อมยิ้มริมกรีน

เหล็ก ‘เบอร์อะไร’ ตีไกลที่สุด?

เหล็ก ‘เบอร์อะไร’ ตีไกลที่สุด?

ถ้าจะตอบว่า หัวไม้หนึ่ง หรือ ไดร์ฟเวอร์ ก็คงจะง่ายไปครับ 555 ที่จั่วหัวขึ้นมาแบบนี้ ก็เพราะว่า เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ที่ต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า กอล์ฟ เป็นกีฬาชนิดแรก ที่ถูกนำไปเล่นไกลที่สุด ห่างจากโลกไปราว 380,000 กิโลเมตร … ที่ ดวงจันทร์!

เรื่องนี้มีที่มาว่า…

ระหว่างปฏิบัติภารกิจ ‘อพอลโล’ เป็นการส่งยานอวกาศไปสำรวจยังดวงจันทร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำมนุษย์ไปเหยียบพื้นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1969 แล้ว ด้วย ‘อพอลโล 11’ และยังมีการส่งจรวดในโครงการนี้ต่อเนื่องไปอีกหลายครั้ง ซึ่งครั้งสำคัญที่สุดสำหรับวงการกีฬา เกิดขึ้นในภารกิจ ‘อพอลโล 14’ เมื่อ อลัน เชพเพิร์ด นักบินอวกาศผู้คลั่งไคล้ในกีฬากอล์ฟ ได้ในอุปกรณ์การเล่น ‘เหล็ก 6’ และลูกกอล์ฟ ติดตัวขึ้นยานไปด้วย เพื่อทดลองตีกอล์ฟในสภาวะแรงดึงดูดน้อยกว่าบนโลกถึง 6 เท่า นั่นหมายถึง ตามทฤษฎี หากตีลูกเพียงเบา ๆ ก็จะลอยลิ่วไปไกลลิบ โดยแทบไม่ต้องออกแรงเลย

ก่อนหน้านั้น ผมเคยเข้าใจผิดอย่างแรงว่า ไม้กอล์ฟและลูก ที่ อลัน ใช้ตีบนดวงจันทร์นั้น เป็นเพียงการนึกสนุก ลักลอบ แอบนำไปโดยไม่มีการบอกกล่าว จนเมื่อมาพบข้อมูลจาก usga.org ว่า กว่าที่เขาจะนำเหล็กขึ้นยานไปได้ ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างละเอียด และเข้มงวด ในแบบที่เราต้องทึ่ง กับกรรมวิธี และการหาหนทางดัดแปลง เหล็ก 6 ยี่ห้อ ‘วิลสัน’ ให้เป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ สามารถแปลงร่างใช้เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ไว้เก็บตัวอย่าง ดิน หิน จากดวงจันทร์อีกด้วย

และนี่คือเรื่องราวของ ‘The Moon Club’ ซึ่งมีเกร็ดที่น่าสนใจให้ติดตามกัน ดังนี้

1. ไอเดียจาก ‘บ๊อบ โฮป’

ดาวตลก ซูเปอร์สตาร์ตลอดกาล ของอเมริกันชน เนื่องจากเมื่อปี 1970 เขาได้ไปเยี่ยมเยียน สำนักงานใหญ่ของ นาซ่า ที่ ฮูสตัน เพื่อเตรียมการถ่ายทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับนักบินอวกาศ ช่วงหนึ่ง เขาถูกยึดติดกับเครื่องฝึกจำลองแรงโน้มถ่วงขณะที่เดินบนบนดวงจันทร์, ซึ่งคนรักกอล์ฟอย่าง โฮบ ก็ชอบติดไม้กอล์ฟไปด้วยในเกือบทุกโอกาส รวมถึงระหว่างการจำลองอวกาศด้วย, เมื่อ อลัน เชพเพิร์ด เฝ้าดูดาราตลกคนโปรด อย่างใกล้ชิด เขาก็ตระหนักว่า วิธีที่ดีที่สุด ในการอธิบายผลกระทบของแรงโน้มถ่วง บนดวงจันทร์ คือ ‘วิถีการเดินทางของลูกกอล์ฟ’

เชพเพิร์ด ขอให้ แจ็ค ฮาร์เดน โปรของสนาม ริเวอร์ โอคส์ คันทรี คลับ ในฮูสตัน ทำหัวเหล็กชิ้นนี้ขึ้นมา สำหรับความมุ่งมั่นในครั้งนี้ จากนั้น ก็นำไปให้ฝ่ายบริการด้านเทคนิคของ นาซ่า ตรวจสอบ โดยช่างเทคนิค ได้เพิ่มรายละเอียดบางอย่าง ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ผลที่ได้คือ หัวเหล็ก 6 ของ Wilson Staff Dyna-Power ติดอยู่กับอะลูมิเนียมที่พับได้ และเครื่องมือเทฟลอน ที่ออกแบบมาเพื่อตักตัวอย่างหินบนดวงจันทร์!

2. ฝึกตีกอล์ฟในชุดอวกาศ… บนโลก!

นักกอล์ฟส่วนใหญ่ ชอบที่จะซ้อมบ้างนิดหน่อย ก่อนที่จะเริ่มเล่นหลุมแรก แม้กระทั่งเขาเองก็ไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่ว่า ‘สนาม’ ที่จะเล่นนั้น อยู่ห่างออกไปกว่า 380,000 กิโลเมตร และเครื่องแต่งกายก็ไม่ใช่แบบเดียวกับนักกอล์ฟทั่วไป, เมื่อได้รับการอนุมัติจาก นาซ่า เขาก็พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อจำลองประสบการณ์บนดวงจันทร์ จากการฝึกซ้อมบนโลก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะไม่ทำให้ตัวเองต้องเสียหน้าบนดวงจันทร์ โดยสวมชุดอวกาศซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 200 ปอนด์ และไปฝึกตีจากบังเกอร์ในสนามที่ฮูสตัน

3. เจอปัญหาใหญ่ก่อนได้ตี

เมื่อภารกิจ อพอลโล 14 ประสบความสำเร็จ ก็ถึงเวลาที่ เชพเพิร์ด จะตีกอล์ฟบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่ชุดที่เทอะทะทำให้ไม่สามารถใช้มือทั้งสองข้างได้ ดังนั้น เขาจึงจับไม้กอล์ฟด้วยมือขวาเพียงข้างเดียว!

การสวิงสองครั้งแรก ทำให้เกิดการระเบิดของฝุ่นดวงจันทร์ แต่ลูกบอลยังไม่สามารถพุ่งขึ้นสู่วงโคจรได้ จนในการตีครั้งที่สาม ถึงได้โดนลูก แต่มันลอยเข้าไปในปล่องภูเขาไฟใกล้ ๆ ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งเขาบอกภายหลังว่า ช็อตนั้น… ‘แชงค์’!

ในที่สุด ด้วยการสวิงครั้งที่สี่ เขาตีได้อย่างหนักแน่น ลอยพุ่งไปไกล ‘miles and miles and miles’ และมีชื่อเสียงจนกลายเป็นช็อตแห่งความทรงจำ ที่น่าประทับใจยิ่งกว่านั้น เวลาในการเหินของลูกกอล์ฟบนดวงจันทร์ นานมากกว่า 30 วินาที เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทำให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างแรงโน้มถ่วงของโลกและดวงจันทร์

อุปกรณ์หน้าตาแปลก ๆ เหล่านี้ คือแบบจำลอง ของไม้กอล์ฟเฉพาะกิจ ที่นักบินอวกาศ อลัน บี เชพเพิร์ด จูเนียร์ เคยใช้ตีลูกกอล์ฟ 2 ลูกบนดวงจันทร์ ระหว่างภารกิจอพอลโล 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1971 (พ.ศ. 2514) เขาพกเหล็ก 6 ที่ดัดแปลงแล้ว ไว้ในกระเป๋าชุดอวกาศ โดยติดไว้ที่จุดจับของอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง หลังเสร็จสิ้นภารกิจ เขาได้มอบหัวไม้นี้ให้กับ US Golf Association Hall of Fame ที่ นิวเจอร์ซีย์ และมอบแบบจำลองนี้ให้กับ National Collection ในปี 1975

แม้จะใช้แค่เพียง เหล็ก 6 ชิ้นเดียว กับลูกกอล์ฟอีกแค่สองลูก แต่ อลัน เชพเพิร์ด ก็ทำให้เกิด ‘ช็อตสะท้านกาแล็กซี’  และยังเป็นเรื่องที่ทำให้ กีฬากอล์ฟ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก…

เจอเรื่องราวแบบนี้ คงต้องถามตัวเองบ้างละว่า… ทีเรา เหล็กเรียงราย หัวไม้เต็มถุง ทำไมไม่ได้เรื่องซะที น่าจะหยิบออกให้เหลือชิ้นเดียว เผื่อจะประสบความสำเร็จกะเขาบ้าง ก็อาจจะเป็นได้ (ยากส์) 555

ภาพและข้อมูลจาก : usga.org, airandspace.si.edu