What Ever

น้ำจากพระบารมี ตั้งแต่ฟ้าสู่มหาสมุทร

น้ำจากพระบารมี ตั้งแต่ฟ้าสู่มหาสมุทร

นอกจากปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วม ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว และด้วยสายพระเนตรและพระอัจฉริยภาพ พระองค์ยังทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในด้านการบริหารจัดการน้ำเสีย น้ำเค็ม และน้ำกร่อย เพื่อให้ทรัพยากรน้ำที่ทรงพระราชทานมาเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าอีกด้วย

นอกเหนือจากเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งแล้ว น้ำที่ได้มาอุปโภค บริโภคหลายส่วนนั้น ก็จะวนกลับมาสู่ ลำคลอง หนองบึง อีกครั้ง บ้างก็ตกค้างจะเกิดเน่าเสียขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญในเรื่องดังกล่าว ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียไว้มากมาย

“น้ำดีไล่น้ำเสีย” โครงการพระราชดำริ ในการแก้ปัญหาน้ำเสีย ด้วยการทำให้เจือจาง (Dilution) โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากแหล่งน้ำภายนอก ส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ ซึ่งน้ำจะไหลไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อกำหนดวงรอบการไหลของน้ำไป ตั้งแต่ปากคลองที่น้ำไหลเข้าจนถึงปลายคลองที่น้ำไหลออกได้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งโสโครกไปได้มาก ซึ่งแนวพระราชดำรินี้ แสดงถึงพระปรีชาสามารถว่าทรงเชี่ยวชาญ ในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และเป็นวิธีการ บำบัดน้ำเสียอย่างง่าย ประหยัดพลังงาน และสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา

“โครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2528 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้รูปแบบ “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ความตอนหนึ่งว่า

“…บึงมักกะสันนี้ ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช…”

นั่นก็คือหลักการบำบัดน้ำเสียโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration) ตามแนวทฤษฎี การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “บึงมักกะสัน” กล่าวคือ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วนี้ มา ทำหน้าที่ดูดซับความสกปรก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย โดยทรงเน้นให้ทำ การปรับปรุง อย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมบึง โดยสูบน้ำจากคลองสามเสนเข้าบึงทางหนึ่ง และสูบน้ำออกจากคลองสามเสนอีกทางหนึ่ง โดยให้คงมีผักตบชวาอยู่ในบึงและทำการตกแต่งให้ดีไว้บริเวณกลางบึงเพื่อกรองน้ำเสีย หลักการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียนี้เป็นแบบธรรมชาติ ที่เรียกว่า ระบบ Oxidation Pond หรือ “ระบบสายลมและแสงแดด” ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 30,000-100,000 ลูกบาศก์เมตร

และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศ โดยพระราชทานรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริให้ มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัย และประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งมีรูปแบบ “ไทยทำไทยใช้”โดยทรงได้แนวทางจาก “หลุก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น เริ่มจากการสร้างต้นแบบได้ครั้งแรกในปี 2532 และได้มีการพัฒนาปรับปรุงมาโดยตลอด นับแต่มีการสร้างเครื่องต้นแบบ และนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค

กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2536 หลังจากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สนองพระราชดำริ ในการพัฒนากังหันน้ำ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยื่นขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2535 จึงนับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และครั้งแรกของโลก และถือว่าวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ “กังหันชัยพัฒนา” ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor องค์กรทางด้านนวัตกรรมที่เก่าแก่ของเบลเยียม ภายในงาน “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อีกด้วย

และก่อนที่น้ำจะไหลออกสู่ทะเล ก็ยังคงมีโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหา การมาพบกันของ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว ที่สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก ไม่สามารถใช้พื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้

แม่น้ำบางนรา เป็นแม่น้ำหลักของจังหวัดนราธิวาส ด้วยสภาพภูมิประเทศใกล้ชายฝั่งทะเลและอยู่ในเขตฝนชุก ทำให้ชาวลุ่มน้ำบางนราประสบปัญหาน้ำ ๓ ประเภท น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว ไหลมาบรรจบกันเป็นน้ำกร่อย สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก รวมถึงปัญหาอุทกภัยซ้ำเติมในช่วงฤดูฝนไม่สามารถใช้พื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้   เมื่อ พ.ศ.2523 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับที่พระจำหนักทักษิณราชนิเวศน์ มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาและศึกษาวางโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา ทั้งวิธีระบายบน้ำบรรเทาปัญหาอุทกภัย วิธีกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม

โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำที่ปากแม่น้ำบางนราทั้งตอนบนและตอนล่างพร้อมจัดระบบชลประทานและระบบระบายน้ำ มีพระราชดำริถึงการแยกน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยวออกจากกันโดยกักน้ำจืดไว้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร สร้างระบบป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่ทำกิน และระบายน้ำเปรี้ยวซึ่งขังอยู่ในที่ดินทำกินของราษฎรจนก่อให้เกิดกรดกำมะถันออกจากพื้นที่ และปรับปรุงคุณภาพดินในบริเวณดังกล่าวให้กลับมาใช้การได้ดังเดิม โครงการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2526 ช่วยบรรเทาภาวะน้ำท่วมพื้นที่เพราะปลูกบริเวณสองฝั่งแม่น้ำบางนรา ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้รับผลกระทบคล้ายๆ กัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ทรงพระราชทานพระราชดำริ แนวทางในการแก้ปัญหา จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราชด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ เป็นแค่เพียงบางส่วนในโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากสายพระเนตรอันยาวไกล พระอัจฉริยภาพ และน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่เป็นหยดฝนจนรวมมาเป็นมหาสมุทร แก่ประชาชนชาวไทย ให้สามารถอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมีอย่างร่มเย็นและยั่งยืนสืบไป