โปรป่าน จันทร์จิรา เทียนสอาด
โปรป่าน จันทร์จิรา เทียนสอาด
เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการแข่งขัน เพื่อมาถ่ายทอดต่อไป
โตมาในสนามกอล์ฟ : หมายความแบบนั้นจริงๆ ไม่ได้หมายถึงเล่นกอล์ฟมาตั้งแต่เด็กๆ แต่โตมาในสนามกอล์ฟจริงๆ รู้จักกอล์ฟ เห็นกอล์ฟ อยู่ในสนามกอล์ฟมาตั้งเด็ก เพราะคุณพ่อทำงานเป็นหัวหน้าสตาร์ทเตอร์ อยู่ที่สนาม เลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟ คลับ มากว่า 20 ปีแล้ว เราก็ไปอยู่ที่สนามกับคุณพ่อบ่อยๆ ตอนเด็กๆ ก็มีหยิบไม้มาตีบ้างแต่ก็ไม่ได้จริงจัง พออายุราวๆ 10 ขวบ มีโอกาสได้เห็นนักกอล์ฟต่างชาติ ที่มาเก็บตัวฝึกซ้อมที่เมืองไทยเป็นเดือนๆ เห็นวงสวิงเขาสวย มาเล่นเ)็นกลุ่มดูสนุกสนาน ก็เลยอยากจะลองเล่นบ้าง ไปให้เขาสอน ก็เริ่มชอบแล้วก็เล่นจริงจังมาตั้งแต่ตอนนั้น
ผลงานในช่วงเยาวชน : เป็นนักกีฬากอล์ฟตัวแทนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แข่งกีฬานักเรียนในหลายๆ รายการ ซึ่งช่วงนั้นผลงานยังไม่โดดเด่น เพราะไม่มีโค้ชเฉพาะ ซ้อมเอง ก็จะมีแข่งเองบ้างกับพี่ๆ ที่สนามเวลาฝึกแด้ดดี้ เราอาจจะตีได้ดี แต่พอเข้าแข่งขันจริงๆ เราอาศัยตีอย่างเดียว ไม่มีการวางแผนการเล่น ผลงานก็เลยไม่ค่อยดีเท่าไหร่
เข้ามหาวิทยาลัยคือจุดเปลี่ยน : ในช่วงที่อยู่ ม.6 เพื่อนของคุณพ่อแนะนำว่า มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังต้องการนักกีฬากอล์ฟ เราสามารถใช้ความสามารถด้านกีฬากอล์ฟ เข้ามหาวิทยาลัยผ่านทางโครงการช้างเผือกได้ คุณพ่อมาถามว่าสนใจมั้ย เราสนใจก็เลยหันมาซ้อมอย่างจริงจัง เพื่อให้ผ่านตามเกณฑ์การคัดเลือกของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็สามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ในที่สุด
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย : เลือกเข้าเรียนคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย ทีเแรกเข้าใจว่าเรามาในฐานะนักกีฬาคงเรียนไม่หนัก แต่ที่มหาวิทยาลัยเขาให้ความสำคัญเรื่องกีฬากับการเรียนควบคู่กันมาก คือกีฬาเด่นการเรียนก็ต้องดีด้วย ช่วงนั้นเลยต้องทั้งเรียน ทั้งซ้อม ทั้งแข่ง เหนื่อยเหมือนกันแต่ก็มีความสุขเพราะว่า ทีมงานที่เป็นผู้ฝึกสอนและทีมงานที่คอยดูแลนักกีฬา เขาดูแลในทุกเรื่องดีมาก ไม่ว่าจะเป็น การซ้อม ตารางเรียน แล้วก็มีการจัดครูมาสอนพิเศษด้วย เพื่อจะไม่มีปัญหาในเรื่องเรียน การได้เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย มีอะไรหลายอย่างในชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปมาก ที่เห็นได้ชัดคือ เรามีความเป็นระเบียบวินัยมากขึ้น มีการวางแผนในเรื่องต่างๆ เช้ามาต้องทำอะไรบ้าง เรียนเสร็จต้องทำอะไรบ้าง เพราะว่าเวลาที่จะซ้อมก็มีน้อย ถ้าเราไม่วางแผนให้ดี เราก็ไม่สามารถที่จะซ้อมได้ตามที่ต้องการ นอกจากนั้นยังช่วยให้เรามีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และที่สำคัญมีโค้ช ที่ช่วยให้มีระเบียบในการฝึกซ้อมและมีรูปแบบในการซ้อมที่ดีขึ้น ในช่วงตอนปี 1 ปี 2 ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ตอนเช้าเราเรียนในเรื่องวิชาการ ส่วนตอนบ่ายเวลาไปซ้อมก็เป็นการเพิ่มกิจกรรม ให้ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน ก็เลยยังสนุกกับการทั้งเรียนและซ้อม พอมาในช่วงปี 3-4 ก็เรียนหนักมาก รวมถึงมีรายงาน วิทยานิพนธ์ต่างๆ ก็ทำให้กอล์ฟเริ่มดร็อปลง
ผลงานระหว่างที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย : เราเข้าไปก็ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยลงแข่งขันกอล์ฟทันที ในปีนั้นก็มีการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยครั้งที่ 33 ศาลายาเกมส์ ซึ่ง ม.มหิดล เป็นเจ้าภาพ และเป็นครั้งแรกที่ส่งนักกีฬากอล์ฟลงแข่งขันด้วย แต่ก็สามารถคว้าเหรียญทองแดงกลับมาได้ ก็นับว่าประสบความสำเร็จทีเดียว
ก้าวเข้าสู่เส้นทางกอล์ฟอาชีพ : หลังจากเรียนจบ ก็คุยกับคุณพ่อว่า เราก็ยังชอบกอล์ฟอยู่ เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้จับไม้กอล์ฟ ได้ตี ได้เห็นหญ้า เห็นธง ตั้งใจไว้ว่า ถ้าทำงานก็คงทำงานในสนามกอล์ฟนี่แหละ แต่ก่อนอื่นขอเดินตามความฝันก่อน ก็คือเทิร์นโปร ลุยในทางสายกอล์ฟอาชีพเลย พอเรียนจบรับปริญญาแล้ว ก็ตั้งเป้าเดินสายแข่งขันเลย
เว้นวรรคไปช่วงหนึ่ง : จากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปี พ.ศ.2554 ทำให้การแข่งขันรายการต่างๆ ต้องพักไปด้วย ซึ่งในช่วงนั้นการแข่งขันกอล์ฟก็เป็นรายได้ทางหนึ่งของครอบครัว ก็เลยหยุดเรื่องแข่งกอล์ฟไปก่อน หันไปทำงานทางด้านที่เรียนมา แต่ระหว่างนั้นก็ยังเล่นกอล์ฟอยู่ เล่นอยู่กับชมรมกอล์ฟที่หัวหิน ซึ่งมีแข่งขันกันประจำ ก็ยังได้ฝึกซ้อมฝีมืออยู่ ทำงานอยู่ราวๆ 1 ปี ก็กลับมาแข่งขันจริงจังอีกครั้ง
เข้าเป็นครอบครัว ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ : ด้วยความที่เราโตมาในสนามเลควิวตั้งแต่เด็ก ก็มีโอกาสได้รู้จักกับผู้ที่อยู่ในโครงการ ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ หลายคน พอเขารู้ว่าเรากลับมาเดินในเส้นทางสายกอล์ฟอาชีพอย่างจริงจัง ก็เลยมีการติดต่อพูดคุยกัน และได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในครอบครัว ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์
กลับมาสู่เส้นทางกอล์ฟอาชีพแบบจริงจัง : ตอนที่เริ่มกลับมาตีกอล์ฟจริงจังรอบหลังสุดนี้ โชคดีที่ได้โครงการ ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่อง ลูกกอล์ฟ สนามไดร์ฟ การฝึกซ้อม โค้ช ปีแรกที่กลับมาเล่นเต็มตัวก็เข้ารอบ 1-2 แมตช์ แต่หลังจากที่การเข้ามาดูแลของทีม ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ เริ่มส่งผล ไม่ว่าจะเป็นแผนการออกกำลังกาย การวางแผนจัดระเบียบการฝึกซ้อม รวมถึงวางแผนในการตั้งเป้าแต่ละวันที่ลงแข่งขัน ทำให้ในปีที่สองที่กลับมาเล่น ทำผลงานได้ดีขึ้น เข้ารอบหลายรายการที่ลงแข่ง เริ่มมีออกไปแข่งต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ได้เงินรางวัลกลับมาตลอด
เริ่มเปลี่ยนเส้นทางอีกครั้ง : ในช่วงหลังรายการแข่งขันของกอล์ฟสตรีในประเทศลดลง บวกกับไม่สามารถเดินทางไปแข่งขันรายการต่างประเทศได้ ก็เลยผันตัวเองมาทำงานเป็นโค้ชแทน
วิถีชีวิตในช่วงสถานการณ์โควิด : ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปออกรอบ แต่เราก็ยังคงดูแลตัวเองทั้งในเรื่องของวงสวิงและร่างกายให้มีความสม่ำเสมอตลอด ยังคงออกกำลังกาย ซ้อมวงสวิงอยู่ที่บ้าน ในส่วนบทบาทของการเป็นโค้ช ก็มีการถ่ายคลิปเทคนิคต่างๆ ที่สามารถแนะนำผ่านคลิปได้ ให้กับนักเรียนที่เขาเรียนกับเราอยู่ รวมถึงการดูแลนักเรียนที่และโรงเรียนที่เราไปสอน ทั้งแก้ไขวงสวิง ที่เขาสามารถแก้ไขและนำไปฝึกซ้อมในช่วงนี้ได้ นอกจากนั้น ป่านเป็นคนชอบทำอาหาร การได้ทำอาหารก็ถือเป็นการช่วยผ่อนคลายเราทางหนึ่ง แถมยังได้ทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายเรา ก็ถือว่าได้สองต่อ ได้ผ่อนคลายตัวเองด้วย แล้วก็ได้ดูแลสุขภาพของเราเองด้วย ส่วนเวลาว่างนอกเหนือจากนั้น ก็ชอบดูคลิปที่มีมุมมองดีๆ ในสื่อต่างๆ ก็ทำให้เรามีมุมมองในแต่ละวันที่มีความสุข
สถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว : อยากทำงานในบทบาทของการเป็นโค้ชต่อ อาจจะมีบางรายการที่อยากไปแข่งขัน เพื่อศึกษารูปแบบทัวร์ว่าเป็นไปในทิศทางไหน เพื่อที่จะเอาสิ่งเหล่านี้กลับมาสอนนักเรียนที่เราดูแล เพราะว่าตั้งแต่เราแข่งขันกอล์ฟมา เราเห็นว่าการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอด สมัยก่อน เรามักเน้นที่ความแม่นยำ ให้ความสำคัญเรื่องตีไกลเป็นรอง ปัจจุบันการตีไกลก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น จะสังเกตุเห็นว่า โปรสตรีปัจจุบันหลายๆ คนตีไกลมาก บวกกับทัวร์ต่างๆมีการเซ็ตอัพสนามที่ยาวขึ้น ถ้าเราไม่เพิ่มศักยภาพตรงนี้ เราก็จะเสียเปรียบ ซึ่งความรู้ต่างๆ เหล่านี้ เรานำมาถ่ายทอดสู่น้องๆ ต่อได้
ชื่อ สกุล : จันทร์จิรา เทียนสอาด ( ป่าน )
อายุ 34 ปี
วันเดือนปีเกิด : 11 กุมภาพันธ์
ส่วนสูง : 156 ซม.
น้ำหนัก : 64 กก.
ภูมิลำเนา : ประจวบคีรีขันธ์
จุดเริ่มต้นของกีฬากอล์ฟ : เติบโตอยู่ในสนามกอล์ฟตั้งแต่ยังเด็ก
จุดเด่นในเกมส์กอล์ฟ : การเล่นลูกสั้น
ระยะไดร์ฟเฉลี่ย : 240-250
เทิร์นโปรปีไหน : 2011
ผลงานเด่น : ได้เหรียญทองแดง ในกีฬามหาวิทยาลัย