ตัวอย่างของคนทำงาน
ตัวอย่างของคนทำงาน
ผ่านไปราวเดือนหนึ่งกับการทำงานของ “ผู้ว่าชัชชาติ” บอกได้เลยว่าภาพลักษณ์ที่ออกมาเป็น “บวก” ทะลุเพดาน จากการเข้าถึงความลำบากยากเข็ญของผู้คนในแทบจะทันทีมันซื้อใจประชาชนได้จริง อย่างน้อยคนที่โดนมาหนักก็รู้ว่าเขาไม่โดน “เททิ้ง” คิดดูเดือนหนึ่งต้อนรับด้วย “ชุมชนบ่อนไก่” แล้วก็ไปแถว “สีลม” ท้ายสุดที่ “สำเพ็ง” มันหนักหนาจริงๆ นะ ใครไม่โดนกับตัวไม่รู้หรอกว่า “น้ำตา” มันไม่ช่วยอะไรมากมายนักหรอก แต่ “น้ำใจ” นี่แหละที่จะปลุกให้พ้นทุกข์ออกไปได้เร็วกว่าที่เป็น อันที่จริง “กรุงเทพฯ” เราเองก็มี “พ่อเมือง” มาหลายท่านคนที่รับคะแนนเป็นล้านขึ้นก็มีก่อนหน้าคือ “ท่านสมัคร” ที่เล่นเอาวงการฮือฮากันในเวลานั้น สมัยนั้นน่าจะเป็นผู้ว่า กทม. ท่านแรกที่ครองใจคนได้เป็นล้าน ต่อมาก็นี่แหละ “ผู้ว่าชัชชาติ” ที่มากับตัวเลขล้านสามกว่าๆ เห็นว่าสวยนะครับ ถึงแม้ท่านจะมีงานในสายการเมืองนอกสภามาบ้างก็ไม่ว่ากัน…
กลับเข้าสู่การทำงานของคุณ “ชัชชาติ” ที่ว่ากันจากสุขภาพก่อนออกปฏิบัติภารกิจนั่นคือ การออก “วิ่ง” ตอนเช้ามืด ว่ากันไปนะเมื่อก่อนก็ยังพอพบเจอหน้าตาของ คุณ “ชัชชาติ” กันบ้างที่สโมสรที่ทำงานแต่ตอนนี้เวลาที่ว่ามาถูกเบียดบังไปด้วยภารกิจที่ต้องทำในแต่ละวัน แต่จะอะไรก็ช่าง “งาน” มาก่อนเสมอแบบนี้ครูไก่ชอบผู้นำที่ทำตนเป็นเสมือนชาวบ้านติดดินคนหนึ่ง คำว่า “มนุษย์เดินดินกินข้าวแกงแล้วเก่ง” ยังมีอยู่อีกมากเพียงแต่เวทีที่เขาเหล่านั้นจะมีที่ทำกันบ้างหรือเปล่า…
ไอ้เรื่องของนักบริหารจะสายหนักหรือสายเจ้าของอะไรก็ช่างหากสุขภาพมันโหล่ยโท่ยก็ลำบากแล้วครับท่าน ดูตัวเองยังไม่ได้แล้วจะไปดูคนอื่นได้อย่างไร คิดอยู่นะคนเราการดูแลตัวเองนั่นคือ 1 : 1 ตัวเราดูแลตัวเองยังเอาไม่อยู่แล้วคนอีกเป็นล้านๆ มันจะไหวไหม เรามาดูคุณ “ชัชชาติ” ซิก่อนหน้านั้นท่านทำอะไร ดูจากวงจรการใช้ชีวิตของท่านก่อนมาเป็นผู้ว่า กทม. ท่านก็เอา “การออกกำลังกาย” ก่อนเสมอ เรื่องแบบนี้นะมันต้องเชียร์กันหน่อยนะครับ ว่ากันว่า “การออกกำลังกายอยู่เป็นประจำมันเหมือนการออมเงินไว้ในยามฉุกเฉิน” คุณชัชชาติเองนั้นยึดเอาวิถีของคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” …
เอาล่ะจะคิดอย่างไรกันกับคำว่า “โรคประจำถิ่น” ที่เราจะได้พบเจอกันในวันที่ 1 กรกฎาคม ผมว่าลำบากแล้วกับคำนี้ก็ในเมื่อโรคมันยังอยู่ แล้วคงทนถาวรเสียด้วย ตัวครูไก่เองนั้นไม่ค่อยอยากจะใช้เลยไอ้คำว่า “โรคประจำถิ่น” เนี่ย ก็ WHO เองยังไม่เคยบอกเลยสักคำว่า “เจ้าโรคประจำถิ่น” นี่จะเริ่มเมื่อไร เราเองจะพยายามเข็นเอาคำนี้มาใช้ขอทีนะท่านมันจะเหมือน “กัญชา” ที่ปลดจากคำว่า “พืชเสพติด” หรือ “ยาเสพติด” ฯลฯ จะใช้คำว่าอะไรก็ช่างมันคือ “อันตรายล้วนๆ” กฎหมายลูกก็ยังไม่คิดจะมีกว่าถั่วจะสุกงาจะไหม้” เสียหมดประเด็นนี้ “โรคประจำถิ่น” เหมือนกัน นั่นคือจะใช้คำเพื่อลดความรุนแรงจากการได้ยินแต่ความจริง “มันร้ายนะ” จะบอกให้
จากคนที่ผ่านการเป็น “COVID-19” มาหมาดๆ เชื่อว่า การล้างมือสม่ำเสมอใช้หน้ากากอนามัยเป็นประจำ อย่าไว้ใจใครๆ ทั้งนั้น ถ้าเป็นอย่าได้ไปแพร่ให้ใครต่อใครเขาด้วยการไม่ดูแลตัวเองแบบนี้คนอื่นเขาจะเดือดร้อน ถ้าเสี่ยงก็ตรวจ ATK เป็นก็งดกิจกรรม มันหายได้แบบสบายๆ มีหลายคนคิดว่า “ไม่ตรวจคือไม่เป็น” แบบนี้คบได้มั้ย…ถามจริง
ครูไก่