Just Say Know

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เริ่มฉีดแล้ว

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
เริ่มฉีดแล้ว ที่ รพ.สมิติเวช

โรคไข้เลือดออก เป็นปัญหาสาธารณสุขของหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย สิ่งที่น่าวิตกเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกก็คือ ทุกวันนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง ใช้การรักษาแบบตามอาการ ร่วมกับการณรงค์ในเชิงป้องกันเท่านั้น และหลังจากที่รอคอยการพัฒนามานาน ในที่สุด “วัคซีนป้องกันไข้เลืดออก” ก็ได้ถูกนำมาใช้แล้วในหลายประเทศ และสำหรับในประเทศไทย ก็มีให้ฉีดแล้วที่ รพ.สมิติเวช

ย้อนกลับไปใหนช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์และความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ในประเทศอาเซียนรวมถึงประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีล่าสุดจากตัวเลขล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วอยู่ที่ 58,555 ราย มีผู้เสียชีวิตจากจำนวนผู้ติดเชื้อนี้อยู่ที่ 57 ราย สิ่งที่น่าวิตกของโรคนี้ก็คือ ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง การรักษาโรคนี้จึงต้องเป็นการรักษาแบบตามอาการ มีการตรวจเลือดเป็นระยะ สิ่งที่ช่วยได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็คือเทคนิคการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลงได้บ้าง

ด้วยเหตุนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาและพยายามที่จะนำแนวคิดใช้การป้องกันเป็นการรักษาโรคนี้แทน โดยได้มีการวิจัยร่วมจากประเทศแถบเอเชีย คือ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย รวมถึงประเทศในแถบละตินอเมริกา บราซิล, โคลอมเบีย, ฮอนดูรัส, เม็กซิโก ในที่สุดก็ได้นวัตกรรมการรักษาที่เป็นข่าวดี นั่นคือการค้นพบ “วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก” แล้ว

จากการวิจัยร่วมจนนำไปสู่การพัฒนาต่อจนได้เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีชื่อเป็นทางการว่า “เด็งวาเซีย” (Dengvaxia) วัคซีนนี้ผลิตขึ้นมาจากไวรัสที่มีชีวิตและถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดสอบกับอาสาสมัครกว่า 3 หมื่นกว่าราย ใน 2 ทวีปมาแล้ว และผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าพอใจ เรียกว่าเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์ แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ 100% เสมอไป จากผลการศึกษาพบว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเด็งวาเซียนี้มีประสิทธิภาพ สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ 93.2 % ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 80.8 % และความสามารถในการป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์อยู่ที่ 65.6 %  คือประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในแต่ละสายพันธุ์นั้นจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกันทั้งเรื่องของอายุคนไข้, ประวัติของการได้รับเชื้อของคนไข้ และชนิดของสายพันธุ์ไข้เลือดออกที่เป็น

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้แจงว่าผู้ที่เหมาะสมเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก คือ ผู้มีอายุระหว่าง 9-45 ปี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค ยังไม่ได้แนะนำว่าควรที่จะฉีดวัคซีนนี้ทุกคน แต่จากคำแนะนำนี้ก็เท่ากับว่าคนไทยเราในช่วงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เหมาะสมที่จะเข้ารับวัคซีนชนิดนี้ เพราะไทยเราเป็นโซนที่มีโรคไข้เลือดออกระบาด ส่วนกลุ่มคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, รับประทานยากดภูมิ, กำลังได้รับยาเคมีบำบัด, มีเชื้อ HIV, หญิงตั้งครรภ์, หญิงที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรรับวัคซีนตัวนี้

สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกก็มีอยู่บ้างเกิดได้น้อยและไม่รุนแรงนัก บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะและมีไข้ได้ กลุ่มนี้อาจพบได้ 1 ใน 10 บางคนอาจมีอาการมีเวียนหัว ไอ เจ็บคอ มีผื่นคัน กลุ่มนี้ก็พบได้ที่ 1 ใน 100 ส่วนถ้ารุนแรงกว่านั้น คือ มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งเรียกว่าน้อยมากๆ มากกว่าอัตรา 1 ใน 10,000 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบภาวะแทรกซ้อนในแบบนี้ จากข้อมูลดังกล่าวจึงสรุปได้ว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้ค่อนข้างที่จะปลอดภัย

และขณะนี้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้มาถึงประเทศไทยแล้ว ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และศรีนครินทร์ โทร.02 022 2222