คอลัมน์ในอดีต

แก้วใจจุลจอม : อนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรัก (2)

แก้วใจจุลจอม : อนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรัก (2)

แห่งที่ 4  พระเจดีย์ทอง วัดราชบพิธ
พระอัฐิของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมรีรัตน์ พระบรมราชเทวี  พระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี และพระราชโอรสในพระครรภ์ ประดิษฐานในพระเจดีย์ทอง ในวัดราชบพิธแห่งนี้ด้วย
พระเจดีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีศิลาจารึกดังนี้

สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวี
พระราชธิดา
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประสูติ ๗ ฯ  ๑๒ ค่ำ ปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๒๒
    ๑๒
สิ้นพระชนม์วัน ๒ ฯ ๗ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๒๔๒
       ๘
ได้เชิญพระอัฐิมาบรรจุไว้ในที่นี้
ณ  วัน ๔ ๓ฯ ๔ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖

ส่วนพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ มีคำจารึกไว้ดัง
นี้
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์
อรรควรราชกุมารี
พระราชธิดา
ประสูติวัน ๒ ๑๔ฯ ๙ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐
สิ้นพระชนม์วัน ๒ ฯ ๗ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๒๔๒
       ๘
พระราชทานเพลิง ที่พระเมรุ ท้องสนามหลวง
ในปีที่สิ้นพระชนม์
ได้เชิญพระอัฐิ มาบรรจุไว้ในที่นี้
ณ ๔ ๕ฯ ๔ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖

    หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทิวงคตไปไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้าง “โรงเรียนสุนันทาลัย” เพื่อเป็นอนุสรณ์ แด่พระปิยมเหสี แทนการสร้างวัด ,โคมไฟฟ้า โดยมีตราพระนามาภิไธยย่อ ส.ก.ร.ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งมีข้อความ “สุนันทาลัย”ในพระบรมมหาราชวัง (สุนันทาลัย มาจาก สุนันทา + อาลัย ความหมายเด่นชัดถึงความอาลัยรักของพระพุทธเจ้าหลวงที่มีต่อพระน้องนางเธอ)

   แม้เวลาผ่านมานานกว่า 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังมิลืมเลือน พระนางอันเป็นที่รัก จึงได้ทรงสร้าง “สวนสุนันทา” ซึ่งเป็นสถานที่ของสวนอันสงบสงัด เป็นที่น่ารื่นรมย์เป็นที่สุด ด้วยความรักในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระปิยมเหสี จึงดลพระราชหฤทัย ให้ทรงมีจินตนาภาพในสวนที่มีลักษณะที่พระนางอันเป็นที่รักทรงโปรดปราน และต่อมาหลังจากที่พระองค์สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสร้างต่อจนสำเร็จ และจัดถวายเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา ข้าบาทจาริกา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5 ) ที่ตั้งบรมราชปณิธานไว้

    ต่อมาบรมวงศานุวงศ์มิได้ประทับแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสวนสุนันทาให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งเป็นสถานศึกษา และปัจจุบันยังใช้ชื่อ สวนสุนันทา แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยแล้วเรียก “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” นาม “สุนันทา”นี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกสรรตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารัรัตน์ พระบรมราชเทวี โดยทางตรง

   อาณาบริเวณสวนสุนันทา ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งสถาบันการศึกษาที่สำคัญถึง ๓ สถาบัน คือ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา วิทยาลัยครูสวนดุสิต (โรงเรียนละอออุทิศ) และโรงเรียนข้าราชการฝ่ายปกครอง (ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการกรมมหาดไทย) นั้น แต่เดิมเป็นเขตพระราชฐานส่วนหนึ่งในพระราชวังดุสิต มีกำแพงต่อเนื่องกัน ถนนประชาธิปไตยตอนที่ผ่ากลางแบ่งแยกเขตสวนสุนันทาออกมาเสียจากเขตพระราชวังดุสิตนั้น แต่เดิมเป็นถนนในเขตพระราชฐาน มีชื่อว่าถนนดวงดาวใน

    สวนสุนันทา เมื่ออดีตในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๒ – ๒๔๗๕ อันเป็นยุคเป็นสมัยที่พระราชวงศ์ฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๕ ประทับอยู่นั้น เป็นสถานที่ที่สวยงามน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง ตอนกลางของอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น เป็นสระใหญ่ประกอบด้วยคูคลองซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยวเหมือนสระและคูคลองอันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีเกาะแก่งและโขดเขินเนินดินน้อยใหญ่ ซึ่งล้วนแต่รื่นรมย์ด้วยเงาของพฤกษชาตินานาชนิด มีตำหนักอันเป็นที่ประทับสำหรับองค์มเหสี พระราชธิดา และข้าบาทจาริกาใหญ่น้อยเรียงรายอยู่ทั้งบนพื้นที่ราบ บนโขดเขินเนินดิน และริมฝั่งคูคลอง แต่ละตำหนักมีพื้นที่ว่างเป็นอาณาบริเวณมากบ้างน้อยบ้าง พระตำหนักใหญ่อันเป็นที่ประทับสำหรับพระมเหสีและสมเด็จเจ้าฟ้าราชธิดานั้น มีพื้นที่เป็นอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล สำหรับผู้เป็นเจ้าของตำหนักจะได้ดัดแปลงตกแต่งเป็นสวนพฤกษชาติ สวนบุปผาชาติ ตลอดจนปลูกสร้างอาคารสำหรับให้บรรดาผู้คนที่อยู่ห้อมล้อมประดับพระเกียรติยศนั้นได้อยู่อาศัย ส่วนพระตำหนักขนาดกลางซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับพระราชธิดา ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้า และพระตำหนักขนาดเล็กซึ่งเป็นที่พำนักของบรรดาท่านเจ้าจอมนั้น ก็มีพื้นที่อาณาบริเวณสำหรับตกแต่งจัดทำเป็นสนาม และจัดทำเป็นสวนไม้ดอกไม้ใบได้อย่างเพียงพอ คือตำหนักขนาดกลางมีพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ และตำหนักขนาดเล็กมีเนื้อที่เป็นบริเวณประมาณ ๓ งานเศษ ซึ่งเจ้าของตำหนักแต่ละองค์ก็ได้ทรงตกแต่งจัดทำเป็นสวนปลูกไม้ดอกไม้ใบนานาชนิดไว้เป็นที่งดงามเจริญตาแทบทุกตำหนัก

มณีจันทร์ฉาย