What Ever

คีตราชา พระมหากษัตริย์นักดนตรี

คีตราชา พระมหากษัตริย์นักดนตรี

เมื่อครั้งมหามงคลสมัย ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ จัดทำภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ “คีตราชัน” ขึ้น ด้วยทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ความตอนหนึ่งว่า “..เมื่ออยู่อาโรซ่า เวลาหน้าหนาว ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีวงใหญ่ ที่เล่นอยู่ที่โรงแรม รู้สึกอยากเล่น ทรงหาแซกโซโฟน ที่เป็นของใช้แล้ว (second hand) มาได้ ราคา 300 แฟรงค์ แม่ออกให้ครึ่งหนึ่งและสโมสรปาตาปุมออกให้อีกครึ่งหนึ่ง เมื่อครูมาสอนที่บ้าน รัชกาลที่ 8 ทรงดันพระอนุชาเข้าไปในห้องเรียน รัชกาลที่ 9 จึงเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อเรียนไปแล้ว 2-3 ครั้ง รัชกาลที่ 8 ทรงซื้อแคลริเน็ต (clarinet) ส่วนพระองค์ วันเรียน ครูสอนองค์ละ 30 นาที แล้วครูก็เอาแซกโซโฟน (saxophone) ของเขาออกมาและเล่นด้วยกันทั้ง 3 เป็น Trio ..

1101-spc-music-4

เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเริ่มเรียนดนตรีกับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่าง Johnny Hodges และ Sidney Berchet ได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก นอกจากเครื่องดนตรีที่โปรด คือ เครื่องเป่าแทบทุกชนิด ยังทรงกีตาร์และเปียโนได้อีกด้วย

พระราชอัจฉริยภาพทางดนตรีเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักดนตรีทั่วโลกเมื่อครั้ง เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐเอมริกา ในปี พ.ศ. 2503 ด้วยทรงเข้าร่วมบรรเลงดนตรีโดยมิได้เตรียมพระองค์มาก่อน ทั้งยังทรงบรรเลงโต้ตอบกับนักดนตรีแจ๊สชื่อดังชาวอเมริกันอีกด้วย นักดนตรีที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) แจ๊ก ทีการ์เด้น (Jack Teagarden) นักตีระนาดเหล็กสากล ไลออเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hampton) นักเป่าทรัมโบน และ สแตน เก็ตส์ (Stan getz) นักเป่าเทนเนอร์ แซกโซโฟน ล้วนถวายการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีอัจฉริภาพสูงส่ง  เป็นที่นิยมยกย่องของชาวอเมริกันเป็นอย่างยิ่ง สถานีวิทยุเสียงแห่งอเมริกา ได้เชิญบทที่พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งดนตรีที่ทรงร่วมบรรเลงออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุไปทั่วโลกด้วย นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการกระชับมิตรภาพครั้งสำคัญครั้งแรกระหว่างไทยกับสหรัฐในยุคนั้น

    “..ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆ กันออกไป..
(พระราชดำรัส แก่นักข่าวชาวอเมริกัน ในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พุทธศักราช 2503)

    ปี พ.ศ. 2507 สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตร และสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ 23 แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมนามาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหินของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุด และเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้

1101-spc-music-3

ในส่วนที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนั้น ทรงเริ่มอย่างจริงจังเมื่อมีพระชนมายุ 18 พรรษา ขณะเมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระอนุชาตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนคร เมื่อปีพุทธศักราช 2488 ดังที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ บันทึกความไว้ “.. 5 ธันวาคม 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระอนุชา และสมเด็จพระราชชนนีประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าในฐานะนักแต่งเพลงสมัครเล่น ได้นำโน้ตที่ได้แต่งไว้แล้วถวายทอดพระเนตร พระราชทานข้อแนะนำเกี่ยวกับการแต่งเพลงประเภทบลูส์ โดยทรงเปียโนสาธิตให้ฟัง และสมเด็จพระอนุชามาใส่คำร้อง เพลงแสงเทียน ยามเย็น สายฝน ตามลำดับ แต่เพลงยามเย็นและเพลงสายฝนได้นำออกสู่ประชาชนก่อนเพลงแสงเทียน โดยพระราชทานให้ออกบรรเลงในงานลีลาศที่สวนอัมพรโดยวงดนตรีของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ควบคุมวงโดย เอื้อ สุนทรสนาน และออกอากาศทางวิทยุ กรมโฆษณาการเป็นประจำ เป็นที่ซาบซึ้ง และประทับใจพสกนิกรอย่างมาก..

ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและผู้ที่เคยได้ร่วมเล่นดนตรีกับพระองค์ท่านเล่าถึงพระราชอัจฉริยภาพในการพระราชนิพนธ์เพลงว่า ทรงแต่งเพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย ครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัยหยิบฉวยซองจดหมายได้ก็ทรงตีเส้น ๕ เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นโดยฉับพลัน เช่น “เราสู้” เป็นต้น

ปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ รวมทั้งสิ้น 43 เพลง อาจกล่าวได้ว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย อาทิเช่น “พรปีใหม่” ได้กลายเป็นเพลงประเพณี ในวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ของคนไทย ในสถาบันการศึกษา “มหาจุฬาลงกรณ์” “ธรรมศาสตร์” และ “เกษตรศาสตร์” ได้กลายเป็นเพลงอันศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่ทั้งสามแห่ง และในวงราชการทหาร “มาร์ชราชวัลลภ” และ “มาร์ชธงชัยเฉลิมพล” ได้กลายเป็นแบบฉบับของดนตรีมาร์ชที่ใช้บรรเลงประจำปีในพระราชพิธีอันสำคัญยิ่ง

..การดนตรีจึงมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดี ๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจจะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีก็มีความสำคัญอย่างหนึ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่าง ๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี..
(พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2524)