ซ้อมให้เหมือนแข่งขัน หรือแข่งขันให้เหมือนซ้อมดี
ซ้อมให้เหมือนแข่งขัน หรือแข่งขันให้เหมือนซ้อมดี
มีนักกอล์ฟปรึกษาว่าเวลาลงแข่งขันกอล์ฟแล้วรู้สึกเครียด รู้สึกว่าตัวเองเล่นกอล์ฟที่จริงจัง และผลการเล่นไม่ดีตามที่เล่นอย่างจริงจัง เราควรทำอย่างไรดี
ในหลักการของจิตวิทยาการกีฬาเพื่อการเล่นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ในระหว่างการแข่งขันนั้น ความตั้งใจจนเกินไป จนเครียด หรือการเล่นที่ผ่อนคลายเกินไป ไม่จริงจัง ขาดความตั้งใจตามแนวทางของการเล่นที่ควรเป็น ล้วนแต่จะนำไปสู่ผลการเล่นที่ไม่ดี และสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการเล่นที่ไม่ดีคือ สถานการณ์การเล่นที่แตกต่างกันระหว่างการฝึกซ้อมและการแข่งขัน บาจนมีคนกล่าวถึงการเล่นลักษณะนี้ว่า “เล่นแบบหมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม”
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เราควรทำอย่างไร
โดยปกติ ในสถานการณ์การแข่งขัน ความเข้มข้น จริงจัง จะมีมากกว่าตอนฝึกซ้อม ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่นเป็นเพราะ ผลของการเล่นในขณะแข่งขันมีผลต่อชื่อเสียง รางวัล รายได้ Ranking การผ่านการคัดตัว การได้หรือไม่ได้รับทุน หรือการตัดตัว ดังนั้นการเล่นในการแข่งขันจึงมีความสำคัญและจริงจังโดยธรรมชาติ และทำให้นักกีฬาที่ให้ความสำคัญและจริงจังกับผลของการแข่งขันมากจนเกิดความกดดัน ความเครียด ไม่สามารถเล่นได้ดีตามที่เคยเล่นในสถานการณ์ปกติได้ ในขณะที่การเล่นกอล์ฟในระหว่างการฝึกซ้อม ที่สภาวะของความกดดันมีน้อยกว่า เพราะเล่นดีหรือไม่ดีก็ไม่มีผลต่อเงินรางวัล คะแนนสะสม ชื่อเสียง การสนับสนุนจากสปอนเซอร์ การเล่นในขณะฝึกซ้อมจึงดูจะผ่อนคลาย และส่งผลต่อการเล่นที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเล่นจากการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อผู้เล่น สถานการณ์ต่างๆที่กล่าวมาจึงยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความกดดัน เครียด หรือจริงจังได้
คำถามคือ แล้วนักกีฬาควรจะเล่นในการแข่งขันให้เหมือนตอนซ้อมไหม หรือว่าเราควรจะซ้อมให้เข้มข้น จริงจังเหมือนตอนแข่งขันเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย
คำตอบคือ การเล่นที่ผ่อนคลายเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะภาวะที่ผ่อนคลาย จะทำให้กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารเคมีในร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สมาธิที่ยาวนานกว่า แต่ปริมาณการเรียนรู้ ทักษะที่จะเกิดขึ้นอาจจะเกิดได้ในระดับหนึ่ง
ในทางตรงข้าม การฝึกหนักๆ เรียนรู้อย่างเต็มที่ และสร้างสถานการณ์ให้มีความจริงจังและกดดันตั้งแต่ฝึกซ้อมเลย เป็นการเตรียมตัวหรือทำความคุ้นเคยกับสถานการณ์เหล่านี้จนนักกีฬาสามารถปรับตัว และคุ้นเคยกับสถานกาณ์ในขณะแข่งขัน (สถานการณ์การฝึกซ้อมไม่แตกต่างอะไรกับการแข่งขัน) ไม่ว่าการแข่งขันจะยิ่งใหญ่ จริงจัง กดดันแค่ไหน เราก็ฝึกซ้อมให้ถึงขึ้นนั้น เพื่อที่ร่างกาย ทักษะและจิตใจ กับสิ่งที่เราจะต้องทำมีความใกล้เคียงกัน เมื่อการแข่งขันที่หนัก ยาก และการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง จริงจังไม่ต่างกัน โอกาสของการเกิดสภาวะของ “หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม” จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น
นอกจากนั้น สถานการณ์ ความกดดัน ความจริงจัง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในทุกครั้ง แต่หากนักกีฬาเตรียมตัวรับสถานการณ์หนักและในทุกรูปแบบ ทั้งร่างกาย ทักษะและจิตใจ ไว้เป็นอย่างดีแล้ว หลักการนี้จึงน่าจะเป็นหนทางของการรับมือกับทุกสถานการณ์ของการแข่งขันได้
อย่างไรก็ตามเมื่อนักกีฬายังเป็นเยาวชนที่ยังอาจจะไม่พร้อมกับสถานการณ์ที่รุนแรง จริงจังและกดดัน การฝึกซ้อมตามสภาวะอย่างเหมาะสม ตามหลักการณ์พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง (LTAD) ก็สามารถเริ่มต้นจากการทำให้การแข่งขันคล้ายๆกับตอนซ้อมไปก่อน แล้วจึงค่อยๆพัฒนาและเพิ่มความจริงจัง หนักหน่วงขึ้นเมื่อนักกีฬามีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย ด้านทักษะและด้านจิตใจ
สรุปคือ หากเราต้องการเล่นกอล์ฟได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราควรสร้างสถานการณ์ที่ผ่อนคลาย เหมาะสมกับวัยและระดับของความสามารถ แล้วจึงค่อยๆซ้อมอย่างจริงจัง หนักหน่วง กดดัน เมื่อมีความพร้อมมากขึ้น
ผศ.ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย