Interview

ศิริวงศ์ สุวรรณศรี

ศิริวงศ์ สุวรรณศรี
นักกอล์ฟ ไทยเบฟไทยทาเล้นท์

กีฬาทั้งชีวิต : ตั้งแต่จำความได้ ภาพของกีฬาอยู่กับผมมาตลอด เริ่มจากคุณพ่อ เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลสโมสรธนาคาร ทำให้ผมได้เล่นฟุตบอลค่อนข้างเยอะ เคยคิดถึงขั้นจะไปคัดตัวฟุตบอล เพื่อจะเข้าไปเล่นในสโมสร จนกระทั่งคุณพ่อเริ่มหัดเล่นกีฬากอล์ฟ ผมก็ตามท่านไป แต่ตอนนั้นยังไม่คิดว่ากอล์ฟจะน่าสนใจ เพราะยังสนุกกับการเล่นฟุตบอลมากกว่า

กอล์ฟ : คุณพ่อบอกว่า เล่นฟุตบอลไปก็ตีกอล์ฟไปด้วยได้ กลายเป็นว่า กำลังขาที่ได้รับการฝึกฝนมาจากฟุตบอล ช่วยให้ตีกอล์ฟได้ดีมีระยะ ตอนเริ่มใหม่ ๆ ยังเล่นไม่ค่อยเป็น แต่พอจับไม้กอล์ฟได้ก็ตีไกลแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กด้วยว่า เริ่มเล่นกอล์ฟก็อยากจะตีได้ไกล ๆ จากนั้นก็เล่นกีฬาทั้งสองอย่างควบคู่กัน ตั้งแต่อายุราวสิบขวบ

เล่นเพราะได้ถ้วย : ในที่สุดก็เลือกเล่นกอล์ฟมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยคิดจะเล่นกอล์ฟจริงจัง อยากจะเอาดีทางฟุตบอลมากกว่า แต่เพราะว่าเล่นกอล์ฟได้ไม่นาน ก็ได้ถ้วยของชมรมฯ ดีใจ สนุก จากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนา จนรู้สึกว่า อยากจะเอาดีทางกอล์ฟจริง ๆ ส่วนฟุตบอลก็กลายเป็นกีฬาเสริม เล่นกับเพื่อน ๆ เล่นให้กับโรงเรียน

การศึกษา : ช่วงประถมเรียนที่สวนสุนันทา พอขึ้นมัธยมต้นเรียนที่สตรีวิทยา 2 ส่วนมัธยมปลาย ผมจบ ม.6 รุ่นสุดท้าย ของ ปานะพันธ์ ก่อนโรงเรียนจะปิดไป ก่อนจะได้โควตาเข้ามหาวิทยาลัยในโครงการช้างเผือก ที่ให้โอกาสทางการศึกษากับนักกีฬาที่มีผลงานดีเด่น

เด็กเส้น : พ่อเป็นผู้จัดการทีมชาติ ทำให้มีเสียงครหาตลอด ตอนนั้นอึดอัดมาก เพราะทุกคนพูดว่าเราไม่มีความสามารถ มีเสียงพูดกรอกหูตลอดว่า เป็นเด็กเส้น คงจะรู้สนามก่อน ซ้อมที่ไหน นี่คือสิ่งที่ฝังใจมาตลอด ผมกับคุณพ่อ เราสนิทกันมาก ท่านพูดเลยว่า เข้าใจสถานการณ์ของผม รู้สึกไม่สบายใจไปด้วย ถามตลอดว่าไหวมั้ย จะให้พ่อออกจากตำแหน่งตรงนี้หรือเปล่า ผมจะได้เดินอย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาคุณพ่อเริ่มมาอยู่วงการกอล์ฟก็เพราะเรา แต่ก็ไม่คิดว่าจะต่อเนื่องยาวจนมาถึงการได้เป็นผู้จัดการทีมชาติ แต่กอล์ฟ เป็นกีฬาที่ต้องทำผลงานเอง ไม่ได้มีคนคอยให้คะแนน พ่อจะไปจับมือตีก็ไม่ได้ นึกไม่ออกเหมือนกันว่า คนอื่นจะมาช่วยเราได้ให้ถึงขั้นนั้นได้อย่างไร มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น หากเราไม่มีความสามารถถึง ยังไงก็ไม่ผ่าน พอเราทำได้ด้วยตัวเอง ก็เหมือนปลดล็อก และสามารถพิสูจน์อย่างภาคภูมิใจว่า เราทำด้วยตัวเอง

ทีมชาติ : ผมติดทีมชาติ เมื่อครั้งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 2541 ได้เก็บตัวร่วมกับทีม ทั้งหมด 15 คน แต่ตอนนั้นผมยังเป็นแค่นักกอล์ฟเด็ก ๆ มีรุ่นพี่เก่ง ๆ ทำหน้าที่อยู่หลายคน ได้เป็นตัวแทนทีมชาติเต็มตัวครั้งแรกก็ที่ เมียนมาร์โอเพ่น แต่อุปสรรคใหญ่ก็คือ ช่วงไหนที่ฟอร์มการเล่นดี มักจะเกิดอาการบาดเจ็บ ตั้งแต่เมื่อจะไปแข่งปุตราคัพ ต้องให้คนอื่นไปแทน

เข้ามหา’ลัย : ผมไม่ถนัดเรื่องการเรียนมากนัก เพราะเน้นเรื่องกีฬาเป็นหลัก โดยเฉพาะกอล์ฟ เล่นจนถึงติดระดับเยาวชนทีมชาติ มีผลงานพอสมควร เช่นได้แชมป์กีฬาแห่งชาติ ทั้งทีมและบุคคล จนได้สิทธิ์เข้าเรียนในโครงการช้างเผือก ได้เลือกมหาวิทยาลัย ผมเลือกอันดับหนึ่ง วิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นปีแรกที่จะเปิดสอนสาขานี้ด้วย แต่พอประกาศผลออกมา ผมไปติด คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุฬาฯ : ผมตัดสินใจสละสิทธิ์ที่ธรรมศาสตร์ เพราะคิดว่าสาขาไม่น่าจะตรงกับตัวเอง ขอไปลุ้นที่จุฬาฯ ซึ่งผมติดสำรองอันดับหนึ่งอยู่ โชคดีที่ คนที่ติดจุฬาฯ อันดับก่อนผม ซึ่งเป็นนักกีฬาในโครงการช้างเผือกเหมือนกัน แต่เขาอยากเข้าวารสารฯ ก็สละสิทธิ์ เพื่อไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ ขณะที่ผมสละสิทธิ์ธรรมศาสตร์ เพื่อมาลุ้นเข้าที่จุฬาฯ อาจจะสลับกับผมพอดี โดยที่เราก็ไม่เคยคุยกันมาก่อนว่าต่างคนต่างมีความต้องการตรงกัน มารู้ตอนเห็นรายชื่อ นับว่าเป็นเรื่องของดวง โชคชะตาพาไป ที่ผมจะได้เข้าเป็นคนสุดท้ายของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา รุ่น 1

เกือบไปไม่รอด : ตอนเข้าดูเหมือนจะง่าย แต่พอเรียนไปแล้วไม่ง่ายเลย เพราะการเรียนแนววิชาการ ถือว่าเป็นเรื่องที่ผมไม่ถนัดเลย ครั้งแรกที่เลือก เพราะเห็นว่า วิทยาศาสตร์การกีฬา เหมาะกับตัวเองซึ่งเป็นนักกีฬา พอเรียนจริง ๆ ต้องเจอกับวิชาต่าง ๆ ที่ไม่คุ้นเคย เรียนยากมาก แล้วตอนนั้นสาขาที่เรียนยังเป็นแค่สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้เราต้องไปเรียน ไปตัดเกรด ร่วมกับคณะอื่น ๆ กลายเป็นว่า เป็นเรื่องหนักมากสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะกลุ่มนักกีฬา จนทุกฝ่ายหาทางมาช่วยเหลือกัน มีการจัดติวพิเศษ ส่วนพวกเราก็ต้องขยัน ใส่ใจ ตั้งใจในเรื่องการเรียนให้มากขึ้น จนในที่สุดก็สามารถรับปริญญาได้สำเร็จ

ภาคภูมิใจ : รู้สึกดีใจมาก ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เรียนจบ ตอนแรกไปบอกคนอื่นก็ไม่ค่อยมีคนเชื่อ เพราะส่วนใหญ่เห็นผมในภาพของนักกีฬา ผมเองไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะจบจากสถาบันที่ใฝ่ฝันจะเรียนมาตั้งแต่เด็ก การที่ผมได้เข้าไปเรียนจุฬาฯ รวมไปถึงเพื่อน ๆ นักกีฬากอล์ฟ และกีฬาอื่น ๆ ที่แยกย้ายกันเข้าไปเรียนตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในโครงการช้างเผือก ก็ต้องนับว่า กีฬา ให้โอกาสชีวิตดี ๆ กับพวกเราอย่างแท้จริง

ผลงานทางด้านกอล์ฟ ก็ทำเต็มที่ จนได้แชมป์กีฬามหาวิทยาลัย ได้เหรียญทองทั้งบุคคลและทีม สองปีซ้อน ตอนนั้นไม่ได้ไปซีเกมส์ แต่ยังได้รับเสื้อสามารถ เพราะผลงานที่ทำระหว่างเรียน ส่วนวิชาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ก็นำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลตัวเอง ว่าจะต้องทำยังไง มีรูปแบบอย่างไรบ้าง

เดินสายแข่ง : หลังจากเทิร์นโปร ปีแรก ก็คว้าแชมป์รายการเล็ก ๆ ก็คิดว่าทิศทางน่าจะดี ก็เริ่มออกเดินทางไปแข่งต่างประเทศ เมื่อก่อนยังมีมาเลเชี่ยนทัวร์ เตรียมตัวราว ๆ ปี ก็เตรียมควอลิฟาย เข้าเอเชี่ยนทัวร์ ถึงจะยังไม่ได้ทัวร์การ์ด แต่ก็ได้เข้าไปเล่นบางรายการ เพราะผมไม่ได้อยู่ในอันดับที่จะได้สิทธิ์เล่นทันที ก็ต้องไปเตรียมพร้อม หากมีแรงค์อยู่ในกลุ่มอันดับต้น ๆ โอกาสได้ลงแข่งก็จะสูง แล้วถ้าจบในอันดับดี ๆ ก็สามารถใช้เป็นทางลัด เป็นสมาชิกในเอเชี่ยนทัวร์ได้เลย

บาดเจ็บ : ปีที่ทำท่าว่าจะดีที่สุด มีโอกาสจะเข้าไปเล่นในเอเชี่ยนทัวร์ ก็เจ็บอีก ถึงขั้นต้องผ่าข้อมือ ผมไปแข่งที่ ตรังกานู มาสเตอร์ เป็นรายการรับเชิญ ตอนเล่นรอบซ้อม ตีลูกจมรัฟ ระยะ 150 หลา ผมหวดด้วยเหล็ก 9 เต็มที่ ปรากฏว่าตีไม่ผ่าน เหล็กกระดอนย้อนกลับมาเลย เพราะพื้นด้านล่างที่มองไม่เห็น กลายเป็นหินก้อนใหญ่ ที่จมอยู่ในดิน ผมก็อดทน ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา ดูแลตัวเองไป เพราะนั่นคือแค่วันซ้อม แล้วก็ตีไปร้องไปอีกสี่วัน จนจบรายการ ยังคิดเหมือนกันว่า ถ้าไม่ฝืนเล่นจนจบ อาจจะไม่เจ็บมากขนาดนี้ก็ได้

อาการร้ายแรง : หมอวิเคราะห์ออกมาว่า เอ็นฉีก กระดูกแตก ใส่เฝือกรอบแรกยังไม่หาย ต้องใส่ใหม่อีกรอบ ทำให้รายการที่คาดหวังไว้ ไม่ได้เล่นเลย หลังจากถอดเฝือกก็ยังต้องดูแลอาการต่อไปอีก ทำให้ต้องพักเรื่องกอล์ฟไปก่อนเป็นปี พอหายก็พยายามกลับมาแข่งอีก กลายเป็นเล่นลูกสั้นดี เพราะระหว่างพักได้แต่ซ้อมลูกสั้น ทำให้เป็นคนตีกอล์ฟไม่เกิน แต่ระยะไม่ดี สั้นลง เหมือนกับไม่กล้าตี

กอล์ฟทำให้มีทางเลือก : เพราะเมื่อแข่งน้อยลง ก็มีหนทางอื่น ๆ เริ่มเข้ามา เริ่มจากผู้ใหญ่ให้โอกาสทดลองไปพากย์กอล์ฟ หลังจากทำไปได้สิบครั้ง ก็ได้พากย์รายการใหญ่ ‘เดอะ มาสเตอร์’ โดยผมเป็นตัวหลักอยู่ยาวทั้งสี่วัน และได้ทำหน้าที่พากย์กอล์ฟต่อเนื่องมาอีกเรื่อย ๆ หลายรายการ ก็เป็นอีกหนทางในการประกอบอาชีพที่ดีมากอีกเส้นทางหนึ่ง แม้กระทั่งการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ในงานของสายการเมือง ผมเคยเข้าไปเป็น นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือสังคมเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่นเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ก็เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้เข้าไปทำงานกับคณะฯ ร่วมประชุมในสภาฯ ทำให้มีประสบการณ์ในงานด้านสายการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่ก็เกิดขึ้นได้เพราะมีกีฬากอล์ฟเป็นตัวเชื่อม

ทุกอย่างในชีวิตได้มาจากกอล์ฟ : สำหรับผมแล้ว ถ้าไม่มีกอล์ฟ คงยากที่จะมีโอกาสทั้งในเรื่อง การเรียน สังคม คนรอบข้าง การงาน ถ้าพ่อไม่สอนเล่นกอล์ฟ ผมไม่เล่นกอล์ฟ ชีวิตคงไม่มาถึงจุดนี้ รู้สึกว่า ยังไงก็รักในกีฬานี้ ไม่ว่าจะใช้ชีวิตในแนวทางไหน ถึงแม้ไม่ได้แข่ง ผมก็ยังมีกอล์ฟอยู่ในชีวิตตลอด ตอนนั้นครอบครัวก็ยังทำธุรกิจสนามกอล์ฟ ได้ช่วยงานในสนาม สัปดาห์ไหนมีพากย์กอล์ฟก็ขึ้นมากรุงเทพฯ หาลู่ทางเพื่อจะไปทางด้านอื่นที่เป็นสายกอล์ฟ และต่อยอดไปเรื่อย ๆ จนมีความคิดว่า น่าจะไปได้ ผมจึงไปเรียนรู้เรื่องการบริหารงานเกี่ยวกับสนามกอล์ฟ ไปลงคอร์สเรียน และเคยไปช่วยงาน เรียนรู้งานในสนามกอล์ฟ อยากจะทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง

จุดเริ่มกับไทยเบฟฯ : ไทยเบฟฯ จัดกิจกรรมร่วมกับสมาคมสนามกอล์ฟ โดยผมบริหารที่สนามกอล์ฟ ดิ เอ็มเมอรัล บ้านฉาง ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยและสอบถามความคิดเห็นกัน จนได้เข้าไปร่วมเป็นทีมโค้ชของแค้มป์ ไทยเบฟไทยทาเล้นท์ และผมเคยได้เป็นแขกรับเชิญในรายการที่มี ไทยเบฟฯ ให้การสนับสนุน และได้ขยับขึ้นมาเป็นพิธีกร โดยผมได้คิดเนื้อหาของรายการด้วย และต่อยอดในการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ด้านกีฬาของช้าง ทำหน้าที่เหมือนเป็นประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร

สร้างด้วยตัวเอง : บางคนอาจจะมองว่าเรามีชีวิตที่สุขสบาย แต่จริง ๆ แล้วเราทำด้วยตัวเองมาตลอด มีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น บางอย่างก็ช่วยเหลือครอบครัวได้ สิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้เป็นตัวตน ส่วนหนึ่งคือได้แนวความคิด ได้ต้นแบบมาจากพ่อ ซึ่งท่านคือฮีโร่ของผม ความสุภาพ เรียบร้อย นิสัยสนุกสนานเฮฮา ไม่ปิดกั้นตัวเอง

มองโลกในแง่ดี : ผมไม่มองด้านลบ มองแต่ด้านบวกของคนอื่น เชื่อว่าทุกคนมีข้อเสีย รวมทั้งตัวเราเองด้วย แต่เราก็จะไม่มองข้อเสียของเขา มองข้อดีแล้วจะทำให้คบกันได้ง่ายขึ้น แล้วเราจะแบ่งได้ว่า กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ เราจะให้เขาได้ขนาดไหน แต่ทุกคนก็ให้ด้วยความจริงใจเหมือนกัน

ไม่ลืมบุญคุณ : ผ่านมาได้รับโอกาสหลาย ๆ อย่าง จากผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ถึงแม้จะเลยช่วงนั้นมาแล้ว หรือเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ  แต่เราก็ยังไม่เคยลืมในสิ่งที่ผู้ใหญ่ให้ และเราได้รับมา ยังต้องตอบแทนบุญคุณ ถึงแม้จะไม่ได้เข้าไปเจอ ก็ติดต่อสอบถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน ผมเป็นสายขนม จะมีบางวันที่ผมจะต้องซื้อขนม นำไปฝากผู้ใหญ่ รู้สึกว่า การเป็นคนนอบน้อมถ่อมตน ไม่ลืมบุญคุณคน เป็นสิ่งที่ดี

ดูแลตัวเอง : ด้วยหน้าที่การทำงาน ต้องทำให้รักษาตัวเองให้มีความพร้อมอยู่เสมอ อย่างการออกกำลังกาย ก่อนอาบน้ำ ต้องวิดพื้น สควอช เป็นการบังคับตัวเองให้ทำสม่ำเสมอ วันไหนต้องอาบน้ำหลายรอบ ก็ทำหลายรอบ อีกส่วนหนึ่งก็คือดูแลเรื่องอาหารการกิน ตัวเองชอบกินขนม ก็พยายามลดปริมาณ ไม่ตามใจปากมากจนเลยไป ไม่กินจุบจิบ พยายามเครียดให้น้อย เบิกบานให้เยอะ ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในทุกรายละเอียด โดยไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อนครับ