ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย พระผู้เสด็จสู่สรวงสวรรคาลัย
ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย พระผู้เสด็จสู่สรวงสวรรคาลัย
จากการที่สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ได้เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราชด้วยพระอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 รวมสิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี สร้างความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งให้กับพสกนิกรโดยทั่วไปกับการสูญเสียศูนย์รวมดวงใจของคนทั้งชาติไป
เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยเรา พระองค์ท่านทรงมีพราะมหากรุณาธิคุณต่อคนไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งอุทิศพระวรกายอย่างหนักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในประเทศไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พระองค์ท่านนอกจากจะมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทั้งด้านการบริหาร ด้านวิชาการ ด้านการพัฒนา ด้านงานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เทคนโนโลยีต่างๆแล้วโดยเฉพาะในส่วนของการกีฬาของประเทศไทยแล้ว พระองค์ท่านมีความเป็นพระอัจฉริยภาพ มีพระปรีชาสามารถทางด้านกีฬาอย่างมากด้วย ธ ทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง
พระองค์ท่านทรงสนพระทัยและโปรดทรงกีฬาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กีฬาที่ทรงโปรดนั้นเป็นกีฬาที่มิใช่ใช้พละกำลังอย่างเดียว แต่จะเป็นกีฬาที่ต้องทรงอาศัยเทคนิคไหวพริบ ความละเอียดอ่อนมาประยุกต์กับความรู้ ความสามารถรอบตัวเข้าช่วย ทรงสนพระทัยหลายประเภท ได้แก่ สกีน้ำ เรือใบ เรือกรรเชียง พระแสงปืน แบดมินตัว การแข่งขันรถเล็ก กอล์ฟเล็ก รวมทั้งการออกกำลังพระวรกายด้วยการวิ่งเหยาะหรือจ็อกกิ้ง การเดินเร็ว การทรงจักรยาน
นอกจากพระองค์ท่านจะทรงสนพระทัยกีฬาการแข่งขันแล้ว ยังสนพระทัยการออกำลังกายเพื่อสุขภาพ และได้ทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองอย่างถูกหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกขั้นตอน อาทิ มีการจดบันทึกพระชีพจรความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลัง ทรงออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมอและทรงศึกษาตลอดเวลาว่าควรจะเริ่มต้นออกกำลังพระวรกายอย่างไร มีการอบอุ่นพระวรกายอย่างไร และผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากกการออกกำลังพระวรกายแล้วอย่างไร โดยทรงเช่นนี้เป็นกิจวัตร ที่ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งคือ พระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อทรงประประชวรในปี พ.ศ.2525 ความว่า “การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยไปร่างกายและจิตใจก็จะเฉา ถ้าทำมากไปร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ ” ซึ่งตรงกับหลักการอันเป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์การกีฬาโดยแท้
เป็นที่รู้กันดีในกลุ่มนักกีฬาที่เล่นแบดมินตัน เรือใบ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชจริยาวัตรแสดงให้เห็นว่าทรงเคร่งครัดเคารพกฎ กติกา ทรงเข้าพระทัยในเรื่องสปิริตนักกีฬา อันหมายถึงรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ใช้ได้ทั้งในเกมกีฬาและชีวิตประจำวันของคนทั่วไป และทรงสอนให้นักกีฬามีวินัยในการฝึกซ้อม ที่ต้องมีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาทักษะกีฬานั้นๆ
ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ.2510 พระองค์ทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอ.เค. ในฐานะนักกีฬาเรือใบทีมชาติ และพระองค์ทรงได้รับเหรียญทองชนะเลิศ แสดงถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบให้เป็นที่ประจักษ์ และรัฐบาลในปี พ.ศ.2529 ได้กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน”วันกีฬาแห่งชาติ” และให้ภาครัฐและเอกชนจัดงานน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถเป็นประจำทุกปี เพื่อให้พสกนิกรดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพ่อหลวงสืบไป
ดังพระราชดำรัสที่ทรงตรัสไว้ “กีฬา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคน และชีวิตบ้านเมือง”
พระองค์ท่านไม่ได้จากไปไหน แต่จะติดตรึงอยู่ในหัวใจพวกเราชาวไทยตลอดไป
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า นายเชาวรัตน์ เขมรัตน์ และครอบครัวชาวกีฬากอล์ฟ