Interview

วรเดช สัจจะปรเมษฐ

วรเดช สัจจะปรเมษฐ
กรรมการผู้จัดการ
CAPITAL TRICOT CO.,LTD.
กรรมการ สมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย
“ความสุขในชีวิต เกิดจากการใช้ชีวิตที่ดี”

ระดับตำนาน : เริ่มตั้งแต่สมัยคุณปู่ เป็นผู้ทำธุรกิจรุ่นบุกเบิก ตั้งแต่เมื่อปี 1949 (พศ.2492) ณ ตอนนี้ มาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 74 ปีแล้ว ทำให้โอกาสเปิดกว้าง มีโรงงานหลายโรง ผลิตสินค้าหลากหลาย ทั้ง เสื้อยืด ถุงเท้า เย็บเป็นเสื้อผ้าก็มี หลังจากส่งผ่านมายังรุ่นลูก ๆ ต่างคนก็มีโรงงานแต่ละชนิด ต่างคนก็ต่างไปดูแล ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด อย่างของบ้านผม เป็นโรงงานทำผ้าเส้นใยสังเคราะห์ ธุรกิจนี้จึงเป็นสิ่งที่ผมได้เห็น และอยู่ด้วยมาตลอด คิดว่าสักวันหนึ่งคงต้องเข้ามาช่วยในกิจการของครอบครัวอย่างแน่นอน

เด็กกีฬา : บ้านผมอยู่ข้าง ๆ โรงงาน ที่สามพราน นครปฐม มาตั้งแต่สองขวบ เมื่อสมัยเด็กเรียนที่ยอแซฟอุปถัมภ์ แถวนั้นเด็ก ๆ เล่นฟุตบอลเป็นหลัก ผมก็เล่นต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ พอมาเรียนมัธยมปลายที่เซ็นต์คาเบรียล ส่วนมากก็เล่นฟุตบอล แต่ที่โรงเรียนมีสนามฟุตบอลที่เป็นหญ้าสนามเดียว โรงเรียนจะหวงมาก เด็ก ๆ ก็จะเล่นฟุตบอลพลาสติกกันเป็นส่วนใหญ่ เตะกันตามสนามบาสฯ เล่นแบบสนุกสนาน ไม่ได้จริงจัง เพราะข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ปัจจุบันก็พยายามจะไปเล่นสัปดาห์ละครั้ง เป็นสนามหญ้าเทียมเจ็ดคน

เศรษฐศาสตร์ : พอจบมัธยมปลาย มีความตั้งใจว่า อยากเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ จึงได้ไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา, ช่วงแรก ๆ ของการเรียนอาจจะมีความกังวลในบางวิชา ลุ้นว่าจะสอบผ่านหรือเปล่า และช่วงหลัง ๆ พอได้เรียนวิชาที่ชอบ ผลการเรียนก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ชีวิตอิสระ : ตอนที่อยู่เมืองไทย ไม่ว่าจะทำอะไร ทางบ้านก็จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ก็คงเหมือนกับเด็กไทยคนอื่น ๆ แต่พอไปใช้ชีวิตที่นั่น “อิสระเต็มที่” แต่ต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ ทำให้เราได้ลองอะไรใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับตัวเรื่องเรียน ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น และพยายามควบคุมตัวเองให้เรียนให้จบ, เคยไปทำงานอยู่ในคาเฟทีเรียของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่คอยเตรียมวัตถุดิบตามเมนูที่นักเรียนอยากกิน ผมก็คอยหยิบส่งให้ แล้วเขาก็ไปปรุง ไปผัดกันเอง สองสามวันแรกก็ยังรู้สึกสนุก แต่พอทำ ๆ ไป รู้สึกว่าเหนื่อยมาก พอกลับถึงห้องก็อยากนอน ไม่อยากอ่านหนังสือแล้ว ทำได้สองสัปดาห์ก็คิดว่าพอดีกว่า

วางแผนใช้เงิน : เมื่อก่อน เวลาจะไปเที่ยวต่างเมือง ก็ต้องคิดแล้วว่า เมืองที่จะไปนั้น เรารู้จักใครรึเปล่า เผื่อได้พึ่งพาอาศัยกันบ้าง ตามประสาเด็กนักเรียนทั่ว ๆ ไป แต่พอเรียนจบ พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง อยากไปไหนก็ไปเลย ทำให้ได้ไปเที่ยวเกือบทั่วอเมริกา มีเงินเท่าไหร่ ก็กะใช้ให้หมด (หัวเราะ) เพราะตั้งแต่พอเรื่องการเรียนเริ่มอยู่ตัว ผมไปเป็นผู้ช่วยสอน (TA) ทำอยู่เป็นปี เริ่มมีรายได้เข้ามาบ้าง ทำให้มีทุนสำหรับสิ่งที่อยากทำ เพราะงานที่ทำ ถึงจะเป็นแค่เงินเพียงเล็กน้อย แต่นั่นก็เป็นส่วนพิเศษเพิ่มขึ้นมา ทำให้ได้มีโอกาสใช้ไปในการท่องเที่ยวทั่วอเมริกา ได้ใช้ชีวิตตามแบบที่ต้องการ และหลังจากนั้น ทำให้เวลาทำงาน เราสามารถกล้าที่จะไป กล้าลงมือทำโดยไม่ต้องคิดมาก แค่รู้ว่าจะไปไหน หรือทำอะไร ก็ไปเลย เรื่องนี้ปลูกฝังให้ผมนำมาใช้กับชีวิตการทำงานอีกด้วย ว่า “ต้องกล้าที่จะทำ”

เที่ยวคนเดียว : พอเรียนจบ อยู่เที่ยวต่ออีกประมาณสามเดือน ไปคนเดียวเกือบทุกครั้ง เพราะเพื่อน ๆ เรียนจบกันแล้ว ยิ่งเพื่อนคนไทยส่วนมากถ้ามีเงินเหลือ ก็อยากช้อปปิ้งแล้วกลับบ้านเลย ทำให้ผมได้ไปในที่ที่สวยมาก ๆ เช่น เยลโลว์ สโตน ซึ่งคงจะน้อยคนนักที่ไปโดยลำพัง, ผมลงสนามบิน เช่ารถ แล้วขับไปคนเดียว เที่ยวเสร็จพอดูเวลาแล้วเหลือ ก็จะไปต่ออีก ซึ่งไม่อยู่ในแผน ต้องขับไปอีกทั้งคืน พอง่วงต้องจอดพัก แอบกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะเดินทางคนเดียว ไปจอดนอนตามปั๊มน้ำมันที่มีรถบรรทุกคันใหญ่ ๆ ไปจอดพักกันเยอะ ๆ หน้าตาคนขับก็รู้สึกว่าโหด ๆ คิดในใจ บอกตัวเองว่า เอาวะ (หัวเราะ) เอาเสื้อมาปิด ๆ กระจก ไม่ให้รู้ว่ามีใครอยู่ในรถ พอหายง่วงก็ขับต่อ ไปจนถึง เม้าท์ รัชมอร์ ที่ เซ้าดาโกต้า เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ อยากไปไหนก็ไปจนครบ ไปจนพอใจ ที่สำคัญคือ เงินหมดแล้ว (หัวเราะ)

ซื้อชุดกอล์ฟ : เมื่อแบ่งกับส่วนที่จะใช้ท่องเที่ยวแล้ว ผมยังมีเงินเก็บเหลืออยู่บ้าง แต่ผมตั้งใจจะใช้เงินให้หมด จึงไปซื้อชุดกอล์ฟ ที่สมัยนั้นกำลังดัง รุ่น ฮอร์คอาย ของ แคลลาเวย์ หัวไม้ก็เลือก E.R.C. ที่ตีได้ไกล จนเกือบไม่ผ่านการรับรอง ตอนนั้นหมดไปร่วมสองพันเหรียญ ก็นับว่าแพงมาก ซื้อแล้วก็ส่งกลับมาที่เมืองไทย ไม่ได้ใช้เล่นที่โน่นเลย และผมก็ใช้ชุดนี้มายาวนานร่วมยี่สิบปี เพิ่งจะเลิกใช้ไปเมื่อช่วงโควิดนี่เอง ก่อนจะรีไทร์ก็เพิ่งได้โฮลอินวันส่งท้าย (หัวเราะ)

กลับบ้าน : เมื่อ 20 – 30 ปี ที่แล้ว ธุรกิจเราเป็นการทำตลาดแค่ภายในประเทศ ซึ่งก็เพียงพอแล้วกับกำลังการผลิต แต่หลังจากมี “ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า” (GATT) จะช่วยลดเรื่องภาษี ทำให้ของเข้ามาได้ง่ายขึ้น เราก็ต้องรีบหาตลาดเพิ่ม โดยการไปส่งออกมากขึ้นด้วย จึงรู้สึกว่า ถึงเวลาที่ต้องกลับบ้านแล้ว ช่วงนั้น ราวปี 2000, สาเหตุนี้ ผมจึงต้องรีบกลับมาช่วย เข้ามาก็เน้นเรื่องส่งออกอย่างเดียวเลย เพราะทางบ้านยังไม่มีส่วนนี้มากนัก เคยมีแค่เอเย่นต์พาลูกค้ามาติดต่อ พอผมเข้ามา ก็เริ่มติดต่อลูกค้าโดยตรง หรือติดต่อเอเย่นต์เอง เป็นการขยายฐานตลาดไปสู่ต่างประเทศ โดยลูกค้าเป็นแบรนด์ชุดชั้นในชั้นนำระดับโลกของยุโรป หากเอ่ยชื่อมาก็จะรู้จักกันเป็นอย่างดี รวมถึงแบรนด์ ของอเมริกาอีกด้วย จากที่เคยทำธุรกิจแค่ในประเทศ ก็ขยับขึ้นไปเป็น ริจินัล เพลเยอร์ ก้าวไปสู่ตลาดระดับโลกได้สำเร็จ ส่วนผมเอง จากแรก ๆ ที่ดูทางด้านการส่งออก ปัจจุบันก็ขยับมาดูโดยรวมทั้งหมด

นักเดินทาง :เป็นคนชอบเดินทางมาก ประกอบกับช่วงแรกที่มาทำงาน บริษัทเน้นส่งออกมากขึ้น ทำให้ต้องเดินทางบ่อย ส่วนมากเป็นการไปทำธุรกิจก่อน แล้วผมก็จะเผื่อเวลาไว้อีกสักหน่อย เพื่อท่องเที่ยวต่อ ส่วนมากจะเป็นแถวยุโรป แต่ถ้าจะเที่ยวจริง ๆ โดยไม่ต้องทำงาน ประเทศที่ชอบไปก็เป็นญี่ปุ่น

ธุรกิจท่องเที่ยว : เมื่อประมาณช่วงปี 2000 การท่องเที่ยว การเดินทาง ยังไม่สะดวกสบาย ไม่ทันสมัยเหมือนกับยุคนี้ ที่ทุกคนสามารถไปไหนมาไหนได้ ด้วยการใช้มือถือเพียงเครื่องเดียว, แต่สมัยนั้นเวลาผมไปเที่ยว ต้องมีการเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ อ่านหนังสือหาความรู้ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน ต้องมีแผนที่ไปด้วย มีการเช็คว่า จะไปที่ไหน ต้องขึ้นรถบัสสายอะไร ต่อรถแบบไหน การหาที่พัก ฯลฯ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก จนคิดอยากจะทำงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะคิดว่า ถ้าเราสามารถช่วยเหลือ ให้การบริการ ดูแลนักท่องเที่ยวได้ ธุรกิจก็น่าจะไปได้ดี

จุดเด่น : ในอาเซียน บ้านเราเริ่มธุรกิจผ้าก่อนประเทศอื่น ๆ มีสมาคมต่าง ๆ เมื่อมีคนทำธุรกิจเยอะ ก็สามารถรวมตัวจัดตั้งกันเป็นสมาคมได้ ทำให้มีข้อมูล รู้จักกัน, ถ้าลูกค้ามาหาวัตถุดิบ เขาสามารถหาได้ค่อนข้างครบ ทำให้มีข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการขนส่ง เราได้เปรียบมาก ๆ อย่างเรื่องสิ่งทอ โซนที่ทำหลัก ๆ มีอยู่สองโซน ที่ อ้อมใหญ่ กระทุ่มแบน สามพราน กับ ปากน้ำ สมุทรปราการ แล้วกรุงเทพฯ อยู่ตรงกลาง การขนส่งจึงทำได้ง่าย คนที่จะมาหาผ้าในโซนนี้ รวมไปถึงเอเชีย ก็ต้องมาหาเราก่อน มาเช็คราคากับเรา และในอนาคต ธุรกิจของเราจะมีการปรับให้มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เช่น ผ้าสำหรับการแพทย์ หรือสำหรับใช้ในกีฬา ที่เป็นฟังก์ชั่นเฉพาะพิเศษจริง ๆ

สมาคมฟอกย้อมฯ : สมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย (ATDP) ก่อตั้งมาเมื่อปี 2534 วัตถุประสงค์ คือให้ความช่วยเหลือสมาชิกในทุก ๆ ด้าน เพราะเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จะได้เปรียบในข้อมูล เรื่ององค์ความรู้ โดยสมาคมฟอกย้อมฯ จะอยู่ค่อนข้าง “หลังบ้าน” แตกต่างจากสมาคมอื่น ที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปโดยตรงออกไป ส่วนสมาชิกเรายังมีส่วนที่เป็นกลุ่ม OEM รับจ้างย้อม ไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับลูกค้าปลายทาง และสมาชิกอีกกลุ่มย้อมด้วยและส่งสินค้าออกไปเลย ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับลูกค้าปลายทาง

ตัวแทนสมาชิก : เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมของประเทศ กฎหมายทางด้านอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ พวกเราคณะกรรมการก็ต้องไปเข้าร่วมการประชุม รับฟัง หากมีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องคอยปกป้อง ชี้แจง ข้อเท็จจริง หรือเจรจาต่อรอง ให้ได้รับประโยชน์หรือสิทธิ์ที่เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์กับสมาชิก

ผู้อยู่เบื้องหลัง : สมาคมฟอกย้อมฯ เหมือนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของสิ่งทอให้เมืองไทย เราอาจจะอยู่เบื้องหลังสินค้า ที่พวกเราอาจจะไปต่างประเทศ แล้วซื้อกลับมาก็ได้ เพราะอาจถูกนำไปแปรรูป ติดแบรนด์ แล้วไปซื้อกลับมาในราคาแพงมาก ๆ ส่วนสินค้าด้านกีฬา ประเทศไทยเราอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ผ้าไทย อยู่ในเกรดพรีเมี่ยม แบรนด์ดัง ๆ ก็ใช้ผ้าไทยเยอะมาก, ถ้าถามว่า สิ่งทอ ณ ปัจจุบัน ยังอยู่ได้หรือไม่ ก็ตอบว่า จริง ๆ ยังอยู่ได้ ธุรกิจที่ยังเหลืออยู่ ก็คือกลุ่มที่รอดมาจากวิกฤติได้, การผลิตสินค้าจำนวนปริมาณมาก ๆ ได้ถูกผ่องถ่ายให้ไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่มีค่าแรงต่ำกว่าเราแล้ว

เพื่อสมาชิก : สมาคมฯ เป็นผู้กระจายข่าว ให้ความรู้ กับสมาชิก ตามนโยบายการขับเคลื่อน BCG โดย B คือเศรษฐกิจชีวภาพ Bio-economy เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า พร้อมไปกับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม, C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าให้มากที่สุด ใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร, การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ และ ออกแบบ ผลิต เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด, G คือ เศรษฐกิจสีเขียว Green Economy มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน การอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเราเป็นส่วนร่วมพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว เช่น การประหยัดน้ำ ลดคาร์บอน มีการประสานกับภาครัฐ จัดสัมมนา ให้ความรู้กับสมาชิก เช่น เรื่องคาร์บอนฟุตปริ้น เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายรัฐบาลให้สำเร็จ

กิจกรรมเพื่อส่วนรวม : เรามีกิจกรรมหารายได้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯ เช่น นำมาจัดสัมมนาต่าง ๆ ให้กับสมาชิก หรือส่วนของการบริหารจัดการของสมาคมฯ, คณะกรรมการที่เข้ามาช่วยงาน เป็นอาสาสมัครทั้งหมด ไม่ได้ผลประโยชน์ใด ๆ ปกติมีจัดโบว์ลิ่งประจำปี มีจัดกอล์ฟการกุศล ส่วนกิจกรรมส่วนอื่น ๆ อาจมีการพบปะกันนอกรอบบ้าง ระหว่างสมาชิกกับกลุ่มโฟกัสที่เราอยากจะเชื่อมโยง

กอล์ฟ : ผมเล่นกอล์ฟค่อนข้างเร็ว เพราะคุณพ่อไปเล่น ก็ชวนให้ไปเล่นเป็นเพื่อน ผมก็ชวนเพื่อนสนิท ๆ ไปเล่นด้วยกัน พาเพื่อนไปสนามซ้อม ให้ยืมอุปกรณ์ จะได้เล่นด้วยกันได้ สมัยนั้นไปสนามสามพรานบ่อยมาก เพราะเป็นเมมเบอร์ สำหรับผมตอนนั้นกอล์ฟเป็นกีฬาใหม่ เล่นคนเดียวได้ พัฒนาฝีมือด้วยตัวเอง ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ชอบมาก, ช่วงไปเรียนอเมริกา ได้เล่นกอล์ฟที่สนามมหาวิทยาลัยได้แค่นิดหน่อย เพราะตอนนั้นยังไม่มีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง อาศัยยืมเพื่อนเล่น พอสนุก ๆ และมีความฝันว่าอยากจะไปเล่นที่ออกัสต้าสักครั้ง แล้วก็ต้องหยุดเล่นกอล์ฟไปสองครั้งเพราะภาระหน้าที่ ครั้งแรกหลังจากจบ ไปเรียนต่อ ก็ต้องหยุดเล่น, หลังจากกลับมาทำงาน ทำไปได้สักพัก กลับมาเล่นอีก แต่รู้สึกว่าเล่นได้ไม่ค่อยดี เลยหยุดไปอีกรอบ พอรอบล่าสุดพอผ่านช่วงโควิดมา ก็คิดว่าจะเล่นไปเรื่อย ๆ สัปดาห์ละครั้ง ควบคู่กับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ฟุตบอล ซึ่งเล่นเป็นประจำด้วยเช่นกัน

ดูแลตัวเอง : ก่อนช่วงโควิด ก็เข้าฟิตเนสบ้าง แล้วจำต้องเว้นไป พอทุกอย่างเริ่มผ่อนคลาย ก็พยายามแบ่งเวลาดูแลตัวเอง ในหนึ่งสัปดาห์อาจจะเล่นกอล์ฟสักหนึ่งวันถ้าทำได้ และเล่นฟุตบอลอีกวัน เพราะ “ความสุขในชีวิต เกิดจากการใช้ชีวิตที่ดี” ของเรา ไม่ได้เกิดจากมีเงินแค่เพียงอย่างเดียว เรายังต้องมีเพื่อนที่ดี มีครอบครัวที่ดี และสำคัญที่สุดคือ สุขภาพทั้งกายและใจต้องดีด้วยครับ