Special Report

ประวัติกีฬากอล์ฟของประเทศไทย

ประวัติกีฬากอล์ฟของประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของกีฬากอล์ฟในประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกินขึ้นมากมาย เป็นเกร็ดความรู้ที่นักกอล์ฟและบุคคลทั่วไปที่สนใจน่าจะได้รับรู้ ร่วมลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับวงการกอล์ฟของประเทศไทย ไล่เรียงตามสมัยรัชกาลและพุทธศักราช

1101-spc-golfthai-4

รัชสมัย รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช

เริ่มมีการเล่นกอล์ฟกัน ณ ท้องสนามหลวง แต่เป็นสนามชั่วคราว ทำขึ้นมาเพียงไม่กี่หลุม เล่นกันเฉพาะในกลุ่มสังคมชั้นสูงและชาวต่างชาติ เชื้อพระวงศ์ที่ไปศึกษายังต่างประเทศ แล้วนำกีฬากอล์ฟเข้าสู่ประเทศสยาม

รัชสมัย รัชกาลที่ 6พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ากีฬากอล์ฟเริ่มขึ้นเมื่อไร และได้กลายเป็นกีฬาแพร่หลายเพราะราชูปถัมภ์ในสมัยเริ่มแรก ประมาณหัวเลี้ยวหัวต่อศตวรรษที่แล้ว กีฬากอล์ฟ ยังคงเล่นกันไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบัน และได้รับความนิยมเฉพาะในราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แม้จะไม่โปรดทรงกอล์ฟนัก แต่ก็ในรัชสมัยของพระองค์ สนามกอล์ฟแห่งแรกในประเทศไทยได้ถูกสร้างขึ้น โดยพระบรมราชโองการ เล่ากันว่า พระองค์ได้ทรงดำริให้สร้าง สนามกอล์ฟ 9 หลุม ที่บริเวณโรงแรมรถไฟใกล้ชายทะเลหัวหิน เห็นได้ชัดว่า พระองค์ทรงตระหนักถึงความต้องการของพระบรมวงศานุวงศ์ และชาวต่างประเทศ ซึ่งมีพ่อค้าและทูตานุทูตในกรุงเทพฯ ที่อยากเล่นกีฬานี้

1101-spc-golfthai-3    รัชสมัย รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชบิดาแห่งกีฬากอล์ฟไทย)

ในระยะเริ่มแรก ราชกรีฑา และราชตฤณมัย ได้กลายเป็นสนามประวัติศาสตร์ที่มีความเหมือนกันอย่างประหลาด โดยเหตุบังเอิญหรือเจตนาไม่ทราบได้ ทั้งสองสโมสรซึ่งต่างได้จัดแข่งขัน “กีฬาพระราชา” ได้สร้างสนามกอล์ฟ 18 หลุมขึ้นในสนามแข่งม้านั่นเอง โดยมีคลองเป็นเครื่องกีดขวาง เช่น สนามกอล์ฟทั่วไป หากคลองทั้ง 2 ของสโมสรราชกรีฑา และราชตฤณมัย สามารถจะพูดได้ละก็ คงจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกอล์ฟรวมเป็นเล่มๆ ทีเดียว เมื่อไม่นานมานี้ราวปี พ.ศ.2515 ดาวตลก บ๊อบ โฮป ได้ออกทีออฟด้วยไม้ตีคริกเก็ต และได้สร้างความบันเทิงให้กับผู้พบเห็น เพราะลูกกอล์ฟได้หล่นไปในคลองข้างหน้าดาวตลกนั่นเอง บ่อยครั้ง นักกอล์ฟได้ออกรอบสนามทั้งสองในวันที่มีม้าแข่งและเล่นเฉพาะด้านในของสนามเท่านั้น เป็นเรื่องน่าประหลาดที่นักกอล์ฟซึ่งเล่นด้วยไม้กราไฟท์ ในสมัยนี้จะเล่นกอล์ฟในท่ามกลางคนดูถึง 20,000 คน ในวันแข่งม้า และรู้สึกสนุกสนานตลอดเวลาเสียด้วย หากกอล์ฟเริ่มกว่า 10 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วไซร้ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเองที่ญี่ปุ่นได้ทำลายสถิติต่างๆ ซึ่งเป็นประวัติกีฬานี้เป็นส่วนใหญ่ ตามความเชื่อดั้งเดิมเป็นที่เชื่อกันว่า กอล์ฟเริ่มในประเทศไทย ประจวบกับการสร้างสโมสรราชกรีฑาในปี พ.ศ.2444 และมีสถิติที่น่าสนใจในปี พ.ศ.2449 ในสมุดบัญชีซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ภายหลังจากการซ่อมแซม มีรายการว่าได้รับเงินค่ากรีนฟี 74.14 บาท ในเดือนกันยายนในปีนั้น หลังจากสร้างสนามกอล์ฟที่ราชกรีฑาแล้ว ราชตฤณมัย และพระราชวังสวนจิตรลดาก็สร้างขึ้นนั้น และจากสนามทั้ง 3 แห่งนี้เอง กีฬากอล์ฟก็เริ่มจะเป็นกีฬาที่นิยมกันแพร่หลายในสมัยต่อมา

1101-spc-golfthai-6

แรกเริ่มเดิมที กีฬานี้กล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมเล็กๆ ทางสังคม ภายหลังจากเล่น 9 หลุม หรือ 18 หลุม อาจมีการดื่มและคุยกันเป็นที่สำราญบานใจ กอล์ฟกลายเป็นกีฬาที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเมื่อสร้างสนามกอล์ฟหัวหินขึ้น ทั้งนี้เพราะสนามดังกล่าว เป็นสนามเพื่อการแข่งขันโดยตรง ทั้งสนามกอล์ฟหัวหินและโรงแรมรถไฟที่หัวหิน ล้วนเป็นโครงการที่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน องค์ผู้ให้กำเนิดรถไฟ ทรงริเริ่มการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของและดำเนินกิจการชายหาดแบบยุโรปจนถึงทุกวันนี้ ชาวสก๊อต ชื่อ เอ.โอ โรบินส์ เป็นผู้วางแบบแปลนสร้างสนาม และได้เป็นวิศวกรควบคุมทางย่านเพชรบุรีในระยะเริ่มแรก มีโครงการเพียง 9 หลุม โดยมีความยาว 3,300 หลา พาร์ 38 กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2465

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2467ประมาณ 20 เดือนภายหลังถือได้ว่า เป็นวันสำคัญยิ่งของประวัติสนาม เพราะในวันนั้นเองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จไปเยือนสนามก่อนหน้าพระองค์จะสวรรคตเพียง 1 ปี ทรงเริ่มตั้งแต่หลุมแรก ท่ามกลางผู้ติดตามในโอกาสอันหาได้ยากนี้ ในวันนั้นเองถือเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งการเริ่มการแข่งขันกอล์ฟในประเทศไทย และต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กว่าสนามกอล์ฟหัวหินจะขยายอีก 2,300 หลา เพื่อทำพาร์ 37 ดังนั้น สนามหัวหินจึงมี ระยะ 5,600 หลา และพาร์ 75 (38-37) กอล์ฟแพร่หลายขึ้นมากหลังรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล และกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้ทรงเลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์และคมนาคม สมเด็จพระอนุชารัชกาลที่ 6 เจ้าฟ้าประชาธิปกได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชการที่ 7 พระองค์ทรงเป็นนักกอล์ฟ ดังนั้นจึงได้เสด็จสนามหัวหินบ่อยครั้ง จนกระทั่งกรมพระกำแพงเพชรฯ ทรงดำริให้สถาปนิกชาวอิตาลีสร้างศาลาขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ในสนาม ศาลานี้เป็นงานศิลปะที่งดงาม ได้กระทำพิธีเปิดพร้อมกับสนามที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ปลายปี พ.ศ.2471 ศาลานี้ได้รับการรักษาแม้ภายหลังรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งบัดนี้ เมื่อ 6 ปีที่แล้วก็ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ และเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม พ.ศ.2512 ศาลานี้ได้รับนาม “ประชาธิป” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่พระองค์ท่าน และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดศาลานี้ สนามกอล์ฟหัวหินซึ่งสร้างในสมัยแรกของกีฬากอล์ฟ จะเป็นประภาคารที่ส่องเห็นความเจริญของกีฬานี้ จนบัดนี้ สนามนี้ได้เป็นสนามที่ธรรมชาติที่สุด และต่างก็ยินดีปรีดาที่ได้มาแข่งยังสนามนี้ สนามกอล์ฟหัวหินซึ่งดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ใช้เครื่องมือในการรดน้ำในระยะไม่กีปีนี้จึงทำให้สนามเขียวชอุ่มขึ้นไม่เป็นทรายและแห้งแล้งเช่นแต่ก่อนปัจจุบันสนามหัวหินซึ่งยาว 6,759 หลา พาร์ 72 นับเป็นสนามที่เยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

1101-spc-golfthai-5    สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นนักกอล์ฟที่โด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงศึกษาในอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับพระนครในวัยหนุ่ม พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาเต็มตัว กีฬาที่ทรงถนัดคือ ขี่ม้า สควอช เทนนิส และกอล์ฟ นอกจากทรงกอล์ฟแล้ว พระองค์ยังได้ส่งเสริมให้กีฬาดังกล่าวได้แพร่หลาย ก่อนขึ้นครองราชย์หนึ่งปี พระองค์ได้ทรงกอล์ฟที่ราชกรีฑาเป็นประจำ แม้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ยังทรงสนพระทัยในกีฬานี้อยู่ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ได้ทรงนิยมในกีฬานี้ด้วย แต่เพราะทรงมีภารกิจประจำ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงได้ทรงกอล์ฟไม่ได้มากดังพระประสงค์ กอล์ฟได้กลายเป็นกีฬาที่โปรดปรานในราชสำนัก และแม้ในระหว่างงานเลี้ยง ก็ได้เป็นเรื่องที่อยู่ในวงสนทนาอยู่เป็นประจำ เลยทำให้คนที่ไม่ได้เล่นกอล์ฟรู้สึกรำคาญไปด้วย แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนในตามคำพังเพยที่ว่า “ถ้าเอาชนะเขาไม่ได้ก็ต้องร่วมกับเขา” สมเด็จพระปกเกล้าฯ นอกจากจะทรงเป็นนักกอล์ฟแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักการทูตด้วยเพื่อไม่ให้นักกอล์ฟได้พูดกันพร่ำเพรื่อ มีเรื่องเล่าว่า พระองค์ได้จัดให้มีหีบเงินสีเขียวไว้ในราชสำนักหากใครพูดถึงกอล์ฟก็จะต้องถูกปรับ 1 บาท ซึ่งมีค่าพอสมควรในสมัยนั้น และเก็บไว้ในหีบเงินนั้น และปรากฏว่าได้ผล เพราะหีบเงินเต็มไปด้วยเหรียญ และซ้ำร้ายมีธนบัตรในละ 10 อีกด้วย อันหลังนี้เป็นค่าปรับสำหรับผู้ออกท่าทางกอล์ฟนั่นเอง

นอกจากจะทรงสนพระทัยในฐานะนักกอล์ฟสมัครเล่นแล้ว พระองค์ยังได้ค้นพบนักกอล์ฟอาชีพคนแรกของไทยอีกด้วย โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่หัวหิน พระองค์ทรงทีออฟเลยต้องหารือกับแค้ดดี้หนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งถวายคำแนะนำ และเมื่อทรงถามถึงชื่อก็ได้รับคำตอบว่า “ทิม กันร้าย พระพุทธเจ้าข้า” ตั้งแต่นั้นมา ชื่อ ทิม ทัพพวิบูล จึงได้กลายเป็นชื่อที่กล่าวขวัญถึงเสมอในประวัติกอล์ฟไทย เพราะครูทิมชนะการแข่งขันเกือบทุกครั้งในสมัยนั้น และได้ไปแข่งที่ฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ.2473 และประสบชัยชนะกลับมา ที่พม่า ครูทิมก็มีชัยหลายครั้ง และในการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่น ซึ่งพระองค์ทรงริเริ่ม ครูทิมก็ทำสถิติชนะเลิศถึงร่วม 10 ปีด้วยกัน ต่อมาครูทิมก็มีคู่ปรับคือ ชลอ จุลกะ ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันหลังปี พ.ศ.2473 จวบจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนักหวดลายครามทั้ง 2 นี้เอง จึงได้เกิดศักราชนักตีอาชีพขึ้นในประเทศไทย ครูทิมมีลูกๆ ซึ่งเป็นนักตีชั้นแนวหน้า ส่วนครูชลอก็ได้ให้การสนับสนุนนักตีรุ่นหนุ่มหลายคน เช่น สุกรี อ่อนฉ่ำ นักหวดอันดับหนึ่ง และ สุจินต์ สุวรรณพงษ์ (อาจินต์ โสพล) ซึ่งได้ไปทำประวัติกอล์ฟเวิลด์คัพให้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.2512 ที่สิงคโปร์ สนามกอล์ฟจิตรลดาหยุดกิจการไปหลายปี แต่สนามกอล์ฟดุสิตยังคงรุ่งเรืองต่อไป

รัชสมัย รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอันทมหิดล

พ.ศ.2482-พ.ศ.2488 กีฬากอล์ฟซบเซา เนื่องจากเป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สนามกอล์ฟราชกรีฑาสโมสร ถูกขุดเป็นหลุมหลบภัย ส่วนสนามกอล์ฟหลวงจิตรลดา ถูกใช้เป็นที่ฝึกทหารของกลุ่มเสรีไทย

 รัชสมัย รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ถึงแม้จะไม่ได้ทรงกีฬากอล์ฟ แต่เคยฝึกพัตต์กอล์ฟกับสมเด็จย่าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ในอดีตทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้กับสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการพระราชทานถ้วยรางวัลให้กับกอล์ฟรายการต่างอย่างมาย ทั้งสมัครเล่นและรายการกอล์ฟอาชีพ

สำหรับรายการกอล์ฟอาชีพที่สำคัญที่สุดในเมืองไทย คือรายการ “ไทยแลนด์โอเพ่น” ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในปีแรก สมาคมกอล์ฟด้วยความช่วยเหลือจาก แพต โอคอนแนล แห่ง เบนไลน์ และ เท็ดดี้ เดอลาไฟรเอ็ท แห่ง เชลล์ ได้จัดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2508 โดยมีเงินรางวัล 2 แสนบาท เป็นสนามที่ 5 ของการแข่งขันเซอร์กิตครั้งนั้น

ในระยะเวลา 51 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นได้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันเงินรางวัลรายการนี้ขึ้นไปถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในรายการนี้มีโปรไทยได้รับถ้วยพระราชทานทั้งหมด 3 คนคือ โปรสุเทพ มีสวัสดิ์,โปรบุญชู เรืองกิจ 2 ครั้ง และ โปรประหยัด มากแสง

นอกจากนั้นยังมีรายการของสมาคมกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจากการกีฬาแห่งประเทศไทย และชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบันเป็นรายการหนึ่งในเอเชี่ยนทัวร์ มีเงินรางวัล 7.5 แสนเหรียญสหรัฐฯ มีคนไทยคว้าแชมป์รายการนี้มาแล้ว อาทิ ถาวร วิรัตน์จันทร์,อานนท์ ว่องวานิช,อุดร ดวงเดชา,ประหยัด มากแสง

ในส่วนของนักกีฬากอล์ฟที่ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย หลายๆ คนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อาทิ ธงชัย ใจดี,กิรเดช อภิบาลรัตน์,เอรียา จุฑานุกาล เป็นต้น

นักกีฬากอล์ฟอาชีพที่สร้างชื่อเสียง เป็นหนึ่งในตำนานของโปรกอล์ฟไทย และเคยได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รัชกาลที่ 9 คือ โปรสุกรี อ่อนฉ่ำ ซึ่งได้รับฉายาจากต่างชาติว่า “Tiger Toy Thailand” เป็นโปรกอล์ฟไทยคนแรกที่ลงแข่งต่างประเทศ รายการแรกคือ Malaysia Open ที่ประเทศมาเลเซีย โปรสุกรี ผ่านเข้ารอบโดยมีอันดับอยู่ที่ 40 และได้รับเงินรางวัล ซึ่งเป็นโปรไทยคนแรกที่ได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันกอล์ฟในต่างประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นการบุกเบิกการแข่งขันกอล์ฟในต่างประเทศของนักกอล์ฟไทยอีกด้วย เมื่อปี พ.ศ.2511 เข้าร่วมแข่งขันรายการ Asian Tour โดยเดินทางไปแข่งขันในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์, ฮ่องกง, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงค์โปร์, ไต้หวัน, เกาหลี และ ญี่ปุ่น พร้อมกับได้มีโอกาสพบกับนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย เช่น Isao Aoki และ Jumbo Osaki

เมื่อ ปี พ.ศ.2513-พ.ศ.2514 การแข่งขัน The Master ซึ่งเป็นรายการใหญ่ 1 ใน 4 ของรายการระดับ Major ได้ให้เกียรติเชิญโปรสุกรี เข้าร่วมการแข่งขันถึง 2 สมัยติดต่อกัน จัดขึ้น ณ สนาม The Augusta รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประเภททีมได้อันดับที่ 4 ประเภทบุคคลได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ

1101-spc-golfthai-1

และปี พ.ศ.2513 ยังเป็นปีที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว “อ่อนฉ่ำ” เพราะเป็นวันที่ได้รับพระราชโองการให้เข้าเฝ้าพ่อหลวงเป็นการส่วนพระองค์ ในโอกาสที่ได้เดินทางเป็นตัวแทนประเทศไทย เพื่อเข้าแข่งขันกอล์ฟมาสเตอร์เป็นคนแรกของประเทศไทย โปรสุกรีเล่าให้ฟังว่า…

ตอนที่ยืนรอในหลวง ตัวสั่นไปหมด ทั้งตื่นเต้น ทั้งดีใจ ทั้งภูมิใจ จนเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้า เดินตัวสั่นเข้าไปถวายบังคม โดยไม่กล้าที่จะเงยหน้ามองพระพักตร์ สิ่งที่ในหลวงตรัสคำแรกคือ…

นี่หรือสุกรี ตัวเล็กเท่านี้เองหรือ?
โปรสุกรีได้แต่ยิ้ม ในหลวงท่านทรงบอกว่า
มา เข้ามาใกล้ๆ ขอดูหน้าชัดๆ หน่อย
โปรสุกรีจึงเข้าไปกราบพระบาทพร้อมถวายพวงมาลัยข้อพระกร…
พ่อหลวงรับสั่งว่า
ทำดีแล้ว ทำให้ดีที่สุด เพื่อประเทศไทย ขอให้โชคดี

1101-spc-golfthai-2

จากนั้น ผมก้มลงกราบพระบาท พร้อมกับน้ำตาที่คลอเบ้า ในหลวงของพวกเราท่านทรงติดตามดูนักกีฬาทุกชนิด ทุกประเภทจริง อยากให้ลูกๆ หลาน ที่ไปแข่งขันในต่างประเทศ ทำผลงานให้ดีที่สุด

สำหรับนักกีฬากอล์ฟของไทยนั้นทุกคนต่างประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทุกคนคือนักกีฬาของพระราชา” และขอให้น้อมนำพระราชดำรัสที่พระราชทานให้กับโปรสุกรี อ่อนฉ่ำ เมื่อ 46 ปีที่แล้ว มาว่า

แข่งขัน แพ้ชนะ ไม่สำคัญ ทำเพื่อประเทศชาติให้ดีที่สุด

อ้างอิงข้อมูล : สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย
ขอขอบคุณ โปรสุกรี อ่อนฉ่ำ และ ผู้ร่วมให้ข้อมูลทุกท่าน

1101-spc-golfthai-7