เส้นทางอาชีพของ “อาโป” หลังเทิร์นโปรปีแรก
รายงานเส้นทางกีฬากอล์ฟอาชีพของ “อาโป” สำหรับการเทิร์นโปรปีแรก
“อาโป” หรือ ชลชีวา วงษรัศม์ นักกอล์ฟสาวอายุ 15 ที่อยู่ในความดูแลของโรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์
เมื่อต้นปี พ.ศ.2565 ช่วงเดือน มีนาคม “อาโป” อายุครบ 15 ปี และเป็นช่วงที่จบ ม.3 ผม พ่อแม่และอาโป ได้ตัดสินใจเดินทางเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพกอล์ฟ ตามที่สมาคมกอล์ฟสตรีได้อนุญาต 15 ปีบริบูรณ์และหยุดการเรียนในระบบ มาเรียน กศน. ในช่วงมัธยมปลาย
โดยผมได้อธิบายเหตุผลไว้ตอนนั้นว่าทำไมถึงเทิร์นโปรเร็ว และออกจากการเรียนในระบบ ไม่สนใจที่จะเรียนต่อในระบบ และไม่สนใจที่จะขอรับทุนไปเรียนในระดับอุดมศึกษาที่อเมริกาเหมือนคนอื่นๆ ขอสรุปสั้นๆ อีกครั้งว่า
จากประสบการณ์ที่อยู่กับวงการกอล์ฟมาเกือบ 30 ปี พบเห็นนักกีฬาได้รับทุนไปเรียนต่ออเมริกาแล้วกลับมาเมืองไทยมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่
กลุ่มแรกคือ กลับมาเล่นกอล์ฟอาชีพต่อที่ประเทศไทย เมื่ออายุ 22-23 เพื่อจะไปเล่นต่อต่างประเทศ
กลุ่มสอง คือ ได้แฟนแต่งงานกับคนต่างประเทศ แล้วไม่ได้กลับมาประเทศไทย และไม่ได้เล่นกอล์ฟต่อ
กลุ่มสาม คือ กลับมาแล้วทำงานที่บ้านหรือไปเป็นพนักงานบริษัท ไม่ได้เล่นกอล์ฟต่อ
กลุ่มไหนมากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มสองและสามเท่าๆ กัน
กลุ่มแรกที่กลับมาเล่นกอล์ฟ ผลงานก็ธรรมดาไม่หวือหวามากนัก และเผลอแป๊ปๆ ก็อายุ 30 แล้วบางคนเล่นต่อแต่ก็เริ่มเหนื่อยสู้น้องๆ ไม่ไหว บางคนก็เปลี่ยนเส้นทางไปเป็นครูสอน ยังไม่เห็นมีใครมีเส้นทางกลับเข้าไปเล่นใน LPGA สักคน
และเมื่อมองนักกีฬาสาวไทยที่อยู่ใน LPGA ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ไม่มีใครจบมหาวิทยาลัยสักคน
ที่พูดมานี้ ส่วนตัวแล้วก็ยังอยากให้นักกีฬาเรียนจบให้ได้ปริญญาสักใบ ให้พ่อแม่ญาติพี่น้องสบายใจอวดคนข้างบ้านได้จะสาขาใดก็ได้ แต่เป็นการเรียนที่ง่ายๆ ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งเรียน เรียนแบบไปสอบอย่างเดียว (ของมหาวิทยาลัยเปิด)
นั่นคือเหตุผลที่ให้”อาโป” เทิร์นโปรตั้งแต่อายุ 15 มีเหตุผลหลักๆ ดังนี้
1. มีเวลาเล่นกอล์ฟอย่างน้อย 15-20 ปี ก่อนที่จะมีครอบครัวอายุประมาณไม่เกิน 35
2. เมื่อเลิกเล่นกอล์ฟก็มีอาชีพรองรับนั่นคือ การมาเป็นผู้สอนหรือเป็นโค้ชให้นักนักกอล์ฟรุ่นหลัง
3. อยากแย่งชิงเงินที่มีจำนวนไม่น้อยปีหนึ่งๆ เป็นพันล้านบาทในโลกนี้ เพื่อมาทำให้ชีวิตตัวเองและคนรอบตัวมีความสุขเพิ่มมากขึ้น มีเงินให้ลูกหลานได้สร้างโอกาส และมีความฝันร่วมกันที่จะสร้างสถานที่สำหรับให้น้องๆ ได้มีโอกาสฝึกกอล์ฟเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสทางอื่นๆ
หรือสรุปง่ายๆ ว่า “เราต้องการเงิน”
ผมได้สัญญาไว้ตอนเดือนมีนาคม ว่า ผมจะมาแบ่งปัน มาเล่าให้ฟังกับระหว่างทางเดินและผลลัพธ์ที่”อาโป” ทำได้
เริ่มต้น ขอรายงานรายได้ของ”อาโป” หลังจากผ่านไปตั้งแต่เดือน มีนาคม 2565 จนถึงเดือนตุลาคมเป็นระยะเวลา 8 เดือน
อาโปได้เล่นในสถานะนักกอล์ฟอาชีพกับ 4 ทัวร์นาเม้นท์ ได้แก่ ของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพไทย(ThaiLPGA) จำนวน 5 ครั้ง ของสมาคมกีฬฬากอล์ฟอาชีพสตรีไทย(TWT) จำนวน 5 ครั้ง ไทยแลนด์มิกซ์ของทรัสต์กอล์ฟ จำนวน 4 ครั้ง และของแอลอีทีแอสเซส(LET Ascess) จำนวน 2 ครั้ง
รวม 16 ทัวร์นาเม้นท์ ตกรอบไป 1 ครั้ง และพลาดจากการเล่นเนื่องจากไปต่างประเทศ ติดโควิด และบาดเจ็บ จำนวน 5 ทัวร์นาเม้นท์
ในการแข่งขันทั้งหมด ไม่เคยได้แชมป์อันดับดีที่สุด คือ ที่ 5 รวมทำเงินรางวัลไปทั้งหมด 502,411 บาท ถูกหักภาษีไป 44,375 บาท เหลือ 458,036 บาท
เฉลี่ย 8 เดือน ทำเงินได้เดือนละ 57,255 บาท หักต้นทุนการเข้าร่วมการแข่งขันเฉลี่ยครั้งละ 20,000 บาท เหลือ 3 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน
ถ้าไม่คิดมาก สำหรับเด็กอายุ 15 ทำเงินเดือนละ 3 หมื่นกว่าบาทก็โอเครหรอก แต่เป้าหมายของเราต้องสูงกว่านี้มาก เพื่อความฝันจะเป็นจริง เพราะต้องถูกแบ่งสรรให้กับทีมงานโค้ชทั้งหมดและตัวครอบครัวเอง และต้องเก็บไว้เป็นทุนเพื่อก้าวเดินต่อไป โดยที่ยังไม่มีสปอนเซอร์ใดๆ มาช่วย
ต้องขอบคุณสมาคมกีฬาทั้งสองสมาคมกีฬา ที่หาสปอนเซอร์มาจัดแข่งเพื่อช่วยสร้างโอกาสให้นักกีฬา หนึ่งในสปอนเซอร์หลักคือ”การกีฬาแห่งประเทศไทย”
ก็หวังว่า “การกีฬาแห่งประเทศไทย” จะเล็งเห็นประโยชน์ในการสนับสนุนว่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทย ด้วยการเพิ่มเงินรางวัลให้เพิ่มมากขึ้น เพราะผลสัมฤทธิ์ มีให้เห็นว่า มีนักกอล์ฟผู้หญิงเราเข้าไปเล่นในแอลพีจีเอที่มาก เอาธงไตรรงค์ไปโชว์ให้นานาชาติได้เห็นทุกๆ ครั้งของการแข่งขัน และนักกีฬาของเราก็มีรายได้จากการแข่งขันที่มากกว่า ที่ลงทุนไป
อาจจะสงสัยว่า ผมทำงานร่วมกับนักกีฬาหญิงเท่านั้นหรือ ไม่ร่วมกับผู้ชายหรือ เพราะเหตุใด สาเหตุหลักก็คือ นักกีฬาหญิงชื่อฟังพ่อแม่ ส่วนนักกีฬาชาย พอโตหน่อยมีแฟน แล้วไม่ค่อยชื่อฟังพ่อแม่ เชื่อแต่แฟน ทำให้คุยกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ไม่ใช่ว่านักกีฬาผู้ชายไม่เก่ง แต่ปลดล็อคก้าวไปข้างหน้ายากสักหน่อย
ด้วยประการละฉะนี้ ครับ
โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์