ชีวิตบนผืนผ้าใบ
ชีวิตบนผืนผ้าใบ
อีกหนึ่งอาชีพที่ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาต่อประเทศไทย อาชีพนี้เป็นสายตรงที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ บ่งบอกถึงตัวตนอันแท้จริงของเราเอง ผมกำลังจะเขียนถึง “มวยไทย” อันเป็นข้อบ่งชี้ทางเชื้อชาติว่านี่แหละของเราจริงๆ บางท่านอาจจะนึกอึดอัดในใจว่าในภูมิภาคนี้เขาก็เล่นกันนะกับศิลปะการต่อสู้แขนงนี้ แต่จนแล้วจนรอดความปราดเปรื่องและความเข้าใจในศาสตร์นี้จริงๆ ก็ตกผลึกอยู่ที่ตรงประเทศเรานี่เอง…ไอ้กระผมเองก็เห็น คนพม่า เขมร ลาว เวียดนาม ฯลฯ ในแถบนี้มีความพยายามที่จะงัดเอาศิลปะการต่อสู้แขนงแล้วแขนงเล่ามาเทียบเคียงกับ “มวยไทย” สุดท้ายก็ไปไม่รอดทั้งทางการแข่งขันที่เอาผลแพ้ชนะหรือความสวยงามมันก็กินของเราไม่ลง แต่ในความเป็นหนึ่งของเรามันมักจะถูกพาดพิงไปด้วยการจัดการที่เราเองยึดถือมาแต่ก่อน แต่จะด้วยเหตุและผลอะไรก็ช่างเรามีของที่เป็นหนึ่งในโลกแต่เรากลับใช้มันไม่เป็น…
คำพูดที่เราชอบใช้กันหลังจากเกิดความผิดพลาดอะไรสักอย่างแล้วเกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเรามักใช้คำว่า “ถอดบทเรียน” จากเหตุการณ์นั้นๆ หลายเรื่องหลายราวที่เกิดขึ้นมักถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำดับสิ้นจู๋ของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ที่เกิดมีการตายกันขึ้นด้วยอาวุธ “ศอก” จากนักชกต่างชาติที่ขนเอาอาวุธมวยไทยที่ครบเครื่องใส่ “ปานเพชร” ชนิดหลับกลางอากาศและท้ายทอยฟาดพื้นแบบเต็มๆ ชนิดที่ “กรรมการ” ยังไม่รู้เลยมั้งว่าปานเพชรโดนอะไรเข้าไปในตอนนั้น…
อย่างที่ครูไก่บอกเสมอว่าต่างชาติเขาเรียนรู้ อะไรไปจากเราแล้วเขาจะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเพื่อลดความรุนแรงดูจาก “KICK BOXING” ผมถามจริงๆ ว่ามันคืออะไร…ก็แค่เอามวยไทยไปแล้วห้ามศอกกับโน้มคอมาตีเข่าก็เท่านั้นที่เหลือคือมวยไทย สิ่งหนึ่งที่ดูแล้วมวยไทยในต่างแดนกับมวยไทยบ้านมันมีความเป็นมืออาชีพทั้งเริ่มต้นก่อนขึ้นเวที กรรมการตรวจสอบหรือกรรมการที่ลงวาสลีน เขามาแบบจัดเต็ม แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องหลีกทางให้ “กรรมการบนเวที” ดูว่าเขามีความพร้อมมากต่อการทำหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายมา หลายคนที่เคยดูมาจากจอทีวีน่าสนใจในท่วงท่าบนเวทีไม่แพ้นักมวย การเซฟตัวนักมวยในยามคับขันมันก็ดูไม่ขัดหูขัดตา แต่ก็ไม่ถึงขนาดแย่งซีนนักมวยอะไรแบบนั้น…
สรุปว่าเท่าที่ดู “ปานเพชร” ชก ถ้าเป็นกรรมการที่มีความรู้ในการตัดสินเชื่อว่านักมวยคนนั้นอาจไม่ถึงชีวิต ย้ำนะครับ “กรรมการที่มีความรู้ในการตัดสิน” นั่นแสดงว่าการจะเป็นกรรมการมันต้องมีขั้นตอนในการเรียนรู้ทั้งกฎกติกา และการดูแลสภาพของนักมวยไม่ให้เกินเลยถึงชีวิตหรือพิการ ดังนั้นกรรมการบนเวทีจะเรียนรู้ภาคปฏิบัติและจำลองเหตุการณ์เพื่อจะได้ไม่ตื่นเวทีเมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ฉุกเฉินขึ้นมา อย่าลืมนะครับ “หนึ่งชีวิตบนผืนผ้าใบยังมีปากท้องและใครๆ ที่รอคอย”… ครูไก่.