What Ever

เทวดาผู้แก้ปัญหา ดินแล้ง น้ำหลาก

เทวดาผู้แก้ปัญหา ดินแล้ง น้ำหลาก

ดินแล้ง

…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…” (พระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529)

ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม “น้ำ” จึงเป็นปัจจัยหลัก ที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศ แต่ธรรมชาติก็ไม่ได้จัดสรรปันส่วนมาให้แบบพอดีๆ บางครั้งขาด จนเกิดเป็นปัญหาภัยแล้ง บางครั้งเกิน กลายเป็นอุทกภัยสั้นบ้างยาวบ้าง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยสายพระเนตรและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริมากมาย เพื่อจัดสรรปันส่วน สิ่งที่ธรรมชาติให้มาขาดๆ เกินๆ โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำ” ให้ พอดี พอเพียง ลดความเดือดร้อน สร้างความสุขให้กับพสกนิกรใต้ร่มพระบารมี

ฝน เป็นต้นกำเนิดของน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกพืชผล หากขาดฝนแล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนจะตีบตันตั้งแต่เริ่มต้น “ฝนหลวง” จึงเป็นโครงการพระราชดำริสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง

1101-spc-king-project-7

โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาด แคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร ตามเส้นทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน ทางอากาศยานดังกล่าว ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้งๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทย จะสามารถแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนตกได้อย่างแน่นอน ตามที่ทรงเล่าไว้ใน Rainmaking Story จาก พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ในปีถัดมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

จนถึงปี พ.ศ.2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าวขึ้น และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลอง เป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbondioxide) ขนาดไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆ ทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลม พ้นไปจากสายตา ไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้นในปี พ.ศ.2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการ พระราชดำริ “ฝนหลวง” ต่อไป

1101-spc-king-project-6

การทำฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า จะต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมาก บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้น ปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพ ในปริมาณที่เหมาะสมกล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้น ที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศ จะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอ ก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วยสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้นเร่งเร้ากลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆ ให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อใช้ กระตุ้นกลไก ระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

การทำฝนหลวงมีขั้นตอนหลายประการ ต้องใช้บุคลากรหลายฝ่ายร่วมมือกัน จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ต้องมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมกัน สร้างสรรค์โครงการนี้ ถึงแม้จะมีการสร้างเขื่อนหรือ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในบางส่วนของภูมิภาค แต่ก็ยังไม่ เพียงพอที่จะเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคและใช้ในการเกษตร โครงการนี้จึงสามารถ บรรเท่าความเดือดร้อนได้ เพราะสามารถที่จะเข้าไปปฏิบัติ ภารกิจในจุดต่างๆ ซึ่งเกิด ภาวะแห้งแล้งได้ แม้ฝนที่ตกในบางครั้ง อาจจะผิดเป้าหมายไปบ้าง เนื่องจาก ข้อผิดพลาดของสภาพลมฟ้าอากาศ หรือจากการคำนวน แต่ก็เป็น เพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับผลสำเร็จซึ่งนับได้ว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ

น้ำหลาก

เมื่อมีฝนแล้ว การจะเก็บน้ำที่ได้มาจากฟ้าให้เพียงพอสำหรับอุปโภค บริโภคและใช้ในการเกษตร ก็ด้วยสายพระนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกเช่นกัน ที่พระองค์ทรงพระราชทานโครงการเก็บน้ำน้อยใหญ่มากมายตั้งแต่ฝ่ายกักเก็บน้ำขนาดเล็ก อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จนถึงเขื่อนขนาดใหญ่ที่ใช้สำรองน้ำไว้ให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภครวมถึงทำการเกษตรเป็นบริเวณกว้างหลายจังหวัดตลอดช่วงฤดูแล้ง ซึ่งหนึ่งในหลายโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นได้จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีก็คือ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – เขื่อนลำตะคอง”

1101-spc-king-project-5

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 ความตอนหนึ่งว่า…ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ และหมู่นี้ก็พูดกันอย่างเสียขวัญเสียว่าอีกหน่อยต้องปันส่วนน้ำหรือต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ ดังนั้น ต้องหาแนวทางแก้ไขซึ่งปัญหานี้ต้องวางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติในวันนี้ เราก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำโครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี และโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนกว่าแล้วที่นราธิวาส ได้วางโครงการและแม้เป็นโครงการที่ไม่ได้แก้ปีนี้ หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างไรดีประมาณ 5 หรือ 6 ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง อาจจะนึกว่า 5-6 ปี นั้นนาน ความจริงไม่นานและระหว่างนี้เราก็พยายามแก้ไขเฉพาะหน้าไปเรื่อย แต่ถ้ามีความหวังว่า 5-6 ปี ปัญหานี้คงหมดไปก็คงมีกำลังใจที่จะฟันฝ่าชีวิตต่อไป

    ที่ว่า 5-6 ปีนี้ ความจริงได้เริ่มโครงการนี้มากกว่า 5-6 ปี โครงการที่คิดจะทำนี้บอกได้ ไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้วเพราะเดี๋ยวจะมีการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญจากผู้ที่ต่อต้านการทำโครงการ แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ถ้าดำเนินการไปเดี๋ยวนี้อีก 5-6 ปี ข้างหน้าเราก็สบาย แต่ถ้าไม่ทำในอีก 5-6 ปีข้างหน้าราคาค่าสร้างค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป 2 เท่า 3 เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราก็จะอพยพไปที่ไหนไม่ได้ โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือแม่น้ำป่าสัก อีกแห่งคือ แม่น้ำนครนายก สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้ในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้ สำหรับการใช้น้ำนั้นต้องทราบว่าแต่ละคนใช้อยู่อย่างสบายพอสมควร โดยเฉลี่ยวันหนึ่งใช้คนละ 200 ลิตร ถ้าคำนวณดูว่าวันละ 200 ลิตรนี้ 5 คน ก็ใช้ 1,000 ลิตร คือหนึ่งลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าปีหนึ่งคูณ 365 ก็หมายความว่า 5 คนใช้ในหนึ่งปี 365 ลูกบาศก์เมตร ในกรุงเทพฯ และในบริเวณใกล้เคียงนี้เรานับเอาคร่าวๆ ว่ามี 10 ล้านคน 10 ล้านคนก็คูณเข้าไปก็เป็น 730 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นเราเก็บกัก 730 ล้านลูกบาศก์เมตรในเขื่อนเราก็สามารถที่จะบริการคนในละแวกนี้ คนในภาคกลางใกล้กรุงเทพฯ นี้ได้ตลอดไป แล้วก็ไม่มีความขาดแคลน เขื่อนป่าสักที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ 750 ล้านกว่าๆ ตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียวก็พอสำหรับการบริโภคแน่นอน ไม่แห้ง ถ้าเติมอีกโครงการที่นครนายกจะได้อีก 240 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เกินพอ…

โดย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และตำบลพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี พื้นที่ของโครงการมีทั้งสิ้น 105,300 ไร่ อยู่ในเขตจังหวัดลพบุรี 96,658 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอได้แก่ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง และอำเภอชัยบาดาล รวมถึงยังมีพื้นที่เข้าไป อำเภอวังม่วงจังหวัดสระบุรีอีก 8,642 ไร่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินชนิดมีแกนดินเหนียวยาว 4,860 เมตร สูง 31.5 เมตร ระดับน้ำกักเก็บสูงสุด +43.00 ม.รทก. เก็บน้ำได้ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 19,230.79 ล้านบาท

1101-spc-king-project-3

ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้น ก็มีทั้ง เป็นแหล่งสำหรับอุปโภค บริโภคของประชาชนในเขตลพบุรีและสระบุรี, เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตลพบุรีและสระบุรี, เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดขึ้นใหม่ในเขตลพบุรีและสระบุรี, เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่โครงการชลประทานเดิม, เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่และแหล่งเพาะพันธ์ปลา, ช่วยการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำป่าสักตอนล่าง และการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย, ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรีขยายตัวมากขึ้น, ช่วยป้องกันอุทกภัยในเขตจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรีรวมทั้งในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับอุปโภคบริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย

เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน ลักษณะภูมิประเทศ อ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล อยู่ในลุ่มน้ำนครนายก ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อย  ของลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำนครนายกครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ของจังหวัดนครนายก มีเนื้อที่ 2,433 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้นน้ำของแม่น้ำนครนยกเกิดจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สภาพน้ำท่าของอ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล น้ำท่าเฉลี่ยมากที่สุดเดือนสิงหาคม มีปริมาณ 70.87 ล้าน ลบ.ม. น้ำท่าเฉลี่ยน้อยที่สุดเดือนมีนาคม มีปริมาณ 0.66 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งหมด 292.45 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ได้ 185,000 ไร่ ด้วยโครงการท่าด่านเดิม 6,000 ไร่ โครงการท่าด่านส่วนขยาย 14,000 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 165,000 ไร่

1101-spc-king-project-4

หลังจากก่อสร้างเสร็จสิ้น เขื่อนขุนด่านปราการชล สามารถ ช่วยให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำใช้ทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครนายกเป็นประจำทุกปี เพื่อการอุตสาหกรรม และเพื่อการแก้ไขพื้นที่ดินเปรี้ยวอีกด้วย

แม้ว่าธรรมชาติจะมอบทรัพยากรที่ไม่แน่นอนมาให้ แต่ด้วยพระบารมีและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริมากมาย เพื่อเปลี่ยนความไม่แน่นอนให้ พอดีและพอเพียง พระองค์ประดุจเป็น เทวดา จากสวรรค์ ที่ลงมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับชาวไทยโดยแท้