ภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย
ภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย
ผู้อำนวยการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
“ชีวิตนี้มาไกลกว่าที่ฝันไว้มากเลยค่ะ” ผอ.จิ๊บ (ภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย) ตอบคำถามแรกเมื่อถามถึงชีวิตในปัจจุบัน… “ทำงานแรก ๆ คิดแค่ว่าจะเป็นครูธรรมดา ๆ แล้วเมื่อมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ก็คิดว่าจะเป็นแค่ ผอ. โรงเรียน ที่ทำให้ให้เด็กและคนทำงานอยู่แล้วมีความสุข เมื่อมีคนเข้ามาดูเรา เขาก็จะมีพลังด้านบวกกลับไป ไม่คาดว่า สิ่งที่คิดแค่จุดเล็ก ๆ จะเป็นแรงผลักดัน ให้เราก้าวขึ้นมา จนอยู่ในระดับที่จะผลักดัน นโยบายดี ๆ เวลาทำอะไรแล้วมันเกิดแรงกระเพื่อมออกไปได้”
สิ่งที่หล่อหลอมทำให้ คุณจิ๊บ คุ้นชินกับวิถีชีวิตของเด็กด้อยโอกาสก็เพราะ เติบโตมาในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จ.น่าน คุณพ่อเป็นครูที่นั่น โรงเรียนรับนักเรียนที่ชีวิตอาจต้องเผชิญกับความลำบากมากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะเด็กชาวเขา ให้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนหนังสือ ทำให้เธอได้สัมผัส ใกล้ชิด กับเด็กกลุ่มนี้มากพอสมควร
คุณจิ๊บ เล่าว่า… “เป็นคนชอบทำกิจกรรมมาก ๆ ส่วนการเรียนก็กลาง ๆ ค่ะ สมัยเรียนได้เป็นประธานกีฬาสี เป็นประชาสัมพันธ์ มีความรู้สึกว่าถ้าได้ร่วมกิจกรรมแล้วจะมีความสุข และยังได้เป็นนางรำของโรงเรียนอีกด้วย เพราะคุณแม่เป็นครูสอนนาฏศิลป์ ชอบเฮฮา ท่านมีความสุขความสุขอยู่เสมอ ตอนยังเล็ก ๆ เมื่อคุณแม่ไปเรียนรำเพิ่มเติม ก็ตามไปนั่งรออยู่หลังห้อง พอได้ดูคุณแม่ซ้อมรำ ก็พลอยซึมซับไปด้วย จนรู้สึกชอบ ที่บ้านมีน้องชายอีกคน บางคืนหลับไปแล้ว แม่ยังปลุกให้สองพี่น้องมารำ พระเพื่อน – พระแพง” คุณจิ๊บ เล่าพร้อมกับหัวเราะ “สมัยเรียนราชภัฏ เวลามีงานใหญ่ ๆ จะได้รับคัดเลือกให้เป็นนางรำ แสดงต้อนรับแขก และเคยได้แสดงละครของคุรุทายาท เป็นนางเอกเรื่องมะเมียะ”… เธอเล่าพร้อมยิ้มอย่างมีความสุข
“จริง ๆ แล้วชอบทำงานเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนค่ะ แต่ก็มองว่า ที่ จ.น่าน สาขานี้ คงจะไกลตัว เลยสอบเข้าเป็นนักศึกษาในโครงการคุรุทายาท และเลือกเข้าเรียนด้านการศึกษาพิเศษ เพราะคิดว่าตรงกับสิ่งที่เราเป็นอยู่”… ชีวิตการเป็นครูของครูจิ๊บ เริ่มจากจุดนี้
“รับทุนของจังหวัดแพร่ พอจบก็ไปบรรจุที่ รร.บ้านวังเบอะ อ.วังชิ้น จ.แพร่ เป็นเรื่องของเด็กพิเศษจะเรียนร่วมกับเด็กปกติ หลังใช้ทุนเสร็จ ก็ย้ายมาอยู่กับคุณพ่อ โรงเรียนการศึกษาพิเศษลพบุรี ดูแลเด็กซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา เมื่อเกิดการจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษขึ้นมา เลยย้ายมาอยู่เขตการศึกษา 6 ลพบุรี ซึ่งดูแลเด็กพิการ ใน จ.ลพบุรี”
เด็ก ๆ ชอบเรียกคุณจิ๊บว่า ‘แม่จิ๊บ’ ชอบแย่งกันกอด… “เราเป็นคนอ่อนไหวอยู่แล้ว บางเรื่องที่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กของคนอื่น แต่เราก็รู้สึกในใจมาก อย่างบางครั้งเขาเขียนจดหมายถึงเรา รอที่จะมอบอะไรให้เรา หรือแม้กระทั่งจะร้องเพลงให้เราฟัง ซึ่งพ่อแม่ของเขาไม่อยู่กันแล้ว ส่วนใหญ่ครอบครัวจะไม่อบอุ่น พอเขาร้องเพลงแบบนี้ทีไร เราก็ร้องไห้ไปกับเขาทุกครั้ง บางครั้งเห็นเขาประสบความสำเร็จ เห็นเขายิ้ม ไม่ว่าตอนที่เขาทุกข์ หรือสุข เราก็มีน้ำตาไปด้วย เหมือนเรารอลุ้นไปกับเขาด้วยทุกครั้ง”
“ครูผู้หญิงมีเหากันแทบทุกคนค่ะ” แม่จิ๊บ เล่าพร้อมหัวเราะ “เกิดจากความผูกพันใกล้ชิดคลุกคลีกับเด็ก พอเด็กเขารัก ก็จะเชื่อในสิ่งที่เราบอก การเป็นครูนอกจากเรื่องความรู้ จิตอาสา ความอบอุ่น ที่จะมีให้เหมือนกับพ่อแม่คนที่สองแล้ว อีกสิ่งที่ครูของการศึกษาพิเศษ ควรจะต้องมีเพิ่มให้มากกว่านั้นก็คือ จะต้องเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ คิดบวก คอยเติมพลังตลอดเวลา เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ตลอดเวลาอย่างไร เพราะเราต้องอยู่กับเด็กตลอด 24 ชั่วโมง ความอดทน เสียสละ ต้องมากมายมหาศาล”
“เราไม่ได้ให้แค่การศึกษา แต่พวกเราต้องให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับเขา ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการ หรือเด็กปกติ ถ้าเขามีปัญหา จะต้องรู้ให้ลึกว่าเพราะอะไรเด็กถึงเป็นแบบนี้ แล้วจะแก้ไขยังไง ถ้าวันนึง เราบอกเด็กว่า ปิดเทอมแล้ว จะต้องกลับบ้าน พอเด็กกินข้าวมื้อสุดท้ายแล้วร้องไห้ ก็ต้องสังเกตแล้วว่า เขาไม่อยากกลับเพราะอะไร หรือบางคน พ่อแม่ไม่มารับ เราต้องไปส่ง แต่พอถึงบ้าน เขากอดครูไว้แน่น ไม่ยอมลง ก็สะท้อนให้เห็นว่า ที่นั่นมีปัญหาแล้วล่ะ แล้วเราจะทิ้งเขาไว้ ในสภาพที่เขาไม่อยากอยู่ได้หรือ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก”… ครูแม่จิ๊บ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผูกพันกับเหล่าเด็ก ๆ
จนเมื่อมีโอกาสก้าวหน้าในชีวิตการรับราชการ ครูจิ๊บ ได้ไปสอบเป็นผู้อำนวยการ… “เป็นคนคิดนอกกรอบ อยากจะเป็นผู้นำ ในเรื่องการจัดการการศึกษาพิเศษค่ะ” จนสอบได้เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ ไปทำงานที่ จ.ชัยนาท และได้มีโอกาสที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการสร้างโรงเรียนศึกษาพิเศษชัยนาท พัฒนาเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เคลื่อนไหวลำบาก ไม่มีมือ ไม่มีเท้า และทำงานอยู่เกือบสิบปี ก่อนจะได้รับโอกาสสำคัญอีกครั้งในชีวิต
“โชคดีที่มีโอกาสได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร เป็นผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งดูแลทั้งเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ทั้งประเทศของเรา ที่เราจะพัฒนาพวกเขา โดยใช้ทิศทางของสิ่งที่เราเรียนรู้ ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีฯ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เป็นศูนย์กลางคอยบูรณาการในการช่วยเหลือเด็กพิการ ร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ มีอยู่ครบทุกจังหวัด เป็นการศึกษา ที่จัดให้กับเด็กพิการ ซึ่งมีอยู่ 9 ประเภท อย่างที่เห็นชัด ๆ ก็เช่น พิการทางสติปัญญา ตาบอด หูหนวก ออทิสติก บกพร่องทางการเรียนรู้ รวมถึงพิการซ้ำซ้อน และเด็กด้อยโอกาส มีเป็นสิบประเภท เช่น ยากจน เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ปัญหายาเสพติด ได้รับความทุกข์ทรมาน จากการประสบภัยต่าง ๆ ภัยธรรมชาติ รบรา ฆ่าฟัน โรงเรียนที่ดูแล มีอยู่ 100 แห่ง, ศูนย์การศึกษาพิเศษ มีอยู่ 77 แห่ง มีนักเรียนรวมราว 76,000 คน”
ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา คุณจิ๊บ คิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้โรงเรียนปลอดภัยในทุก ๆ ด้าน ทำให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ทำอย่างไรให้เป็นแหล่งสร้างประสบการณ์สำหรับพวกเด็ก ๆ “เราเป็นโรงเรียนประจำกินนอน ทุก ๆ จุด เป็นแหล่งสร้างประสบการณ์ให้กับเด็ก โดยมีครูเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ต้องมีวิถีความเป็นไทย เพราะยังไงก็ไม่สามารถเลือนหายไปจากชีวิตเราได้ ปีนี้จึงจะเน้นในเรื่อง ความกตัญญู ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเป็นครูที่ดี และอยากจะปลูกฝังให้กับเด็กของเรา”
“เด็กไม่มีมือ ไม่มีเท้า แต่สติปัญญาปกติ เราจะทำอย่างไร ให้เด็กเหล่านี้ ก้าวข้ามความไม่มี แล้วเอาสิ่งที่มี มาเป็นจุดแข็ง นี่คือหน้าที่หลักของพวกเรา, ยอมรับว่า นอกจากจะพิการแล้ว เขายังมีปัญหาทางด้านฐานะความเป็นอยู่ บางคนมีบาดแผลที่อยู่ในใจ มีความน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร เป็นหน้าที่ของเราที่จะเยียวยา รักษาบาดแผลที่อยู่ในใจ และทำให้เกิดแรงผลักดัน มีความรู้สึกว่า เขาก็เป็นเหมือนคนทั่วไป ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ นับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเราทำให้เขาค้นพบตัวเองได้ บางคนเจอกับเขาวันแรกด้วยคราบน้ำตา จนวันนึงที่เขามาอยู่กับพวกเรา จนได้เห็นรอยยิ้ม เห็นความฝันของเขา แล้วรอเจอเรา เพื่อบอกว่า เขาอยากจะเป็นอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ การได้วางแผนร่วมกันว่า เด็กคนนี้อยากเป็นอะไร ครูคิดอย่างไร ความสามารถเขามีแค่ไหน เราจะทำอย่างไรให้เขาไปได้ถึงจุดนั้น เป็นภาพที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มันค่อย ๆ เกิด เป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน” แววตาของแม่จิ๊บเปล่งประกายอย่างเห็นได้ชัด
มาถึงจุดนี้ ณ ปัจจุบัน คุณจิ๊บ บอกว่า “ไกลเกินฝันจริง ๆ ค่ะ คงไม่มีใครตั้งเป้าว่าจะเติบโต แล้วมาถึงวันนี้ แต่เชื่อว่า ทุกก้าวที่เราเดิน มันไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจในแต่ละจุดให้มันดี”
“ไม่ได้มองว่าครูเป็นอาชีพที่ลำบาก วิถีที่เราอยู่รู้สึกว่า มีความสุขจังเลย การได้วิ่งเล่นกับเด็กชาวเขา ได้ทำขนมให้กับเขา การได้ตามคุณพ่อขึ้นไปบนดอย ดูเด็กนักเรียนที่จบไปแล้ว เห็นตั้งแต่เขาปลูกผักกินกันเอง ขายกันเอง จนถึงยุคที่ค้าขายออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้สนุก ตอนนั้นคิดว่าสักวันถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำงานที่มีความสุขแบบนั้นบ้าง”
“ตอนที่เป็นครูตำแหน่งเล็ก ๆ รู้ว่า เราต้องการอะไร เพราะเวลาโทรเข้ามาสำนักฯ รู้ว่าเป็นเรื่องยากลำบาก เวลาใครจะมาพบ ผอ.สำนักฯ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ การจะดูแลพวกเขา การเป็นมิตร รับฟังปัญหา จะช่วยให้ลดช่องว่างในการทำงาน ระหว่างภูมิภาคกับส่วนกลาง, ตอนที่เป็น ผอ. อยากให้มีอะไรที่เอื้อต่อการบริหารจัดการ, พอมาอยู่ตำแหน่งนี้ ทำให้รู้ถึงความต้องการของบุคลากรในพื้นที่ รู้ว่าควรจะเดินไปทางไหนถึงจะประสบความสำเร็จ สามารถกำหนดเส้นทาง แนวนโยบาย ที่ให้กับโรงเรียนไปทำ ภายใต้บริบทของพวกเขา เรามีโอกาสช่วยพัฒนาครู ให้นโยบายว่า คนในพื้นที่ทำงานลำบากมาก อะไรก็ตามที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ให้ครูมีวิทยฐานะ มีความเป็นอยู่ หรือทำให้ชีวิตดีขึ้น นั่นเป็นภารกิจหลักของเรา จะต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพวกเขา นับว่าโชคดีที่ได้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้โดยตรงมาตลอด”……
ถึงแม้ว่าบุคลิกภายนอกนั้น คุณจิ๊บ มีความอ่อนโอน เป็นผู้หญิงเรียบร้อยอ่อนหวาน แต่ภายในนั้นซ่อนความแกร่งไว้อย่างเต็มเปี่ยม… “มองว่า ‘ความอดทน’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ ในทุกช่วงของชีวิต ถ้าเราอดทนได้มากแค่ไหน เพราะจะทำให้เราก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน ก็จะผ่านไปได้” ทั้งนี้ ยังต้องรู้จักกับคำว่า “เร็ว ช้า หนัก เบา ใกล้ ไกล” ซึ่งเป็นหัวใจของการทำงาน โดยคุณจิ๊บ ได้อธิบายให้ฟังว่า… “บางอย่างต้องทำอย่างรวดเร็ว ไม่งั้นจะพลาดไป, บางอย่างต้องค่อย ๆ ใช้เวลา รอบคอบในการตัดสินใจ, บางอย่างก็ต้องทำงานให้หนัก เพื่อให้ประสบความสำเร็จ, ในขณะที่บางเรื่องไม่จำเป็นมาก ก็ต้องรู้จักเบา ๆ บ้างจะได้ไม่เครียด, ส่วนบางคนอยู่ใกล้แล้วทำให้เราคิดบวก มีความสุข ก็ต้องใกล้ชิด แต่บางอย่างที่ทำให้เกิดพลังทางด้านลบก็ต้องถอยให้ไกล ทุกวันนี้ รู้สึกว่าตัวเองมีไฟมากกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ กำลังอยู่ในช่วงที่อยากลุยงานให้เต็มที่ ทำงานแล้วยิ่งมีความสุข เห็นงานอะไรก็อยากทำไปหมด ก็อยากให้คนอื่นมีความสุขไปกับเราด้วย”
เมื่อถามถึงความชอบส่วนตัวของคุณจิ๊บ เธอบอกว่า ถึงแม้จะยุ่งอยู่กับเด็ก ๆ อยู่เกือบตลอด แต่ก็ไม่ละเลยเรื่องความรักสวยรักงาม โดยเฉพาะกับ ผ้าไทย… “ตอนอยู่ชัยนาท เห็นชาวบ้านนำผ้าทอมาขาย เราชอบใส่ผ้าถุงอยู่แล้ว ก็ซื้อสะสมไว้ จนมาช่วงหลังมีสื่อโซเชียล ได้ถ่ายรูปแล้วส่งไว้ในเฟสบุ้ค พอคนเริ่มเห็น สนใจ อยากจะได้ผ้าแบบที่เราใส่บ้าง ทำให้เริ่มมีการซื้อมาขายไป จนได้เปิดร้านชื่อ แพรพรรณราย กระทั่งย้ายเข้ามาที่กรุงเทพฯ ไม่มีเวลาไปดู ร้านก็ปิดไป ก็ยังรู้สึกภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่ผ้าไทย โดยเฉพาะของชัยนาท, ผู้บริหารหญิงหลายท่าน นิยมใส่ผ้าไทยกันอยู่แล้ว ก็อยากส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ได้ใส่เสื้อผ้าของไทยกันบ้าง รู้สึกดีใจ ที่เห็นเด็กสาว ๆ สมัยนี้ นำผ้าไทยมาสวมใส่กัน ราคาก็มีให้เลือกตามกำลัง ตามความเหมาะสม”
ในเรื่องการดูแลตัวเองนั้น… “พยายามนอนไม่ดึกค่ะ, สี่ทุ่ม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะพยายามนอน แล้วตื่นแต่เช้า ลุกขึ้นมาสะสางปัญหาที่อาจจะค้างคาไว้ เพราะบางครั้งต้องอ่านวาระการประชุม ถ้าทำงานมาแล้วทั้งวันจนเหนื่อย ให้มาอ่านเลยก็ไม่ไหว แต่พอได้พักแล้ว ทุกอย่างมันก็ดูเหมือนจะง่ายขึ้น ถึงจะทำงานมาหลากหลาย แต่สิ่งที่ยังรู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นไปอีก คือในเรื่อง กฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย ต้องใช้เวลาในการอ่าน ศึกษา ทำความเข้าใจ ส่วนการพักผ่อน เรามีความสุขเวลาลงพื้นที่ แต่ละที่ที่ไปเหมือนเป็นช่วงเวลาพักผ่อน ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียน ได้พบเด็กนักเรียน เราเป็นคนชอบทำอาหาร ก็จะถามเด็กไว้ก่อนว่าอยากทานอะไร ครั้งหน้าจะมาทำให้ พอเด็กบอกเมนูมา เมื่อได้ไปอีกก็จะจัดเตรียม ไปทำให้เด็กได้ทาน ให้สูตรกับทางโรงเรียนไว้ เพราะยังไงก็ต้องจ่ายค่าอาหารอยู่แล้ว แต่ถ้าทำให้ดีมีคุณภาพ อร่อยถูกปาก ก็จะยิ่งทำให้ทุกคนชอบ”
ก่อนจบบทสนทนา คุณจิ๊บ ได้เสริมอีกว่า… “เข้ามาทำหน้าที่นี้ การทำงาน ก็เหมือนกับได้พักผ่อน เพราะได้อยู่กับเด็ก ๆ ก็เป็นความสุข เหมือนกับได้ทำบุญอยู่เสมอค่ะ”