เราได้จากสังคม เราก็ควรตอบแทนสู่สังคม – ท.ญ.อุษณีย์ พฤกษ์กานนท์
ท.ญ.อุษณีย์ พฤกษ์กานนท์
บริษัท นิวเทรน พลัส จำกัด
” เราได้อะไรมาจากสังคม เราก็ควรรู้คุณและตอบแทนคืนกำไรกลับสู่สังคม”
ด้วยความเป็นลูกสาวคนโตในครอบครัวพ่อค้าเชื้อสายจีน ทำให้มีหน้าที่ที่คุณพ่อมอบหมายให้ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เธอต้องดูแลเรื่องการเปิดร้านจัดร้านก่อนไปเรียน กลับมาก็ต้องเก็บร้านปิดร้าน ถึงแม้จะเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แม้กระทั่งการทำงานกลุ่ม จนเพื่อนๆ ในกลุ่มที่สนิทจะรู้และเข้าใจกันดีว่าถ้างานที่ร้านยังไม่เรียบร้อย ลืมไปได้เลยว่าหมออุ๊จะได้ไปไหน
ตามธรรมเนียมของคนจีนย่อมอยากจะมีลูกชาย ขณะที่บ้านมีแต่ลูกผู้หญิงล้วน “ป๊า” จึงเลี้ยงหมออุ๊มาแบบค่อนข้างเป็นลูกผู้ชาย ออกแนวบู๊ๆ บ้าง กิจกรรมแนวผู้ชายๆ ที่พ่อสนใจ ก็มักจะพาลูกสาวไปด้วย อย่างพาไปสอบเป็นนักวิทยุสมัครเล่นเมื่อเรียนมัธยม ฝึกหัดขับรถให้ตั้งแต่อายุแค่ 12-13
“วันแรก ป๊าพาอุ๊ไปหัดในสนามดินโล่งๆ วันต่อมาพาขึ้นถนน พอถึงวันที่สามโยนกุญแจรถให้ขับส่งน้องไปเรียน พอแม่มองด้วยสายตาเป็นห่วงว่าจะไหวรึเปล่า ป๊าก็บอกว่าพอขับได้แล้ว ไม่มีปัญหา” หมออุ๊เล่าถึงความใจเด็ดของป๊า ที่กล้าตัดสินใจให้ลูกสาวขับรถออกถนนเองวันแรก และที่เด็ดไปกว่านั้นก็เพราะ… รถคันที่ว่านี้คือ “เป็นรถ จี๊บทหาร พวงมาลัยซ้ายค่ะ” !
ป๊า สอนเสมอว่า ต้องทำยังไงก็ได้ให้น้องๆ รักและเคารพ หัดมองอะไรให้เป็น หัดทำตัวเป็นพี่ที่ดี “ป๊าไม่เคยบอกหรือสอนอะไรตรงๆ ว่าต้องทำอย่างไร แต่จะสอนให้คิดเองเสมอ”
ถึงที่บ้านจะทำธุรกิจค้าขายทองที่นครสวรรค์ ดูแล้วลูกๆ ทุกคนน่าจะสบาย แต่จริงๆ แล้วทุกคนต้องทำงานกันเอง เพราะไม่มีทั้งพี่เลี้ยง ไม่มีทังแม่บ้าน แล้วก็ไม่ได้สนับสนุนให้เรียนอย่างเต็มที่ บอกด้วยซ้ำว่า ถ้าสอบอะไรไม่ติดก็ต้องมาขายทองที่ร้าน จะอ่านหนังสือก็ต้องหาเวลากันเอาเองนอกเหนือเวลางาน แล้วงานในบ้านก็แบ่งให้ลูกๆ ทุกคนทำครบถ้วนไม่มีใครได้มากได้น้อย ทุกสิ่งทุกอย่างคุณแม่จะเป็นผู้กำกับให้ลูกๆ คอยทำโน่นทำนี่ ฝึกจนลูกๆ “ทุกคนทำเองหมด แม้กระทั่งการหมัก กะปิ น้ำปลา”
มีครั้งหนึ่งที่ ป๊าชวนแม่ จะไปเที่ยวยุโรป แม่ก็ไม่ยอมไปเพราะกังวลว่าลูกๆ จะอยู่กันยังไง ป๊าก็เลยบอกว่า ถ้าเราไปกันตอนนี้ ยังมีโอกาสกลับมาดูว่าลูกๆ เฝ้าร้านกันได้หรือไม่ แต่ถ้าตายไปแล้วยังไงก็ไม่มีโอกาสกลับมาดูอีกนะ ประโยคนี้แหล่ะ ที่ทำให้แม่ยอมไปด้วย
ในช่วงเวลาแห่งความกังวลนั้น หมออุ๊ ยังมีความคิดดีๆ จะทำเพื่อสบายใจ “ป๊ากะแม่ไปเที่ยวตอนอุ๊เรียนอยู่ปีสอง สมัยนั้นยังไม่มีกล้องวงจรปิด แต่เป็นคนชอบเล่นกล้องอยู่แล้ว ก็เลยคิดหาวิธีกับอากู๋ซึ่งเป็นช่าง นำกล้องวิดีโอธรรมดาๆ นี่แหล่ะไปซ่อนหลังต้นไม้แล้วต่อขึ้นจอทีวีโชว์ภาพให้เห็นในร้าน เพื่อแสดงว่าเรามีระบบกล้องวงจรปิดไว้รักษาความปลอดภัย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย แล้วพวกเราลูกๆ ก็ค้าขายกันเอง ตัดสินใจกันเอง จนกระทั่งป๊ากับแม่กลับเหตุการณ์ทุกอย่างก็ปกติเรียบร้อยดี”
ถึงแม้ว่าหมออุ๊ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นอะไร แต่เตรียมตัวอ่านหนังสือเยอะ เพื่อจะได้ไปเรียนไกลบ้านสักหน่อย แล้วส่วนหนึ่งที่เลือกทันตแพทย์ก็เพราะพอมีพื้นฐานทางด้านเย็บปักถักร้อยที่ได้มาจากคุณแม่ เลยอยากเรียนในคณะที่จะได้ใช้ความสามารถตรงนี้ แล้วก็ติดคณะทันตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมใจกันทั้งบ้าน
จริงๆ แล้วหมออุ๊ถนัดวิชาทางฟิสิกส์ คำนวณ แต่พอเรียนกลับเจอแต่แนวชีววิทยา ทำให้ต้องพยายามขยันอ่านหนังสือให้หนักยิ่งขึ้น ดีที่ยังได้คะแนนจากวิชาที่ใช้งานฝีมือเข้ามาช่วย แล้วยังเป็นนักกิจกรรม ทำงานให้กับคณะ อยู่ชมรมการแสดง ประกวดร้องเพลง ทำบัญชี เป็นเหรัญญิก ทำโน่นทำนี่อีกเยอะแยะมากมาย
“เรียนมหาวิทยาลัย ถ้าเราไปเพื่อแค่เรียน ก็คงจะได้แค่เรื่องเนื้อหาที่เราเรียนอย่างเดียว แต่ชีวิตในมหาวิทยาลัย เหมือนกับการจำลองโลกใบใหญ่เอาไว้ในนั้นให้เราได้เรียนรู้ เราควรมีโอกาสได้พบปะกับผู้คนที่หลากหลาย สร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่าย ซึ่งต่อเนื่องกันจนมาถึงปัจจุบันก็มี”… หมออุ๊ ให้เหตุผลถึงการเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ขณะที่ต้องเรียนหนักควบคู่ไปด้วย
ตอนจากบ้านไปเรียนที่เชียงใหม่ แรกๆ ยังรู้สึกสนุก ขณะที่เพื่อนๆ หลายคนเป็นโรคคิดถึงบ้าน พอพระอาทิตย์ลับฟ้าเป็นน้ำตาร่วง ขณะที่เธอยังไม่รู้สึกแบบนั้นเพราะบ้างครั้งความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก เมื่ออยู่ใกล้ๆ กันก็มักจะลืม จนเมื่ออยู่ไปเป็นปี ห่างจากบ้านไปสักพัก ถึงเข้าใจว่า สิ่งที่ถูกบ่น ถูกดุ ถูกต่อว่า เป็นเพราะความเป็นห่วงที่พ่อแม่มีให้ลูกทั้งนั้น… “คนอื่นเขาโฮมซิกกันตอนไปใหม่ๆ ขณะที่เรากำลังตื่นตาตื่นใจ แต่กลายเป็นว่าเรากลับมาเริ่มคิดถึงบ้านเมื่อเรียนไปแล้วเป็นปี”
ชีวิตการทำงานของหมออุ๊ จะถนัดในสายลุยแนวบู๊มากกว่าสายบุ๋นสายวิชาการตามนิสัย ทำให้เมื่อเริ่มงานก็มีเรื่องเกิดขึ้น เพราะโรงพยาบาลที่เธอไปประจำการ ผู้อำนวยการคนเก่าได้ประกาศไว้ก่อนล่วงหน้าว่า ไม่รับหมอผู้หญิง ไม่จำเป็นต้องมีหมอฟัน เพราะอยู่ใกล้จังหวัด และ ไม่รับเด็กจบใหม่ ซึ่ง ทุกข้อที่ห้ามไว้ ตรงกับหมออุ๊ทั้งหมด แล้วเมื่อไปทำงาน พอเจอกับข้อสงสัยที่ดูแล้วโรงพยาบาลจะเสียประโยชน์ เธอก็จะทักท้วงอยู่เป็นประจำแบบตรงไปตรงมา จนเกิดเรื่องราวใหญ่โต พร้อมๆ กับยางรถยนต์ที่จะแบนเป็นประจำเพราะถูกปล่อยลมบ้าง โดนตะปูบ้าง
ทำงานได้สักพักใหญ่ ว่าที่คู่ชีวิต “หมอแซม” (ทพ.ดร. สุวชัย พฤกษ์กานนท์) ที่กำลังเรียต่อทั้งปริญญาโทและเอก ก็ชักชวนให้ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ครั้งแรกเธอก็ปฏิเสธเพราะรู้ว่าอาจจะไม่ค่อยถนัด โดยเฉพาะกับเรื่องภาษา ยิ่งเวลาแฟนกลับมาบ้านแต่ละครั้งช่วงปิดเทอม จะพูดภาษาไทยคำปนอังกฤษคำ ซึ่งฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง จนถึงขั้นทะเลาะกัน
“เราไม่เข้าใจชีวิตเค้า ว่าทำไมต้องพูดแบบนี้ พูดไทยอย่างเดียวไม่ได้รึไงเว่อร์ไปรึเปล่า”… นี่คือคำถามที่หมออุ๊คิดขึ้นในใจ ซึ่งก็มาทราบคำตอบภายหลังว่า เมื่อใช้ชีวิตในต่างแดน การพูด การคิด แม้กระทั่งฝัน ทำให้การสับสนทางภาษาเป็นเรื่องปกติธรรมมาก
แต่เมื่อจะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ก็ควรจะเรียนรู้กันให้มากกว่านี้ หมอแซมแฟนหมออุ๊เลยให้ครอบครัวมาสู่ขอ หมั้นหมายกันไว้ก่อน แล้วพากันไปเรียนต่อที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย จนจบทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก
แต่กว่าที่คู่นี้จะลงตัวได้ก็สนุกไม่แพ้ละครช่องไหนๆ เพราะแรกเริ่มไม่มีวี่แววว่าจะลงเอยกัน จนกระทั่งมาค้นพบว่า นิสัยของหมออุ๊กับหมอแซม มีทั้งความคล้ายและความต่าง เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวที่ขาดหายไปของแต่ละคน หมออุ๊ขี้รำคาญ ไม่อยากให้ใครมาจุกจิกจู้จี้ ขณะที่หมอแซมก็ดูเหมือนไม่ใส่ใจ ใครงอนก็ไม่คิดจะตามง้อ แต่ความจริงแล้วก็คือไม่ได้เก็บเรื่องหยุมหยิมเข้าใส่ไว้ในหัว ความแตกต่างอย่างลงล็อคนี้เองทำให้ทั้งสองสนิทสนมกันแบบไม่รู้ตัวในช่วงปีท้ายๆ จนต้องหันมาคุยกันว่า นี่เราเป็นอะไรกันแน่
“บางครั้งเคยทะเลาะกัน แล้วเราก็โทรไปหา กะจะชวนทะเลาะต่อ พอถามว่าอยู่ไหน เขาก็ตอบว่ากำลังเดินตลาดซื้อปลา หรือบางทีก็นอนหลับอยู่ นั่นเป็นเรื่องที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกดี ว่าเขาไม่ได้ใส่ใจในเรื่องที่เราไปทะเลาะด้วยเลย เขาไม่ได้กังวลในเรื่องที่เราคิดว่าเป็นปัญหาด้วยซ้ำไป เพราะมันไม่มีอะไร นิสัยเราก็ไม่ต้องมีการปรับตัว ตัวตนเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น ลงตัวกันดี”… นี่คือบทสรุปของการเริ่มความสัมพันธ์ด้วยคำว่า เพื่อน และจบด้วยคำว่า “ครอบครัว”
หมออุ๊ชอบอ่านหนังสือมากๆ อ่านแทบทุกแนว รวมถึง ธรรมะ เต๋า เซน อ่านมาตั้งแต่เด็ก… “เวลามีปัญหา หรือไม่เข้าใจอะไร ทะเลาะกับใคร แม้กระทั่งป๊ากับแม่ ก็จะเดินเข้าร้านหนังสือ หาคู่มือชีวิตสักเล่ม ที่มีคำตอบตามที่อยากจะได้ อ่านไปก็จะได้มุมมองชีวิตใหม่ๆ เข้าใจคนอื่นมากขึ้น อ่านแล้วสบายใจ อ่านจนติดเป็นนิสัย”
หลังจากเริ่มธุรกิจ “ศูนย์ทันตกรรมแนวใหม่” กิจการของทั้งหมออุ๊และหมอแซม ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างรวดเร็ว ตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ว่า ทุกอย่างต้องคัดเลือกมาเฉพาะสิ่งที่ดีที่สุด ตั้งแต่วัสดุอุปกรณ์ ความสะอาด และบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาทางทันตกรรมอย่างแท้จริง โดยตั้งราคาอย่างสมเหตุสมผล
“เราอยู่กับห้องแลปมาตลอด โดยเฉพาะหมอแซมที่ต้องทำการวิจัย ความสะอาดปลอดภัย คือสิ่งที่เราใส่ใจมากที่สุด วัสดุต่างๆ เขาคัดแล้วคัดอีกว่าต้องดีที่สุดจริงๆ ถึงจะเลือกมาใช้” หมออุ๊ เอ่ยถึงความพิถีพิถันในการทำงานของหมอแซม
อีกธุรกิจที่ได้เริ่มกันเพราะพลิกวิกฤติจนเป็นโอกาส เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ หมอแซมต้องเก็บบ้านหลังน้ำลด จนได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บทำงานไม่ได้อยู่พักใหญ่ ระหว่างนั้นก็สนใจเรื่องน้ำตาล “ไซลิทอล” ซึ่งมีคุณประโยชน์ช่วยดูแลป้องกันฟันผุ และลงมือวิจัยอย่างจริงจัง เพราะการเล่นกับเจ้าไซลิทอลนี้… ยากมากๆ แต่ด้วยความพยายาม และได้รับกำลังใจจากครอบครัว จนในที่สุดก็มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดประโยชน์ออกมามากมาย
“หลายคนมาเห็นเราแล้วบอกว่า ทำไมถึงทำสินค้าที่สร้างมูลค่าได้แต่กลับขายถูกๆ เพราะเพียงแค่เปลี่ยนกล่องบรรจุภัณฑ์นิดเดียว เราก็สามารถตั้งราคาให้สูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัวแล้ว… แต่นี่ คือความตั้งใจ เราต้องการให้ลูกค้า ผู้มาใช้บริการ หรือผู้บริโภคทั่วไป ได้มีโอกาสใช้ผลิตภัณ
ฑ์จาก ไซลิทอล ในราคาที่จับต้องได้ การทำบริษัท นิวเทรน พลัส การทำร้านอาหาร ก็เหมือนกับการขอบคุณจากใจของเรา เราได้อะไรมาจากสังคม เราก็ควรรู้คุณและตอบแทนคืนกำไรกลับสู่สังคมค่ะ” หมออุ๊กล่าวถึงบทสรุปในการทำธุรกิจที่มีทั้งให้และรับ
ร้านอาหารไซลิพลัส และ ศูนย์ทันตกรรมแนวใหม่ ตั้งอยู่ ณ ถนนสิรินธร หาง่ายใกล้กับห้างตั้งฮั่วเส็ง รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ดีๆ ของน้ำตาลไซลิทอลหรือเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ หาข้อมูลได้ที่ xyliplus.com