คอลัมน์ในอดีต

แก้วใจจุลจอม : พระเมรุมาศ (3)

พระเมรุมาศ (3)

พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ได้รับพระราชเพลิงแล้ว ในวันถัดมา ก็ทรงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับพระอัฐิตามพระราชประเพณีซึ่งรายละเอียดในวันนี้ ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๔๕๐๔ วันพฤหัสบดีแรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ ดังต่อไปนี้

“…เวลาย่ำรุ่ง เสด็จพระราชดำเนินออกพระเมรุ เสด็จประทับบนฐานปัทม์ ทอดพระเนตรเจ้าพนักงานภูษามาลาแปรพระรูป  แล้วมีสามหาบของหวง ๖ สำรับ ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ๖ สำรับ ครั้นแปรพระรูปแล้วเวียนสามหาบรอบพระเมรุสามรอบ ผู้หาบนั้นคือ พระยาราชประสิทธิ พระยาประสิทธิ์ศุภการ พระยาพิพิธโภไคศวรรย์ พระยาพิพิธไอศูรย์ เจ้าหมื่นไวย เจ้าหมื่นเสมอใจ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เจ้าหมื่นสรรเพ็ชร นายกวดหุ้มแพร นายพิจารณ์ นายบำรุง หม่อมไกล หม่อมกลม หม่อมปี หม่อมโนรถ นายสงบ หลวงอังคนิศร์ หลวงบรมนารินทร ขุนเทวีภัติการด้วยที่ถือไตรบ้าง หาบสำรับคาวหวานบ้าง ครั้นเวียนครบสามรอบแล้วจึงทรงทอดไตรสามหาบ สดับปกรณ์พระรูปทั้งสอง พระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ มีกรมพระปวเรศเป็นประธาน พระองค์เจ้ามนุษย์ (นาคมานพ) และราชาคณะผู้ใหญ่รวม ๑๒ รูป สดับปกรณ์แล้วลงมารับพระราชทานฉัน แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ทรงเก็บพระอัฏฐิทั้งสอง เจ้าพนักงานเชิญพระอัฏฐิลงพระลองโมรา แล้วลงพระโกศมณฑปทองคำลงยาประดับเนาวรัตน์อันวิจิตร เชิญพระโกศมณฑปพระอัฐิตั้งบนพานทองคำ ๒ ชั้น ตั้งในบุษบกทองคำ เชิญขึ้นตั้งบนพระเบ็ญจา ๓ ชั้น ตามเดิมเสร็จแล้ว

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระที่นั่งทรงธรรม พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเพล แล้วพระราชทานเครื่องศิลามีขันน้ำพานรองกระโถนและโต๊ะเป็นต้น แก่พระสงฆ์ ซึ่งถวายของช่วยในการพระเมรุ มีกรมพระปวเรศ พระองค์เจ้ามนุษย์ และหม่อมเจ้าพระเป็นต้น

“เจ้าพนักงานเชิญพระอังคารขึ้นยานุมาศมีกระบวนแห่เทวดาเครื่องสูงกลองชะนะไปลงท่าพระ เชิญพระอังคารลงเรือชัย ๒ ลำมีเรือแห่ไปลอยที่หน้าวัดปทุมคงคาตามอย่างโบราณประเพณี แล้วกระบวนแห่ซึ่งเชิญพระอังคารไปส่งลงเรือ แล้วกลับเข้ามารับพระบรมอัฏฐิจากพระบรมมหาราชวัง เชิญออกพระที่นั่งทรงธรรมสดับปกรณ์ดังเช่นแต่ก่อน พระบรมอัฏฐิที่เชิญออกมาวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ๑ เชิญสถิตย์บนบุษบกทองคำเปลวกลางพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร พระองค์เจ้านภางค์พิพัทธพงศ์ เชิญสถิตย์ในบุษบกห้ายอดแล้วพระราชทานรางวัลเจ้านายข้าราชการที่ถวายของในการพระเมรุ แล้วเสด็จขึ้นข้างใน…”
วันที่ ๔๕๐๗ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒

“วันนี้เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินออกพระเมรุเสด็จประทับพระที่นั่งทรงธรรม สดับปกรณ์พระบรมอัฏฐิ แล้วเลี้ยงพระแล้วเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ขึ้นพระราเชนทรยานและเสลี่ยง มีเครื่องสูงกลองชะนะคู่แห่กลับพระบรมมหาราชวัง เสด็จไปประทับพระเมรุสดับปกรณ์พระอัฐิ โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะถานาเปรียญที่ได้พระราชทานสังเค็ต เอก โทของหลวง ของเจ้าภาพทั้งสิ้นให้ถือพัดสังเค็ตรวมพระสงฆ์ ๔๐๐ รูปเศษ สดับปกรณ์ผ้าสลากแล้วเสด็จแจกของพระที่นั่งทรงธรรม

“บ่าย ๒ โมงเศษ เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระนางเจ้าและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เชิญขึ้นบุษบกเชิญตั้งบนราชยานุมาศสามคานเหมือนแห่พระธาตุ มีเครื่องสูงกลองชะนะคู่แห่ไม่ผิดอะไรเลย แห่จากพระเมรุมาเข้าประตูวิเศษไชยศรี อ้อมกำแพงพระมหาปราสาทเข้าประตูพรหมซ้าย แห่ผ่านพระที่นั่งไปเลี้ยวหัวถนนถึงพระตำหนัก เชิญขึ้นสถิตย์บนเรือนแก้วบนพระตำหนักแล้วพระสงฆ์เข้าไปสดับปกรณ์ด้วย…”

หลังจากอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิมาประดิษฐานบนเรือนแก้วบนพระตำหนักดังกล่าวแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวด้วยพระอัฐิตามพระราชประเพณีต่อไป จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ซึ่งรายละเอียดต่างๆของเหตุการณ์ในวันนั้นๆมีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันประจำวันนั้นๆ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันเกี่ยวกับการบำเพ็ญพระราชกุศล และงานพระราชทานเพลิงศพพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ในครั้งนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นงานที่ทรงจัดยิ่งใหญ่มาก อันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและความเสน่หาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อทั้งสองพระองค์

อนึ่ง เนื่องแต่การพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดประเพณีสำคัญๆ ขึ้นหลายอย่างด้วยกัน เป็นต้นว่าประเพณีแจกหนังสือในงานศพ ทั้งนี้ก็เนื่องแต่การพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในครั้งนี้ ได้ทรงรับสั่งให้พิมพ์หนังสือสวดมนต์ ซึ่งเป็นการรวมพระสูตรและพระปริตรต่างๆ ไว้ด้วยกัน เพื่อทรงแจกไปยังอารามต่างๆซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือครั้งนี้มีแจ้งอยู่ในคำนำของหนังสือดังกล่าวซึ่งจะขอยกมาประมวลไว้เพียงส่วนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๒๓ พรรษา ปัตยุบันกาล มังกรสังวัจฉระ อุตราสาธมาศชุษณปักษเตรสีดิถีศศิวาร ปริจเฉทกาลกำหนดพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพยมหามกุฏจาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ หอธรรมสังเวช ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางค์ทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี ได้ทรงสดับพระสงฆ์สวดถวายมหาสติปัฎฐานสูตร พรักพร้อมเรียบร้อยดี ทรงกำหนดความตามไปเป็นที่เฉลิมพระบรมราชศรัทธา ทรงพระราชดำริห์จะทรงสร้างหนังสือสวดมนต์รวมพระสูตรและพระปริตรต่างๆ ลงพิมพ์ผูกเป็นเล่มพระราชทานแก่พระสงฆ์ทั่วไปทุกพระอาราม เพื่อเป็นการพระราชกุศลในการพระเมรุการพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางค์ทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารีจึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเผดียงอาราธนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลยสุนทรนายก ตรีปิฏกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศรบวรสังฆาราม คามวาสีอรัญญวาสีสถิตย์วัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวงให้จัดรวบรวมพระสูตรและพระปริตรต่างๆที่ได้ตีพิมพ์ไว้แล้วบ้างและจัดเพิ่มเติมขึ้นใหม่บ้างให้พอเพียงสำเร็จประโยชน์ในการที่พระสงฆ์สามเณรจะเล่าบ่นสาธยาย ทั้งคณะธรรมยุตติกนิกายแลมหานิกายทั่วไปทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ เป็นแม่กองลงพิมพ์อักษรไทยแทนขอมใช้ตามมคธภาษาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติเป็นผู้สอบทานตรวจตราให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ ได้ตีพิมพ์ ณ โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง ๑๐,๐๐๐ ฉบับ เสร็จ ณ วัน ๕ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ ซึ่งเป็นธรรมเนียมแจกในงานศพสืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนพระอัฐิของของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระราชธิดา พระราชโอรสในพระครรภ์ ได้นำไปบรรจุในพระเจดีย์ทองที่วัดราชบพิธ ซึ่งเป็นพระเจดีย์ ที่มีความงดงามวิจิตรนัก

กาลเวลาล่วงมานานสักเพียงใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิเคยลืมเลือน องค์อัครมหาเทวีที่พระองค์มีรักนิรันดร์ ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ที่บันทึกไว้อย่างละเอียด แม้กระทั่งในพระราชหัตถเลขา พระองค์ทรงเป็นพระธุระในทุกๆเรื่องตั้งแต่พระนางเธอ ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ กระทั่งทรงพระครรภ์ และเมื่อพระนางจากไป พระองค์ก็ยังมิได้ทอดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นงานพระศพ งานพระเมรุมาศ ก็ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ สมดังเป็นอัครมเหสีเทวีที่อยู่ในดวงพระหฤทัยเสมอมา

และเมื่อปี 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรองมาลัยดอกกุหลาบขาวที่พระนางทรงโปรดปรานด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เพื่อไปถวายที่พระเจดีย์ทอง วัดราชบพิธ  ซึ่งในเวลานั้นองค์อัครมเหสีเทวีจากไปแล้วถึง 5 ปี  หากดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงทราบด้วยพระญาณวิถีใดก็ตาม พระองค์ก็คงพระโสมนัส ด้วยทรงรักและภักดีต่อพระราชสวามีเหลือล้นรำพัน

มณีจันทร์ฉาย