ณรงค์ศักดิ์ เทศนาบูรณ์
ณรงค์ศักดิ์ เทศนาบูรณ์
‘Ken Hill’ USGTF Member
“เรายื่นโอกาสให้เด็ก แล้วเขาสามารถไปต่อได้ ชีวิตเขาก็จะดีขึ้น”
กอล์ฟ : ช่วงอายุยี่สิบต้น ๆ ผมได้เริ่มเล่นกอล์ฟกอล์ฟ เพราะเพื่อน ๆ ที่เป็นเซลส์ขายเครื่องมือแพทย์ ต้องไปเจอลูกค้าซึ่งตีกอล์ฟกันทั้งนั้น เขาก็ชวนผมไปเริ่มกอล์ฟด้วยกัน แต่คนตั้งใจไปเรียนกลับตีไม่ได้ ส่วนผมคนที่ไม่ได้ตั้งใจไป กลับตีได้ อาจเป็นเพราะเล่นฟุตบอลมาก่อน ทำให้ขาแข็งแรง ช่วงล่างทรงตัวดี พอจับปุ๊บก็เล่นได้เลย แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนพอตีได้
FM 99 : ผมเป็นแฟนกอล์ฟ รายการวิทยุ คลื่น ‘FM 99’ ตอนนั้น ‘โปรเชาว์’ (เชาว์รัตน์ เขมรัตน์) จัดรายการกอล์ฟอยู่ ผมติดตามฟังเป็นประจำแทบทุกวัน จนวันหนึ่งตั้งใจขับรถไปหาโปรเชาว์ที่สนามซ้อมเลย พอได้พูดคุยกัน โปรเชาว์ คงเห็นในความตั้งใจและชอบกอล์ฟของผม รู้สึกถูกชะตากัน จนโปรลดแลกแจกแถมค่าเรียนให้เต็มที่ สอนกันแค่ไม่กี่ครั้ง ผมก็เริ่มเข้ามาร่วมช่วยงานด้านกอล์ฟด้วยบางส่วน แต่ยังทำงานประจำเป็นพนักงานธนาคารอยู่
ทำทัวร์ เป็นตัวแทน : จนกระทั่งผมตัดสินใจออกจากธนาคาร แล้วมีโอกาสไปทำทัวร์กับเพื่อน รับแขกต่างชาติบ้าง พาคนไทยไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านบ้าง และระหว่างนั้น ด้วยความชอบกอล์ฟ ก็แข่งกอล์ฟ ตีกอล์ฟมาเรื่อย ๆ เคยบินไปที่เมืองคุนหมิงคนเดียว ขอเจรจากับสนามกอล์ฟที่นั่น เพื่อให้ผมเป็นตัวแทนในการขาย เจ้าเดียวในเมืองไทย ใครจะไปออกรอบต้องมาติดต่อที่ผม บ้ากอล์ฟขนาดนี้ก็ยังทำมาแล้ว (หัวเราะ)
อเมริกา : ผมเคยไปอเมริกามาบ้างแล้วหลายครั้ง แต่เป็นแบบไป ๆ มา ๆ จนคิดว่า จะต้องตั้งใจไปแบบยาว ๆ เพื่อเรียนให้จบซะที พอไปได้สักพักเงินก็หมด ทางบ้านก็ไม่มีทุนส่งให้ แต่ถ้าจะกลับบ้านตอนนี้ ก็รู้สึกว่า เราไม่เหลืออะไรเลย ถอยไม่ได้อีกแล้ว ตัดสินใจสู้ ลุยต่อกับเพื่อน ตอนนั้นอยู่ที่เมืองดีทรอย มิชิแกน ทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่ล้างจาน หั่นผัก ไม่มีเกี่ยง ได้ค่าแรงวันละ 25 เหรียญ ทำงานจนถึงสามทุ่ม พอร้านเลิกปุ๊ป รีบออกทันที, จ่าย 10 เหรียญ แรก เป็นค่าซ้อมกอล์ฟ เล่นกันอยู่ในโรงนาเก่า ปรับอากาศให้เล่นได้ตลอดปี เพราะกอล์ฟต้องหมั่นซ้อม (หัวเราะ) แล้วใช้อีก 5 – 10 เหรียญ ไว้สำหรับกินเบอร์เกอร์ทุกวัน จนคนขายรู้ว่า เวลาราว ๆ นี้ ลูกค้าประจำเอเชียคนนี้จะต้องมาล่ะ จนคุ้นเคยกัน ได้ของแถมบ้าง ส่วนลดบ้าง
สอบโปร : พอได้ซ้อมกอล์ฟมาเรื่อย ๆ คิดว่าตัวเองน่าจะพอไปได้ ผมคุยกับเพื่อนรุ่นพี่ว่า อยากสอบเป็นโปร เพราะจะได้ยึดเป็นอาชีพบ้าง พี่เขาก็หัวเราะบอกว่า “ไม่มีทาง” แค่ภาษาอังกฤษก็สอนไม่ได้แล้ว ผมคิดว่า นั่นก็จริงของเขา (หัวเราะ) แล้วเอาไงดี เพราะถ้ากลับบ้านนี่เราไม่มีอะไรเหลือเลยนะ
USGTF : จนผมย้ายมาที่เมืองลาส เวกัส ได้ทำงานในร้านอาหารไทย ได้เรียนหนังสือ แต่ความคิดเรื่องการจะสอบเป็นโปรสอนกอล์ฟก็ยังไม่เคยล้มเลิก จนได้พบว่า หลักสูตร USGTF (United States Golf Teachers Federration) เหมาะกับจังหวะชีวิตของผมมากที่สุด เพราะสามารถเรียน แล้วทำงานได้ด้วย สอนได้ด้วย เป็นการค้นคว้าวิจัยด้วยตัวเอง มากกว่าที่จะเรียนไปตามแพทเทิร์นที่ป้อนให้ เป็นวิธีการเรียนการสอนอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน พอเรียนจบ ผมก็พัฒนาทักษะการสอน จนได้เข้าร่วมอยู่ในโรงเรียนของ USGTF ที่ ลาส เวกัส ได้รับเงินค่าสอนโดยตรงจากที่นี่ มีการสอนแบบ วาเคชั่น กอล์ฟ เรียนในช่วงวันหยุด เช่น 3 วัน 2 คืน, 4 วัน 3 คืน ก็ไปสอนลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง ขณะที่ยังสามารถรับสอนลูกค้าข้างนอกได้อีกด้วย
Ken Hill : มีลูกค้าบางคน รู้สึกประหลาดใจ ที่เขามาจากต่างประเทศ เช่นอังกฤษ ออสเตรเลีย แล้วคิดว่าจะได้มาเรียนกอล์ฟกับคนอเมริกัน แล้วกลับพบว่าคนที่สอนเป็นเอเชีย (หัวเราะ) แต่พอเรียนไม่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร บางคนก็ระบุมาเลยว่าอยากเรียนกับเรา ชื่อ Ken Hill ได้มาเพราะฝรั่งเขาออกเสียงเรายาก ชื่อเล่นผม ชื่อ เก่ง ก็คล้องกันกับ Ken ส่วน Hill ผมชอบภาคอีสานอยู่แล้ว ซึ่งคุ้นกับชื่อ สูงเนิน เนินสูง อะไรแบบนี้ ก็ใช้ Hill ไปซะเลย แต่กว่าจะเปลี่ยนได้ก็ต้องจ้างทนายยื่นเรื่องกับศาล ทำเรื่องอยู่พักจนกว่าจะประกาศให้ใช้ได้
ครูกอล์ฟเอเชีย : ผมเคยสอนกอล์ฟให้กับครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นหมอทั้งคู่ ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาก็สอบถามมาแล้วว่า ถ้าจะให้ลูกเรียนกอล์ฟ จะให้ใครสอนดี ก็มีคนให้ชื่อผมไป ซึ่งตอนนั้นคิวผมก็เริ่มแน่นแล้ว แต่เขาเองอยากให้ครูสอนที่เป็นเอเชีย เพราะโดยธรรมชาติแล้วจะดูแลเอาใจใส่ดีกว่า และแนวทางการสอนก็แตกต่างกัน ของเราจะเป็นกอล์ฟล้วน ๆ แต่ของอเมริกันเป็นการเรียนแบบมีกิจกรรมอื่น ๆ เข้ามารวมอยู่ด้วย แต่ครอบครัวเขาไม่อยากได้ เพราะคิดว่า เมื่อจ่ายค่าเรียนให้กับกอล์ฟแล้ว ก็ต้องได้ความรู้เรื่องกอล์ฟอย่างเต็มที่ ‘If you pay for the golf, you’ have something for the golf’
พี่เลี้ยงเด็ก : เขาให้ผมดูแลลูก ๆ ทั้งสี่คนอย่างเต็มที่ ทั้งในและนอกสนาม แล้วผลก็เริ่มแสดงออกมาให้เห็น จากที่เด็ก ๆ ไม่เคยแข่งกอล์ฟกับใครเลย กลายเป็นมาอยู่ในอันดับต้น ๆ ขณะที่ผู้ปกครองคนอื่น ๆ ก็เริ่มเข้ามาหาผม แต่ ณ ตอนนั้นยังทำไม่ได้ เพราะเวลาทั้งหมดต้องใช้ไปกับเด็ก ๆ ทั้งสี่ ไปไหนก็ไปกันหมด ไปแข่งเขาก็ออกค่าใช้จ่ายให้ อยากไปเล่นสนามชั้นนำก็ชวนไปด้วย จริง ๆ แล้ว ชีวิตก็เหมือนจะสุขสบายดีกับหน้าที่ความรับผิดชอบตรงนั้น
ทำให้คนไทย : จนผมมาสะดุดกับคำพูดที่ว่า “แล้วทำไมไม่ไปทำให้กับคนไทยบ้าง” แต่ในช่วงนั้นภาระในชีวิตยังมีความรับผิดชอบหลายอย่าง จึงต้องทำงานนั้นไปก่อน แล้วเมื่อพอมีลูกค้ามากขึ้น ก็อยากจัดกอล์ฟเอง พอไปแข่งกัน กลับมากินเลี้ยงตามร้านอาหารทั่ว ๆ ไป ก็รู้สึกไม่สะดวกสบาย ไม่อบอุ่น จนตัดสินใจเปิดร้านอาหารเอง ทำให้ครบวงจรไปเลย แรก ๆ ก็สนุก ร้านอาหารก็ไปได้ดี เริ่มมีผลกำไร แต่หลัง ๆ ชักจะไม่ไหว เหนื่อยมาก เพราะทำอยู่คนเดียว ไหนจะสอน ไหนจะต้องจ่ายตลาด ดูแลทั้งลูกศิษย์ ดูแลทั้งร้าน
จุดเปลี่ยนชีวิต : เรื่องใหญ่ที่ทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปอีก เมื่อปี 2015 เกิดอุบัติเหตุ โดนรถชน กว่าจะรักษาผ่าตัดเสร็จก็เมื่อปี 2017 ต้องดามเหล็ก โชคดีที่ปลอดภัย ยังกลับมาได้ แต่ต้องมาตัดสินใจว่า จะไปทางไหนดี เพราะการทำร้านอาหาร ที่บ้านไม่มีใครเอาด้วย พี่ ๆ ก็อยู่แบบสบาย ๆ กันแล้ว ไม่อยากเหนื่อยอีก และยังมาเจอกับวิกฤติโควิดอีก จนคิดอยากจะกลับมาพักที่ประเทศไทย ทำให้ตัดสินใจขายร้านไป
ร้อยเอ็ด : อยากทำอะไรให้คนร้อยเอ็ด อยากจะนำ USGTF มาเปิดสาขา ผมพยายามส่งเรื่องราวที่ได้ทำที่นี่ บรรยายรายละเอียดต่าง ๆ ให้เขาได้ทราบว่า เราทำอะไรไปบ้าง ซึ่งเขาก็ตอบกลับมาว่า สนใจในสิ่งที่เราได้ทำ อยากจะมาดูว่าเป็นอย่างไร เราก็อยากจะเขามา อย่างน้อยก็จะสร้างรายได้เพื่อนำไปสนับสนุนเด็ก ขั้นต่อไปอาจจะมีกองทุนที่เราตัดสินใจได้เองว่าจะสนับสนุนใคร แต่นั่นก็ต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนรอบข้างก่อนว่า เราไม่ได้ใช้ทุนไปทำในเรื่องอื่น ซึ่งผมมี หลักการ และเป้าหมาย แจ้งไว้ชัดเจน ถ้ายังไม่มีใครเข้ามาช่วย ผมจะทำด้วยตัวเอง สอนไปเรื่อย ๆ สะสมทุนแบบเก็บเล็กผสมน้อย ถ้าเด็กคนไหนมีแววก็จะสนับสนุนเต็มที่ โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อเขาได้รางวัล จะต้องมีส่วนแบ่งคืนกลับมา เพราะตรงนี้คือเราร่วมกันทำเพื่อรุ่นน้อง ๆ ต่อไป ซึ่งถ้า USGTF เกิดขึ้นได้ที่นี่ก็เป็นเรื่องดีที่เด็กจะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น, ปัจจุบัน ผมประจำอยู่ที่สนามไดร์ฟจุรีเวช ในตัวเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด โดยได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเจ้าของสนาม (คุณคมกริช และคุณวิภา จุรีมาศ)
WGTF TOP 50 TEACHERS : ผมส่งโปรไฟล์ไปให้ USGTF โดยไม่ได้คิดอะไร เล่าเรื่องที่เราทำอะไรไปบ้างอยู่เรื่อย ๆ แล้วเขาก็เอาเรื่องเหล่านี้ไปลงในหนังสือ ตอนแรกยังคิดว่าไม่น่าจะได้รับรางวัลอะไร เพราะเขาโทรมาแจ้งว่า เนื้อหาของผมเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป เนื่องจากผมเล่าเรื่องเกี่ยวกับการย้ายกลับมายังประเทศไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนการสอนกอล์ฟในมุมของเราเอง ซึ่งมีหลักสูตรที่เข้มข้นมากกว่าของเขาอีก และยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของเมืองร้อยเอ็ดประกอบไปอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ศูนย์กลางของกอล์ฟอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะสิ่งที่เขาอยากได้คือ สังคมกอล์ฟในเมืองไทยเป็นยังไง ซึ่งผมเองก็ไม่กล้าเขียน เพราะอยู่ที่นี่ยังไม่นานนัก แต่เรื่องที่เล่าไป ก็คือประสบการณ์จริงที่เราได้เจอเอง ได้ลงมือทำเอง แล้วจู่ ๆ เขาก็นำบทความของผมไปลงในหนังสือ Golf Teaching Pro ของ USGTF ฉบับ WINTER 2023 พร้อมประกาศว่า ผมได้รางวัล 1 ใน 50 สุดยอดครูกอล์ฟ “2022-2023 WGTF TOP 50 TEACHERS” ซึ่งผมเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับเกียรตินี้
My Bucket list : หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า สิ่งที่ตั้งใจทำให้ได้ก่อนจากโลกนี้ไป สำหรับผมแล้วในเรื่องกอล์ฟมีแค่เพียงสองข้อเท่านั้น 1. พาเด็กไทย ที่เราปั้นขึ้นมา ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกา โดยได้ทุนทั้งหมด แค่หนึ่งคนก็ยังดี 2. พาเด็กไทย ที่เราปั้นขึ้นมาเอง ไม่ได้ไปขโมยคนอื่นเขามา ให้ได้ไปเล่นใน PGA หรือใน LPGA อย่างน้อยหนึ่งคน นี่คือ My Bucket list สิ่งที่ผมตั้งใจว่าจะทำให้ได้ ถ้า ‘เรายื่นโอกาสให้เด็ก แล้วเขาสามารถไปต่อได้ ชีวิตเขาก็จะดีขึ้น’ เรียนฟรี มีอาชีพ มีอนาคตสดในรออยู่ และสิ่งที่ช่วยเติมเต็มให้ผมมีความสุข มีกำลังใจ นั่นคือ ทุกครั้งที่ผมเห็นเด็ก ๆ ลูกศิษย์ ตีกอล์ฟได้ แล้วเขามีความสุข ผมก็มีความสุขไปด้วยทุกครั้งครับ