จิตวิทยาการกีฬา

ดำเนินชีวิตใหม่ในการเล่นกอล์ฟ

สวัสดีปีใหม่ : ดำเนินชีวิตใหม่ในการเล่นกอล์ฟ

Time flies จริงๆครับ เดี๋ยวเดือน เดี๋ยวปี แต่ในรอบปีที่ผ่านมา (2564) นับว่าเป็นปีที่มีความหลากหลาย บทเรียน ตื่นเต้น ท้าทายและต้องปรับตัวในการดำรงชีวิตอย่างมากมาย

ใจของเรา ในฐานะคนรักกีฬากอล์ฟ คิดถึงและเครียดกันแค่ไหนที่ไม่ได้เล่นกอล์ฟเหมือนปกติ และจัดการตัวเองอย่างไรในสถานการณ์นี้ นักกีฬาเพื่อสุขภาพ นักกีฬาสูงวัยคงจะรู้สึกแบบหนึ่ง ขณะที่นักกีฬาเยาวชนและนักกีฬาเพื่อแข่งขันก็น่าจะมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

เราจะปรับเปลี่ยนวิกฤตินี้ เป็นโอกาสอะไรได้บ้าง เราจะทำให้มีลักษณะเดียวกับการเปลี่ยนข้อจำกัดในมาตรการของภาครัฐในการท่องเที่ยว และพักผ่อนในช่วงปีใหม่เป็นโอกาสได้ไหม

 หากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ และอาจจะต้องเผชิญกับเชื้อตัวใหม่อีก เราคงต้องเปลี่ยนการทำตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่นี้ (New Normal) เป็นวิถีชีวิตปกติ (Normal) เลยดีไหม การดูแลสุขภาพ การดูแลรักษาความสะอาด จะขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่งหรือเปล่า และยิ่งถ้าวิวัฒนาการของวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อไปฉีดปีละครั้งก็อาจเพียงพอ ก็ยิ่งจะทำให้สิ่งที่เคยเป็น New Normal เป็น Normal ได้ในไม่ช้า ถ้าเป็นแบบนี้ชีวิตก็น่าจะกลับมาปกติหรือเราปรับตัวให้อยู่ด้วยกับเชื้อนี้ได้

ถ้าเราสามารถปรับตัวได้แบบนี้แล้ว ในการเล่นกอล์ฟที่ผมมองว่าเป็นกีฬาที่มีปัญหาเรื่องการเว้นระยะห่างน้อยมาก เพราะในการเล่นปกตินักกีฬาก็จะเดินกระจายไปทั่วๆอยู่แล้ว เพราะการตีที่ไปตกคนละตำแหน่ง คนละที่ อย่างไรก็ตามจากมาตรการความปลอดภัยต่างๆที่เกิดขึ้น ก็มีนักกีฬาไม่น้อยที่ต้องฝึกซ้อมและรักษาสมรรถภาพทางกายและทักษะด้วยการซื้ออุปกรณ์ฝึกซ้อมมาซ้อมที่บ้าน แม้จะไม่ได้เคลื่อนที่เหมือนปกติ แต่การได้ฝึกทักษะกอล์ฟก็ยังสามารถทำได้ ส่วนร่างกายของนักกีฬาก็ยังสามารถดำเนินการได้ เพราะนักกีฬาสามารถฝึกซ้อมตัวเองได้ ออกวิ่งในหมู่บ้านได้ ในสวนสาธารณะได้ และการฝึกทางด้านจิตใจก็สามารถทำได้ และอาจใช้โอกาสนี้กับการตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจได้เลย อย่างไรก็ตามนักกีฬาเพื่อการแข่งขันอาจจะลำบากมากกว่าเมื่อการแข่งขันไม่มี มีน้อยลง ที่ส่งผลต่อการเล่น รายได้ที่ลดลง

แม้ว่าการแข่งขันจะลดน้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพการเล่นจะลดลงตามไปด้วย แต่นักกีฬาก็ยังสามารถรักษาสมรรถนะของกาย ทักษะและจิตใจไว้ได้ระดับหนึ่ง เมื่อการแข่งขันมีน้อยลง การฝึกซ้อมส่วนตัวก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะเป็นโอกาสที่ดีที่การเตรียมการด้านจิตใจในการเล่นกอล์ฟจึงเป็นเรื่องที่ทำได้มากขึ้น การให้คำปรึกษาผ่านการสื่อสารทางไกล การใช้โปรแกรมการสื่อสาร อย่าง Zoom หรือ Google Meet ก็ยิ่งจะทำได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและการเดินทาง สามารถเพิ่มความถี่ในการฝึกซ้อมได้อีกด้วย

ในอีกมุมมองหนึ่งของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 คือการที่นักกีฬาสามารถทำให้องค์ประกอบของความเป็นเลิศมีความสมดุลย์มากขึ้น ไม่ใช่เราจะหนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เช่นการเตรียมการทางจิตใจน้อยกว่าด้านอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหานี้ในสถานการณ์แข่งขัน ที่หลายๆครั้งเรามักพูดว่าการเล่นที่ไม่ดี ทำไม่ได้ตามที่ต้องการ เกิดจากสมรรถนะทางด้านจิตใจของนักกีฬาเอง

เรามาเปลี่ยนวิกฤตินี้เป็นโอกาสกันครับ เป็นโอกาสของการได้ทบทวน ฝึกซ้อมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกับการใช้ข้อจำกัดนี้ในช่วงของเทศกาลแห่งความสุข เช่น การฉลองช่วงปีใหม่ ให้มีการเคลื่อนไหวน้อยลง รวมตัวกับคนอื่นๆให้น้อยลง อยู่กันเฉพาะในหมู่เครือญาติ เพื่อโอกาสของการสัมผัสจากการเดินทางไปเที่ยวในที่ต่างๆน้อยลง ใช้เวลากับครอบครัว ทำความสะอาด ปรับแต่งบ้าน สวน ต้นไม้ สนามหญ้าให้มีความสะอาด เรียบร้อย สวยงาม

ผมหวังว่าท่ามกลางวิกฤตการณ์นี้ เราจะสามารถอยู่ได้ เพียงเราปรับแนวคิดของข้อจำกัดและการต้องเฝ้าระมัดระวัง เป็นโอกาสของการฝึกซ้อม สร้างสมดุลย์ในส่วนขององค์ประกอบของความเป็นเลิศ ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีโอกาสของการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่บ้านอย่างมีความสุขและปลอดภัย

สุขสันต์วันปีใหม่ 2565 ครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา