จิตวิทยาการกีฬา

ลมหายใจกับการเล่นกีฬา

ลมหายใจกับการเล่นกีฬา

บทความนี้เขียนขณะที่ผมทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ในส่วนของจิตใจของทีมชาติไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมซ์ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

จากการทำหน้าที่ดังกล่าว (ในช่วง 10 วันแรกของการแข่งขัน) สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาในเรื่องของความกดดัน ความคาดหวังต่างๆเกิดขึ้นในเกือบทุกชนิดกีฬา ความกดดันและความคาดหวังมาจากนักกีฬาและจากคนรอบข้าง ความกดดันนี้มีต้นเหตุที่คล้ายๆกัน คือ ความคาดหวังของผลแพ้ชนะ ได้เหรียญทอง ไม่ได้เหรียญ รักษาแชมป์จาการแข่งขันได้หรือเปล่า กดดันจากการที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่ และอื่นๆ ความกดดัน/ความคาดหวังที่นำไปสู่การเล่นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ซ้อมมา ไม่เป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น คนดูและเพื่อนในทีมก็มีผลต่อการแข่งขันเช่นเดียวกัน

ความกดดันที่เกิดขึ้น แม้แต่นักกีฬาในระดับสูงนี้ ก็จะมีผลไปในทางลบเป็นหลัก ทำให้การเล่นไม่เป็นไปตามที่อยากจะให้เป็น และจะสังเกตเห็นว่าความกดดันที่กล่าวถึงหรือยกตัวอย่างมาจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกตัว สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยนักกีฬา หรือถ้าเป็นที่ตัวนักกีฬาก็มักจะเป็นเรื่องที่มาจากภายนอก เช่น เหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ผลการแข่งขันที่ไม่ดี (ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว) หรือแม้แต่ความคาดหวังผลการแข่งขันในอนาคตที่อยากให้ออกมาดี แต่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร

เมื่อนักกีฬาให้ความสนใจสิ่งภายนอก ที่ผลการแข่งขัน สิ่งที่อยากจะได้ อยากให้เกิด เสียใจกับการเล่นที่ผ่านมา ในเซทที่ผ่านมา หรือแม้แต่ในแต้มที่ผ่านมา แสดงว่านักกีฬาไม่ได้อยู่กับสิ่งที่สามารถควบคุมได้ นักกีฬาไม่ได้อยู่กับวิธีการเล่นที่จะนำไปสู่ผลที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ หรือพฤติกรรมที่ภายใต้การควบคุมตัวเอง นักกีฬาลืมในสิ่งที่ต้องมีสมาธิอยู่ ที่มีผลต่อการชู้ตลงในแป้น ลูกเทนนิสหรือปิงปอง ที่ข้ามเน็ตและลงในสนามหรือไม่ หรือเพื่อนในทีมที่เราจะส่งลูกให้ มือและเท้าที่เกี่ยวข้องกับการเล่น การตี เท้า การสับมือในการวิ่ง หรือสายตาที่ต้องจับจ้องลูกวอลเลย์บอล

เมื่อนักกีฬาหลุดออกไปจากสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่เขาควรจะทำที่มีผลต่อการเล่น ผลการเล่นที่ไม่ดีจะยิ่งนำให้นักกีฬาเพิ่มวัฐจักรของการเล่นที่ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามที่ฝึกฝนมามากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดในสถานการณ์ที่เป็นลบ ในสถานการณ์ของความกดดันคือการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนของการหายใจ สถานการณ์ที่มีความยุ่งยาก คับขัน กดดัน การหายใจจะเปลี่ยนไป ไม่เป็นปกติ ส่วนใหญ่การหายใจจะเร็วขึ้น สั้นและไม่สม่ำเสมอ การหายใจที่เปลี่ยนไปนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกายและใจของคนเรา การหายใจที่ไม่ปกติ ผลที่ออกมาก็จะไม่ปกติหรือแตกต่างไปจากการเล่นที่ควรเป็น นั่นแสดงว่าถ้าการหายใจของนักกีฬามีความสม่ำเสมอ มีความลึกและต่อเนื่อง คือการตอบสนองของร่างกายที่สัมพันธ์กับการเล่นในทางที่บวกมากกว่าหายใจสั้นและถี่

คำพูดที่เราคุ้นเคยของโค้ช เพื่อนในทีมและคนดู มักจะตะโกนเชียร์และใช้คำพูดว่า ใจเย็น หายใจลึกๆ ซึ่งยืนยันได้ว่าการควบคุมการหายใจให้เป็นปกติ ต่อเนื่อง ช่วยทำให้การเล่นกีฬาทำได้ดี ในหลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาอธิบายได้ว่าเมื่อร่างกายของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานในด้านอื่นๆของร่างกาย ปอด หัวใจ ความสัมพันธ์ของระบบประสาท กล้ามเนื้อและข้อต่อก็จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทุกอย่างทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความมั่นใจ จิตใจที่นิ่ง สงบ ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นการหายใจ ที่นักกีฬาและมนุษย์ทุกคนทำอยู่แล้วอยู่ภายใต้การควบคุมของเราได้ ผลที่เป็นความสัมพันธ์กับความพร้อมของความเป็นเลิศ (กาย ทักษะ ใจ) ก็จะทำให้นักกีฬากลับมาที่ๆควรจะทำ

การกลับมาที่การหายใจ รับรู้ถึงการเข้าออกของลมหายใจที่มีความชัดเจน นอกจากจะทำให้การทำงานของร่างกายดำเนินการได้ครบสมบูรณ์แล้วยังทำให้จิตใจของนักกีฬากลับมาที่ๆควรจะอยู่ สรุปคือเมื่อนักกีฬาหลุดออกไปจากสิ่งที่นักกีฬาควรจะให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเหตุผลอะไร การกลับมาที่การหายใจ ที่เราคุ้นเคย ไม่ยากที่จะปฏิบัติ จะทำให้เรากลับมาควบคุมตัวเอง ทักาะละอยู่ในสิ่งที่ควรทำ

นักกอล์ฟก็สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ในการที่จะทำให้ตัวเองเล่นกอล์ฟได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านกระบวนการของการควบคุมลมหายในสถานการณ์คับขัน กดดัน ที่เป็นลบได้เช่นกัน

เอาไปทดลองใช้กันครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย