จิตวิทยาการกีฬา

ทำไมลูกโตขึ้น ความอยาก ความสนใจในการเล่นกีฬาลดลง

ทำไมลูกโตขึ้น ความอยาก ความสนใจในการเล่นกีฬาลดลง

เป็นอย่างไรบ้างกอล์ฟช่วงปีใหม่แบบไทยๆ วันสงกรานต์ปีนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ที่บางแสน ประเพณีวันไหล ผู้คนยังหลั่งไหลมาเล่นน้ำแบบไหลไปจริงๆ ตั้งแต่ช่วงบ่าย ไปจนถึงเกือบเที่ยงคืน ถนนข้าวหลามเป็นถนนหลักของกิจกรรม รถติดตลอดเวลาในช่วง 3 วัน โดยเฉพาะถนนด้านที่มุ่งเข้าสู่ชายหาดบางแสน แต่ไม่เป็นปัญหาเพราะคนที่มาร่วมเล่นสงกรานต์รับทราบ วางแผนและสนุกกับการอยู่บนถนนที่ค่อยๆไหลไปอยู่แล้ว ข่าวดีเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในปีนี้คือ ประเพณีสงกรานต์กำลังอยู่ในการพิจารณาว่าเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ในปลายปีนี้หรือไม่ หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น มีรายงานในช่วงสงกราต์ว่าเครื่องบินที่มาลงประเทศไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสงกรานต์เยอะมาก มากกว่าทุกเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้แล้วการเล่นกีฬาช่วงนี้อาจจะเบาบางลง และถ้าเป็นกีฬากลางแจ้งที่อุณหภูมิสูงสุดแตะ 40 องศาเซียวเซียตและโอกาสของการเกิดโรคลมแดด (Heat Stroke) ด้วยยิ่งจะทำให้กีฬากอล์ฟเบาลงในช่วงฤดูร้อนนี้อย่างมาก

อย่างไรก็ตามการลดจำนวนคนเล่นกอล์ฟหรือกีฬาโดยทั่วๆ ของเด็กวัยรุ่น ก็จะค่อยๆลดจำนวนลงไม่ได้มาจากระดับของอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากๆเพียงอย่างเดียว ซึ่งการลดจำนวนของนักกีฬาเยาวชนลงนี้ ในทางจิตวทยาการกีฬา สามารถอธิบายได้จากหลายเหตุผล

เหตุผลที่ 1 ในเด็กวัยรุ่นอัตราของการพัฒนาการฝีมือที่ลดลง ไม่เหมือนในช่วงแรกๆของการเล่น ในช่วงนั้นนักกีฬาจะมีพัฒนาการอย่างดีและต่อเนื่อง เมื่อเราเป็นเด็กร่างกาย ทักษะและจิตใจของเราจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่จะเป็นไปในเชิงบวก ในการเล่นกอล์ฟ เมื่อนักกีฬามีพัฒนา สูงขึ้น แข็งแรงขึ้น มีทักษะมากขึ้น ทำให้การตีดีขึ้น ควบคุมลูกได้ดีขึ้นและ ตีไกลขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาการของร่างกายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ขณะที่ฝีมือ/ทักษะในการเล่นก็จะดีไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการ T-off หรือการตีบนแฟเวย์ การชิพหรือการพัตต์ อย่างไรก็ตามเมื่อนักกีฬาพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง พัฒนาการก็จะค่อยๆลดอัตราลงไม่เหมือนช่วงแรก ตัวอย่างที่ชัดๆคือเมื่อตีกอล์ฟใหม่ๆ เราอาจตี/ชิพ/พัตต์ ที่มีจำนวนครั้งถึงหรือมากกว่า 100แต่ก็สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จนตีเข้ามาใกล้ในระดับพาร์ จะเห็นว่าเราจะอยู่ที่สกอร์ 70 ถึง 80 นานมาก และจะไม่ตีที่สกอร์ลดลงเรื่อยๆเหมือนตอนเล่นใหม่

ดังนั้นเมื่อนักกีฬาประสบกับผลการเล่นในลักษณะนี้ หากไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริง และหากมองว่าพัฒนาการลดลง เล่นไม่ดีขึ้น เล่นไม่ก้าวหน้า ก็จะทำให้ความสนุกในการซ้อมและแข่งขันลดลง ส่งผลกระทบต่อระดับของแรงจูงใจในการซ้อมและแข่งขัน และก็จะนำไปสู่ผลการเล่นที่ลดลง และอยากที่จะเลิกเล่นไปในที่สุด

เหตุผลที่ 2 วัฒนธรรมของการเรียนหนังสือเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและเป็นอาชีพได้แน่นอนกว่ายังเป็นเรื่องที่อยู่กับวัฒนธรรมไทย โดยปกตินักกีฬาที่อยู่ในวัยที่กำลังก้าวไปข้างหน้า แต่ผลการเล่นไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหมือนช่วงต้นๆ และการต้องตัดสินใจว่าจะสามารถเล่นกอล์ฟหรือกีฬาอื่นๆจนเป็นอาชีพ (โดยที่ไม่ต้องเรียนหนังสือ) หรือจะเรียนหนังสือเพื่อไปประกอบอาชีพถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญเช่นกัน

การจะเล่นกีฬาให้เก่ง และเรียนหนังสือได้ดี เป็นเรื่องที่ยาก จะมีคนส่วนน้อยที่สามารถทำได้ดีทั้ง 2 อย่างไปพร้อมๆกัน จากเหตุผลนี้ประกอบกับอัตราของการพัฒนาการเล่นเริ่มลดลง ยิ่งทำให้นักกีฬาส่วนใหญ่เลือกที่จะเรียนหนังสือเพื่อประกอบอาชีพมากกว่า เหตุผลสำคัญคือการแข่งขันกีฬามีความรุนแรง กดดันอย่างต่อเนื่อง และใช้พลังงานมากกว่าการเรียนมาก จึงเป็นสาเหตุที่นักกีฬาเยาวชนส่วนใหญ่เลือกเล่นหรือไม่เล่นกีฬาในช่วง 2-3 ปีก่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย นักกีฬาที่ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จและยึดกีฬาเป็นอาชีพได้หรือไม่จึงหันไปเรียนหนังสือจริงจังมากขึ้น ให้เวลากับการเรียนมากขึ้น ยิ่งระบบการจัดการศึกษากับกีฬายังไม่ได้ถูกดำเนินการให้ชัดเจน และอยู่ร่วมกันได้ คนส่วนใหญ่จึงเลือกเรียนมากกว่าเมื่อผลการเล่น การพัฒนาการไม่โดดเด่นเหมือนที่ก่อน

เหตุผลที่ 3 การลงทุนกับการเล่นกีฬาในระดับสูง โดยเฉพาะกีฬากอล์ฟหรือเทนนิส เป็นอีกเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจว่าจะเล่นกีฬาต่อไปหรือจะให้ความสำคัญกับการเรียนหนังสือมากขึ้น เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น ยิ่งมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ค่าใช้จ่ายยิ่งสูง ยิ่งแพง อัตราการเลิกเล่นกีฬาในวัยรุ่นจึงมีมากกว่าวัยเด็กที่เริ่มเล่นใหม่

ทั้ง 3 เหตุผลที่กล่าวมา มักจะเกิดขึ้นเพราะการเล่นของนักกีฬา ไม่โดดเด่น ไม่ชัดเจน ไม่สม่ำเสมอ ทำให้นักกีฬาและทีมขาดความมั่นใจว่าการเล่นกีฬาต่อหรือไม่ คุ้มที่จะลงทุน คุ้มที่จะยุติการเรียนเพื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเพื่อเป็นอาชีพที่มั่นคงในอนาคต วิธีการที่จะทำให้นักกีฬามีความโดดเด่น มีผลการเล่นที่ดี ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญของนักกีฬาและทีมในการใช้กระบวนการฝึกฝนที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามถ้านักกีฬาของเราไม่สามารถเล่นกีฬาจนเป็นอาชีพได้แล้ว การเลือกที่จะเรียนหรือทำอย่างอื่นที่จะเป็นอาชีพได้ก็ควรที่จะได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่และทีมงาน การสนับสนุนจากพ่อแม่และทีมงาน ควรที่จะต้องทำตั้งแต่ต้น การสนับสนุนให้นักกีฬามีทัศนคติที่ดี ที่เหมาะสม การสร้างบรรยากาศที่จูงใจ รู้จักการอยู่ร่วมกับสังคม และการทุ่มเทในการเล่นกีฬาอย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งให้นักกีฬาได้รับการเรียนรู้และฝึกซ้อมทางด้านจิตวิทยาการกีฬาเช่นเดียวกับการฝึกทางด้านร่างกายและทักษะ จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จ ความโดดเด่น ที่ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจว่านักกีฬาจะเล่นต่อไป เลิกเล่นและหันไปเรียนหรือทำกิจกรรมอื่นแทน

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย