รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช
รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช
นายกสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
อดีต อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
“ครอบครัวมีความสุข คือความสุขที่สุดในชีวิตแล้ว”
เรียนครู : ที่บ้านอยากให้เรียน ตามอย่างพี่ชายที่ได้ทุน ผมก็ได้ทุนมาเรียนที่บ้านสมเด็จ ตามความต้องการของแม่ จนจบ ปกศ. จะเรียนต่อ พอดีมีทุนของกรมการฝึกหัดครู ให้เรียนต่ออุตสาหกรรมศิลป์ เป็นโครงการมัธยมแบบผสม มาเรียนที่พระนคร วุฒิ กศ.บ. ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
สายช่าง : ตอนนั้นผมไม่ชอบเลย ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นถนัดเรื่องช่างกันมาทั้งนั้น กว่าจะปรับตัวได้ ใช้เวลาเป็นปี โชคดีที่ยังเรียนจบ แล้วพอจบ ต้องใช้หนี้ทุน ผมก็สอบบรรจุของกรมสามัญ ไปบรรจุที่โรงเรียนบางปะกง บวรวิทยายน พอมีประกาศสอบของกรมการฝึกหัดครู ผมก็สอบได้ ต้องไปบรรจุที่พระนครซึ่งผมเคยเรียนมาก่อน มีอาจารย์ที่สอนเต็มไปหมด ก็บอกกับพี่ที่สอบได้ที่สอง แล้วต้องไปอยู่ที่สวนสุนันทา ขอแลกกัน เพื่อผมจะได้ไม่ต้องไปอยู่กับอาจารย์ที่พระนคร ทำให้ผมได้เข้าทำงานที่สวนสุนันทา ตั้งแต่เมื่อปี 2518
ขวนขวาย : ผมจบแค่ปริญญาตรี ซึ่งไม่เพียงพอกับการทำงาน จึงอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ด้วยความที่เรียนสายช่าง ภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่เรื่องถนัดของผมเลย อาศัยความพยายามเข้าแลก ตอนนั้นเงินก็ไม่มี ต้องสะสมความรู้ด้วยการไปเรียนภาษาอังกฤษแถวราชดำเนิน จนสอบโทเฟลได้ แล้วไปเรียนปริญญาโทที่ Technological University of the Philippines (TUP) ประเทศฟิลิปปินส์ ในยุคนั้นต้องยอมรับว่า เขาเป็นมืออาชีพมากกว่าเราในเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะกับสถาบันที่ได้มาตรฐาน เพราะทุกอย่างคือระบบของอเมริกัน อาจารย์ผู้สอนอยู่ในระดับสากล สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการไปศึกษาที่นั่นก็คือ ได้ทักษะการค้นคว้า และการนำเสนอด้วยตนเอง ได้รื้อฟื้นภาษาอังกฤษ ผมเรียนจนจบได้เกียรตินิยม
อเมริกา : พอจบปริญญาโทแล้ว ก็คิดเรียนต่อระดับปริญญาเอก พอติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยของอเมริกา ก็ได้ตอบรับทั้ง วิสคอนซิน และนิวยอร์ค ผมตัดสินใจไปเรียนที่ มหาวิทยาลัย นิวยอร์ค ในสาขา Technology and Industrial Management สมัยเรียนที่นั่น และผมยังได้ไปเรียนคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม ซึ่งไม่มีอยู่ในรายวิชาของการเรียนปริญญาเอก ทำให้ต้องออกทุนเรียนเอง และไปอบรมเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัย โคลัมเบีย อีกด้วย
ทำงานควบคู่ตลอด : การเรียนระดับปริญญาเอก ส่วนใหญ่จะเรียนกันช่วงเย็นหรือวันหยุด ทำให้มีเวลาว่างมากพอสมควร พอผมทำการบ้าน ทำงานส่วนตัวเสร็จ ช่วงเช้าก็จะไปช่วยงานอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คตลอด เตรียมแล็ปบ้าง จัดเอกสารบ้าง พอสักพักท่านเห็นว่าผมไปช่วยงานโดยไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย ก็ให้เลขาฯ นำเอกสารการช่วยงานมาให้เซ็น ทำให้ผมมีรายได้ต่อชั่วโมงเหรียญกว่า ๆ โดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน พอตอนเย็นก็ไปทำงานเป็นคอมพิวเตอร์โอเปอเรเตอร์ ที่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพราะมีเพื่อนชักชวน ผมก็ไปเรียนรู้จากเขา ได้ความรู้มาค่อนข้างมาก และการทำงานวันละสองแห่ง ทำให้มีเงินเก็บพอสมควร จนสามารถหุ้นกับเพื่อนเปิดธุรกิจเล็ก ๆ ที่นั่นได้
บรู้ซ ลี : วันหนึ่ง ผมทำหน้าที่เป็นแคชเชียร์ อยู่ตรงเคาท์เตอร์บาร์ มีฝรั่งรูปร่างสูงใหญ่ มาหาเรื่อง พูดจาท้าทาย ทุกคนรู้ดีว่าเขามักจะมาสร้างปัญหาอยู่แล้ว ผมเปิดประตู บอกว่า เข้ามาสิ พอเขาก้าวเข้ามา นั่นก็ถือว่าเขาบุกรุกเราแล้ว ผมเตะเข้าที่ซี่โครง พอเขาทรุดลง ด้วยความที่ผมตัวเล็กกว่า ก็โหนตัวฟันด้วยศอกเข้าไปที่หัวเต็มที่ เพราะความรู้สึกคับแค้นที่สะสมมานาน จนเขาหัวโน ร่วงลงไป เพื่อน ๆ ที่ร่วมงาน ก็พากันเข้ามาห้าม จับแยกกันออกไป พอกลับมาบ้าน วันรุ่งขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเคาะประตูห้อง พร้อมกับเอกสารแจ้งว่ามีคนโดนผมทำร้ายจนบาดเจ็บ ให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ทำประวัติ ตอนนั้นก็เครียด เพราะเราเป็นข้าราชการ หากมีปัญหาขึ้นมา ชีวิตคงลำบากแน่ แต่พยานที่เห็นเหตุการณ์ ก็รู้ความจริงว่าเราไม่ใช่เป็นฝ่ายเริ่ม และทุกคนก็ไม่ชอบนิสัยของคนนั้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ผมต้องไปขึ้นศาลถึงสามรอบ แต่คนที่แจ้งเรื่อง ไม่เคยมาพบสักครั้ง เพราะเขาก็กลัวความผิดของตัวเอง จนครั้งสุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีใครมาตอแยผมอีกเลย บางคนพอเดินผ่านก็จะทำท่าต่อสู้ และเรียกผมว่า บรู้ซ ลี เนื่องจากช่วงนั้นเขากำลังมีชื่อเสียงพอดี
กีฬา : ผมชอบเล่นกีฬาทุกประเภท ที่ชอบเป็นพิเศษก็มีกีฬาชกมวย พอได้ฝึกซ้อมอยู่บ้าง พี่ชายที่จบบ้านสมเด็จ ก็เป็นกรรมการห้ามมวย เคยถามว่าอยากขึ้นชกมั้ย ด้วยความอยากได้เงินก็ตอบตกลง แต่หลังจากขึ้นเวทีแค่ครั้งเดียว ก็ไม่เอาอีกเลย แล้วหันไปเล่นกีฬาอย่างอื่นอีกหลายชนิด ตอนอยู่อเมริกา วันหนึ่งไปสวนสาธารณะ เพื่อนชาวฝรั่งเศสที่ชอบกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ก็ขอให้เราไปลองซ้อมเล่นกับเขาบ้าง พอได้สู้กันสักพัก เขาก็ยอมรับว่า มวยไทยของเรานี่คือสุดยอดศิลปะการป้องกันตัว เพราะมีครบเครื่องเรื่องอาวุธอันตราย ทั้งศอก ทั้งเข่า
อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง : ผมไปเรียนที่อเมริกาวันแรก ตอนจ่ายค่าหน่วยกิต ก็เตรียมเงินสดไปตามที่ลงทะเบียนไว้ พอนับเงินจ่าย พนักงานก็ถามว่า ทำไมถึงจ่ายเงินสดล่ะ ผมตอบไปว่า เพิ่งมาถึง เขาก็บอกว่า งั้นจะรับเงินสดงวดนี้ไว้ แต่พรุ่งนี้หรือวันนี้ ให้ผมไปเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อจะให้ใช้เช็คจ่ายแทนเงินสดได้ ซึ่งหลังจากนั้น พอใช้เช็คไปสักพัก เราก็เริ่มมีเครดิต สมัยนั้นบ้านเขาเริ่มมีระบบดิจิตอลซิกเนเจอร์แล้ว เป็นระบบปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ การทำงานต่าง ๆ หรือการเรียน ก็มีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ยังเป็นระบบใช้บัตรเจาะ ถ้าเทียบกัน ณ วันนั้น บ้านเขาล้ำหน้ากว่าบ้านเราไปมากกว่ากันหลายสิบปี เมื่อหันมามองบ้านเราแล้ว ก็รู้สึกว่า จนถึง ณ วันนี้ การชำระเงินต่าง ๆ ของเรา ยังไม่สามารถจะใช้วิธีที่ทันสมัยกว่าการใช้เงินสดได้เลย เพียงเพราะว่า ยังติดขัดอยู่กับระบบ ระเบียบ ต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย ที่นับวันโลกก็ก้าวเข้าสู่ดิจิตัลกันไปจะหมดแล้ว
งานวิจัย : ปริญญาโท ผมเรียนเกี่ยวกับ Industrial Technology Management, ปริญญาเอกเรียน Technology Study ศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยี ตอนสมัครไปเรียน เลือก อุตสาหกรรมศิลป์ Industrial Art แล้วเปลี่ยนมาเป็น Technology Education ผมทำวิจัยเรื่อง Technology Education for Thailand ผมศึกษาของประเทศแคนาดาและอเมริกา นำมาเปรียบเทียบ แล้วปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย พอกลับมาก็นำผลงานนี้เสนอกับมหาวิทยาลัย อยากให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยบ้าง ซึ่ง หากมีการใช้ตั้งแต่ตอนนั้น ถึงวันนี้คงมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นหลายอย่างไปแล้ว
คิดนอกกรอบ : ผมเป็นราชการก็จริง แต่ทำงานและคิดนอกกรอบตลอด คิดถึงต้นทุนต่อหน่วย คิดถึงผลตอบแทนต่อการลงทุน ความตั้งใจของผมคือ อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือวิทยาลัยครู อยู่ในสถาบันการศึกษาระดับแนวหน้า คุณภาพต้องเป็นที่ยอมรับ แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของผมคือ ได้งาน แต่ไม่ได้คน เพราะมุ่งมั่นแต่เรื่องงานเป็นหลัก ผมเป็นตรงไปตรงมา เวลาทำงาน ผมจะไม่ขออะไร ถ้าเสนอโครงการอะไรไปแล้วไม่มีงบ ผมก็จะหาเอง ช่วงเป็นคณบดี สามารถสร้างสำนักไอที ได้เอง ด้วยทุนที่เราสร้างจากการฝึกอบรม จนบางครั้งอาจจะดูเหมือนข้ามหน้าข้ามตาผู้ใหญ่ ผมก็เข้าใจ ก็ไปขอโทษ แล้วแต่ท่านจะอโหสิกรรมหรือไม่ เพราะเราตั้งใจเพื่อผลงานเป็นหลัก เพื่อส่วนรวม คิดเสมอว่า องค์กรอยู่ได้ เราอยู่ได้
หาทุนเอง : ผมใช้ประสบการณ์ตรงทางด้านเทคโนโลยีที่เคยได้รับ เตรียมปรับปรุงองค์กรให้ทันสมัย มีทั้งหมด 5 ระบบ ครบทุกมิติ ตอนนั้นใช้งบราว 5 ล้านบาท นำเสนอกับที่ประชุมหลายรอบ สุดท้ายแล้ว คำตอบคือ ไม่มีงบ ก็ไม่ได้ทำสักที แล้วต้องรอเวลาอีกนาน กระทั่งเมื่อเป็นอธิการบดี ถึงจะได้ทำ, ระหว่างที่ผมได้เป็นหัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ เราเปิดหลักสูตรสอนคอมพิวเตอร์ โดยเรียนเชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในยุคนั้น มาอบรมให้กับวิทยาลัยครู เก็บค่าเล่าเรียนรายละสามหมื่นห้าพันบาท ศึกษากันในเรื่องฮาร์ดแวร์ เมื่อจบหลักสูตรก็จะได้คอมพิวเตอร์กลับไปสอนเด็กคนละเครื่อง โครงการนั้นมีรายรับเหลือเกือบสองล้านบาท แต่สมัยนั้น การซื้อคอมพิวเตอร์เกิน 5 เครื่อง ต้องมีมติอนุมัติจากรัฐบาล เป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงมีเงิน ก็ซื้อไม่ได้ เมื่อปรึกษากับผู้ใหญ่แล้ว ทางออกก็คือ ต้องซื้อในรูปอะไหล่จากบริษัทตัวแทนจำหน่าย แล้วให้เด็กมาประกอบเอง จนสำเร็จเป็นเครื่องที่ใช้งานได้ โดยไม่ใช้เงินของมหาวิทยาลัยเลยแม้แต่บาทเดียว
เรียนรู้คู่การทำงาน : ผมนำเด็กปีหนึ่งปีสอง มาประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์กัน ในยุคนั้นถือว่าทุกคนได้ดิบได้ดีกันหมด พอเสาร์อาทิตย์ ซัมเมอร์ ทุกคนได้ไปทำงานกันหมด เด็กของเราจึงมีงานทำตั้งแต่ยังเรียนอยู่ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมาก และแนวคิดนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ ทำให้สวนสุนันทาประสบความสำเร็จในเรื่องคอมพิวเตอร์มากที่สุดของวิทยาลัยครู ณ ขณะนั้น
ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย : ผมมีโอกาสที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในสวนสุนันทา เช่น ในการจัดตารางเรียนให้กับเด็ก เดิมทีอาจารย์ต้องกางโต๊ะถึงสามตัว ซึ่งปัญหานี้ แก้ไขได้ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วย ผมคุยกับเพื่อนชาวต่างชาติ ร่วมมือกันเขียนโปรแกรม แต่ต้องมีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในงานนี้ด้วย ก็ถูกปฏิเสธเพราะ ไม่มีงบ, แล้วสิ่งที่ทำให้ผมผิดหวังยิ่งกว่าก็คือ มีการจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามาจัดการเรื่องนี้ ก็ทำกันในแบบที่เป็นระบบปิด ทุกอย่างเป็นความลับ ไม่ยอมให้เราได้มีส่วนร่วม ผมก็ปล่อยให้กันทำไป จนเมื่อระบบมีปัญหา บริษัทต้องมาแก้ไข ด้วยความที่เป็นนักคอมพิวเตอร์ ผมกับเพื่อนก็ไปดู และลองศึกษาการทำงานของระบบ พบว่า เราทำเองได้สบายมาก ทำได้ดีกว่าเขาด้วย หลังจากนั้นก็รับมาดูแลเอง ปรับปรุงระบบให้อาจารย์ของเราสามารถทำงานได้ราบรื่น ทั้งประหยัดและมีประสิทธิภาพ จนมีผู้มาดูงานกับเราเยอะแยะมากมาย
Small is Beautiful : เราจะออกแบบการเรียนการสอน จากอุตสาหกรรมศิลป์ มาเน้นเรื่อง เทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมากแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะผลที่เกิดจากระบบอินเทอร์เน็ต โลกก้าวไปถึงไหนกันแล้ว ระบบการศึกษาก็ต้องตามให้ทัน อย่าไปติดกับระบบ อย่าไปติดอยู่กับส่วนกลางมากจนเกินไป ซึ่งผมเองก็พยายามหาทางออกกับเรื่องนี้มาตลอด พอปรับเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัย ก็จัดการแก้ไขหลักสูตรทันที บอกกับอธิการฯ ว่า เขาเคยขังกรงพวกเรามานาน ถ้าเราไม่บินออกจากกรง ก็คงจิกกันในกรงอยู่แบบนี้ ขอได้มั้ยว่า ถ้าคณะไหนไม่พัฒนา ไม่ปรับเปลี่ยนหลักสูตร ไม่ตัดหน่วยกิตออก เราจะไม่เปิดในปีถัดไป คำถามของผู้บริหารคือ เราจะทำอย่างไร ผมก็ออกแบบมาให้หมดเลย โดยให้มีหน่วยกิตไม่เกิน 130 ซึ่งก่อนนี้เยอะถึงราว 150 กว่าหน่วยกิต เรียนกันแบบเป็ดเยอะเกินไป พอผมได้เป็นอธิการในปี 2558 ก็ดำเนินการตามที่ตั้งนโยบายไว้
โครงการจัดการศึกษาสำหรับนักบริหาร : คนเข้ามาเรียนเขาเป็นเพชรอยู่แล้ว แค่เรามาช่วยเจียระไนให้แวววาวยิ่งขึ้น ให้วิธีการต่าง ๆ ไปเพื่อให้เขาเป็นมืออาชีพ เรื่องจ่ายครบ จบแน่ ไม่มีที่นี่ เราไม่เป็นแบบนั้นอย่างแน่นอน ทุกคนเรียนไป ก็ต้องทำเวิร์คช้อปไปด้วย ทำให้องค์กรใหญ่ ๆ ส่งคนมาเข้าโครงการกับเรามากมาย เราไม่ใช้อาจารย์สอน แต่จะใช้บุคลากรตัวจริง ที่ทำงานในหน้าที่จริง มาให้ความรู้ อย่างเช่นเรื่องบัญชี ก็ให้คนจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาสอน เพราะเราไม่ได้สอนผู้บริหารมาเรียนเพื่อไปทำงานบัญชี แต่เราต้องการให้เขาดูบัญชีเป็น กลับไปทำงานก็จะมีภาวะผู้นำ ที่สามารถนำเสนองานแบบมืออาชีพได้ ผู้ที่จบจากที่นี่จึงเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง ภายหลังโครงการนี้ก็เปลี่ยนเป็น วิทยาลัยนวัตรกรรมการจัดการ
รักบ้านเกิด : คิดไว้ว่าหลังเกษียณ อะไรที่ผมทำได้เพื่อให้จังหวัดแพร่ดีขึ้น ผมยินดีทำเต็มที่ รายได้ของชาวแพร่เฉลี่ยแล้วยากจนเป็นลำดับที่สองของภาคเหนือ ถ้าหากจะขับเคลื่อนก็ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ที่ผลิตคนเพื่อออกไปหางานทำ แล้วเมื่อไม่มีงานทำ คนก็ต้องออกไปจากแพร่ ในที่สุดอาจจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทุกวันนี้เรายังสอนเด็กให้ออกไปหางานทำ เพื่อไปเป็นลูกน้อง แต่แนวคิดของผมคือ ให้เด็กกลับบ้านไปทำเกษตร 3 ไร่ ภายในสองปี ถ้าประสบความสำเร็จ นั่นคือเรียนจบ แต่ต้องเขียนรายงานมาส่ง อาจารย์มีหน้าที่ถอดองค์ความรู้ที่เด็กได้มา เพื่อมาเขียนเป็นตำราหรืองานวิจัย เป็นการทำงานร่วมกัน
พอเพียงแบบสมาร์ท : ผมเสนอหลักสูตร การเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็น สมาร์ท มัลติฟาร์ม เพื่อผลิต สมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยมีการสร้างต้นแบบ ฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบสมาร์ท, ไร่นาสวนผสมแบบสมาร์ท, เลี้ยงแพะแบบสมาร์ท, เลี้ยงปลา กบ แบบสมาร์ท โดยพัฒนาหลักสูตรควบคู่กันไป ด้วยวิธีให้เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติลงมือจริง มีบริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย ทำให้เด็กของเรามีงานทำทุกคน ได้ทั้งวุฒิ ได้ทั้งงาน นี่คือการเรียนรู้ คู่กับการทำงาน
ต้องเปลี่ยน : สถาบันการศึกษา ต้องมีอิสระในความคิดริเริ่ม สุดท้ายแล้วต้องเกิดแซนด์บ็อกซ์ที่วิทยาลัยชุมชน โดยใช้พื้นที่แค่เพียง 7 ไร่ แล้วให้ชาวบ้านมาดู ให้ธนาคารมาดู ประเมินรายได้ว่าแต่ละปีต้องมีรายรับเท่าไหร่ จะปล่อยกู้เพื่อทำทุนได้แค่ไหน แล้วก็จะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ศูนย์วิจัย เพื่อพัฒนาในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง แล้วนำโมเดลนี้ไปใช้กับพื้นที่ต่าง ๆ สุดท้าย ปัญหาความยากจนก็จะคลี่คลายได้ และยังมีการท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งต่อยอดต่อไปได้อีก เรามีของดี แต่ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
ศึกษาธรรมะ : ย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนจบ ระหว่างนั่งเครื่องบินกลับประเทศไทย ได้ฟัง ได้อ่านหนังสือธรรมมะ ผู้เขียนเป็นชาวยิว เขาสอนทุกศาสนา แต่ใช้วิธีปฏิบัติแบบพุทธวิธี พอได้อ่านแล้วพบว่า นี่คือ ศีล 5 ของเรานี่เอง ที่อเมริกาเรื่องแบบนี้ประสบความสำเร็จมากเพราะว่า มีการนำไปวิจัยและพัฒนา สุดท้ายแล้วสามารถนำไปใช้ในการรักษาจิตบำบัด ซึ่งคนเป็นกันเยอะมาก แล้วผมยังได้ฟังธรรมะจากเกจิอาจารย์อีกหลายท่าน พอกลับมาถึง ผมตัดสินใจบวชให้กับคุณพ่อคุณแม่ก่อนเลยเป็นอันดับแรก แล้วไปปฏิบัติกับหลวงพ่อจรัญ สิ่งหนึ่งที่ได้มาก็คือ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม คุณต้องทำด้วยตัวเอง แล้วเมื่อผมทำงานแล้ว ได้พบกับอธิการท่านหนึ่ง เอ่ยกับผมว่า อย่าให้สายเหมือนท่าน ที่มาเข้าวัดตอนเกษียณ แล้วก็ชวนให้ผมไปวัดหลวงพ่อปราโมทย์ด้วยกัน จากการได้ปฏิบัติธรรม ก็ช่วยผมในเรื่องอารมณ์ ทำให้ในชีวิตจะไม่ผูกเจ็บกับอะไร ให้อโหสิกรรมกับทุกคน
สง่างาม : ผมอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เรื่องทุจริตคอร์รัปชันแม้แต่บาทเดียวก็ไม่เคย เพราะหากใครไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทุจริตแล้ว จะห้ามไม่ให้คนอื่นเขาพูดถึงได้อย่างไร ถ้าเราทำบาปอะไรไว้ เวรกรรมนั้นมันย่อมตามสนองทันตาเห็น แต่เหตุการณ์ที่เกิดจากการใส่ร้ายป้ายสี อิจฉาริษยา หรือความบกพร่องทางธุรการ เป็นเรื่องที่ทุกคนอาจจะต้องเผชิญ แต่ความจริง และความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะทำให้รอดพ้นจากเรื่องเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจ ทำให้ชีวิตผมอยู่ได้อย่างสง่างาม
เหนื่อย แต่มีความสุข : ตลอดชีวิตสี่สิบปีที่สวนสุนันทา นี่คือบ้านจริง ๆ ลุยมาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ขึ้นมาตั้งแต่เป็นหัวหน้าภาคฯ, คณบดี, รองวิชาการ จนถึงได้เป็นอธิการบดีสองสมัย ผมทำงานหนักมาโดยตลอดจนแทบไม่ได้ดูแลครอบครัวเลย ตอนเกษียณผมประกาศเลยว่า จะกลับมาดูแลครอบครัว ถึงแม้ว่าจะช้าไปหน่อยก็ตาม ถ้าเราให้ครอบครัวบ้าง ตัวเองบ้าง เมื่อถึงช่วงบั้นปลายก็คงเหมือนกับได้โบนัส ช่วงโควิดที่ผ่านมา ผมกลับไปจังหวัดแพร่ พบว่าสินทรัพย์ที่เคยลงทุนไว้ตั้งแต่เมื่อตอนกลับมาจากอเมริกาใหม่ ๆ ถ้าผมใส่ใจตั้งแต่ก่อนเกษียณสักหน่อย รู้จักการจัดการให้ดีกว่านี้ บำรุงรักษาไว้บ้าง หลาย ๆ อย่างที่เรามี อย่างต้นสัก ที่ปล่อยให้โตเองโดยไม่ได้ดูแล คงมีมูลค่ามากกว่านี้อีกเยอะ พอบ้างานเกินไป ก็ทำให้โอกาสต่าง ๆ ผ่านพ้นไป แต่สิ่งที่ผมทำมาตลอดก็ทำให้ชีวิตพออยู่ได้แล้ว และสินทรัพย์เหล่านี้ ต่อไปก็เป็นของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน โชคดีที่ลูก ๆ ของผมทุกคนประสบความสำเร็จกันทุกคน เพราะครอบครัวมีความสุข คือความสุขที่สุดในชีวิตแล้วครับ