Interview

ปิติกานต์ พ่วงรอด

ปิติกานต์ พ่วงรอด
ที่ปรึกษา สุวรรณภูมิกอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ และ
ผู้จัดการทั่วไป สนามกอล์ฟ Killien Golf Club
“จะสุขหรือทุกข์ เราต้องเป็นผู้เลือกว่าจะเก็บอะไรเอาไว้”

วงการกอล์ฟ : ผมถือว่าโชคดีที่ได้เข้ามาในแวดวงกีฬากอล์ฟ ถึงวันนี้ ผมทำงานผ่านประสบการณ์มา กว่า 37 ปีแล้ว ทำงานมาตั้งแต่อายุ 23 ประมาณปี 2525 เรียนจบมาก็ทำงานเลย แรก ๆ ทำงานที่ธนาคารอยู่สิบปี จากนั้นก็มาอยู่กับธุรกิจเรียลเอสเตท บังเอิญว่า เจ้านายขณะนั้นมีธุรกิจอยู่ที่หัวหิน กำลังสร้างสนามกอล์ฟ, ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ แค่ไม่กี่เดือน ก็ถูกส่งให้มาประจำที่หัวหิน ด้านงานฝ่ายบุคคลและธุรการ เมื่อปี 2533 ธุรกิจกอล์ฟในประเทศไทยกำลังบูมมาก มีการสร้างสนามกอล์ฟใหม่ ๆ เกิดขึ้นกันอย่างมากมาย ที่นี่ เป็นสนามกอล์ฟแห่งที่สองของหัวหิน ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องของกอล์ฟ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้ตีกอล์ฟ ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้มาพบเจอกับนักกอล์ฟทุกระดับฝีมือ ตั้งแต่เยาวชนจนถึงผู้อาวุโส ได้รู้จักกับผู้คนในวงการกอล์ฟเยอะแยะมากมาย นั่นคือจุดเริ่มต้นชีวิตกอล์ฟของผม ปัจจุบันก็คือ สนามปาล์มฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ คันทรี คลับ

ประชาธิปไตย : ในการบริหารงาน การใช้พระเดชมากเกินไป ไม่ได้ส่งผลดี ผมจึงพยายามเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เคยบอกเราว่า ทำแบบนี้แล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง ผมเชื่อว่า นี่เป็นหลักของประชาธิปไตย ที่เราควรฟังกันมากกว่า ควรฟังกันมากขึ้น, หลาย ๆ เรื่อง เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และหาข้อสรุปกันว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าเป็นตัวเรา เราเป็นลูกค้า จะรู้สึกอย่างไร เอาใจเขามาใส่ใจเรา บางทีบางครั้ง เราต้องให้ทั้งเหตุและผลประกอบกัน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไป

ความเข้าใจ : ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ชีวิตคนเราทุกคน ขึ้นอยู่กับความเข้าใจซึ่งกันและกัน สิ่งที่เราพูดคุยกัน คำแนะนำ ทั้งการเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หัวหน้า หรือลูกน้อง ก็ต้องสื่อสารกันด้วยความเข้าใจ ปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนไป คนเราอาจจะพูดคุยกันโดยตรงน้อยลง หันไปใช้โซเชี่ยลกันมากขึ้นในการติดต่อสื่อสาร แต่แน่นอนที่สุด การทำความเข้าใจที่แท้จริง ต้องใช้เรื่องของสิ่งที่เราพูดกันโดยตรง สิ่งที่มองเห็นด้วยกัน การพูดคุย การมองตากัน และยังต้องใช้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่ออกมาจากใจ ในการจะพูดออกไป เพื่อให้เห็นข้อดีข้อเสียต่าง ๆ ซึ่งชัดเจนกว่าการสื่อสารด้วยวิธีอื่นอย่างแน่นอน

ช่างสังเกต : ตลอดชีวิตในการทำงาน ผมใช้ความใส่ใจ ใช้การมอง ใช้การสังเกตในการทำงาน บางครั้งเวลามองเจ้านาย ต้องใช้การสังเกตให้มาก แล้วจะรู้ว่า เจ้านายต้องการอะไร หรือเจ้านายมีอะไรที่อยากจะใช้เราหรือไม่ โดยไม่ต้องบอกเราก็รู้ ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะเดาใจเจ้านายถูก ซึ่งเรื่องแบบนี้ ต้องอาศัยการปลูกฝังความเป็นคนช่างสังเกต ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และใช้วิธีกับทุก ๆ คนอีกด้วย ช่างสังเกต ไม่ใช่เฉพาะแค่ที่เรา เวลาไปไหน ที่นั่นมีดีอะไร ก็ต้องจดจำไว้ จะว่าลอกเลียน หรือเลียนแบบก็ได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องรู้จักเลือกเฉพาะสิ่งที่ดี ๆ ที่เหมาะกับเรา แล้วนำมาทำ นำมาปรับใช้ เราต้องเปิดกว้าง มีแนวความคิดใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย

หลังเกษียณ : ผมมีความฝันว่า อยากจะเดินทางท่องเที่ยว พอดีลูกสาวคนโต ทำงานอยู่ที่ประเทศแคนาดา ออกปากชวนผมว่า ถ้าหลังเกษียณแล้วไม่มีอะไร อยากให้พ่อไปอยู่ด้วย แต่ผมวางแผนไว้ว่า ถึงแม้จะเกษียณแล้ว แต่ใจยังอยากจะทำอะไรอีกเยอะ เพราะในชีวิต ผมทำงานให้กับบริษัทต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2525 จนถึง 2563 มีส่วนทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เติบโตมาเยอะ ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่กลับไม่เคยมีธุรกิจอะไรเป็นของตัวเอง คิดว่าจะจัดตั้งบริษัทส่วนตัว จดทะเบียนในนามครอบครัว ทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับงานราชการ

คืนวงการ : ราวสิบเดือนหลังจากตั้งบริษัทเมื่อต้นปี 2564 ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสุรพงษ์ พันตาวงศ์ ประธานฯ บริษัท พันตา จำกัด หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสนามกอล์ฟของประเทศไทย ซึ่งผมรู้จักกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว และได้พูดคุยกันว่า กำลังทำสนามกอล์ฟอยู่ที่บางเลน นครปฐม สามารถเดินทางไปได้ทั้งเส้นทางนครปฐม และเส้นทางสองพี่น้อง สุพรรณบุรี ไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก หลังจากได้พูดคุยกันแล้ว คุณสุรพงษ์ ก็ได้ชักชวนให้ช่วยมากันทำงาน

งานถนัด : ก็คิดว่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เก็บเกี่ยวในวงการกอล์ฟมาตลอด คงช่วยงาน ผลักดันวงการกอล์ฟได้ และยังเป็นงานในสายอาชีพเก่าที่คุ้นเคย ทั้งใจชอบและถนัดอยู่แล้ว จึงไม่มีความลังเลในการทำงานนี้เลย ผมคิดว่าในเรื่องของกอล์ฟ เราก็ยังมีสายสัมพันธ์ต่าง ๆ อยู่ จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับวงการกอล์ฟ นอกจากจะเป็นนักกอล์ฟทั่วไปแล้ว ยังต้องมองไปถึง นักกอล์ฟเยาวชน นักกอล์ฟสมัครเล่น ที่จะเติบโตขึ้นไปทดแทนคลื่นลูกแรก ตลอดจนนักกอล์ฟอาชีพ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไป ก็คิดว่าจะใช้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี ต้องขอบคุณผู้บริหารทั้งสองท่าน (คุณสุรพงษ์, คุณชนินทร์ พันตาวงษ์) ที่เข้าใจนักกอล์ฟได้เป็นอย่างดี และเชิญให้ผมมาร่วมงานด้วย เปิดโอกาสให้ผมได้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยเน้นไปในเรื่องการตลาด โดยก็หวังว่า จะทำให้สนามที่รับผิดชอบในปัจจุบันทั้งสองแห่งให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปรับปรุงการให้บริการต่าง ๆ ให้เป็นที่ประทับใจของผู้เข้ามาใช้บริการให้มากขึ้น นี่คือการเปิดมือของครอบครัวพันตาวงษ์ ที่ให้ผมมีโอกาสเข้ามาทำงาน

พันตาวงษ์ : ครอบครัวพันตาวงษ์ ทั้งคุณสุรพงษ์ และคุณชนินทร์ เป็นครอบครัวนักกอล์ฟอย่างแท้จริง และอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังวงการกอล์ฟมาตลอด โดยเฉพาะคุณท้อป ชนินทร์ ซึ่งเป็นอดีตนักกอล์ฟเยาวชนฝีมือดี ทำให้ผมเชื่อว่า ทั้งคู่มีความเข้าอกเข้าใจนักกอล์ฟเป็นอย่างดี เป็นผู้ให้กับวงการกอล์ฟ เพราะสิ่งที่เคยได้รับมาในอดีต เมื่อครั้งยังเล่นกอล์ฟระดับเยาวชน จากสนามกอล์ฟต่าง ๆ จากผู้ปกครอง ทำให้มีโอกาสได้เล่นกอล์ฟ และเมื่อก้าวเข้ามาสู่บทบาทการเป็นผู้บริหารสนามกอล์ฟ ก็มองเห็นแล้วว่า เมื่อก่อนใครให้อะไรกับเขา และวันนี้ ไม่แปลกเลยถ้าครอบครัวนี้จะให้อะไรคืนกลับสู่สังคม ทั้งในเรื่องการส่งเสริม เยาวชน สมัครเล่น จนถึงอาชีพ ทุกอย่างสนับสนุนกันเต็มที่

Killien Golf Club : เดิมชื่อสนาม NCR Golf Club นครชัยศรี ปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็นชื่อ Killien Golf Club โดยได้ชื่อมาจาก Mr. Kenneth Killian ผู้ออกแบบสนามกอล์ฟแห่งนี้, NCR Golf Club เปิดให้บริการมานานแล้ว ทำให้ต้องได้รับการปรับปรุงสภาพ ก่อนหน้านั้นได้ปรับพื้นที่ ไถวัชพืชทิ้ง รื้อพื้นที่ที่เป็นสนานหญ้าออกทั้งหมด เพื่อปลูกหญ้าพันธ์ พาสพาลัม แพลตตินั่ม สำหรับพื้นที่แฟร์เวย์ และ แชมเปี้ยน ดวาฟ สำหรับกรีน เพื่อความสมบูรณ์ของสนาม พื้นสนามติดกับแม่น้ำท่าจีน คลับเฮ้าส์มองเห็นวิวแม่น้ำท่าจีนได้อย่างชัดเจน มีภูมิทัศน์สวยงาม แต่ก็พบกับปัญหาน้ำเอ่อล้น มีน้ำท่วมเข้ามา ทำให้เกิดความเสียหายในบางส่วน ต้องแก้ไขปรับปรุงอยู่ระยะหนึ่ง จนเริ่มกลับเข้ามาทำงานบำรุงรักษาได้อย่างเต็มที่ คาดว่า ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ หญ้าในส่วนต่าง ๆ ทั้งแฟร์เวย์ กรีน ทีออฟ จะกลับมาสมบูรณ์ พร้อมให้การต้อนรับนักกอล์ฟ

เหล้าใหม่ในขวดเก่า : เรารักษาเลย์เอ้าท์ที่ มร.เคนนี่ คิลเลี่ยน ได้ออกแบบไว้อย่างครบถ้วน สนามแห่งนี้ไม่ได้ง่ายจนเกินไป ระยะอาจจะไม่ยาว แต่ทุก ๆ ช็อต จะต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี ให้ลูกอยู่ในเป้าหมายที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น พาร์ 5 บางทีมีร่องน้ำคั่นถึงสามแห่ง หากบุ่มบ่าม ตีบุก หากไม่แม่นยำพอ ก็เสี่ยงสูงอาจจะตกร่องน้ำได้ หลุม 18 หรือ หลุม 9 มีความพลิกผันสูง เพราะไม่ได้ออกแบบให้เอื้อกับผู้ที่จะอาศัยโชคช่วย ต้องใช้ฝีมือจริง ๆ เราแค่เปลี่ยนพื้นผิวหญ้าที่ชำรุดเสียหายไปตามการใช้งาน และมีการเพิ่มเติมการบำรุงรักษาในส่วนต่าง ๆ ของสนามให้ดียิ่งขึ้น เช่น ปรับร่องน้ำ ปรับเนินบางส่วนเพื่อให้เป็นจุดปะทะลูก ไม่ให้ไหลตกน้ำได้ง่ายจนเกินไป มีการให้รางวัลและลงโทษ ตามเหตุตามผล ทางรถกอล์ฟที่เคยไปอยู่ในพื้นที่การเล่น ก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม พยายามเปิดพื้นที่แฟร์เวย์ให้ได้เล่นมากขึ้น จึงเป็นที่สิ่งที่อยากให้ติดตามกันต่อไป เพราะถึงจะมีบรรยากาศเก่าก็จริง แต่ก็เท่ากับได้เล่นในสนามใหม่ ในสโลแกนที่ว่า “The Modern Adventure”ความท้าทายแบบใหม่

เข้าใจนักกอล์ฟ : เรารู้ว่าเขามีความต้องการอะไรบ้าง เพื่อความสนุกสนานในเกม เราได้ขยายกรีนให้ใหญ่ขึ้นจากเดิม เพราะปัจจุบัน นักกอล์ฟมีอุปกรณ์ที่ดี ตีไกลขึ้น แต่สิ่งที่จะสู้กันจริง ๆ คือ การใช้ทักษะในการพัตต์บนกรีน เรามีการปลูกหญ้าพันธุ์แชมป์เปี้ยน เป็นหญ้าใบเล็ก หากตัดให้สั้นหน่อย ความเร็วของกรีนจะเพิ่มขึ้นทันที โดยไม่ต้องไปทำอะไรมาก ส่วนการปั้นกรีนต่าง ๆ ของเดิมทำไว้ดีอยู่แล้ว ความแตกต่างก็คือ เมื่อปรับปรุงแล้ว สปีดกรีน ต่างกันแน่นอน สภาพแฟร์เวย์ก็คนละแบบกัน มีความสมบูรณ์ ในแบบสนามสมัยใหม่

ผสมผสาน : สนามนี้ไม่ง่าย ต้องอาศัย ความแม่นยำ ทั้งในเรื่องทิศทางและระยะ ถ้าพลาดบทลงโทษก็สูง แต่ถ้าเสี่ยงแล้วทำได้ รางวัลก็มีให้เช่นกัน เป็นการเล่นกอล์ฟด้วยความผสมผสาน ระหว่างยุคก่อนหน้านี้กับยุคใหม่ มีหลุมที่ท้าทายในการเล่น มีบางหลุม เลย์เอ้าท์โค้งเหมือนวงพระจันทร์ สวยงาม สามารถตีตัด ให้ไปชิพลุ้นทำอีเกิ้ลได้ แต่ถ้าพลาด โอกาสตีตกน้ำก็สูงด้วยเช่นกัน หรือจะเลือกเล่นแบบดั้งเดิม ใช้การวางตัว คำนวณการตีแต่ละช็อตด้วยความแม่นยำ ค่อย ๆ เล่นไปทีละช็อต ไปตามคำแนะนำของสนาม แบบอนุรักษ์นิยม ไม่บุ่มบ่าม ตัวสนามเป็นแชมเปี้ยนชิพคอร์สอยู่แล้ว เปิดมาแล้วกว่ายี่สิบปี คลับเฮ้าส์ ยังมีสภาพดีอยู่มาก งานทางด้านบริการไม่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง

เพื่อนักกอล์ฟ : เราส่งเสริมนักกอล์ฟทุกระดับฝีมือ อย่างเช่น ร่วมมือกับ นสพ.กอล์ฟไทม์ จัดรายการ กอล์ฟไทม์ วันเดย์ ทัวร์ ทำให้นักกอล์ฟได้มีโอกาสเข้ามาร่วมแข่งขันกัน ทั้งสนามสุวรรณภูมิฯ และ สนามคิลเลี่ยน ให้ความร่วมมือ จัดการแข่งขันรายการนี้ เราพร้อมให้การสนับสนุน ดูแลนักกอล์ฟทุกระดับชั้น เรามีทั้งสนามฝึกซ้อม ชิพ พัตต์ บนพื้นหญ้าจริง ตัวสนามสุวรรณภูมิ ก็มีถึง 36 หลุม ไว้คอยบริการ ทั้งสองสนาม พร้อมที่จะให้นักกอล์ฟทุกท่าน ตั้งแต่เยาวชน จนถึงซีเนียร์ หากอยากมาเล่น เรามีราคาโปรโมชั่นต้อนรับทุกคน ผมเชื่อว่า สิ่งที่เราทำ เพื่อนักกอล์ฟไทยจริง ๆ อยากให้ทุกคนมีความสุขกับการเล่นกอล์ฟ เป็นนโยบายตั้งแต่ผู้บริหารมาเลย

อยากให้ทุกคนมีความสุข : ผมมีเพื่อนอยู่หลายกลุ่มมาก เล่นกีฬาหลากหลาย กีฬากอล์ฟจะเป็นกีฬาที่ยืนยาวที่สุดในบรรดาเพื่อน ๆ ทุกกลุ่ม เจอกันยาวนานที่สุด ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า การได้เล่นกอล์ฟกับคนที่เราเล่นด้วยแล้วมีความสุข เล่นกับคนรู้จัก ผมเชื่อว่า นักกอล์ฟทุกคน อยากเล่นกอล์ฟกับเพื่อน อยากแก้มือ ถึงแม้จะรู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็อยากมาเล่นด้วยกัน ในช่วงนี้เราได้จัดโปรโมชั่นพิเศษที่สนามกอล์ฟสุวรรณภูมิ ให้กับนักกอล์ฟ วันธรรมดาออกรอบได้ถึง 8 ท่าน ในราคาพิเศษสุด ๆ โดยไม่มีผลกระทบกับนักกอล์ฟที่เล่นกันตามปกติ 3 – 5 ท่าน เพราะได้แบ่งพื้นที่โดยเฉพาะให้กับการออกรอบเรียบร้อยแล้ว และกระแสตอบรับก็ดีมาก มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อะไรที่ทำแล้ว นักกอล์ฟมีความสุข เราก็อยากทำให้เต็มที่ครับ

ความสุขอยู่ที่เรา : จะสุขหรือทุกข์ เราต้องเป็นผู้เลือกว่าจะเก็บอะไรเอาไว้ เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นความทุกข์ ต้องเลือกที่จะตัดออกไป หรือบางอย่างคิดว่าต้องใช้เวลา ในการจะทำให้เกิดความสำเร็จ ก็ต้องรู้จักอดทนรอ เพื่อให้เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้ หรือหากเรื่องนี้เป็นสิ่งเร่งด่วน รอไม่ได้ ต้องรีบดำเนินการทันที ก็ต้องคิดหาหนทางเพื่อไปสู่เป้าหมายให้ได้เร็วที่สุด ถ้าเดินตรง ๆ แล้วไปไม่ได้ ก็ต้องรู้จักเดินทางอ้อมบ้าง แล้วทุกอย่างที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องเกิดจากการที่เราลงมือทำเท่านั้น แต่ถ้าหากทำไม่ได้ หรือติดเงื่อนไขอะไร ที่ไม่สามารถแตะต้องได้ นั่นก็คือ ต้องหาทางออกที่ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ ผมจึงไม่วิตกกับเรื่องอะไรแบบนี้ เพราะเมื่อเราคิดดี ทำดี ทำเต็มที่ และมีเจตนาดี ผลลัพธ์ก็ต้องออกมาดีด้วย เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ถึงแม้จะไม่มีความผิดใด ๆ เกิดขึ้นก็จริง แต่นั่น ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลยด้วยเช่นกันครับ