แก้วใจจุลจอม : อนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรัก (3)
แก้วใจจุลจอม : อนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรัก (3)
นอกจากตำหนักในสวนสุนันทานี้ ยังมีพระที่นั่งอยู่องค์หนึ่ง คือพระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งองค์นี้มิได้อยู่ในเขตตำหนักใด และมิได้เป็นของพระราชวงศ์พระองค์ใดโดยเฉพาะเจาะจง เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงส่วนกลาง ซึ่งพระราชวงศ์พระองค์ใดจะทรงใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลหรือจัดงานรื่นเริงอย่างใด ก็อาจทรงจัดขึ้น ณ พระที่นั่งองค์นี้ได้ตามพระอัธยาศัย
ตรงที่ปลูกสร้างพระที่นั่งนงคราญสโมสรนี้แหละ เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำริจะสร้างพระที่นั่งแบบพระที่นั่งสวนป่ากลายๆ เช่นพระที่นั่งในพระราชวังเบรินสตอฟ สำหรับที่พระองค์จะได้เสด็จประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถเป็นการภายในอย่างเงียบๆแทนการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ ต่างจังหวัด มีตำหนักในเขตโรงเรียนข้าราชการฝ่ายปกครอง, ตำหนักในเขตโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ,ตำหนักในบริเวณวิทยาลัยครูสวนดุสิต ส่วนตำหนักในเขตวิทยาลัยครูสวนสุนันทาด้านตะวันตก มีอยู่รวมทั้งสิ้น ๑๓ ตำหนัก โดยแยกออกเป็น ๒ ตอน คือ โดยกล่าวถึงอาณาบริเวณอันเป็นสถานที่เรียนตอนหนึ่ง และอาณาบริเวณอันเป็นหอพักของนักศึกษา
อาณาบริเวณที่เป็นอาคารเรียนของวิทยาลัยครูสวนสุนันทาในปัจจุบันนี้ เป็นอาณาบริเวณตำหนักของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยะมหาราชาปดิวรัดา พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕ และพระธิดาทั้ง ๒ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา สิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา และสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี องค์พระวิมาดาเธอฯ ประทับ ณ พระตำหนักใหญ่พร้อมด้วยพระธิดาองค์เล็ก คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระตำหนักองค์นี้ในปัจจุบันคือตึกหมายเลข ๒๗ ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศรีสัชนาลัย ประทับอยู่ ณ ตำหนักเล็ก ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของตำหนักใหญ่ห่างกันประมาณ ๓๕ เมตร ซึ่งในปัจจุบันเป็นตึกหมายเลข ๒๘
สภาพของอาณาบริเวณในสมัยที่พระวิมาดาเธอฯ และพระธิดาประทับอยู่นั้นเป็นที่ร่มรื่นสวยงามอย่างมาก หน้าพระตำหนักใหญ่เป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่ หัวและท้ายของสนามหญ้าปลูกต้นไม้เป็นสวนป่ากลายๆมีถนนรอบสนามทุกด้าน ด้านใต้ของสนามตรงเชิงเนินดินด้านเหนือ เป็นเรือนกล้วยไม้ใหญ่เรือนหนึ่ง และเล็กเรือนหนึ่ง ผนังของเรือนกล้วยไม้ตอนล่างก่อด้วยอิฐบางบัวทองสูงจากพื้นประมาณ ๒ เมตร เหนือผนังอิฐใช้ระแนงไม้สักขนาด ๑ นิ้วครึ่งสี่เหลี่ยมตีช่องเว้นช่องสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๒ เมตรเศษ หลังคาเป็นหลังคาตัดตีด้วยระแนงไม้สักสี่เหลี่ยม เช่นเดียวกับฝา เหนือผนังอิฐวางท่อน้ำซึ่งได้เจาะรูน้ำหยดและหัวฉีดฝอยขนาดเล็กๆไว้เป็นระยะ เมื่อเปิดก๊อกน้ำ น้ำจะฉีดพ่นเป็นละอองและหยดย้อยลงตามผนังอิฐ ทำความชุ่มชื้นให้แก่เรือนกล้วยไม้นั้นตลอดทุกฤดูกาล ระหว่างเรือนกล้วยไม้ทั้ง ๒ มีทางเดินติดต่อกันเป็นทางเดินภายใต้หลังคาระแนงโปร่งเช่นเดียวกันภายในเรือนกล้วยไม้สพรั่งไปด้วยแคททาลิยาแวนด้าชั้นดีของต่างประเทศ ส่วนฟ้ามุ่ย สามปอยหลวง ช้างตระกูลต่างๆ และอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างอันเป็นกล้วยไม้จากป่าทุกภาคของเมืองไทยก็มีอยู่เป็นอันมาก ที่พื้นริมทางเดินในเรือนกล้วยไม้และริมทางเดินติดต่อระหว่างเรือนกล้วยไม้ทั้ง ๒ เรือน ปลูกเฟิร์น หน้าวัว บอน และพรรณไม้ในร่มนานาชนิด แลดูสวยงามร่มรื่นเป็นที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง เป็นเรือนกล้วยไม้ที่สดชื่นสวยงามเป็นที่สุดและไม่มีเรือนกล้วยไม้ใด ใหญ่โตและมีคุณค่าเท่าเรือนกล้วยไม้ในบริเวณตำหนักพระวิมาดาเธอฯ พระองค์ท่านทรงเป็นนักนิยมกล้วยไม้ที่จัดได้ว่าเป็นเลิศผู้หนึ่งในเมืองไทยทีเดียว แคททาลิยาหรือแวนด้าตระกูลใดทรงสั่งมาใหม่จากต่างประเทศ เมื่อเลี้ยงออกดอกมีลักษณะงดงาม ก็มักจะโปรดให้ข้าหลวงซึ่งมีฝีมือเขียนภาพอย่างดีเลิศ เขียนภาพดอกกล้วยไม้นั้นไว้เสมอ เป็นภาพเขียนสีน้ำมันซึ่งเหมือนดอกจริงทั้งรูปทรงและสีสัน ถ้ายุคนั้นมีฟิล์มถ่ายภาพสีธรรมชาติคงจะเป็นที่พอพระทัยเป็นอันมาก
นอกจากกล้วยไม้ กุหลาบก็เป็นพรรณบุปผชาติอีกชนิดหนึ่งที่โปรดปรานมาก ทรงปลูกทั้งกุหลาบพรรณต่างประเทศและในประเทศ ถนนหน้าเรือนกล้วยไม้ ถนนรอบสนามวงกลมทางด้านตะวันออกของตำหนัก ตั้งกระถางกุหลาบเรียงรายตลอดแนว เป็นกุหลาบนานาชนิดหลายร้อยต้น ซึ่งต่างก็ออกดอกสะพรั่งหลากสีและหลากกลิ่นเหลือที่จะพรรณนาได้ถูกต้อง
ทางด้านทิศใต้ของตำหนักสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศรีสัชนาลัย เป็นสวนบุปผชาตินานาพรรณ ยกร่องเป็นรูปลายต่างๆงดงาม ตามแนวโค้งขอบถนนที่โอบล้อมสวนบุปผชาตินี้ มีเสาไม้ปักห่างกันเป็นระยะๆ จากเสาต้นหนึ่งมี โซ่ห้อยหย่อนท้องโซ่ลงมาเป็นเฟื่อง ปลุกไม้เลื้อยเช่น รสสุคนธ์บ้าง มลิวัลย์บ้าง ให้เลื้อยพันเป็นพุ่มอยู่ตามเสาและทอดปลายพันไปตามสายโซ่เป็นรั้วสวนชนิดธรรมชาติ ตกแต่งแปลกและน่าดูเป็นอันมากบนเนินมีทางเดินเล็กๆคดเคี้ยววนเวียนขึ้นสู่ยอดเนินหลายสายหลายทาง ข้างทางตกแต่งด้วยโขดหินและพุ่มดอกไม้ใบเล็กๆบนยอดเนินมีพลับพลาโถงสำหรับประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ มีพรรณไม้ขนาดกลางและขนาดใหญ่ปลูกอยู่บนเนินบ้าง แต่ไม่แน่นทึบ ทำให้สภาพบนเนินนั้นมีทั้งความร่มรื่นและโปร่งพองาม
ด้านใต้ของเนินดิน ปรับเปลี่ยนเป็นสนามหน้าตึกสามชั้นอาคารเรียนของนักเรียนฝึกหัดครูนั้น แต่เดิมเป็นเล้าไก่อันยาวเหยียด คือยาวจากริมถนนหน้าหอประชุมไปจดรั้ววิทยาลัยด้านตะวันออก พระวิมาดาเธอฯโปรดเลี้ยงไก่พรรณต่างประเทศ ทรงสั่งไก่จากประเทศต่างๆทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เข้ามาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก มีทั้งพันธุ์เนื้อ พันธุ์ไข่ และพันธุ์สวยงาม วิธีเลี้ยงแบบขังเล้า เล้าไก่อันยาวเหยียดที่สร้างขึ้นเป็นเล้าโปร่ง ตอนล่างเป็นไม้ระแนงตีเรียงแถวในลักษณะตีช่องว่างเว้นช่อง สูงราว ๗๐ ซ.ม. เหนือแนวไม้ระแนงกรุลวดตาข่ายสูงขึ้นไปราว ๑๘๐ ซ.ม. ตอนบนดาดด้วยลวดตาข่ายกันนกกาลงไปกวนไก่ ภายในเล้าอันยาวเหยียดแบ่งกั้นออกเป็นเล้าเล็กๆมีขนาดกว้างยาวประมาณ ๗ หรือ ๘ เมตร สี่เหลี่ยม ภายในปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ขนาดกลางไว้พอเป็นร่มเงาของไก่ มีเรือนนอนของไก่เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคามุงจากขนาดกว้างราว ๑๒๐ ซ.ม. ยาวประมาณ ๑๘๐ ซ.ม. เล้าไก่ส่วนหนึ่งๆนี้เลี้ยงไก่เพียงครอบครัวเดียว คือ ตัวผู้หนึ่ง ตัวเมีย ๔ บ้าง ๕ บ้าง และ ๖ บ้าง ริมรั้วเล้าไก่ปลูกไม้เลื้อย เช่น พวงชมภูบ้าง บานบุรีบ้าง และอัญชันบ้าง
ริมฝั่งคลองด้านตะวันออก ตั้งแต่ริมกำแพงไปจนถึงแนวถนนหน้าด้านตำหนักใหญ่ (หน้าตึก ๒๗) ปลูกสร้างอาคารไม้ชั้นเดียวบ้าง ๒ ชั้นบ้าง เป็นระยะๆไป อาคารเหล่านี้สำหรับเป็นที่อยู่ของข้าหลวง ด้านหลังตำหนักใหญ่เป็นสวนบัว มีกระถางปลูกบัวนานาชนิด ตั้งเรียงรายอยู่เกือบเต็มลานซีเมนต์ บัวที่ทรงปลูกนั้นมีต่างสีต่างชนิดสวยสดงดงาม และไม่เห็นจะมีใครมีบัวมากมายหลายชนิดหลากพันธุ์หลากสีเท่ากับที่มีอยู่ในพระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ในยุคนั้น ตรงพื้นที่ว่างทางด้านเหนือของตำหนักใหญ่ตอนใกล้สะพานที่จะข้ามไปยังเกาะน้อยหน้าเกาะลอยมีสระบัวก่อด้วยซีเมนต์ กลางสระน้ำพุพวยพุ่งเป็นละออง มีตำหนักไม้สร้างไว้ที่ชายฝั่งน้ำริมสระ ๒ หลัง หลังหนึ่งอยู่ตรงมุมตำหนักเล็ก (ตึก ๒๘) อีกหลังหนึ่งอยู่ใกล้เข้ามาทางตำหนักใหญ่ ตำหนัก ๒ หลังนี้เรียกกันในสมัยนั้นว่าตำหนักน้ำ เป็นที่สำหรับประทับพักผ่อนพระอิริยาบถเป็นครั้งคราวการเสด็จลงประทับเรือพายประพาสตามสระบริเวณสระ และคลองจะเสด็จลงจากท่าของตำหนักน้ำ ๒ ตำหนักนี้
มณีจันทร์ฉาย