนแค่การแสดง แต่เราเรียนเพื่อเข้าใจตัวละครด้วยว่า การที่ตัวละครพูดหรือแสดงออกมานั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร บางทีการไปเจอคนเยอะ ๆ ทำให้เข้าใจอะไรได้มากขึ้น ต้องพยายามเข้าใจก่อนว่าเขาเป็นแบบนี้ เพราะมีภูมิหลังอะไรบางอย่าง แล้วจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เหมือนกับตัวละครที่อ่านในบทเป๊ะเลย เราต้องเข้าใจเขาให้ได้ ส่วนในภาคแอ็คติ้ง บางครั้งเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ ก็ต้องแกล้งโมโหบ้าง (หัวเราะ) หรือว่า บางกรณีต้องอ้อนบ้าง (หัวเราะ) เกมส์ในการเจรจามีได้หลายแบบ บางทีต้องใช้ทุกลูกที่มีในกระเป๋า เพียงแต่ต้องดูว่า คู่เจรจาของเราจะต้องใช้วิธีไหนด้วย เล่นใหญ่แล้วสำเร็จก็ต้องทำ แต่เวลาที่ต้องไปจัดการปัญหาจริง ๆ ไม่สนุกแน่ ๆ

ครอบครัวคือที่สุด : ที่เราต้องออกจากบ้านไปทำงาน ก็เพื่อให้มีรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว แต่ท้ายที่สุด หน้าที่การงาน ยศ ตำแหน่ง ก็อยู่กับเราแค่ชั่วคราว เมื่อถึงวันนึง เราต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง ไม่เหลืออะไรเหล่านี้เลย แต่ยังไงก็ต้องเหลือครอบครัวที่อยู่ด้วยกันไปตลอด

เยือนแผ่นดินแม่ : ผมนำคณะ เยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาเยือนแผ่นดินแม่ เป็นโครงการที่ชุมชนคนไทยในสหรัฐฯ และที่ประเทศไทย ช่วยกันจัดอย่างต่อเนื่องมาสี่สิบปีแล้ว ขับเคลื่อนโดยตัวชุมชนโดยแท้ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นของชุมชนคนไทยในต่างประเทศ ภาครัฐมีส่วนช่วยในการสนับสนุน ต่อยอดหลาย ๆ อย่างที่ทำได้ เช่น จัดให้น้อง ๆ และผู้ปกครอง ไปยังกระทรวงต่างประเทศ หรือ การเข้าเยี่ยมคารวะท่านนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นส่วนที่ภาครัฐเราพอสนับสนุนได้ สร้างความประทับใจให้กับทุก ๆ คนเหมือนทุกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สิบสาม เราไม่ได้จัดทุกปี มีเว้นว่างไปบ้าง เป็นความตั้งใจของภาครัฐที่อยากให้ชุมชนเข้มแข็ง เรารู้ว่าโครงการลักษณะนี้ มีส่วนให้เด็ก ๆ ที่อยู่ต่างแดน มาสัมผัสประเทศไทย มีความภาคภูมิใจ ได้เห็นสภาพจริง ๆ ได้รู้จักประเทศไทยได้ลึกซึ้งมากขึ้น เพราะการมาเที่ยวเองอาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับสถานที่สำคัญหลายแห่ง หรือได้ทำกิจกรรมพิเศษร่วมกัน เหมือนกับมาเป็นหมู่คณะ ทำให้เกิดความประทับใจ ทั้งคณะมีราวสองร้อยคน เป็นเด็กและผู้ปกครองอย่างละครึ่ง อยู่ที่โน่นอาจเคยเห็นกันบ้างตอนไปเรียนที่วัดไทย แต่อาจไม่มีโอกาสพูดคุยกัน การได้ร่วมเดินทางครั้งนี้ เด็ก ๆ ได้เดินทางด้วยกันกว่าสองสัปดาห์ ทำให้ได้รู้จักเพื่อน ๆ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเพื่อนใหม่ จากอีก 7-8 รัฐ

ชูความเป็นไทย : สิ่งที่เราพยายามทำอย่างมาก คือการส่งเสริมความนิยมไทยในต่างประเทศ กิจกรรมมีหลากหลายมาก ไทยเรามีของดี ๆ ที่สามารถชูภาพลักษณ์ให้โดดเด่น, อาหารไทย คือเบอร์หนึ่ง การส่งเสริมความนิยมในอาหารไทย คือสิ่งที่เราทำ, วัฒนธรรม การแสดง เทศกาล เรามีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ชุมชนจัดเทศกาลต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ในแคลิฟอร์เนียอย่างเดียว แต่เป็นทุกเมือง ทุกจุด ที่เราสามารถนำความเป็นไทยไปเสนอได้ อย่างล่าสุด ที่ซานฟรานซิสโก มีงาน ไพรด์ พาเหรด ของกลุ่มแอลจีบีทีคิวพลัส ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเรือสุพรรณหงส์ แต่งตัวชุดไทยสวยงาม เดินอยู่กลางเมือง ได้รับเสียงชม ได้รับเหรียญรางวัลทางจากคณะกรรมการที่จัดว่าเป็นขบวนพาเหรดที่สวยที่สุด ภาพออกมาดีมาก น้อง ๆ ทำกันเต็มที่แม้ไม่มีการสนับสนุนจากเรา ผมคิดว่ายังไม่มีสถานทูตไหนที่เข้าไปทำ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยังต้องช่วยกันดูอีกยาวไกล คิดว่าตลาดตรงนี้มีกำลังซื้อสูง มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าไทยในต่างประเทศ, กินแพง อยู่แพง บินมาเที่ยวเมืองไทยก็ใช้จ่ายสูง ทำไมไม่ลองจับตลาดส่วนนี้บ้าง ซึ่ง ททท.ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หรือ มวยไทย เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในสหรัฐและทั่วโลก เด็กเยาวชนท้องถิ่น สนใจ ตั้งใจเรียนกันอย่างจริงจังเยอะมาก, นวดไทย เราก็ส่งเสริมอาชีพให้กับคนไทยที่เป็นพนักงานนวดในต่างประเทศ เพราะความนิยมทั้งหมด ท้ายสุดมันกลับมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้หมด เป็นเรื่องนิยมอาหารไทย ต้องซื้อสินค้าไทย กินอาหารไทย วัตถุดิบในนั้นก็ต้องนำเข้ามาจากประเทศไทย, อุปกรณ์กีฬา ก็ต้องมาจากไทย หลังจากที่ได้สัมผัสความเป็นไทยในหลาย ๆ แง่มุมแล้ว การนำเขาเข้ามาเห็นเมืองไทยจริง ๆ เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดแล้ว รายได้จากการท่องเที่ยวเราสูงถึง 20-30 % นับว่าเยอะมาก 

ทัศนคติ : ต้องเริ่มจาก เราทำได้ ผมเจอคนมาหลายประเภท บางคนพอบอกก็ตั้งการ์ดไว้แล้วว่า ทำไม่ได้ ไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา ถ้าเราเริ่มด้วยทัศนคติแบบนี้ จะทำอะไรก็ไม่สำเร็จสักอย่าง ผมเน้นกับน้อง ๆ ในทีมด้วยว่า อะไรที่เราเห็นว่าดี ต้องกระโดดเข้าไปทำ ถึงแม้จะไม่เคยมีใครทำมาก่อน, ผมทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่กระโดดเข้าไปทำเพราะคิดว่ามันดีและทำได้ แต่จะทำได้หรือไม่ได้ยังไม่รู้ ต้องลองทำดูก่อน, ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยทีมงานที่ดีช่วยกัน เราก็ทำจนสำเร็จออกมาได้ครับ