Special Report

รับลมหนาว สามเหลี่ยมทองคำ

รับลมหนาว สามเหลี่ยมทองคำ

ช่วงปีใหม่ เป็นที่รู้กันว่า ถ้ามีโอกาสเดินทางท่องเที่ยว ต้องรีบกอบโกยเก็บเกี่ยวบรรยากาศ โดยเฉพาะความหนาวเย็นที่ในรอบปี จะมีโชยมาเพียงแค่ไม่กี่วัน ทำให้ในระหว่างเปลี่ยนข้ามปี หนึ่งในหมุดจุดหมายสำคัญ คือ เหนือสุดสยาม จังหวัดเชียงราย

เราได้วางแผนการเดินทางแบบวิ่งวนเป็นวงกลม โดยเริ่มต้นจากตัวจังหวัดเชียงราย ขึ้นเหนือไปทางขวา ตามถนนสาย 1603 สภาพเนียนกริบ ขับสบายไร้กังวล นัยว่าเพื่ออำนวยความสะดวก เชื่อมต่อท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ระหว่างทางมีจุดแวะให้พักชมวิวหรือจิบกาแฟสวย ๆ เรียงรายตลอด ก่อนหน้าโควิดจะเข้า พื้นที่แถบนี้กำลังเริ่มมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เริ่มหลั่งไหลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ แต่ขณะนี้ ทุกอย่างหยุดชะงัก รอวันให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างมีความหวัง

ขับเพลินมาอีกไม่นานนัก เมื่อถึงสามแยกสุดท้าย หากสภาวะปกติ คงต้องเลี้ยวขวาไปเพื่อเยี่ยมชมท่าเรือขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำกก ก่อนจะบรรจบกับแม่น้ำโขง และเมื่อเราเลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ตัวเมืองเชียงแสน จะเห็นป้ายทางเข้าวัดพระธาตุวังซาง ซึ่งกำลังพัฒนาเพื่อจะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคต หลังจากวนโฉบเข้าไปชั่วครู่ ก็กลับเข้าสู่เส้นทางหลัก วิ่งข้ามสะพานแม่น้ำกกอีกครั้ง อีกเพียงอึดใจ ก็ถึงวัดพระธาตุผาเงา โบราณสถานสำคัญ ที่หากมาเชียงแสนแล้วไม่ได้มากราบสักการะ ก็เหมือนมาไม่ถึงเชียงแสน เนื่องจากที่นี่ เป็นที่ตั้งของ พระธาตุผาเงา ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง สามารถชมทัศนียภาพได้โดยรอบ โดยเฉพาะสองฝั่งโขง สามารถทอดสายตาลึกเข้าไปในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างชัดเจน

วัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับประเทศลาว อยู่ในหมู่บ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ทั้งหมด 743 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาเล็ก ๆ ทอดยาวลงมาตั้งแต่บ้านจำปี ผ่านบ้านดอยจัน และมาสิ้นสุดที่บ้านสบคำ แต่ก่อนชาวบ้านเรียกดอยลูกนี้ว่า “ดอยคำ” แต่ต่อมาช่วงหลังๆ ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยจัน” จากพงศาวดารโยนกบอกว่า ขุนผาพิงหรือขุนพิง (พระองค์พิง) ผู้ครองนครโยนก องค์ที่ 23 ช่วงปี พ.ศ. 494 – 512 เป็นผู้สร้างเจดีย์ไว้บนหินก้อนใหญ่ที่เชิงเขาดอยจันทร์ ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงพระธาตุผาเงาในวัดนี้ พระธาตุผาเงาได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก คาดว่าน่าจะมีการบูรณะมาบ้าง เพราะพระธาตุองค์นี้ตั้งอยู่ที่ลาดต่ำสุดของภูเขา ซึ่งง่ายต่อการดูแลซ่อมแซม ส่วนผู้สร้างพระธาตุจอมจันและพระธาตุเจ็ดยอด อยู่บน “ดอยคำ” และ “ดอยจัน” ตามลำดับ เมื่อขุนลังได้ขึ้นครองเมือง “เวียงเปิกสา” (เมืองเชียงแสนปัจจุบันนี้) ช่วงปี พ.ศ. 996-1007 พระองค์ได้ชักชวนไพร่บ้านชาวเมืองทั้งหลายให้ช่วยกันสร้างเจดีย์ไว้บนยอดดอยคำ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “ตอดจันทร์” เจดีย์ที่ว่านี้หมายถึงพระธาตุจอมจันและพระธาตุเจ็ดยอด เจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้ถูกภัยธรรมชาติทำลาย เช่น ถูกแดด – ฝน และลมพัดทำลายมานับพันปีจนเหลือแต่ซากฐานไว้ประมาณ 5 เมตร ประกอบกับช่วยนั้นภาวะเศรษฐกิจอาจจะฝืดเคืองจนทำให้ชาวบ้านทอดทิ้งศาสนาขาดการดูแลเอาใจใส่และที่ฐานองค์พระเจดีย์ทั้งสองก็มีรอยขุดเจาะ อาจจะเป็นฝีมือของพวกนักสะสมของเก่าเสาะแสวงหาโบราณวัตถุก็เป็นได้ และยังได้มีการค้นพบหลวงพ่อผาเงา ในวันที่ 17 มีนาคม 2519 เวลา 14.00 น. เมื่อคณะศรัทธาได้ปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกคนต่างตื่นเต้นและปิติยินดี เมื่อได้พบพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงามมาก ผู้เชี่ยวชาญโบราณวัตถุ วิเคราะห์ว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุระหว่าง 700 – 1,300 ปี คณะทั้งหมดจึงได้พร้อมกันตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อผาเงา” และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดพระธาตุผาเงา” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา *

เราขับรถเข้าตัวเมืองเชียงแสน มุ่งหน้า วัดเจดีย์หลวง หรือ วัดพระธาตุเจดีย์หลวง, วัดพระเจ้าตนหลวง เป็นวัดโบราณในอำเภอเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภู เป็นวัดที่สำคัญของหิรัญนครเงินยาง อาณาจักรล้านนา เจดีย์หลวงในชื่อของวัดนั้นเชื่อว่าได้ชื่อมาจาก “พระธาตุเจดีย์หลวง” พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สูง 88 เมตร มีฐานกว้าง 24 เมตร เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน ภายในวัดนอกจากพระเจดีย์หลวงแล้วยังมีพระวิหารและองค์เจดีย์ อีก 4 องค์ ซึ่งล้วนปรักหักพังอย่างมาก กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2478 * และหากมีเวลาเพิ่มอีกสักหน่อย ขอแนะนำให้ไปเดินเล่นต่อในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน รับรองว่าท่านจะได้ความรู้และทราบถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นไปของที่นี่ได้อีกอย่างไม่รู้เบื่อ

บ่ายคล้อยมากแล้ว ก่อนตะวันจะลับขอบฟ้า จุดหมายปลายทางสำคัญ มีชื่อเสียงไปทั่วโลกรอเราอยู่ “สามเหลี่ยมทองคำ” ถึงแม้ผู้คนจะไม่ขวักไขว่จนแน่น แต่ก็ไม่ถึงกับเหงาบางตา เป็นจุดบรรจบระหว่าง แม่น้ำรวก กับ แม่น้ำโขง กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และ เมียนมาร์ ว่ากันว่า ซีไอเอ เป็นผู้ตั้งชื่อนี้ เนื่องจากในอดีต เคยเป็นแหล่งยาเสพติด ผิ่น เฮโรอีน ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีการลงทุนสร้างสถานที่ท่องเที่ยว คาสิโนขนาดใหญ่ ในฝั่ง สปป.ลาว ก่อนหน้านี้ การข้ามฝั่งไปเสี่ยงโชค หรือนั่งเรือเลาะเลียบชมทิวทัศน์ตามลำฝั่งโขง ก็เป็นหนึ่งในโปรแกรมทัวร์ยอดนิยม

ปิดท้ายเมืองเชียงแสน ด้วยการ เข้าชม “หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ” เป็นศูนย์นิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของฝิ่นเมื่อสมัยที่มีการใช้กันอย่างถูกกฎหมายและทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย การศึกษาต่อเนื่องในหัวข้อฝิ่น สารสกัดจากฝิ่นในรูปแบบต่าง ๆ และยาเสพติดประเภทอื่น ๆ เกิดขึ้นจากพระราชปรารภของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อันประกอบด้วย ดินแดนประเทศลาว พม่า และไทย จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่สามารถลดการผลิตและค้าฝิ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างดี และทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องมหันตภัยอันเกิดจากฝิ่นและสารเสพติด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้ดำเนินการจัดสร้าง หอฝิ่น ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 **

เรายังต้องไปต่อกันอีกหลายแห่ง รอพบกันในโอกาสต่อไปครับ.

(ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี), ** มิวเซียมไทยแลนด์