For Golf Trust

สุข หรือทุกข์ เมื่อลูกเป็นนักกอล์ฟ

สุข หรือทุกข์ เมื่อลูกเป็นนักกอล์ฟ

ขอนำประสบการณ์เกือบ 30 ปี ที่พบเห็นมามาแลกเปลี่ยนและแชร์ให้ผู้ปกครองรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งจะเข้ามาสู่วงการ

ต้องบอกก่อนว่า ประสบการณ์ผมที่เห็นและสัมผัสกับครอบครัวนักกอล์ฟมาเป็นร้อยครอบครัว ทั้งที่เป็นลูกศิษย์ของโรงเรียนและที่เห็นๆกันในสังคม ไม่ใช่ว่าผ่านเคสมาแค่คนสองคน

สาเหตุที่ต้องการออกมาแลกเปลี่ยนครั้งนี้ เพราะไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น

ต้องขออภัยด้วยถ้าเคสที่กล่าวถึงจะไปละม้ายคล้ายคลึงกับครอบครัวใด ไม่ตั้งใจมีเจตนาที่จะเอายกตัวอย่าง จะไม่ขอเอ่ยชื่อแต่อย่างใด

ครอบครัวใดถ้ามีลูกเล่นกอล์ฟ แน่นอนว่า ใช้งบประมาณมากโขอยู่ อย่างน้อยๆ ปีหนึ่งเฉลี่ยก็ตกประมาณ5 แสน 10ปี ก็ 5 ล้าน และบางครอบครัวชอบเดินทางไปแข่งขันต่างประเทศบ่อยๆ แน่นอนงบต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า หรือถ้าประหยัดหน่อยก็ต้องปีละ 2-3 แสนเป็นอย่างน้อย

ทุกครอบครัว ก็มีความหวังว่าจะให้ลูกมีเส้นทางที่สดใสกับการเป็นนักกอล์ฟอาชีพ หรือให้ได้รับทุนเรียนต่อประเทศอเมริกา ซึ่งถ้าตั้งเป้าว่าแค่เรียนต่อก็ไม่มีปัญหาอะไร มักสำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าการสนับสนุนไม่ขาดตอนหรือขาดช่วง

เมื่อมีความหวัง เมื่อมีเป้าหมาย ความกดดันก็จะเกิดขึ้น เมื่อความกดดันเกิดขึ้น ก็ต้องมีระบาย มีระเบิดระหว่างทางที่เดิน

เมื่อมีความหวัง เมื่อมีเป้าหมาย มีความกดดัน แน่นอนว่าผลที่ได้ก็จะส่งผลให้มีความสุข หรือมีความทุกข์ภายในครอบครัว

ผู้นำครอบครัว หรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจในครอบครัว หรือสปอนเซอร์หลัก คือตัวแปรที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดความทุกข์ หรือความสุข

นักกอล์ฟเขาก็เล่นของเขาไป แล้วแต่ละคนว่ามีลักษณะเช่นไร และมีแรงทรัพย์หนุนมากแค่ไหน ถ้าคนในครอบครัวมีความสุข ผลงานก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าคนในครอบครัวมีความทุกข์ ผลงานก็มีขึ้นมีลง

นักกอล์ฟผู้หญิงสำเร็จง่ายกว่าผู้ชาย ขอฟันธง สาเหตุเพราะ ผู้หญิงเชื่อฟังพ่อแม่ รักพ่อแม่ ดูแลพ่อแม่ และมีวินัยมากกว่า ส่วนผู้ชายตอนเป็นเด็กไม่มีปัญหาเป็นเด็กดี น่ารัก แต่พอเริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มโต สิ่งที่เป็นปัญหาตามมา คือ มีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง พอมีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เริ่มจะไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เริ่มเถียงเริ่มไม่น่ารัก เริ่มเชื่อทางผู้หญิงที่เป็นแฟนมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น สปอนเซอร์หลัก คือพ่อ แม่ ก็จะถอยห่าง หยุดสนับสนุนไม่เหมือนตอนเป็นเด็ก ที่ทุ่มเทเต็มที่

เพื่อมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างนี้ คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็อดไม่ได้ที่จะไปพูดถึงว่า กูสนับสนุน กูลงทุน กูหมดไปกับมึงเท่าไร มึงเคยคิด เคยเห็นใจพ่อแม่บ้างไหม

และหนักไปอีกเมื่อเอาชีวิตลูกไปเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ คนนั้น คนนี้ ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว  มึงมันแย่อย่างนั้น อย่างนี้

ยกตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อพ่อกับแม่ไม่เห็นตรงกันกับการดูแลลูก ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันและต้องเลิกลากันไป ลูกก็เป็นผู้รับกรรม สิ่งที่จะได้คือ ไม่ได้เล่นกอล์ฟ หรือเล่นก็ไม่มีความสุข ไม่มีความสุข ความสำเร็จก็เกิดขึ้นยาก

เคสต่อมา พ่อดุ คุมซ้อมเข้ม ทั้งอาจจะสอนเอง หรือจ้างโปรสอนด้วย โดยมีแนวคิดเป็นตัวของตัวเอง อ่านหนังสือมา ฟังคนที่ประสบความสำเร็จมา หรือไปดูเส้นทางของนักกอล์ฟระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมาตอนเล็กๆ ก็มีลงไม้ลงมือกันหนักเบาต่างกันไป เด็กๆ ก็ไม่สามารถหืออือได้ ต้องอดทนกันไป แต่พอเขาโตเป็นผู้ใหญ่ บรรลุนิติภาวะ เขาก็จะไม่แคร์ ก่อเกิดความบาดหมางกันไป แยกกันอยู่ ครอบครัวเกิดความไม่อบอุ่นเหมือนตอนเป็นเด็ก

แน่นอนว่า เมื่อเจอเคสแบบข้างต้น ใครบอกว่ามีความสุข ก็ไม่น่าจะเชื่อได้ เพราะมันต้องมีความทุกข์กันแน่นอน

แล้วทำอย่างไรถึงจะมีความสุข

คนเป็นพ่อเป็นแม่ ต้องศึกษาแนวคิดจิตวิทยาต่างๆ เพื่อเอาไปใช้กับลูก ไม่ใช้แนวคิดของตัวพ่อแม่เองเอาไปยัดเยียดให้ลูก จนทำให้ลูกไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุข ตอนเด็กเขาก็จำใจเล่น แต่พอโตเขาช่วยเหลือตัวเองได้ ทำเงินได้ เขาอาจจะเลิกเล่นไปเลยก็ได้

ขอยกตัวอย่าง จิตวิทยาที่ควรใช้อย่างยิ่ง คือ ไม่ตำหนิ ไม่ดุ ไม่ด่า ไม่ว่ากล่าว เมื่อเล่นไม่ดีในสนาม หรือออกมานอกสนามแล้ว แต่ใช้การพูดคุย แสดงความเข้าใจ เห็นใจ ปลอบใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังการแข่งขัน ด้วยน้ำเสียงที่ปกติ

อีกข้อหนึ่งคือ ที่ควรใช้ คือ ไม่เปรียบเทียบลูกของตัวเองกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง เพื่อนของลูก หรือกับคนนั้นคนนี้

และอย่าไปลอกเลียนแบบครอบครัวใคร เพราะสภาพสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู บุคลิกของพ่อแม่ แนวคิดไม่เหมือนกัน ถ้าไปฟังการแนะนำของผู้ปกครองที่ไปแข่งด้วยกัน มากๆเข้า เราก็จะไม่เป็นตัวของตัวเอง

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ เด็กๆ ถึงแม้ตอนเล็กๆ เขาน่ารัก เชื่อฟังพ่อแม่ ยังกลัวไม้เรียวอยู่ เขายังเล็กเขาไปไหนไม่ได้ แต่พอเขาโตขึ้นมา ปีกกล้า ขาแข็ง เมื่อไร เขาก็จะไม่อยู่ภายใต้อุ้งปีกของพ่อแม่แล้ว

และเมื่อนั้น ความทุกข์จะมาเยือนมากกว่าความสุขแน่นอน

โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์