จิตวิทยาการกีฬา

วิทยาศาสตร์การกีฬากับการเล่นกอล์ฟ

วิทยาศาสตร์การกีฬากับการเล่นกอล์ฟ

ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะล้าสมัยไปหรือเปล่า ท่านทั้งหลายน่าจะมีความเข้าใจเรื่องนี้กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อเตือนความทรงจำสำหรับท่านที่ทราบแล้ว แต่สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบกับเรื่องนี้ มารู้จักวิทยาศาสตร์การกีฬากันครับ

วิทยาศาสตร์การกีฬากับวิทยาศาสตร์การออกกำลังกาย เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกัน ในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) หลายๆหลักสูตรใช้ชื่อว่าวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา หรือวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย เพียงแต่เพื่อวัตถุประสงคืที่แตกต่างกัน วิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นศาสตร์ที่อธิบายว่าร่างกายของเราทำงานอย่างไรขณะที่เราออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา รวมทั้งการอธิบายว่าการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมช่วยส่งเสริมสุขภาพของคนเรา และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกีฬาเพื่อความเป็นเลิศอย่างไร

แม้ว่ามีคนพูดถึงประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ว่ามีมาพร้อมๆกับกีฬาโอลิมปิค ตั้งแต่ 776 ปีก่อนคริสต์กาล หรือช่วงสงครามเย็นระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของยุโรปและอเมริกา แต่วิทยาศาสตร์การกีฬาเริ่มมีบทบาท เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง รวดเร็ว ในช่วงทศวรรษที่ 16 จวบจนปัจจุบันที่ได้นำผลการวิจัย และหลักการที่ได้จากการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาร่วมในการพัฒนาร่างกายเพื่อสุขภาพและกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ

ในการเล่นกอล์ฟเพื่อการแข่งขันก็เช่นกัน การที่เราทำอะไรให้ดีที่สุดนั้น การนำหลักการของวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มที่ ทุกสาขา อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ วิทยาศาสตร์การกีฬามีองค์ประกอบในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับกายและใจในขณะเล่น มีศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหลายประการทั้งกายและใจ คือ 1) ด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกาย เป็นเรื่องที่นำมาใช้อธิบายเกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย อวัยวะต่างๆของร่างกาย เรื่องของพลังงาน การสร้างความพร้อมของกล้ามเนื้อ การลดความรุนแรง ความหนัก การพักผ่อนรวมทั้งปฏิกิริยาต่างๆทางเคมีในร่างกายระหว่างการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย 2) ด้านโภชนาการศาสตร์ กิน ดื่มอย่างไรที่เหมาะสม ความเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการเล่นกาย เป็นหลัก โดย เฉพาะคนที่มีความแตกต่างกันในส่วนของอายุ เพศ ระดับการแข่งขัน ในช่วงก่อน ระหว่างและหลังฝึกซ้อมและแข่งขัน 3) ด้านจิตวิทยาการกีฬา เป็นอีกศาสตร์สำคัญหลักที่เกี่ยวข้องกับการเล่นกอล์ฟเพื่อการแข่งขัน อันเกิดจากความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ ระหว่างที่เราออกกำลังกายและเล่นกีฬา ขณะที่จิตวิทยาการกีฬาก็ศึกษาการออกกำลังกายและเล่นกีฬามีผลกระทบอย่างไรต่อจิตใจของเรา 4) ด้านเวชศาสตร์การกีฬา อีกศาสตร์หนึ่งของวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และองค์ความรู้ที่ลึกเข้าไปในทางการแพทย์ และการบำบัดมากกว่ากว่าการป้องกัน แต่ก็ช่วยให้นักกีฬาสามารถกลับเข้ามาเล่นกีฬาได้ดี ได้เร็วและปลอดภัยได้ 5) ด้านชีวกลศาสตร์การกีฬา สาขาที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับด้านต่างๆที่กล่าวมา แต่ด้วยเป็นศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือ และเมื่อมีพัฒนาการของเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ศาสตร์ทางด้านนี้จึงเป็นศาสตร์ที่มีข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม ชีวกลศาสตร์เป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และโครงสร้างร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับความเร็ว ความแรง มุมและองศาของทั้งร่างกายและธรรมชาติของกีฬา ยิ่งมีพัฒนาการของเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไหร่ก็ตาม ชีวกลศาสตร์ก็ยิ่งจะพัฒนาและช่วยให้การเล่นกีฬามีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกีฬากอล์ฟ

ทั้ง 5 ด้านที่กล่าวมา เป็นองค์ประกอบหลักของวิทยาศาตร์การกีฬาที่จะช่วยให้การจัดการกับร่างกายเพื่อสุขภาพและเพื่อการแข่งขันสามารถบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น ยิ่งถ้าต้องการให้ผลการแข่งขันที่ดีแล้ว ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการนำวิทยาศาสต์การกีฬามาใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

อย่าลืมที่จะเข้าใจและนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้กับทุกคนที่กำลังอยู่ระหว่างการเล่นกีฬาสุขภาพและแข่งขันกีฬา สู้ๆ ครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย