PM 2.5 กับโรคความจำเสื่อม
PM 2.5 กับโรคความจำเสื่อม
ปัญหาของ PM 2.5 ที่เราเจอกันอยู่อย่างหนักหน่วงในช่วงนี้ หลายคนทราบดีว่า ส่งผลกระทบอย่างมากกับระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ แต่ไม่เพียงเท่านั้น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบมาถึงสมองได้ร้ายแรงอย่างที่คาดไม่ถึงทีเดียว นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์อายุรศาสตร์ประสาทวิทยา ประจำศูนย์โรคระบบสมอง โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ในเรื่องของ PM 2.5 กับโรคความจำเสื่อม ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
โรคสมองเสื่อมมีหลายชนิด ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ Alzheimer ที่มักจะพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป อาการจะเด่นเรื่องความจำที่แย่ลงก่อน มักจะเป็นความจำที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่ความจำเก่าๆ ก็จะยังคงอยู่, Frontotemporal Dementia เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดเดียวกับที่ดาราดังฮอลลีวู้ดตรวจพบเมื่อไม่นานมานี้ โดยมากจะพบได้ในคนอายุน้อยกว่าอายุเฉลี่ย 40-65 ปี มีอาการได้หลากหลาย บางคนจะมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว อารมณ์เกรี้ยวกราด พูดคำหยาบ ด่าทอ โดยอาจจะเป็นจากนิสัยเดิมของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่เพิ่มความรุนแรงขึ้น หรือเปลี่ยนไปจากนิสัยเดิมไปเลยก็ได้ (Behavioral type FTD) หรือบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา พูดไม่ได้ นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด มีปัญหาในการอ่าน เขียน (Language type FTD-primary progressive aphasia)
โรคอย่าง FTD หรือ Alzheimer เป็นโรคที่เกิดจากการมีของเสียมากผิดปกติแล้วไปสะสมในเซลล์สมอง ส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมของสมองเร็วกว่าคนทั่วไป ปัจจุบันเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับยีน (Gene) หรือสารพันธุกรรมที่ผิดปกติไป ซึ่งโรคกลุ่มนี้ในปัจจุบันยังป้องกันหรือรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วยังมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น เส้นเลือดสมองตีบ, เลือดออกในสมอง (ถ้าเกิดบริเวณที่มีผลกับความจำ), การขาดสารอาหารบางชนิด Thyroid, Vitamin B, หรือ ธาตุเหล็ก, การติดเชื้อโรคบางชนิดเช่น Syphilis หรือ HIV และที่สำคัญมากๆ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งพวกเรากำลังประสบปัญหากันอยู่ก็คือ PM 2.5
PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้ มีการศึกษาที่ยืนยันว่า PM 2.5 รวมทั้งมลภาวะชนิดอื่นในอากาศมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง โดยเมื่อร่างกายเราได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าไป จะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกายไปจนถึงการอักเสบของเซลล์สมอง ส่งผลให้การทำงานของเซลล์สมองผิดปกติไป เกิดการตกค้างของสารพิษภายในเซลล์จนส่งผลให้มีปัญหาถึงสมองเสื่อมได้
จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาจากงานวิจัยในหัวข้อ Long-term effects of PM 2.5 components on incident dementia in the Northeastern United States ซึ่งทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 7 ปี ในคนอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี จำนวน 2,000,000 คน ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM 2.5 พบว่าเพิ่มโอกาสของการเกิด Dementia ถึง 16% ในทุก ๆ 10µg/m3 ของ PM 2.5 หน่วยนี้ก็คือหน่วยวัด PM 2.5 ในบ้านเราเช่นกัน ใช้หน่วยเดียวกัน บางวัน PM2.5 ขึ้นไปถึง 100µg/m3 อันนี้ก็ต้องลองจินตนาการกันเองว่าเซลล์สมองเราจะเจ็บป่วยไปขนาดไหน เรื่องที่น่าตกใจคือ ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการศึกษาวิจัยชิ้นนี้อยู่แค่เพียง 8.8 µg/m3 ในบ้านเราก็มีเฉพาะบางเดือนที่ขึ้นไปถึง 100+ µg/m3 บางเดือนดีๆ อาจจะแค่ 10-20µg/m3
ในเด็กเองก็มีการศึกษาพบว่าเด็กที่อยู่ในมลภาวะที่มี PM 2.5 ปริมาณสูง หรือเด็กในครรภ์มารดาก็ตาม ต่างมีปัญหาของการพัฒนาสมองทั้งในแง่ความจำ ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนปัญหาด้านพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มที่อยู่ใน PM 2.5 น้อยกว่า
คนส่วนใหญ่จะคิดว่าปัญหาของ PM 2.5 นั้น ส่งผลกับระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังส่งผลกระทบมาถึงสมองได้ร้ายแรงอย่างที่คาดไม่ถึงเช่นกัน
คำแนะนำในขณะนี้เฉพาะหน้าก็คงต้องป้องกันตัวเองกันก่อน ใส่หน้ากากป้องกัน PM 2.5 แล้วโหลด Application ช่วยการตรวจสอบค่าของ PM 2.5 ในแต่ละวัน ในแต่ละพื้นที่ พอจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาในระยะยาวซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่อาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วนต่อไป
ที่มา: โรงพยาบาลนวเวช