เป้าหมาย
เป้าหมาย
ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2554 ปีนั้นประเทศไทยประสบกับวิกฤติน้ำท่วมพี่ชายของทิพย์ได้มีโอกาสไปช่วยห่อถุงยังชีพกับทางบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จากวิกฤตน้ำท่วมที่ทิพย์ได้สัมผัสทำให้ทิพย์ได้ฉุกคิดและหลุดออกมาจากโลกของกอล์ฟได้ชั่วขณะ ทำให้ทิพย์คิดว่า เป้าหมายของชีวิต คืออะไร อะไรที่ทำให้เรามีความสุข ความสำเร็จในการทำงานหรือ การมีครอบครัวที่สงบสุขหรือ ทิพย์เริ่มไม่มั่นใจ จากการที่ทิพย์ได้เห็นผู้ประสบภัยอพยพมาพักที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ทิพย์ได้เห็นถึงความลำบากของพวกเขาทั้งหมด เห็นถุงยังชีพ เห็นการนอน นอนอย่างไร พวกเขารับประทานอาหารกันอย่างไร พอตกเย็นจะมีพระสงฆ์มาสวดให้ขวัญกำลังใจกับผู้อพยพ เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ซึมซับเข้ามาในตัวทิพย์ แล้วทำให้ทิพย์หายเครียดจากการทำงานลงไปเอง เพราะทิพย์เริ่มเข้าถึงความจริงมากขึ้นในตอนนี้ คนเราโดยเฉพาะคนในสังคมกอล์ฟ เราอยู่กันแบบสุขสบายเกินไป สบายมาก สบายจนหาเรื่องที่ไม่เป็นทุกข์มาทับถมตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานโปรเจ็คหนึ่ง หรือการตัดสินใจในการลงทุน หรือสถานการณ์บางอย่างที่บีบคั้นในบริษัท ถ้าสำหรับทิพย์คงเป็นเรื่องกอล์ฟ วันที่ฝึกซ้อมกอล์ฟไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทิพย์จะเครียด การที่คนเราทุกคนจริงจังและจดจ่อกับการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่มันใช้ไม่ได้เลยกับชีวิต คนเราทุกคนย่อมมีความฝันและเป้าหมายของชีวิตที่พยายามเดินไปให้ถึง เปรียบเหมือนกับการปาเป้า ถ้าเรามองแต่จุดแดงจุดเดียวที่อยู่บนจานปาเป้า มองจนกระทั่ง เรามองเห็นแต่สีแดงของเป้าหมายโดยที่ไม่เห็นสีขาวรอบๆ จุดแดงเลย ลักษณะนิสัยที่เราตั้งใจ มุ่งมั่นกับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวแบบนี้พอมาตีกอล์ฟ เมื่อเราตีช็อตไม่ดี 1 ลูก เช่น ทีออฟตกน้ำ เรารู้สึก ตกใจ หงุดหงิด กลัวเสียแต้ม เสียดาย พอเดินไปถึงลูก ก็ตีด้วยอารมณ์ที่หงุดหงิด และไร้สติ จนเราลืมไปว่า นี่เราตีเสียแค่ 1 ช็อต ถ้าเป็นพาร์ 4 ก็เสีย 1 ใน 4 ช็อต พาร์ 5 ก็เสียไป 1 ใน 5 ช็อต ยิ่งเราตีเสียในหลุมพาร์5 เราลืมไปว่า ยังมีอีก 4 ช็อตให้เราเล่นแก้ไขได้อีก ที่สำคัญเกมส์กอล์ฟมีตั้ง 18 หลุม 72 ช็อต โอ้ถ้าสำหรับนักกอล์ฟแฮนดิแคป 18 ก็ 1 ใน 90 ช็อต
ในเกมชีวิตไม่ต่างอะไรกับเกมกอล์ฟเช่นกัน เวลาที่เราทำงานได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย ถามว่า มันพลาดจากเป้าหมายไปสักกี่เปอร์เซ็นต์แล้วเมื่อเทียบกับปริมาณความเครียดที่เกิดขึ้น คิดเป็นสัดส่วนแล้วเหมาะสมกันหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเป็น ทำพลาดไป 20 % เครียดไปแล้ว 80% แล้วความเครียดที่เกินมามันจะค่อยๆ ซึมและกระจายไปถึงคนใกล้ชิดเราเอง ทั้งเพื่อนที่ทำงาน คนขับรถ และครอบครัว แล้วคำถามต่อไป ก็คือ ระหว่างงาน กับ ชีวิตครอบครัว อะไรสำคัญกว่า… ทิพย์เดาว่า หลายๆ ท่านอาจจะเลือกครอบครัวเหมือนกับทิพย์ เพราะฉะนั้นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันก็น่าจะให้น้ำหนักกับเรื่องครอบครัวหรือชีวิตของตัวเองมากกว่างานใช่มั้ยคะ ทิพย์ยังจำคำแนะนำของรศ. ดร. พสุ เดชะรินทร์ อาจารย์ของทิพย์เอง ทิพย์ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ 2 วิชา ซึ่ง 1 ในนั้น ก็คือ Business Strategy และอาจารย์พสุเป็นคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวัยเพียง 43 ปี นับว่าเป็นคณบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของคณะทิพย์ค่ะ ช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัยของทิพย์เป็นช่วงที่ทิพย์รู้สึกว่า ทั้งหนักและเหนื่อยที่สุดเพราะเนื่องจากตัวเองโลภ อยากทำหลายอย่าง ทั้งอยากเล่นกอล์ฟให้ดี อยากเรียนให้ดี แถมยังทำกิจกรรมด้วยการตั้งชมรมกอล์ฟของนิสิตจุฬาฯ ให้ได้แล้วสุดท้ายทิพย์ก็ตั้งชมรมกอล์ฟ จุฬาฯได้จริงๆ จากการล่ารายชื่อนิสิตทั้งหมด 200 คน จาก 7 คณะ เพราะอยากให้หลายๆ คนหันมาเล่นกอล์ฟกันมากขึ้นและให้มีการดูแลนักกีฬากอล์ฟของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบมากกว่าในขณะนั้น นิสัยของทิพย์เป็นพวกถ้าคิดจะทำอะไรแล้วจะต้องทำให้ได้ เป็นพวกกัดไม่ปล่อย ซึ่งถามว่าดีมั้ย ก็น่าจะดีที่ทำให้งานทุกอย่างบรรลุล่วงตามเป้าหมาย แต่ความจริงของโลกมันมีเรื่องของความไม่แน่นอนของผลเกิดขึ้น เราไม่สามารถควบคุมผลของงานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าผิดพลาดขึ้นล่ะ ทิพย์ไม่เสียใจมากเลยหรือ กลับมาที่อาจารย์พสุกันดีกว่าว่า อาจารย์ให้คำแนะนำอะไรกับทิพย์ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานหลายๆ อย่าง อาจารย์สอนมาถึงเรื่อง Strategy map คือ การวางแผนว่าถ้าจะพัฒนาองค์กรให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องอาศัยองค์ประกอบซึ่งเป็นเป้าหมายย่อยๆ อะไรบ้าง แล้วแต่ละองค์ประกอบจะต้องมีวิธีการทำงานอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเล็กๆ แต่ละอย่าง อาจารย์ก็แนะนำให้ทิพย์ลองเขียน Strategy map ของตัวทิพย์เอง โดยให้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เรื่องการเรียน กอล์ฟ และชีวิตส่วนตัว แล้วก็แยกย่อยลงมาว่า 1. ถ้าจะเรียนให้ได้เกียรตินิยม ต้องทำอะไรบ้าง 2. การจะเล่นกอล์ฟให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และคุณสมบัติของแต่ละองค์ประกอบต้องได้ระดับไหน และอันดับ 3 ที่ทิพย์ชอบมากๆ คือ อาจารย์ให้แบ่งเวลาอีกส่วนหนึ่งให้ตัวเองด้วย องค์ประกอบที่เราทำแล้วเรามีความสุข คือ อะไร
สิ่งนี้เองทำให้ทิพย์สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เพราะไม่ว่างานจะออกมาเป็นอย่างไร สำเร็จ หรือล้มเหลว ทิพย์ก็ไม่ได้ดีใจหรือเสียใจมาก เพราะเป้าหมายของเราชัดเจนว่า ชีวิตสำคัญกว่างาน ถึงงานไม่สำเร็จ เราก็เลือกที่จะมีความสุขกับทุกๆ วันที่เราเกิดมาและดำรงชีวิตอยู่
ในเกมกอล์ฟก็เช่นกัน ในทุกๆ ครั้งที่ทิพย์ออกไปซ้อมกอล์ฟหรือออกรอบแข่งขัน ทิพย์จะบอกกับตัวเองว่า “เราจะไปหาความสุขที่แสนวิเศษท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะมีความสุข” ยิ้มและโอบกอดทุกความผิดพลาดที่เข้ามาในชีวิตค่ะ
ทดลองนำไปใช้ทั้งเกมกอล์ฟและในชีวิตประจำวันกันดูนะคะ ทุกๆ ครั้งที่ตื่นมา ถ้าเราได้ถามตัวเองว่า เป้าหมายของเรา คือ อะไร เป็นคำถามที่ช่วยเรียกสติให้กับเราได้ดีมาก เวลาเล่นกอล์ฟไม่ดีหรือทำงานไม่ได้ตามเป้า เราจะไม่หัวเสียมาก เพราะเราจะมีสติรู้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะมีความสุขค่ะ
โปรทิพย์ สีอัมพรโรจน์