พัฒนาการที่ยั่งยืน ของการเล่นกอล์ฟเพื่อความเป็นเลิศ
พัฒนาการที่ยั่งยืนของการเล่นกอล์ฟเพื่อความเป็นเลิศ
เดือนที่ผ่านมาเราพูดถึงความอยาก ความสนใจในการเล่นกีฬาเพื่อการแข่งขันลดลงเมื่ออายุของเด็กๆเพิ่มขึ้น บทความนี้เขียนขณะที่ผมทำหน้าที่นักจิตวิทยาการกีฬาของทีมชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน SEA Games ที่ประเทศกัมพูชา และได้มีโอกาสพูดคุยถึงการเตรียมนักกีฬาระยะยาว การเตรียมนักกีฬาที่มีความยั่งยืนกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬาในศาสตร์อื่นๆเพื่อการจัดการที่เป็นระบบและต่อเนื่องที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของกีฬาเพื่อความเป็นเลิศของไทยต่อไป
ในความเป็นเลิศทางการกีฬาแน่นอนว่าไม่ได้มาจากด้านของจิตใจเพียงอย่างเดียว ด้านร่างกายและด้านของทักษะคือสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน ความเป็นเลิศจึงจะเกิด ในขณะเดียวกันเมื่อทั้ง 3 ส่วนต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน เราได้ทำกันในสัดส่วนที่เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน และมีผลอย่างไรต่อการบรรลุเป้าหมายและเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน
ในการที่จะเล่นกีฬาให้ประสบความสำเร็จสูงสุด ในระดับชาติ นานาชาติหรือระดับโลก ที่หมายถึงการเล่นที่เหลือกว่าคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ของง่าย เพราะทุกคนก็ต้องการที่จะทำอะไรได้ดี ได้สำเร็จ ซึ่งหมายถึงการต้องทำได้มากกว่า ดีกว่าคนอื่น เมื่อนักกีฬามีความคิดเดียวกันว่าต้องทำให้ได้เหนื่อกว่าคนอื่นเหมือนกัน ความยาก จึงเกิดขึ้นขณะที่ความมุ่งมั่น อดทน อย่างมีเหตุผลจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เกิดขึ้นตามมา แต่ในเป้าหมายเดียวกันมีนักกีฬาที่สามารถถึงจุดนั้นได้ไม่เท่ากัน ไม่ทุกคน ใน 3 องค์ประกอบนั้นได้มีการเตรียมการเท่ากันหรือเปล่า หรือทำได้เท่ากันหรือเปล่า อย่างไรก็ตามเมื่อเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผลหรือเป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดจะเกิดหรือไม่ นักกีฬาจึงต้องเตรียมการให้เต็มความสามารถ โดยปล่อยความสามารถและการเตรียมการนั้นนำไปสู่ผลที่ควรจะเป็นของมันเอง
อย่างไรก็ตามนอกจากความสำเร็จจากการเข้าใจและเตรียมการด้านองค์ประกอบที่ครบสมบูรณ์แล้ว ทำอย่างไรให้สิ่งที่อยากให้เกิดนี้มีจำนวนที่มากขึ้น และนานขึ้น เช่น เรามีนักกีฬากอล์ฟหญิงระดับโลกมากขึ้นเหมือนในปัจจุบัน ความยั่งยืนจึงน่าจะเป็นอีกระดับของความสำเร็จ ทำอย่างไรเราถึงจะมีนักกีฬาที่อยู่และเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ลองนึกถึงน้ำดื่ม Pepsi หรือ Coca Cola ที่เรารู้จักและยังคงดื่มอยู่จนถึงปัจจุบันว่า เกิดขึ้นมากี่ปีแล้ว และยังคงมีอยู่และดื่มกันอยู่ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าเราจะดื่มกันไปอีกนาน นักกอล์ฟเราจะมีอยู่ในวงการกอล์ฟโลกอย่างต่อเนื่องแบบนี้ได้ไหม นอกจากการบริหารจัดการที่ดี ความมุ่งมั่นทุ่มเทแล้ว การมี Mindset ของความเป็นเลิศ และความยั่งยืนอย่างไรที่เราควรมีและควรเป็น
เราได้มีการเตรียมการที่มุ่งหวังจากวิธีการที่เป็นระบบ นำหลักการของการพัฒนาการของกาย ทักษะ และจิตใจอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไปกันตามหลักการนี้ไหม เราคาดหวังเร็วเกินไปหรือเปล่า ความสำเร็จของนักกีฬาในระดับเยาวชน เรามีผลงานที่ดี ไม่แพ้ใครในโลก แต่เมื่อถึงจุดที่เลยความเป็นเยาวชน เมื่อไม่มีข้อจำกัดเรื่องของอายุและแบ่งกลุ่มอายุแข่งขันแล้ว นักกีฬาเราหายไปเยอะที่เดียว ขณะที่มีหลายประเทศที่มีผลงานของระดับเยาวชนเคียงบ่าเคียงไหล่กับเรายังก้าวเดินต่อไป ความยั่งยืนต่อเนื่องของประเทศเหล่านั้นน่าจะมีแนวทางที่แตกต่างจากเรา แม้จะใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาเดียวกัน
การปูพื้นฐานตามหลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างต่อเนื่อง จริงจัง อย่างเป็นเหตุเป็นผลตลอดแนวทางของการสร้างนักกีฬากอล์ฟ จะเป็นหนทางที่ได้นักกีฬาที่บรรลุเป้าหมาย สมกับการมุ่งมั่นทุ่มเทแล้ว ความยั่งยืนต่อเนื่อง การลดความบาดเจ็บทางกายและใจก็จะน้อยลงไปด้วย การมุ่งมั่นทุ่มเทที่กระบวนการที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่มีการกล่าวถึงในภาษาอังกฤษว่า Success is a Journey, not Destination ที่เป็นภาพรวมให้ได้เห็นครับว่าการมี Mindset ของการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างชาญฉลาด อดทน เข้าใจกระบวนการจะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้ และทำให้เกิดความสำเร็จที่ต่อเนื่อง ยั่งยืนตามที่ต้องการ
มาเพิ่มความสุข และความยั่งยืน ในความสำเร็จในการเล่นกอล์ฟกันครับ
ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย