สังคมกีฬากอล์ฟเมืองไทย ที่ควรยกระดับวิสัยทัศน์
สังคมกีฬากอล์ฟเมืองไทยที่ควรยกระดับวิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์ หมายถึง การมองภาพอนาคตของผู้นำและสมาชิกในองค์กร และกำหนดจุดหมายปลายทางที่เชื่อมโยงกับภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อเข้าด้วยกัน แล้วมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ จุดหมายปลายทางดังกล่าวต้องชัดเจน ท้าทาย มีพลังและมีความเป็นไปได้
ผู้นำ หมายถึง ผู้บริหาร ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนวงการกีฬากอล์ฟทุกๆภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกในองค์กร หมายถึง นักกอล์ฟทั้งสมัครเล่นและอาชีพ ผู้ประกอบการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟ
จุดหมายปลายทาง ภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อ 4 ส่วนนี้ ยังไม่มีการนำมาพูดถึงเพื่อที่จะจัดทำให้เป็นนโยบายที่ต้องจัดทำร่วมกันให้ชัดเจน มีแค่ภารกิจของใครของมันที่ต่างคนต่างทำโดยที่ไม่เคยมีการจัดทำให้เป็นยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขนาดว่า ยังไม่ได้ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ แต่เป้าหมายสูงสุดของกีฬากอล์ฟประเทศไทยก็มีให้เห็นเป็นรูปธรรม นั่นคือ นักกอล์ฟหญิงของไทยได้ก้าวไปสู่จุดสูงสุด โดยมีผู้เล่นอาชีพนักกีฬาผู้หญิงของเราเข้าไปเล่นล่าเงินรางวัลในทัวร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกนั่นคือ แอลพีจีเอได้จำนวนหลายคน มีนักกอล์ฟหญิงได้แชมป์ในทัวร์นี้หลายคน และเคยมีนักกีฬาของประเทศไทยครองตำแหน่งมือหนึ่งในทัวร์แอลพีจีเอมาแล้ว ทำเงินรายได้จำนวนมากรวมๆ กันแล้วร่วมๆ พันล้าน
เสียดายที่นักกอล์ฟชายแค่มีนักกอล์ฟไทยได้เข้าไปเล่นในพีจีเอ ซึ่งเป็นทัวร์ใหญ่สูงสุดในโลก แต่ยังไม่มีใครได้แชมป์ และจำนวนผู้เล่นที่เข้าไปเล่นในทัวร์ยังไม่มากพอ ทั้งๆที่ความสามารถของนักกีฬาเราไม่ได้แพ้ชาติใดในโลก ขาดแต่โอกาสที่จะได้เข้าไปเล่นให้มากๆเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในนักกอล์ฟหญิงของเรา ปัจจุบันในปี พ.ศ.2565 เรามีนักกอล์ฟหญิงของไทยเข้าเป็นผู้เล่นในทัวร์ แอลพีจีเอ จำนวน 8 คน ในขณะที่เรามีนักกอล์ฟอาชีพหญิงของไทยที่ขึ้นทะเบียนโดยสมบูรณ์กับองค์กรอาชีพจำนวนไม่ถึง 100 คน
ได้ยินไม่ผิดครับ ทั้งประเทศเรามีนักกอล์ฟอาชีพผู้หญิงไม่ถึง 100 คน แน่นอน ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับนักกอล์ฟเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกัน ที่มีจำนวนนักกอล์ฟหญิงแต่ละประเทศจำนวนมากกว่า500 คนขึ้นไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่เกาหลีน่าจะมีร่วมพันคน จึงไม่แปลกที่เขาจะมีจำนวนผู้เล่นที่เข้าไปเล่นในทัวร์ใหญ่อย่างแอลพีจีเอ มากกว่า 30 คน และมีทัวร์ที่แข็งแรงในประเทศที่มีผู้เล่นอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเทียบอัตราส่วนเป็นเปอร์เซนต์แล้ว ของไทยเรามีเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ามาก
ในขณะที่นักกอล์ฟอาชีพผู้ชายเรามีจำนวนมากพอสมควร ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักกอล์ฟอาชีพที่แข่งขันร่วมๆ 500 คน แต่ยังมีนักกีฬาที่เข้าไปเล่นในทัวร์ใหญ่อย่างพีจีเอน้อย ซึ่งถ้าไม่นับแชมป์เปี้ยนทัวร์(ซีเนียร์) ในฤดูกาลหน้า ปี พ.ศ.2566 นี้ ไม่มีเลยสักคน คงมีแค่ โปรธงชัย ใจดีที่ยังคงเป็นผู้เล่นในแชมป์เปี้ยนทัวร์อยู่เพียงคนเดียว
นอกจากเงินรายได้ที่นักกอล์ฟได้จากการแข่งขันแล้ว สิ่งที่ประเทศได้ด้วยคือ ชื่อเสียงของประเทศ
แทบทุกๆ สัปดาห์ที่มีการแข่งขัน มีการถ่ายทอดไปทั่วโลก มีช่องทางให้ผู้คนได้รับรู้ว่านักกอล์ฟไทยเก่ง ขึ้นลีดเดอร์บอร์ดอันดับต้นๆเสมอ พิธีกรที่บรรยายพูดถึงประเทศไทยเสมอๆตอนนี้ทุกคนยอมรับในความสามารถของนักกอล์ฟไทยเราอย่างชัดเจน

ผมกล้าที่จะพูดว่า กีฬากอล์ฟ เป็นกีฬาอันดับหนึ่งที่นักกีฬาทำเงินรายได้เข้าประเทศ ส่วนอันดับสองคงเป็นนักมวย อันดับสามน่าจะเป็นนักฟุตบอล
และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ นักกอล์ฟสมัครเล่นของไทย ได้ทุนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของอเมริกาปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 10 คน ซึ่งไม่มีกีฬาชนิดไหนทำได้แน่นอน
รายได้นี้ยังไม่รวมถึงรายได้ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาตีกอล์ฟในประเทศไทยปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่าห้าพันล้านบาท
โอกาส ช่องทางสำหรับกีฬากอล์ฟยังมีอีกมากมาย ขอเพียงมีความเชื่อ และสร้างโอกาสให้เพิ่มมากขึ้น
ทำอย่างไรจะมีนักกอล์ฟหญิงเพิ่มมากกว่านี้ เพราะมีมหาวิทยาลัยทั่วอเมริกาพร้อมจะให้ทุนอีกหลายร้อยทุน และมีทัวร์หลายทัวร์ที่มีเงินรางวัลรอให้เราไปแย่งชิงอีกเป็นจำนวนมาก
ทำอย่างไรจะให้นักกอล์ฟผู้ชายเราที่มีความสามารถได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสทัวร์ใหญ่ๆได้มากกว่านี้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า จุดหมายปลายทาง ภารกิจ ต้องช่วยกันสร้างขึ้น โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ถ้าทำให้เป็นยุทธศาสตร์ หรือนโยบาย “กีฬากอล์ฟแห่งชาติ” ได้จะดีมาก
แต่การที่จะได้มาซึ่งตรงนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ต้องมีมายเซ็ทที่ดีตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย
โดยเฉพาะนักกีฬา ต้องเรียนรู้การจัดการตัวเอง ต้องทำตัวเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีแค่ความคิดว่า ฉันเป็นนักกอล์ฟอาชีพแล้วสมาคมหรือองค์กรต่างๆ ต้องจัดการแข่งขันให้ฉันต้องหาเงินรางวัลมาให้ฉันมากๆ บริษัท องค์กร ร้านค้าต่างๆ ต้องให้สปอนเซอร์ฉัน เมื่อไม่ได้ก็บ่น ตำหนิ หรือแสดงกิริยาวาจา ท่าทางไม่น่ารักให้กับผู้ใหญ่ ผู้จัดการแข่งขันเห็น ทั้งๆที่เขาเหล่านั้นไม่ได้มีรายได้ หรือผลประโยชน์อะไรจากตัวนักกีฬา ถ้านักกีฬาประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้คนที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการแข่งขันส่วนใหญ่จากที่สัมผัสมา ล้วนแล้วแต่เข้ามาเพราะรักในกีฬากอล์ฟ รักที่จะเห็นนักกอล์ฟไทยประสบความสำเร็จที่จุดหมายปลายทาง
ความเป็นนักกีฬามืออาชีพ ไม่ใช่แค่มีอาชีพเพียงแค่การแข่งขัน เพื่อหาเงินรางวัลเลี้ยงชีพแต่ต้องเป็นมืออาชีพขนาดที่ต้องรู้ว่าควรทำอย่างไร
ต้องแสดงออกอย่างไรเมื่อเข้าร่วมแข่งขัน ควรมีมารยาท แต่งตัวเรียบร้อย สง่างาม มีกิริยาสุภาพเรียบร้อย เคารพในนักกีฬาด้วยกัน เคารพในผู้จัดแข่งขัน เคารพกรรมการ เคารพสปอนเซอร์ เคารพในสนามกอล์ฟ เคารพในผู้ชม เคารพสื่อมวลชน เคารพแคดดี้และคนทำสนาม
ต้องมีวินัย มุ่งมั่นในระหว่างการแข่งขัน และในการฝึกซ้อม ไม่ใช่เล่นเสร็จในแต่ละวัน ก็นั่งดื่ม นั่งเล่นไพ่จนดึกๆดื่นๆ
ควรต้องขอบคุณผู้ที่ให้โอกาสเราทุกๆฝ่ายเมื่อมีโอกาส
ต้องแสดงให้เห็นว่า พวกนักกีฬาน่ารัก น่าชื่นชม มีอนาคต เป็นไอดอลให้กับเด็กๆ รุ่นใหม่ๆ เขามาสัมผัสแล้วเขาคิดว่าควรจะเข้ามาร่วมสร้างโอกาสให้พวกเรา แต่ไม่ใช่เข้ามาเป็นทาสรับใช้เรา เข้ามาแล้วโดนด่า เข้ามาแล้วเสียกำลังใจ เชื่อได้ว่าใครเข้ามาแล้วก็จะถอย แล้วก็จะไม่มีใครกล้าเข้ามา สุดท้ายนักกอล์ฟอาชีพก็จะกินแกลบ
เมื่อนักกีฬาเราน่ารัก ดูมีอนาคต สุภาพเรียบร้อย สง่างาม พูดจาสื่อสารดูดี พัฒนาปรับตัวเองอยู่เสมอ ให้ความเคารพกับทุกคนที่เกี่ยวข้องและสถานที่ มีความมุ่งมั่น ขยันฝึกซ้อม เป็นคนมีมายเซ็ตที่ดี มีวิสัยทัศน์ เชื่อได้ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของสัมคมกอล์ฟที่ดี พวกนักกอล์ฟอาชีพและวงการกอล์ฟจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์