Aphasia
Aphasia
ฝุ่นดราม่าบนเวทีออสการ์ยังไม่ทันจางหาย คอหนังฮอลลีวู้ดก็ได้รับข่าวที่น่าตกใจต่อกันอีก เมื่อครอบครัวของดาราแถวหน้ารุ่นเก๋า บรูซ วิลลิส ออกแถลงการณ์ทางอินสตาแกรม “Willis” ว่า บรูซ วิลลิส ตรวจพบว่าป่วยด้วยโรคอะเฟเซีย (aphasia) ที่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติในการสื่อสาร หลังแถลงการณ์นี้เผยแพร่ ออกไป ก็สร้างความตกใจให้กับคอภาพยนตร์ทั่วโลก พร้อมทั้งร่วมกันส่งกำลังใจให้กับ บรูซ วิลลิส และครอบครัว ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปโดยเร็ว
Phasia มาจากภาษากรีก หมายถึงการพูด เติม A เข้าไปคือ การที่ไม่พูด แต่ในทางการแพทย์หมายรวมไปเป็นการสื่อสาร การเขียน และรวมมาถึงการฟังด้วย Aphasia หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ
Wernicke’s aphasia เป็นความผิดปกติในฝั่งการรับรู้ ผู้ป่วยได้ยินแต่ไม่สามารถเข้าใจความหมายในสิ่งที่ผู้อื่นพูด เช่น ทำตามคำสั่งไม่ได้ ผู้ป่วยพูดได้ บอกความต้องการได้ แต่ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะพูดประโยคยาวๆ ติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ
Broca’s aphasia ผิดปกติในการพูด หรือการสื่อสารออกมา (รวมการเขียน) ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้นๆ พูดไม่จบประโยคหรืออาจลืมคำบางคำ ทำให้พูดไม่ได้อย่างที่คิด เรารู้และสามารถทำสิ่งต่างๆ ตามที่ผู้อื่นบอกได้ แต่เขาจะพูดสิ่งที่คิดออกมาไม่ได้
Global aphasia เป็นอาการผิดปกติทั้งสองส่วน ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งการสื่อสารและการรับสาร มีอาการของภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้และไม่ได้รวมกัน พูดได้บ้าง สื่อสารได้สั้นๆ , เข้าใจบางส่วนหรือประโยคง่ายๆ หรือ มีปัญหาทั้งสองส่วน ผสมๆ กัน ขึ้นกับตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพในสมอง
Conduction ผู้ป่วยมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดี ทั้งการพูดและการเขียน พูดได้คล่อง แต่ไม่สามารถพูดตามได้ หรือหากพูดตามจะพูดผิด
Aphasia อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกมากที่สุด รวมถึงภาวะสมองขาดเลือดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง นอกจากนี้ ในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม เป็นต้น สำหรับภาวะ Aphasia แบบชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากอาการไมเกรน อาการชัก หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต
สำหรับการรักษานั้น แพทย์จะใช้วิธีการบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะ Aphasia แต่ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาและทดสอบ
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Aphasia สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมอง ไม่ว่าจะเป็น ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด, รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, งดการสูบบุหรี่, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น, ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ, หากสงสัยว่ามีอาการของภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงหากมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเช่นกัน
ข้อมูลจาก poppad.com