Just Say Know

เมนู ไนโตรเจนเหลว

เมนู ไนโตรเจนเหลว

จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปขนมรูปแบบใหม่ ที่มีลักษณะกลมๆ ถูกราดด้วยของเหลว เมื่อกินแล้วมีไอเย็นคล้ายควันออกจากปาก ที่เรียกกันว่า ขนมควันทะลัก จากนั้นก็มีการแชร์ข้อความต่อๆ กันว่า ขนมควันทะลักดังกล่าว เกิดจากการใช้ไนโตรเจนเหลวมาทำให้ขนมเย็นจนเกิดเป็นไอเย็นคล้ายควันพ่นออกมาเวลารับประทานเข้าไป เพื่อสร้างความแปลกใหม่และดึงดูดลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลว่า ในต่างประเทศมีวัยรุ่นที่เคยรับประทานอาหารที่มีไนโตรเจนเหลวเข้าไปแล้วเกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุ ซึ่งก็สร้างความกังวลให้กับใครหลายๆ คนที่ เคยกิน หรือ กำลังอยากไปลองชิมเมนูเหล่านี้

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีนี้ผ่านหน้า เฟสบุคส่วนตัวว่า “..จากคลิปที่มีคนเอาขนมกลมๆ ไปราดอะไรเย็นๆ แล้วมาขายให้เด็กๆ กินกันพร้อมทั้งพ่นควันออกปากเลย จนสงสัยกันว่ามันคืออะไร อันตรายมั้ย คำตอบคือ เขาราดไนโตรเจนเหลวลงไปครับ และก็ไม่ได้อันตรายอะไรด้วย..”

ไนโตรเจนเป็นก๊าซที่ไม่มีอันตราย เป็นส่วนประกอบอยู่ในอากาศปกติที่เราหายใจถึง 79% อยู่แล้ว ส่วนไนโตรเจนเหลวที่ถูกนำมาใช้ทำเมนูในคลิปก็คือ คือ ก๊าซไนโตรเจนที่ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบของเหลว มีความเย็นที่สูงมาก มีจุดเดือดที่จะเปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นไอที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ดังนั้นเวลาเอาไปราดโดนอะไร ก็มักจะเย็นจัดตามไปด้วย แข็งตามไปด้วย ร้านอาหารบางแห่งใช้ราดลงไปบนส่วนผสมของไอศครีม ให้แข็งตัวสดๆ ซึ่งก็ไม่ได้อันตรายอะไร เพราะมันระเหยไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ควรระมัดระวังเกี่ยวกับ เมนูไนโตรเจนเหลวก็คือ การสัมผัสโดยตรงกับไนโตรเจนเหลวขณะที่ยังเป็นของเหลว ถ้าสัมผัสผิวหนัง หรือรับประทานเข้าไปในปริมาณมากๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่ ไนโตรเจนเหลวก็ไม่สามารถระเหยหายไปได้ในทันที ทำให้เกิดการเผาไหม้บริเวณผิวหนัง อีกสิ่งที่ต้องระวังก็คือ ควันที่ระเหยออกมาของไนโตรเจนเหลวไม่ควรสูดดมในปริมาณมาก แม้ว่าร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นมาให้รับไนโตรเจนในอากาศได้มากถึง 80% และรับออกซิเจนเพียง 20% หากสูดดมไนโตรเจนเข้าไปมากขึ้นอีก จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และเป็นอันตรายต่อสมองได้

สำหรับการรับประทานอาหารที่ใช้ หรือมีส่วนผสมของไนโตรเจนเหลว นั้นไม่ได้เป็นอันตราย เพราะมีการระเหยที่รวดเร็ว สามารถทำมาใช้กับอาหารได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยหมดไปเสียก่อนจึงสามารถรับประทานได้

ส่วนปัญหาที่เด็กๆ กินขนมแช่ไนโตรเจนเหลวแล้วเจ็บปาก ไม่ใช่จากไนโตรเจนเหลวโดยตรง เพราะไนโตรเจนเหลวมันระเหยไปอย่างรวดเร็วมาก เมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง แต่ที่เจ็บปากกันนั้นมาจากตัวก้อนขนมที่เย็นจัด ถ้ากินเข้าไปแล้วอมเอาไว้ ก็เหมือนอมลูกเหล็กที่แช่แข็งมา เนื้อเยื่ออ่อนๆ ในปากจะบาดเจ็บจากความเย็นได้