สักวันนึงและรู้งี้ ไม่มีอยู่จริง – ภัคกานต์ อิงสุธรรม
สักวันนึง และ รู้งี้ ไม่มีอยู่จริง
ภัคกานต์ อิงสุธรรม
Team Elite, Nu Skin Enterprises Thailand
เพราะเกิดมาเป็นหลานคนแรกของตระกูล ทำให้คุณจอยเป็นเหมือนกับ Center of Hearts ของครอบครัว อยู่ท่ามกลางน้าๆ ที่คอยรุมล้อมผลัดกันเลี้ยงผลัดกันส่ง โดยมีคุณยายคอยกำกับดูแล แล้วถึงได้มีน้องๆ ตามๆ ออกมารวมกันถึง 21 คน จากพี่น้องของคุณแม่ที่มีทั้งหมด 9 คน และอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็นพื้นฐาน
ภาพคุ้นตาของคุณจอยตั้งแต่เด็กก็คือ ผู้คนในบ้านมีเยอะมาก ทั้งจากญาติพี่น้องและผู้มาเยือน เนื่องจากคุณตาเป็นคนใจดีมาก เมื่อมีชาวจีนเข้ามากรุงเทพฯ แล้วไม่มีที่พักอาศัย ท่านก็ทำเป็นโรงแรมขนาดเล็กไว้คอยต้อนรับ ใครไม่มีข้าวกินก็มาฝากปากท้องไว้ที่นี่ จนที่บ้านกลายเป็นศูนย์กลางเล็กๆ ใครจะไปไหนมาไหนก็จะแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนกัน
คุณจอยเคยสงสัยว่า ทำไมที่บ้านถึงได้มีอาหารเต็มโต๊ะอยู่เสมอ เวลาใครเข้ามาหาก็จะนำของฝากติดไม้ติดมือมาฝากคุณตาด้วย ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสกันทั้งนั้น เมื่อคุณน้าเล่าให้ฟังถึงได้รู้ว่า ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ คุณตาเป็นผู้ให้ ชอบช่วยเหลือผู้คน มีน้ำใจให้กับผู้อื่นอยู่เสมอโดยไม่คิดหวังผลตอบแทนใดๆ ทำให้เกิดความผูกพันแบบแนบแน่น และกลายเป็นธารน้ำใจไหลย้อนคืนมาอย่างไม่รู้จบ… และคุณตานี่แหล่ะคือต้นแบบของการตั้ง Mindset ให้กับชีวิตของเด็กสาวผู้นี้
“คุณตาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เราต้องให้ก่อนเสมอ แล้วเมื่อให้ ก็ไม่ต้องรู้สึกอะไร แค่ให้แล้วสบายใจก็พอแล้ว ส่วนผู้รับ เขาจะให้หรือไม่ให้กลับ ก็เรื่องของเขา เราอย่าไปคาดหวัง ซึ่งเมื่อเราได้พบได้ยินเรื่องราวของผู้ที่เคยได้รับน้ำใจจากคุณตา แล้วกล่าวถึงด้วยความชื่นชม เวลาไปไหนถ้าเขารู้ว่าเราเป็นลูกหลานคุณตา ก็จะได้รอยยิ้มและการต้อนรับอย่างอบอุ่น ทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกหลานของท่าน”
“เมื่อเราทำอะไรไว้ มันไม่เคยหายไปไหน ขอให้ทำให้ดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ได้รับไม่ใช่แค่เรา แต่ยังรวมไปถึงลูกถึงหลาน อย่างที่คุณตาได้ทำไว้ก็ตกทอดมาถึงรุ่นเรา ทำให้ได้แง่คิดว่า ถ้าเราตั้งใจทำดี ส่ิงเหล่านี้ก็จะตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราเช่นเดียวกัน” คุณจอย ย้อนเรื่องราวที่ทำให้เธอเรียนรู้การตั้ง Mindset จากวิถีชีวิตของ คุณตา ผู้เป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเธอ
จากชีวิตลูกคุณหนูที่แทบไม่เคยต้องทำอะไรเลย เพราะรายล้อมด้วยพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ถึงแม้คุณแม่จะชอบบ่นว่าลูกขี้เกียจ แต่ก็ทำให้ลูกทุกครั้ง แต่เมื่อเธอสอบได้ทุนของโรตารี่ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศออสเตรเลีย ชีวิตของคุณหนูก็ต้องพลิกไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือทันที เพราะโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เธอต้องเปลี่ยนครอบครัวที่พักอาศัยด้วยทุกๆ สามเดือน เรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประสบการณ์ที่ได้รับในปีนั้นเพียงปีเดียว ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
“ร้องไห้ตั้งแต่ขึ้นเครื่อง ทุกทีไปไหนก็ต้องมีพ่อแม่ไปด้วย แต่ครั้งนั้นเดินทางลำพัง พ่อแม่ฝากบอกสายการบินให้ช่วยดูแลด้วยความเป็นห่วง ทั้งแอร์ทั้งกัปตันก็คอยมาสอบถาม ดูแลอย่างดี แต่เราก็ร้องไห้ตลอด เวลาเขียนจดหมายก็รู้สึกจากใจเลยว่าเรารักพ่อรักแม่มาก ยิ่งเวลาไกลบ้านยิ่งทำให้รู้สึกชัดเจน ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ทำให้ตอนที่เราอยู่ด้วยขณะที่ใกล้ชิดกันนั้น เรากลับไม่รู้สึกอะไร แต่พอห่างกันแล้วถึงรู้ได้เลยว่า ท่านรักเรามากแค่ไหน ไม่มีที่ไหนอบอุ่นเท่าบ้านเราอีกแล้ว”
“แต่เมื่อคิดได้ว่าตัวเองมาทำไมที่นี่ เราเป็นตัวแทนประเทศไทย จะมามัวเสียเวลากับเรื่องนี้อีกไม่ได้แล้ว Mindset ก็เปลี่ยนไปทันที หันมาตั้งเป้าว่าจะต้องเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตให้ได้มากที่สุด ทำหน้าที่ให้สมกับที่ได้รับการคัดเลือกมา กิจกรรมที่ทำแล้วให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้นก็เข้าไปมีส่วนร่วมเต็มที่”
“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับในการใช้ชีวิตต่างแดนก็คือ การมีสัญชาติญาณในการเอาตัวรอด เรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง จนหลังๆ เพื่อนๆ ถึงกับถามว่า ทำได้อย่างไรที่.. กินข้าว ดูหนัง ไปเที่ยว ไปไหนมาไหนคนเดียวได้.. ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะ ค่อยๆ เรียนรู้สะสมมาเรื่อยๆ ว่า ชีวิตไม่ได้ขาดอะไรเลย ถ้ารู้จักวิธีปรับตัว ทำให้เราอยู่ได้ในทุกๆ ที่โดยไม่ต้องไปเป็นภาระใคร”
เมื่อกลับมา ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็ยิ่งช่วยเสริมให้เธอแกร่งไปอีกขั้น เพราะได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่ดูสวยหรูหรือลงตัวไปทุกสิ่งเหมือนกับที่วาดฝันไว้ ตั้งแต่เรื่องการชิงไหวชิงพริบเพื่อให้ได้มาซึ่งที่นั่งสำหรับวิชาต่างๆ ที่เปิดปุ๊ปมักจะเต็มปั๊บ เลยต้องหัดวางแผนการลงทะเบียนเรียนไว้หลากหลาย หากผิดหวังจากแผนแรก ก็ตามด้วยแผนสองแผนสามทันที ทั้งนี้ก็เพราะเธอไปใช้ชีวิตต่างประเทศถึงปีเต็มๆ จึงต้องตามเรียนเพื่อนร่วมรุ่นให้ทัน แล้วเธอก็ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ได้จริงๆ แต่ก็แลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยและตั้งใจเรียนชนิดห้ามพลาดห้ามตกโดยเด็ดขาด
พอเรียนจบ ก็คุยกับคุณพ่อว่าอยากจะเรียนเพิ่ม ซึ่งท่านก็มองการณ์ไกลบอกว่า “ได้.. แต่ต้องไปประเทศจีนเท่านั้น” ผิดกับลูกบ้านอื่นที่มักจะไปประเทศฝั่งตะวันตก
“ไปประเทศจีนแบบไม่รู้อะไรเลย ถนนในกรุงปักกิ่งยังแคบๆ เต็มไปด้วยหมอกควัน คิดในใจว่า ทำไมพ่อส่งเรามาที่นี่ ภาษาจีนก็รู้แค่นับเลข สื่อสารอะไรกันไม่ได้ ไปเรียนภาษาแบบเข้มข้น วันนี้เรียนอะไรก็เอาออกไปใช้ได้แค่นั้น ค่อยๆ สะสมไปใช้ไปเรื่อยๆ เพราะถ้าพูดไม่ได้เราจะไม่รอด แค่สามเดือนก็ทะเลาะกับแม่ค้าในตลาดได้แล้ว”
ผลจากการได้เรียนทั้งภาษาและวิชาธุรกิจ ที่ทำให้เธอได้เปิดโลกทัศน์และเข้าใจความคิดการทำธุรกิจในวิถีของคนจีน เปิดโอกาสให้ได้เห็นประเทศจีนในมุมมองที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งคุณจอยได้ไปศึกษาตั้งแต่ในช่วงที่คนไทยยังไม่ค่อยไปกันมากนัก และหลังจากนั้นอีกไม่นาน ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจก็ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายยอดนิยมในการไปศึกษาต่อ รวมทั้งน้องๆ ของเธออีกหลายคนด้วย
“ถ้าเรียนมาสูงแล้วทำงานได้เงินเดือนน้อยมันรู้สึกไม่คุ้ม” นั่นเป็นเหตุที่ทำให้คุณจอยต้องพยายามหางานที่ทำให้รายได้ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ อีกทั้งเป็นคนขี้เบื่อจึงทำให้ต้องเปลี่ยนงานอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่งานประจำเป็นพนักงานออฟฟิศ แล้วหันมาลองเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ขายของสำหรับบรรดาสาวๆ แต่ต้องแลกกับการนั่งเฝ้าร้านทุกวัน ขณะที่ตัวเองใจร้อนอยากจะได้ผลตอบแทนที่มากอย่างที่ใจต้องการ
พอไม่ได้ตามที่ตั้งใจ ความคิดก็เปลี่ยนไปอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชีวิตที่รู้สึกว่าจะทำอะไรก็ง่ายไปหมด จากความช่วยเหลือของคนรอบข้าง ทำให้รู้สึกเหมือนจะสู้ แต่พอเจออุปสรรคก็เปลี่ยนใจได้ง่ายๆ เหมือนกัน แล้วทางออกที่จะปิดร้าน เลิกธุรกิจได้แบบไม่มีใครมาว่าได้ก็คือ เรียนต่อปริญญาโท
คุณจอยได้เข้าไปเรียนรัฐศาสตร์การทูต (MIR) หลักสูตรอินเตอร์ฯ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นรุ่นแรก ระหว่างนั้นก็ค่อยๆ ปิดร้านไปทีละนิด “โชคดีที่จะทำอะไรทางบ้านก็สนับสนุน จะปิดร้านก็บอกขอไปเรียน พอเรียนก็บอกต้องอ่านหนังสือหนัก เปิดร้านไม่ไหว ที่บ้านก็ยอม ไม่อยากให้ลูกลำบาก”
แต่การเรียนปริญญาโทก็ทำให้เธอรู้สึกลำบากใจ เพราะต้องอาศัยคุณพ่อ ท่านส่งเสียมาเยอะแล้วก็ยังต้องมารับผิดชอบต่ออีก เพราะปิดร้านทำให้ไม่มีรายได้ จังหวะนั้นพอดีคุณน้าได้ชักชวนให้เข้ามารู้จักกับธุรกิจ นู สกิน
วันแรกที่ไปฟัง เธอกอดอกแน่นนั่งอยู่หลังห้อง นึกอย่างเดียวว่าขอให้จบเร็วๆ เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตนเลย งานตามความใฝ่ฝันคืออยากจะเรียนจบแล้วไปเป็นนักการทูต ทำงานที่ UN มาที่นี่ก็เพราะไม่อยากขัดใจคุณน้า
“แต่ช่วงนั้นไม่มีรายได้เข้ามาในชีวิตเลย การทำงานก็เคยเป็นทั้งลูกจ้างรับเงินเดือนและเป็นนายจ้างเจ้าของธุรกิจนั่งเฝ้าร้านเองก็ทำมาแล้ว ซึ่งจะให้กลับไปทำงานแบบนั้นก็ไม่เอาแน่ๆ ทางเลือกเดียว ณ ขณะนั้นก็คือ นู สกิน อย่างน้อยก็แค่เพื่อมีรายได้ระหว่างเรียน และยังเป็นการสร้างรายได้แบบ Passive Income มีโอกาสจะเพิ่มให้สูงขึ้นได้อีกตามความสามารถของเรา จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจนี้ตั้งแต่เมื่อราวสิบหกปีแล้ว สิ่งที่ได้รับจากการทำธุรกิจนี้คือ ได้สื่อสารกับผู้คนจริงๆ คุณพ่อพูดเสมอว่า เป็นเซลส์น่ะดีแล้ว ได้เจอคนเยอะๆ แล้วจะรู้ว่า ข้างนอกเขาเป็นอย่างไรกัน”
ความสำเร็จสำคัญที่ได้พิสูจน์ให้เห็นจากการทำธุรกิจนี้นอกเหนือจากรายรับก็คือ คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นหน้าคุณจอยทุกวัน
“พ่อแม่เห็นเราโตทุกวัน แต่เรากลับไม่ได้เห็นท่านแก่ทุกวัน สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็คือ เมื่อท่านเกษียณเราต้องอยู่กับท่าน พาท่านเข้าวัด เป็นการเตรียมเสบียงบุญ โดยเราต้องทำหน้าที่เป็นสะพานบุญให้ แต่ท่านต้องทำด้วยตัวเองถึงจะดีที่สุด แล้วงานที่ทำก็เอื้ออำนวยให้เราใช้ชีวิตแบบนี้ได้”
“เราเองได้เห็นเรื่องราวแบบนี้มาเยอะ เห็นลูกๆ จากต่างจังหวัดบอกลาพ่อแม่มาตามหาฝันในเมืองใหญ่ ตั้งใจว่าประสบความสำเร็จเมื่อไหร่จะกลับบ้าน แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้ตามความฝัน งานที่เราทำนั้นมีโอกาสส่งลูกๆ กลับบ้าน ให้เขากลับไปสานต่อความสำเร็จที่บ้านเกิดของตัวเองได้ พ่อแม่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด คือพระอรหันต์ในบ้าน การที่เราได้ส่งลูกกลับไปหาพ่อแม่พร้อมความสำเร็จ ได้ดูแลท่านขณะที่ท่านยังมีโอกาสรับรู้ ถือเป็นความสุขที่สุดของชีวิตแล้ว”
“ยิ่งเราพบกับคนมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใจเขามากขึ้น โลกนี้ไม่เคยมีความเท่าเทียม คนที่มีโอกาสย่อมมีทางไปเสมอ แต่บางคนไม่โชคดีเช่นนั้น หากเราหยิบยื่นให้เขาได้ก็เหมือนกับการทำบุญสร้างกุศลด้วยเช่นกัน หน้าที่ของเราคือผู้ส่งสารไม่ใช่ปิดการขาย การคิดเช่นนี้ทำให้เราไม่เครียด ใครที่พร้อมเราก็ยินดีให้คำแนะนำ แต่ถ้ายังไม่พร้อมการได้รู้จักกันเราก็ขอบคุณเขาแล้ว”
ก่อนจบบทสนทนา คุณจอยให้บทสรุปเป็นแง่คิดดีๆ กับการใช้ชีวิตไว้ว่า
“ชีวิตคน อย่ามาใช้ทฤษฎี สักวันนึง หรือ รู้งี้ กันเลยค่ะ มันไม่มีอยู่จริงหรอก ถ้ารู้งี้ ก็รู้งี้ตอนแก่ สักวันนึงก็สักวันนึงไงคะ ไม่มีวันมาถึง นาทีสุดท้ายของจิตคือสิ่งสำคัญที่สุด เราจะมีสติได้อย่างไรถ้าไม่หมั่นฝึกจิตไว้ อย่าคิดว่าเมื่อนาทีสุดท้ายมาถึงจริงๆ แล้วจะทำใจได้ ฉะนั้นการใช้ชีวิตอย่าประมาท รู้จักสะสมทรัพย์แล้วก็ต้องรู้จักสะสมบุญหมั่นสร้างความดีด้วยค่ะ”