Interview

รศ.ดร.อภิลักษณ์ เทียนทอง

รศ.ดร.อภิลักษณ์ เทียนทอง
รองหัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการพัฒนากีฬา
ฝ่ายวิชาการและการประกันคุณภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการพัฒนากีฬา
คณะสหเวชศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เด็กเกษตรฯ : ผมจบปริญญาตรี โท เอก จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มจากเรียนปริญญาตรีพลศึกษา ปริญญาโท วิทยาศาสตร์การกีฬา ตั้งแต่เริ่มมีสาขานี้ในประเทศไทย แล้วก็ทิ้งช่วงเรื่องเรียนไปนาน เพราะได้งานเป็นอาจารย์สอนที่นั่น ตั้งแต่ปี 2542 ต่อมากระแสการทำงานเปลี่ยนไป มีคำแนะนำให้เรียนเพิ่ม ผมก็เรียนต่อปริญญาเอก ในคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จนจบเมื่อปี 2555

ธรรมศาสตร์ : ราวปี 2547 มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องนโยบาย จากการที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา โตขึ้น จนต้องย้ายไปเป็นคณะที่กำแพงแสน นครปฐม ซึ่งไกลบ้านมากขึ้น จนเมื่อมีโอกาสจึงย้ายมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2559 ส่วนหนึ่งคือเรื่องความลงตัวในการเดินทาง คณะสหเวชศาสตร์ อาจไม่มีด้านกีฬาโดยตรง แต่จะไปทางด้านบุคลากรที่สนับสนุนทางการแพทย์ รังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด ท่านผู้บริหารสมัยนั้นจุดประกายให้วิทยาศาสตร์การกีฬาเกิดขึ้น แล้วก็เป็นภาควิชา มีส่วนของกีฬาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันที่คนจะเจ็บป่วย แล้วพอดีมีนักกีฬามาเรียนเยอะ จึงเป็นการเรียนเรื่องการจัดการ การฝึกสอนกีฬา

คณะสหเวชศาสตร์ : ภาพรวมทั้งคณะจะกว้างมาก เพราะจะไปทางเทคนิคการแพทย์ แต่ถ้าเจาะในส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาที่รับผิดชอบ ส่วนหนึ่งจะไปเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำทีม, เป็นผู้ฝึกสอนด้านสโมสรกีฬา แล้วแต่หน้าที่ เป็นผู้ดูแลสมรรถภาพทางกาย เป็นผู้ช่วยโค้ชทางด้านวางแผนการเล่น อีกกลุ่มก็เป็น การจัดการกีฬา ธุรกิจกีฬา ทั้งภาครัฐและเอกชน ฯลฯ และในภาพรวมของภาค คือวิทยาศาสตร์การกีฬาและการพัฒนากีฬา มีหลักสูตรย่อย ๆ 3 หลักสูตร ซึ่งกระบวนการที่เรียน การสอนต่าง ๆ จะเอื้อกันอยู่ โดยผมรับผิดชอบการฝึกสอนกีฬา จะแยกออกเป็น เอาไปสอนทักษะกีฬา สอนเรื่องการวางแผนการฝึกซ้อม สอนเรื่องสมรรถภาพทางกาย หรือการฝึก ทั้งหมดอาศัยความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์การกีฬา จุดที่ต่างกันคือ ในวิทยาศาสตร์การกีฬา จะเน้นในเรื่องความเป็นวิทยาศาสตร์ การประยุกต์ใช้ แต่พอมาเป็นหลักสูตรฝึกสอนกีฬา ให้นึกถึงตัวพลศึกษา ขณะที่เรามีความก้ำกึ่ง เป็นพลศึกษาไม่ได้ เพราะต้องอยู่ภายใต้สังกัด ภายใต้กรอบวิชาชีพครู การฝึกสอนกีฬา จึงไม่ใช่ทางด้านครู แต่เป็นบุคลากรอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้านึกถึงในต่างประเทศ จะเห็นว่า ครูสอนพละ กับ โค้ชนักกีฬา จะทำหน้าที่แตกต่างกัน เราเป็นในเชิงนั้นมากกว่า แต่บ้านเรายังไม่มีการแบ่งแบบนั้นอย่างชัดเจน

CGA : ผมไม่ได้เริ่มจากกอล์ฟมาโดยตรง พื้นฐานมาจากนักกรีฑา เป็นนักวิ่ง ผ่านการอบรมของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ ระดับ 1 – 2 กลับมาก็พัฒนานักกรีฑาอยู่พักนึง เคยได้คุยกับ อ.เชาว์ (เชาวรัตน์ เขมรัตน์) พอดีมีเด็ก CGA เรียนที่สาธิตเกษตรฯ คิดว่าพอช่วยดูได้ เลยไปช่วยที่ศูนย์ฝึก มุ่งเน้นกลุ่มนักกีฬา เรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกสมรรถภาพทางกายในกีฬากอล์ฟ ค่อย ๆ เริ่มจากเป็นกลุ่มเยาวชน ภายหลังก็มีกลุ่มนักกีฬากอล์ฟอาชีพด้วย

กอล์ฟฟิตเนส: ก่อนหน้านี้ มีคนพูดถึงสมรรถภาพทางกายในกีฬากอล์ฟยังน้อยมาก ช่วงนั้นถึงแม้โค้ชฟิตเนสมีเยอะแล้ว แต่ยังไม่มีลงไปเฉพาะทาง ยังกว้างไปกับกอล์ฟ ผมก็ได้บทเรียนนี้ด้วยตัวเอง ช่วงนั้นยังแข็งแรง มีความสงสัยว่า เล่นฟิตเนสเยอะ แต่ทำไมผมตีไม่ไกล เหล็กเบอร์เดียวกัน ผมตีได้ 130 หลา แต่โปร ตีได้ 180 หลา ทั้งที่โปรตัวเล็กกว่า อายุเยอะกว่า ทำให้เกิดความข้องใจ, ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มศึกษา อ่านตำราอย่างเดียวไม่ทัน ก็ค้นเข้าไปอ่านงานวิจัย แล้วนำมาใช้พัฒนาเป็นหลักการทางกอล์ฟ ซึ่งในปัจจุบัน มีฟิตเนสเกี่ยวกับกอล์ฟมากขึ้นแล้ว แต่ก่อนหน้านี้แทบจะไม่มี

แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ : หลักการของฟิตเนส มีความมุ่งหมายให้สมรรถภาพทางกาย ไปส่งเสริม สมรรถนะทางกีฬา ให้ดีขึ้น เช่น ทักษะ แผนการเล่น รูปแบบการเล่น ต้องช่วยได้ โดยพื้นฐานแล้วมีความใกล้เคียงกัน แต่การนำมาใช้ ในกีฬาที่มีความเฉพาะไม่เหมือนกัน ต้องมีการประยุกต์มาให้เหมาะสม ทั้งความหนัก ระยะเวลาในการฝึก อะไรคือองค์ประกอบสำคัญสำหรับกีฬาชนิดนี้ เช่น ฟุตบอล กับ ฟุตซอล เตะลูกกลม ๆ เหมือนกัน แต่เวลาการเล่น พื้นที่เล่น ไม่เท่ากัน ทำให้การเคลื่อนไหวมีความแตกต่างกัน, กอล์ฟ การสวิงก็อาจจะคล้ายกับ แบดมินตัน เทนนิส แต่ความเฉพาะต่อการฝึกซ้อมให้พัฒนากลุ่มกล้ามเนื้อไม่เหมือนกัน การยกน้ำหนักเยอะ ๆ มีความแข็งแรง แต่ทำไมตีไม่ไกล อาจเพราะว่าบางครั้ง มีผลกับกลไกการเคลื่อนไหวในทักษะที่นักกีฬาแต่ละประเภทใช้อยู่ เช่น ฟุตบอล มีการวิ่งในระนาบเดียวกันไป แต่กอล์ฟ มีการเคลื่อนไหวหลากหลายกว่า การสั่งการของระบบประสาทก็ต่างออกไป ก็ต้องนำมารวมกันให้ได้ ถ้าเราไปฝึกกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งโดยเฉพาะ อาจจะไม่ตรงกับฟังก์ชั่นของการนำไปใช้สวิง ทำให้กลไกผิดเพี้ยนได้ แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ ต้องถูกต้องกับกลไกของกีฬานั้น ๆ ด้วย

เริ่มต้นที่กลไก : ทำเรื่อง Mechanic ให้ถูกต้องก่อน, ถ้าทักษะไม่ดี ตีไม่ได้จังหวะ จะไม่มีทางขึ้นไปให้ถึงจุดที่ต้องการได้, ตัวฟิตเนส ความแข็งแรง จะทำให้สมรรถภาพดีขึ้น ทำให้การซ้อมทำได้มากขึ้น ทักษะที่ยาก ก็จะทำได้ง่ายขึ้น นี่คือความสำคัญ แล้วเมื่อนำทั้งสองสิ่งมาผสานใช้ด้วยกัน จะมีการพัฒนาได้ง่ายขึ้น ไปได้ไกลขึ้น เช่น ในวัยเด็ก ยังฝึกฝนเต็มที่ไม่ได้ แต่ละช่วงวัย มีความสมบูรณ์ไม่เท่ากัน ก็อาศัยให้เล่นสนุกตามวัยไปก่อน เพื่อให้ฟังก์ชั่นการทำงานมีการพัฒนาอย่างหลากหลาย

ค่อยเป็นค่อยไป : การฝึกฝนตั้งแต่เด็ก อาจทำให้เก่งจริง แต่จะไปได้ไม่ไกล เพราะเรานำสิ่งที่อยู่ในอนาคตมาใช้ก่อนแล้ว เด็กบางคนเก่ง แต่โตไปแล้วไม่อยากเล่น เพราะเขาถูกใช้และฝึก จนกระทั่งจิตใจไม่อยากเล่น และร่างกายก็ถูกใช้เยอะไป หรือการซ้อมจน Over Training อาจเกิดผลที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า Burn Out เนื่องจาก ได้รับการพักผ่อนไม่ดี มีความกดดันเยอะ แต่ถ้าปรับดี ๆ ให้มีความสมดุล ‘ซ้อมหนัก พักให้พอ รอบข้างไม่กดดัน’ Over Training ก็จะหายไปได้ ดังนั้นกระบวนการฝึกจึงต้องสัมพันธ์กันในแต่ละวัย อย่างกอล์ฟ ควรเริ่มต้นจากการฝึกกับโปรที่มีทักษะที่ดี สอนสวิง สอนทักษะ กลไกอย่าให้เพี้ยน

วงดีด้วยฟิตเนส : นักกอล์ฟสมัครเล่นบางส่วน ทักษะยังไม่ดี วงยังไม่นิ่ง เมื่อออกไปแข่ง กลับมาก็จะรีบหาทางแก้ โดยลืมไปว่า สิ่งที่ไม่ถูกต้องคืออะไร จุดนี้ฟิตเนสเข้ามาช่วยได้ อาจไม่ได้ช่วยเรื่องทำให้ตีดี แต่ให้รู้ว่าผิดตรงไหน เช่น ไปแข่งมา กล้ามเนื้อร่างกายตึง เคยบิดลำตัวได้เยอะ ก็ได้น้อยลง มีผลทำให้ ก้ม หมุน ไม่ได้เหมือนเดิม, มุมที่เปลี่ยนไป มีผลกับจังหวะ กลไกไม่เท่าเดิม แต่ที่ยังสวิงได้ เพราะมีการใช้กล้ามเนื้อมัดอื่นมาช่วย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วงเพี้ยน ดังนั้น สิ่งที่ฟิตเนส จะเข้ามาช่วยควบคู่ไปกับการฝึกทักษะ คือดูว่า แข่งเสร็จแล้ว ร่างกายมีจุดไหนยืดได้น้อย ก็ต้องทำการยืดให้ได้เหมือนเดิม นี่คือบทบาทสำคัญของฟิตเนสในกีฬากอล์ฟ ไม่เหมือนกับกีฬาอื่นที่หากฟิตเนสไม่ถึง ก็ไปเล่นได้ยาก เช่น ฟุตบอล, ขณะที่กีฬากอล์ฟ ร่างกายอาจฟิตเนสแค่ถึงระดับที่พอเล่นได้ แต่ทักษะต้องไม่เพี้ยน ก็เล่นในแบบพื้นฐานได้แล้ว

ออกกำลังกาย เรื่องสำคัญ : วิถีชีวิตคนเรา ถูกแวดล้อมด้วยสิ่งที่ทำให้เคลื่อนไหวน้อยลง จึงทำให้ร่างกายเราค่อย ๆ ถดถอย ธรรมชาติให้ร่างกายมีความแข็งแกร่งได้ด้วยปัญหา ด้วยอุปสรรค ด้วยการเผชิญกับการพยายามในการใช้ร่างกาย ทำให้ร่างกายดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่พอสิ่งเหล่านี้หายไป ความรู้ในเรื่องการออกกำลังกายจึงมีความสำคัญ เพื่อจะทำอย่างไร ให้คนออกกำลังกายแล้วมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะเดียวกัน การฝึกซ้อมกีฬา จะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด สองส่วนนี้เป็นความสำคัญของศาสตร์หรือคนที่มาเรียนทางสาขานี้ ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ต้องไปฟิตเนส คุณก็ออกกำลังกายเป็น ไม่ต้องเรียนหรือมีเทรนเนอร์ ก็ทำเป็น แต่สิ่งเหล่านั้น มันถูกหรือผิด ก็ยากที่จะบอกได้ เพราะเปิด YouTube ก็เจอแล้ว ข้อมูลในเว็บไซต์ Google มีเยอะแยะมากมาย แต่ความรู้ตรงนั้น ต้องนำมาวิเคราะห์ ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ คนที่เรียนมาโดยเฉพาะ เขาจะเลือกได้ว่า อะไรที่ถูกต้องเหมาะสม 

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ : สมัยก่อน เราซ้อมกีฬาเยอะมาก วัดกันด้วยปริมาณเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมากขนาดนั้น แต่คุณภาพของการซ้อมสำคัญกว่า แล้วจะทำให้อยู่ในระยะยาวได้ ศาสตร์ทางด้านนี้ มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ ค่าเฉลี่ยสถิติของนักกีฬาโอลิมปิกสูงขึ้นเรื่อย ๆ นักวิ่งระดับโลก แชมป์ 3 สมัย ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทั้ง ๆ ที่อายุเยอะขึ้นด้วย สถิติไม่แตกต่างจากครั้งแรกที่เข้าโอลิมปิกด้วยซ้ำไป ที่ทำได้ก็เพราะกระบวนการฝึกซ้อม กับกระบวนการดูแลรักษาให้คงสภาพ และยังมีนักกีฬาระดับโลกอีกมากมายหลายประเภท ที่อายุมากขึ้น แต่ยังมีศักยภาพสูงอยู่ เขาทำกันได้อย่างไร สิ่งนี้คือความสำคัญที่คนมาเรียนแล้วจะรู้ และมีการฝึกฝนระหว่างเรียนเพื่อนำไปใช้ ศาสตร์ทางนี้จึงยังคงมีความสำคัญ ใครที่สนใจก็ควรมาเรียน จะได้ทำไปใช้ ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

บริหารแบบผู้บริหาร : เป็นประสบการณ์ตรง สมัยทำงานอยู่เกษตร เราได้รับเกียรติจากผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่ มองเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพ นำผู้บริหารระดับสูงมาทดสอบสมรรถภาพ เป็นการจุดประกาย ให้ผมได้มองเห็นว่า ระดับผู้บริหารเขายังทำ แล้วสิ่งที่ทำ ก็ได้ผลตอบรับที่ดีกลับไป เขาไม่มีเวลาไปฟิตเนส ก็ปรับวิถีชีวิต เดินเยอะขึ้น จากเคยขึ้นลิฟท์ ก็เดินขึ้นบันได เดือนนี้ไม่ไหวได้ชั้นเดียว ก็เดินขึ้นไปทีละชั้น บางคนเดินขึ้นตึกถึงชั้น 5 แต่ยังไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะแข็งแรงขึ้น ก็เดินต่อไปถึงชั้น 6 แล้วค่อยลงมา ทำแบบนี้จนเดินได้เต็มที่ถึง 10 ชั้น แล้วค่อยลงลิฟต์มาที่ชั้นตัวเองทำงาน นี่คือการเพิ่มโหลด สุดท้ายแล้ว พอครบปี เราพบว่าสมรรถภาพเขาดีขึ้น แข็งแรงขึ้น ระบบหายใจดีขึ้น กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น โดยที่ไม่ได้เข้าฟิตเนสเลย แต่เป็นวิธีการคิดของคนที่ใส่ใจในสุขภาพ แค่ปรับการเดิน พฤติกรรม ให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ที่บ้านก็ทำได้ ใช้บอดี้เวท หรือใช้อะไรก็ได้ เดินกระตุ้นการทำงานของหัวใจ

ดูแลกาย : เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ถือว่าสุขภาพตกลงไปเยอะ ตั้งแต่โควิดต้องอยู่หน้าจอ ปกติเวลาสอน ในชั่วโมงเรายังได้ปฏิบัติกับเด็ก แต่พอสอนออนไลน์ จบวิชานี้ต้องต่อวิชานั้น แล้วตอบคำถามต่อเนื่องไปอีก ทำให้รู้สึกล้ามาก ตลอด​ 3 ปีที่ผ่านมา น้ำหนักตัวขึ้น ซึ่งวงรอบการดูแลตัวเองกำลังจะกลับมาใหม่ ขั้นแรก ต้องคุมอาหาร และ สอง ออกกำลังกาย ผมยังไม่ได้เข้าห้องฟิตเนสเท่าที่ควร ต้องปรับกิจกรรม เริ่มจากเบา ๆ ก่อน โดยการเดิน การเคลื่อนไหว ลุกจากโต๊ะทำงานมากขึ้น นี่คือแผนที่วางไว้ เมื่อเราอยู่ในสายกีฬา มีห้องฟิตเนสอยู่แล้ว ก็ลุกจากโต๊ะทำงาน ไปยกเวท 10 นาที 15 นาที ครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยเดินกลับมานั่ง อาศัยการสะสมแบบนี้ ช่วยให้สมรรถนะดีขึ้นได้

ดูแลใจ : พยายามไม่ไปเก็บอะไรให้เข้ามามากเกินไป หากทำงานแล้วมีปัญหา มีข้อขัดแย้งหรือโต้เถียง จะพยายามเคลียร์ให้จบในที่ประชุม ไม่ค้างคา หากมีเรื่องความขุ่นมัว หรือรู้สึกไม่สบายใจ ก็หากิจกรรมอื่น ที่ทำให้เราไม่ต้องไปเผชิญกับปัญหา พยายามหาสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ ก่อนหน้านี้งานอดิเรกก็ไม่ได้มีชัดเจน เพิ่งมีตอนตอนโควิด ปลูกต้นไม้เยอะมาก จนกระทั่งตอนนี้เริ่มเห็นดอกเห็นผล เริ่มมีร่มเงา และยังได้ข้อคิดว่าทำให้สบายใจขึ้น โล่งขึ้น ซึ่งสมัยก่อนไม่ค่อยได้ทำแบบนี้ เพราะถ้าเครียด หรือมีปัญหามาก ก็ไปออกกำลังกาย หาดูหนังที่สนใจ แค่นี้ก็สบายใจแล้วครับ