จิตวิทยาการกีฬา

ดนตรีกับการเพิ่มศักยภาพในการเล่นกอล์ฟ

ดนตรี กับการเพิ่มศักยภาพในการเล่นกอล์ฟ

ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับมนุษย์ มีมาอย่างยาวนานมาก ดนตรีกับกีฬาและการออกกำลังกายก็มีการนำมาใช้อย่างชัดเจน ที่เห็นชัดเจน เช่น ในการออกกำลังกายแบบ Aerobic Dance ที่เราจะได้ยินเสียงเพลงประกอบท่าเต้น ท่าออกกำลังกายที่เป็นไปตามเพลงที่ใช้ประกอบ ดนตรีขณะเต้น Aerobic จะช่วยเพิ่มระยะเวลาและความต่อเนื่องสำหรับคนออกกำลังกาย ส่งผลต่อความสุขสมบูรณ์ของทั้งกายและใจของคนออกกำลังกาย บรรลุเป้าหมายและเกิดประโยชน์อย่างดียิ่ง

นอกจากเพลงหรือดนตรีเพื่อการออกกำลังกาย เพื่อความสนุกและผ่อนคลายแล้ว ดนตรีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาก็ถูกนำมาใช้ในการเล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศด้วยเช่นกัน นักกีฬาที่นำเอาการฟังเพลงเข้ามาร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพที่เด่นชัดและกล่าวถึงกันอย่างมาก ชัดเจน ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆและในกลุ่มของนักวิชาการอย่างต่อเนื่องในการวิจัย คือ Michael Phelps นักว่ายน้ำเจ้าของสถิติเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิคมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึง 23 เหรียญทอง จากทั้งหมด 28 เหรียญของเขา และมีนักว่ายน้ำอีกหลายคนที่ทำเช่นเดียวกับเขา นักเทนนิสอย่าง Serena Williams ก็ฟังเพลงก่อนแข่งขัน เช่นเดียวกับนักแข่งรถ F1 ก็ฟังเพลงก่อนลงแข่งเช่นกัน

ทำไม นักกีฬาหลายคนที่ชอบฟังและใช้ดนตรีในการเพิ่มความสามารถในการเล่นกีฬาของตัวเอง Dr. Karageorghis ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับดนตรีที่มีผลต่อการเพิ่มความสามารถในการเล่นกีฬา มากกว่า 25 ปี และได้รวบรวมผลการศึกษาของเขาในหนังสือ Applying Music in Exercise and Sport และสรุปว่าเสียงดนตรีหรือเสียงเพลงช่วยให้เกิดการกระตุ้นในตัวคนเราได้ โดยคนที่ฟังเพลงไม่ว่าจะในรูปแบบไดก็ตาม จะมีผลต่อการเพิ่มด้านอารมณ์ เพิ่มความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อ และช่วยให้สมองสามารถสร้างความจำของกล้ามเนื้อหลักได้ด้วย

เขาขยายความเรื่องนี้ว่า เมื่อสมองได้ฟังดนตรี มันเปรียบเสมือนเราเปิดไฟต้นคริสมาสต์ เปรียบเสมือนดนตรีจะไปกระตุ้นในส่วนของสมองที่ไม่ง่ายที่จะเข้าไปกระตุ้นได้ถึง และดนตรียังช่วยทำให้สมองที่มีอยู่หลายส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นแล้ว ดนตรียังช่วยในการควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ขจัดอุปสรรคที่ส่งผลต่อสมาธิในการเล่นกีฬาออกไป นอกจากช่วยควบคุมอารมณ์แล้ว Karageorghis บอกด้วยว่างานวิจัยยังยืนยันว่า ดนตรีสามารถเพิ่มอารมณ์ที่เหมาะสมและความมั่นในใจการเล่นกีฬาได้ด้วย

การฟังเพลงที่มีเนื้อหาที่กระตุ้นความรู้สึกในทางบวก ในทางที่ทำให้เกิดความอยากที่ทำ ไม่ยอมแพ้หรือยกเลิกความตั้งใจ จะส่งผลในทางบวก ในทางที่ดีต่อสมองเกี่ยวกับการเล่นกีฬาได้ ขณะที่การฟังเพลงในทางตรงข้าม เช่น เพลงที่เกี่ยวข้องกับความสงบ ความเงียบขรึม ก็สามารถช่วยให้ความเครียด ความวิตกกังวลของเรากลับมาในระดับที่เหมาะสมได้ นักกีฬาปัญจกรีฑาอเมริกัน ก็ฟังเพลงเพื่อกระตุ้นไม่ให้ตัวเองยอมแพ้ ในการแข่งขันโอลิมปิค ปี ค.ศ. 2016 รอบชิงชนะเลิศของเขา โดยที่เหตุผลคือเพื่อเพิ่มทัศนคติให้ตัวเองที่จะไม่ยอมแพ้และทำทุกอย่างเพื่อให้ทำได้ตามที่ตัวเองต้องการ จากการที่ได้มุ่งมั่นทุ่มเทมาตลอดการเตีรยมความพร้อมอันยาวนาน

การฟังดนตรี ยังช่วยกระตุ้นให้คนเราอยากที่จะก้าวไปข้างหน้าได้อีก อย่างไรก็ตามดนตรีที่เลือกก็ขึ้นอยู่ว่าเราต้องการได้ยินเพื่ออะไร เราต้องเลือกให้เหมาะสมและเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว เพลงเดียวกันอาจจะมีความหมายหรือให้ผลกระทบต่างกันในคนละคนกัน ขึ้นอยู่กับการแปลความหมาย ประสบการณ์และความแตกต่างของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากติกาในการเล่นกอล์ฟนักกีฬาสามารถฟังเพลงได้ขณะแข่งขัน แต่จากการศึกษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาผลของดนตรีก่อนการแข่งขัน หรือระหว่างฝึกซ้อมมากกว่า และการฟังหรือไม่ฟังขึ้นอยู่กับบุคคล และการเลือกเพลงก็เช่นเดียวกัน เพราะถ้าการฟังเพลงทำให้เกิดผลในทางลบ ลดสมาธิสำหรับบางคน ก็อาจใช้วิธีการอื่นในการเพิ่มความสามารถในการเล่นกีฬา และเพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกายได้

ผมเชื่อว่าเป็นหรือไม่เป็นนักกีฬา ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตที่ดีได้ ฟังดนตรีกันครับ

ผศ.ดร.นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย