คอลัมน์ในอดีต

ศรัทธาสร้างพลัง (2)

ศรัทธาสร้างพลัง (2)

1 กันยายน 2545 ผู้เขียนเริ่มสวดมนต์ไหว้พระเป็นวันแรก ก่อนจะไปเล่นกอล์ฟที่สนามกอล์ฟปัญญา รามอินทรากันทั้งครอบครัว โดยเปิดบทสวด พระมหากรุณาธารณียสูตร และสมาธิตาม

น่ำโมกาจายายา  นำโมอารยะเจียนะ ส่าก้าลา เปยเลอเจียนะ อิวฮะละจะยา ตะถะกัตตายา อันละฮ่าเต ซังยะซัง พุทธะยา นะโมสะลูวะตะถะตะติเต อันละหัตถะเต สั่งย่าซัง พุทธิเต นะโมอารยา อวาลูเกอติศิลวายา  โพธิสัตวะยา มหาสัตวะยา มะหาการุนีกายา ตะติยาทา  โอมตะละตะลา ถี่หลี่ที่ลิ ทูลูทู่หลู่  อิตติเวย  อิตติเจียเลียเจียเล ปุละเจียเล ปูลาเจียเล กุศุเม กุศุมา วาเล อีลิ มิลิ จิตติ จัว ละ มะ ปะ  นะ ยะ ซัวฮา

ขอน้อมนมัสการ  สักการะแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระอรหันต์ทั้งหลาย  ด้วยพระองค์ทรงล้ำเลิศด้วยพุทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้  ด้วยทรงประทานพระรัตนตรัยอันบริสุทธิ์ ทรงสั่งสอนเทพยดาและเหล่าเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้ล่วงพ้นจากความทุกข์ ทรงประทานธรรมะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งแก่สรรพชีวิตทั้งหลาย  จนสามารถก้าวพ้นจากห้วงเหวแห่งความทุกข์  พบกับความสุขสงบได้ด้วยสติปัญญา

วันนี้นี่เอง ผู้เขียนได้รางวัล Hole in One และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม

18 ตุลาคม 2546

ผู้เขียนมีโอกาสไปประเทศอินเดีย และประเทศเนปาลกับคณะศรัทธาทัวร์ไปทอดกฐินหลวง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดกุสาวดี ต.กุสินารา อ.กาเซีย ประเทศอินเดีย และอัญเชิญผ้ากฐินพระราชทานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อทอดถวาย ณ วัดไทยลุมพินี ต.ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบ องค์มหาเจดีย์พุทธคยา ปิติจนน้ำตาไหล

มหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา อำเภอคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร บริเวณพุทธคยา ตั้งอยู่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา เดิมเป็นหมู่บ้านอุรุเวลา ปัจจุบันเสียงเรียกเพี้ยนไปเป็น อุเรล อยู่ห่างจากสถานีรถไฟ    เมืองคยา ประมาณ 10 กิโลเมตร เจดีย์พุทธคยา ปัจจุบันได้มีการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย และผู้ว่าการรัฐพิหาร ได้มีการตั้งคณะกรรมการดูแลพุทธคยา และมีพระราชบัญญัติว่าด้วยวิหารพุทธคยาขึ้น รอบๆโพธิมณฑลของพุทธคยานั้น ก็มีชาวพุทธชาติต่างๆไปสร้างวัดไว้ด้วย และต้นโพธิ์ใหญ่ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ ปัจจุบัน เป็นต้นที่ 4 (เป็นหน่อจากต้นเดิม)

พระมหาโพธิเจดีย์นั้น มีประวัติอันยาวนาน สันนิษฐานว่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่เป็นขนาดย่อมกว่าสมัยปัจจุบัน ต่อมาผ่านยุคของกษัตริย์ ชาวพุทธมากมาย กษัตริย์ คฤหบดี เศรษฐีต่างก็คงจะสร้างต่อเติมจากขนาดเดิม จนใหญ่ขึ้น เช่น ราว พ.ศ.๖๗๔ พระเจ้าหุวิชกะ กษัตริย์มคธ เสด็จมานมัสการและได้ทรงให้สร้างเป็นศิลปะที่สวยงาม และสร้างต่อเติมจนใหญ่เป็นมหาสถูปของพระพุทธศาสนา เป็นสถาปัตยกรรมอินเดียแบบพุทธที่งดงาม โดยรอบของพระเจดีย์มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ตามช่องเล็กช่องน้อยของพระมหาเจดีย์

ราวปี พ.ศ.๒๑๓๓ นักบวชฮินดูรูปหนึ่ง ชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงที่พุทธคยา และเกิดชอบใจในทำเลนี้ จึงได้ตั้งสำนักเล็กๆใกล้ๆกับพระมหาเจดีย์พุทธคยา และพออยู่ไปนานๆก็คล้ายๆกับเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย และพวกมหันต์นี้ ก็คือนักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดูนั่นเอง กล่าวกันว่า เป็นพวกที่ติดอันดับมหาเศรษฐี ๑ ใน ๕ ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์ปัจจุบันก็มีการสืบทอดมาตั้งแต่ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ตอนนี้เป็นองค์ที่ ๑๕ การที่พวกมหันต์มาครอบครองพุทธคยานั้นก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไรทั้งสิ้นเพียงใช้พื้นที่เพื่อหาประโยชน์เท่านั้นเอง

ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระเจ้ามินดงมิน แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดียเพื่อขอบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร และจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดียจึงได้เริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่ง เซอร์ อเล๊กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลาล มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ หลังจากนั้นคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทนและเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนเป็นดังที่เห็นในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวพุทธศรีลังกาเดินทางมายังพุทธคยา พร้อมกับพระภิกษุโกเซน คุณรัตนะ ชาวญี่ปุ่น ได้พบเห็นสภาพของพุทธคยาแล้วถึงกับสลด เพราะไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร พวกมหันต์ที่มายึดครองพระวิหารพุทธคยาและพื้นที่โดยรอบโดยไม่ชอบธรรม ก็ไม่ได้สนใจดูแลพุทธคยา ท่านจึงตั้งปณิธานว่า จะทำให้พุทธคยากลับคืนมาเป็นของชาวพุทธให้ได้ ปณิธานนี้มาสำเร็จในภายหลัง

พระมหาโพธิ์เจดีย์นั้นเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางของพุทธคยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และเป็นที่ๆพุทธศาสนิกชนจากทุกมุมโลก ปรารถนาจะมานมัสการให้ได้ ยามเช้าของอินเดีย แสงอาทิตย์ส่องสาดมายังตัวองค์พระเจดีย์บังเกิดแสงยอนตาระยิบระยับงดงาม และยังให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสต่อพุทธศาสนิกชนยิ่งนัก

มณีจันทร์ฉาย