ความจำเป็นของวิชา พลศึกษา
ความจำเป็นของวิชา พลศึกษา
เรื่องของการศึกษาที่บ้านเมืองเรามีอยู่ทุกวันนี้จากประถมถึงมหาวิทยาลัย การให้ความสำคัญในเชิงวิชาการ “พลศึกษา” มักถูกจัดไว้ให้มีความสำคัญอันดับท้ายของการเรียนในแต่ละสัปดาห์ ในสมัยที่เราเป็นเด็กแทบจะเรียกได้ว่ารอคอยที่จะได้เรียน “พละ” อย่างใจจดใจจ่อ หากจะคิดดีๆ นะครับวิชา “พลศึกษา” นี่มันเป็นวิชาสร้างความสุขให้เด็กนักเรียนได้จริงๆ ตั้งแต่ ป.1 – ป.7 ที่ได้เรียนพละมานี่ครูไก่ไม่เคยเลยที่จะขาดวิชานี้ แต่ก็อย่างว่าในสมัยนั้นอุปกรณ์ในการเรียนการสอนมันช่างมีอย่างจำกัดจำเขี่ยจริงๆ นักเรียน 30 กว่าคนมีลูกบาสสามลูกทั้งโรงเรียน ฟุตบอลอาจไม่เกิน 5 ลูก วอลเล่ย์บอลไม่เคยเห็น ดังนั้นชนิดกีฬาแปลกๆ ไม่ต้องคิดถึงจะได้พบเจอ กว่าจะได้รู้จัก ซอฟบอล ปิงปอง วอลเล่ย์บอล ก็ล่วงเข้า ม.1 โน่น…
ดังนั้นในวัย 7-14 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่ควรจะได้สะสมทักษะกีฬาเพื่อสุขภาพมันกลายเป็น เวลาที่ทำได้เพียงโหยหาการเล่นก็เท่านั้นเอง จะเล่นจริงจังก็ล่วงเข้า ม.ศ 3-5 เข้าไปแล้ว อีกช่วงที่ต้องเรียนทุกวิชาของกีฬาสมัยเรียน วพ. หรือสมัยก่อนเรียกว่า วิทยาลัยพลศึกษาส่วนสังกัดจังหวัดไหนก็เอาชื่อจังหวัดต่อท้ายกันไป โดยมี “พลศึกษา” เป็นหลักแล้วมีกระทรวงศึกษาธิการคุมอีกที เห็นหรือเปล่าครับคำว่าวิชา “พลศึกษา” ความจริงมันเป็นวิชาหลักระดับต้นๆ ของการศึกษาไทย แต่ทำไมเราทำได้แค่นี้เองนั่นคือ 1 คาบต่ออาทิตย์หนึ่งถามจริงมันพอเพียงกันมั้ยเนี่ย จากที่เคยพูดคุยกับบรรดาผู้ปกครองที่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา วิชาพลศึกษา หรือ P.E. ที่เขาเรียกกันเขาจัดอันดับไว้ต้นๆ ของตารางเรียนใน 1 สัปดาห์ เขาให้เด็กได้เล่นอย่างน้อย 3 คาบ แล้วโรงเรียนเลิกบ่ายสองครึ่ง เวลาที่เหลือคือตามใจเธอ ใครชอบอะไรไปทำที่ใจคิดถึง แล้วการบ้านเขามีหรือเปล่า เห็นเขาว่ามันจะมีอยู่คาบหนึ่งเป็นเวลาของการทำการบ้าน ถ้าไม่เสร็จก็ตามไปสอนกันที่บ้านอีกหน่อยหนึ่งก็เป็นอันจบวัน…
แต่ในบางชุมชนที่เขามีจำนวนประชากรมากอยู่ เขาก็จัดครูมาสอน P.E. เพิ่มในโรงเรียนเข้าไปอีก ส่วนเงินทองที่จะเป็นค่าตอบแทนก็จะมาจากการบริจาคของชุมชนกันเองนั่นแหละ ครูหรือโค้ชนอกจากจะมาจากโรงเรียนเองแล้วอาจมีโค้ชพิเศษที่มีความชำนาญจากภายนอกหรือผู้ปกครองกันเองที่มีความเก่งกล้าในกีฬานั้นๆ มาช่วยสอนช่วยเด็กในชุมชนกันเอง พอทราบแบบนี้แล้วเราจะเอาอย่างเขาได้หรือเปล่าบอกได้สองคำคือ “ยากมาก” ข้อแรก ร.ร.ของเราเป็นราชการใครจะมาจะไปต้องมีเรื่องวุ่นวายที่มีไว้ให้ทำกันเพียบ ข้อต่อมาคือบุคลากรของเราไม่เก่งพอที่จะสร้างนักกีฬาขึ้นมาได้นอกจากบางโรงเรียนที่เขาเอากีฬามาก่อนวิชาการ ซึ่งตอนนี้ก็มีให้เห็นกันบ้างแล้ว ข้อสุดท้ายคือ ผู้ใหญ่มองไม่เห็นความจำเป็นดังกล่าวมาเท่านี้มันก็จบครับ เป็นอันว่า “อวสารอินทรีย์ทอง” หัวไม่เอาหางก็ไม่กล้าหรอกครับ…แบบนี้ก็คอยดูกันไป ว่าใครจะมาเป็นผู้พลิกฟ้าเปลี่ยนดินได้ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน…
ครูไก่