ดร.ประเสริฐ แก้วแจ่ม
ดร.ประเสริฐ แก้วแจ่ม
ผู้อำนวยการ วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา
“ขยัน เสียสละ ซื่อสัตย์ เต็มที่กับงาน”
เด็กคลองสวน : เกิดและโตที่คลองสวน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างฉะเชิงเทรากับสมุทรปราการ ครอบครัวมีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงปลา สวนมะม่วง เมื่อสมัยเด็กก็ได้ทำงานเหล่านี้ได้ทั้งหมด พอโตเข้าระบบการศึกษา ก็ค่อย ๆ ห่างหายไป เพราะต้องไปเรียนที่อื่น
เรียนสายช่าง ครูสายช่าง : ผมจบ ม.ต้น โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จากนั้นเรียนต่อ ปวช. วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จนจบ ปวส. และเข้าศึกษาต่อที่ วิทยาลัยช่างกลปทุมวัน พอจบทำงานเป็นครูจ้างสอนที่ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ และบรรจุรับราชการในอีก 2 ปีต่อมา ที่วิทยาลัยการอาชีพพานทอง พร้อมกับเรียนปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา และขอย้ายกลับมาที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการอีกครั้ง แต่เมื่อทำงานไปแล้วเกิดอุปสรรคขึ้น ผมก็คิดที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวของเราเอง เลยตัดสินใจ ทำเรื่องลาศึกษาต่อ ไปเรียนปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
หันหน้าเข้าวัด : ผมจบปริญญาโทมาแล้ว แต่ไม่คิดว่าการเรียนปริญญาเอกจะยากขนาดนั้น เป็นการเรียนที่ต้องศึกษาด้วยตัวเองแทบจะทั้งหมด กว่าจะเขียนหัวข้องานวิจัยออกมาได้ เป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องตระเวนไปตามหอสมุดมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หลาย ๆ แห่ง เพื่อค้นคว้าข้อมูล ผมทำเสนอไปสามเรื่อง ไม่ผ่านเลยสักเรื่อง อาจารย์ให้เหตุผลว่า ผมไม่ถนัดในสิ่งที่จะทำ ซึ่งเกือบจะกลายเป็นจุดเปลี่ยน ทุกอย่างมันล้มลงไปหมด ตอนนั้นยอมรับเลยว่ารู้สึกแย่มาก ก่อนหน้าก็ไม่เคยคิดว่าตัวเอง จะต้องหาวิธีสงบสติอารมณ์ ด้วยการเข้าวัดเลย แต่ครั้งนี้มันหนักมากจนต้องอาศัยวิธีนี้ ถึงขนาดตั้งจิตอธิษฐานว่า เมื่อออกจากวัดไปแล้ว ขอให้ตัวเองตัดสินใจในสิ่งที่ถูกที่ควรด้วยเถอะ
ลาออก : ตอนเช้า ผมตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า จะลาออกจากมหาวิทยาลัย ไม่เรียนอีกแล้ว จึงเข้าไปที่กระทรวงฯ เพื่อทราบขั้นตอนการทำเรื่องลาออก แล้วตั้งใจจะหายตัวออกมาอย่างเงียบ ๆ แต่ปรากฏว่า พอไปทำเรื่องลาออกจากมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องใหญ่ของคณะฯ เนื่องจากผมจะเป็นคนแรกของภาคฯ ซึ่งเรียนคอร์สเวิร์คจบแล้ว แต่จะลาออก
จุดเปลี่ยนชีวิต : อาจารย์เรียกผมไปคุย ด้วยความเป็นห่วงและเข้าใจว่า อุปสรรคหลักคือ ผมไม่มีทุนในการลงทะเบียนเพื่อเรียนต่อ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ประเด็นสำคัญ, ท่านก็ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย เช่น การทยอยลงทะเบียนเรียน เพื่อแบ่งเบาภาระไม่ให้หนักเกินไป ครั้งแรก อาจารย์ให้ผมลงแค่ 3 หน่วยกิต เพราะคิดว่าไม่มีเงินถึงคิดจะลาออก และผมได้ศึกษาการเขียนหัวข้อสำหรับงานวิจัยให้ลึกขึ้น จากคำแนะนำของอาจารย์ จนเริ่มมองเห็นหนทางเป็นไปได้ในการจะเรียนให้จบ แล้วผมก็ลงทะเบียนเรียนเทอมนั้น 9 หน่วยกิต ซึ่งเก็บได้ทั้งหมด โชคดีที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาให้ความใส่ใจ คอยช่วยเหลือ ท่านจะมาถึงมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตีห้าครึ่ง ให้เวลาช่วงนั้นกับนิสิตเต็มที่ มานั่งทำงานกัน พูดคุยปรึกษากัน จิบกาแฟกันไปด้วย แล้วอาจารย์ก็จะมีคำแนะนำให้ ทุกวันผมจะต้องมาพบท่านตั้งแต่เช้า และนั่งทำงานจนมืด จะออกจากห้องแค่ช่วงไปทำธุระ หรือพักทานข้าวเท่านั้น ทำให้ผมเรียนได้ค่อนข้างเร็ว ทั้ง ๆ ที่ตอนเริ่มเรียนครั้งแรก รู้สึกว่าหนักมากจนเกือบลาออก เมื่อจบการศึกษาทำให้ผมได้ของแถมเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาด้วย จากการนั่งทำงานนานเกินไป
งานวิจัย : ผมทำหัวข้อ “รูปแบบการจัดกระบวนการสอนรายวิชาเพื่อฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ” เป็นการพัฒนารายวิชา ที่จะนำออกไปฝึกงานในสถานประกอบการ เป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เราจะคัดเลือกวิชาในหลักสูตรยังไง เพื่อจะให้เด็กออกไปฝึกงานแล้วประสบความสำเร็จ จะได้มีสมรรถนะตรงกัน ต้องคุยกับโรงเรียน สถานประกอบการ แล้วทำร่วมกัน เช่น บริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศ ถ้าเด็กไปฝึก ต้องใช้สมรรถนะอะไร ที่เราต้องมาเลือกให้เหมาะสม จะแบ่งหน่วยการสอน การฝึก อย่างไร จนได้เป็นโมเดลออกมาว่า จะพัฒนาหลักสูตรรายวิชาอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ ให้ง่ายและทำได้ ซึ่งอุปสรรคหนึ่งก็คือ โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว สถานศึกษามักจะผลักภาระนี้ไปให้สถานประกอบการ ซึ่งวิธีการของเรา จะจัดทำรายละเอียดทั้งหมดแล้วนำไปเสนอสถานประกอบการ เพื่อให้เขาได้พิจารณาว่า มีสิ่งใดที่ตรงหรือไม่ตรง ควรเพิ่มหรือปรับลดในส่วนใด เป็นการทำงานร่วมกัน โดยครูผู้ควบคุมในสถานประกอบการไม่ต้องคิดเองทั้งหมด โดยรวมแล้วออกแบบมาเพื่อใช้กับช่างอุตสาหกรรม, พาณิชยกรรม เป็นหลัก แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกหลักสูตรเช่นกัน
ทำงานกระทรวงฯ : หลังจบ ป.เอก ก็กลับมาทำงานที่เดิม พอดีเพื่อนมีโอกาสเข้าไปทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แล้วแนะนำให้ผมเข้าไปช่วยทำงานที่นั่นด้วย ขณะที่ตำแหน่งประจำอยู่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ โดยผมสอนสัปดาห์ละ 4 วัน ส่วนอีก 1 วันก็เข้าไปที่ สอศ. พอปีการศึกษาต่อมา ผมได้ย้ายมาประจำที่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา, สอศ. ก็ขอตัวไปช่วยงานอีก สัปดาห์ละ 3 วัน ทำให้ผมได้ทำงานที่วิทยาลัยสัปดาห์ละ 2 วัน มีเวลาอยู่ที่วิทยาลัยน้อยมาก แล้วยังต้องสอนหนังสือตั้งแต่เช้าจนเย็น เพื่อให้ได้ครบตามข้อกำหนด ในการทำผลงานทางวิชาการ จนแทบจะไม่มีโอกาสได้คุยกับใครในวิทยาลัยเลย
เตรียมพร้อมไว้ก่อน : สมัยเรียน ป.เอก มีอยู่ช่วงหนึ่งผมเรียนหนังสือ 7 วันเต็ม, 5 วันเรียนที่มหาวิทยาลัยฯ อีก 2 วันเรียนที่ราชภัฏราชนครินทร์ เพื่อรับใบประกอบวิชาชีพผู้บริหาร แต่ยังไม่ได้ไปสอบสักที จนกระทั่งมาอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราจึงได้ไปสอบ และได้ขึ้นบัญชีเป็นผู้บริหาร ตอนไปสอบผู้บริหาร ตอนนั้นไม่เคยคิดว่าจะเป็นผู้บริหาร แต่ทุกอย่างผมจะเตรียมตัวเองให้พร้อมไว้ก่อน โอกาสมาเมื่อไหร่ก็พร้อมไปทันที
บริหารด้วยความนอบน้อม : ผมเริ่มงานด้านบริหารครั้งแรกโดยไปเป็นรองผู้อำนวยการที่วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านบริหารมาก่อนเลย ที่นั่นเป็นวิทยาลัยประจำจังหวัดที่ใหญ่มาก นิสัยของผมคือความนอบน้อม เวลาไปทำงานก็ยกมือไหว้ทุกคน จนรับความเมตตาจากผู้ใหญ่ มีปัญหาอะไรก็ค่อย ๆ พูดจา แก้ปัญหากันไป, แต่ด้วยความที่เราไม่คุ้นเคยกับทั้งสถานที่ ผู้คน ทำให้เมื่อไปอยู่ใหม่ ๆ รู้สึกอึดอัดในหลาย ๆ เรื่อง จนตั้งใจว่า 1 ปี ต้องย้ายให้ได้ แต่พอเริ่มปรับตัวได้ คนก็เริ่มเอ็นดูเรา ทำงานเข้ากันได้ ก็รู้สึกเสียดายเหมือนกัน โดยหกเดือนแรก ผมทำหน้าที่ รองฯ ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ ส่วนหกเดือนหลัง เป็น รองฯ ฝ่ายบริหารทรัพยากร เป็นเรื่องเกี่ยวกับ คน เงิน บัญชี พัสดุ ซึ่งผมไม่ถนัดเลย แต่ท่าน ผอ. อยากให้ รองฯ แต่ละฝ่ายสลับหน้าที่กัน ผมก็พยายามบอกท่านว่า เราไม่ถนัดขอศึกษางานฝ่ายเดิมไปก่อน ท่านเรียกไปคุยด้วยสองครั้ง ผมก็ยังไม่กล้ารับ แต่ในที่สุด ก็มีคำสั่งแต่งตั้งออกมาเลย โชคดีที่เราอาศัยความนอบน้อมถ่อมตน ทำให้ทุกสถานการณ์คลี่คลายได้
อยู่ได้ทุกที่ : ผมได้กลับมาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ ในฐานะผู้บริหาร ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ซึ่งเดิมทีผมเคยเป็นครูสอนที่นี่มาก่อนหน้านี้ หลาย ๆ คนเคยพูดกันว่า การเป็นผู้บริหาร ไม่ให้กลับไปในสถานศึกษาเดิม เพราะเขายังมองเห็นและติดภาพเดิมที่เราเป็นครูมาก่อน พอมาเป็นผู้บริหาร ความน่าเชื่อถืออาจจะมีหรือไม่ แต่ด้วยความมั่นใจว่า ขณะที่เคยเป็นครู ไม่เคยมีความเสื่อมเสียในเรื่องใด ๆ ก็ทำงานตามหน้าที่ได้อย่างปกติ ไม่มีปัญหาอย่างที่หลาย ๆ คนกังวลกัน และผมเป็นคนมีขั้นตอนในการทำงานชัดเจน อย่างช่วงเข้าแถวตอนเช้าเสร็จ ผมจะเดินเข้าห้องสมุดก่อน ดูความเรียบร้อยทั้งหมด ถัดไป ขึ้นแผนกสามัญ เดินตามห้อง เดินไปพาณิชย์ จบที่ห้องทำงาน เป็นกิจวัตรประจำทุกวัน ครูอาจารย์เขาจะรู้กันหมด ตรงไหนไม่ดีผมก็แจ้งจัดการให้เรียบร้อย
ไม่เกี่ยงงาน : ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมทำงานทุกอย่างโดยไม่มีปฏิเสธงาน ตั้งแต่งานพื้นฐานไปจนถึงงานระดับบริหารเลย บางครั้งได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการร่วมกับองค์กรใหญ่ ๆ ต้องทำตั้งแต่เริ่มจนจบ ทำให้ได้รับประสบการณ์มากมาย ปกติครูสายช่าง อย่างผมจบช่างไฟฟ้า จะร่างหนังสือไม่ค่อยเป็น เริ่มทำหนังสือราชการครั้งแรก ถูกตีกลับ ต้องแก้ไขคำพูด ต้องหาคำพูดที่ถูกต้อง เหมาะสม สุภาพเรียบร้อย ตามหลักราชการ แต่ยังต้องให้ได้ใจความ เพื่อทำให้หน่วยงานที่เราส่งหนังสือไปถึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการสั่งการหรือรบกวน และเต็มใจให้ความร่วมมือกับเรา
ผอ.ป้ายแดง : ผอ.ที่ อาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา ชวนให้มาทำงานด้วยกัน เป็นรอง ผอ. ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้น ผมต้องอยู่ให้ครบวาระ 2ปี เพื่อให้ทำผลงานวิชาการได้ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจมา แล้วเริ่มสร้างผลงานทางวิชาการ และสอบขึ้นเป็นผู้บริหาร ตอนสอบคนเยอะมาก แต่ตำแหน่งมีน้อย แล้วผมก็สอบได้ลำดับที่ 62 ได้เรียกไปเป็นบรรจุเป็นผู้อำนวยการชุดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นวิทยาลัยเล็กเกือบทั้งหมด ผมได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการ เป็นครั้งแรกที่ วิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร บางปะอิน อยุธยา เป็นวิทยาลัยเดียวในประเทศไทย ที่เปิดสอนทางด้านอาชีวศึกษา ในระดับ ปวช. ปวส. กับพระภิกษุและสามเณร มีช่างเชื่อม ช่างยนต์ คอมพิวเตอร์ เทคนิคอุตสาหกรรม แอนิเมชั่น ซึ่งเด็กที่มาเรียน เรียนฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เก็บค่าใช้จ่าย หรือเรียกว่าเป็นกลุ่ม เด็กชายขอบ เราลำบากมากตรงที่งบประมาณมีจำกัด ได้รับความเมตตาจากพระปริยัติสารสุธี เจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ คอยให้การสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ เป็นหลัก ส่วนผมขณะทำงานอยู่ที่นั่น ถ้ามีผู้เดินออกมาจากวัดมาถึงวิทยาลัย ถ้าผมพบก็จะเข้าไปคุย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ ทำให้ผมได้เครือข่ายจากการเข้าไปพูดคุยทักทาย โดยไม่รู้จักกันมาก่อนเยอะมาก และได้มีโอกาสแนะนำวิทยาลัย บางท่านก็ยินดีร่วมบริจาคสนับสนุน หรือเข้ามาเป็นคณะกรรมการของวิทยาลัย
หลักสูตรหนึ่งเดียว : บางสิ่งที่วิทยาลัยของฆราวาสทำได้ แต่สำหรับพระทำไม่ได้เช่น วิชากิจกรรม ซึ่งเป็นวิชาบังคับ สำหรับเด็กทั่ว ๆ ไป เช่น เรียนลูกเสือ หรือ องค์การนักวิชาชีพ แต่กิจกรรมเหล่านี้พระเณรไม่สามารถทำได้ ก็ต้องไปพัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อให้สอดรับกับบริบท โดยเชิญหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยและพระภิกษุ เพื่อจัดทำหลักสูตรใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้กับที่นี่โดยเฉพาะ จำนวน 10 รายวิชา และได้รับอนุมัติจาก สอศ. เรียบร้อย เพื่อใช้สอนทดแทนวิชากิจกรรม
วิทยาลัยสารพัดช่าง : ผมย้ายกลับมารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา โดยทั่วไปแล้ว ที่นี่ก็มีบทบาทและหน้าที่เช่นเดียวกับวิทยาลัยเทคนิค และจุดประสงค์หลักที่ตั้งขึ้นมาก็คือ เป็นการสอนวิชาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน ชุมชน, นโยบายของเลขาธิการคือ อยากให้เรากลับไปสู่บริบทดั้งเดิม นั่นคือ เป็นวิทยาลัย ที่สอนวิชาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน โดยถ้าวิทยาลัยสารพัดช่างแห่งไหน มีเด็กนักเรียนไม่มาก ก็จะให้ปิดการสอน ปวช. ปวส. โดยทยอยสอนให้จบไป แล้วไม่รับใหม่
วิกฤติทำให้เปลี่ยน : ก่อนหน้าโควิดจะรุนแรง กิจกรรมของวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรากำลังไปได้ด้วยดี เราจัดตารางเรียน จัดครู จัดรถ ไปสอนถึงที่ ในรายวิชาที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือหนัก ๆ แต่ถ้าบางรายวิชา มีความจำเป็นจะต้องมาเรียนที่นี่ เพราะเหตุผลเรื่องเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อม เช่น เครื่องยนต์ เครื่องจักร เราก็มีรถไปรับไปส่ง โดยมีโรงเรียนหลายแห่งเข้าร่วมโครงการ ช่วงโควิดมาแรง ๆ เราปิดภาคเรียนและปฏิบัติตามมาตรการ สิ่งที่กระทบก็คือ เราไม่ได้เปิดรับเด็กเพิ่ม ยอดผู้เรียนในระบบก็จะหายไป จึงปรึกษากันว่า จะทำอย่างไร เพื่อจะเพิ่มผู้เรียนในหลักสูตรระยะสั้นได้ ก่อนหน้านี้เรามีหลักสูตรเรียนร่วมอาชีวศึกษาหรือทวิศึกษา เด็กที่เรียนโครงการนี้จะได้รับสองวุฒิ จบ ม.6 ด้วย รับวุฒิ ปวช. ด้วย ในระยะเวลา 3 ปี ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนระบบ ยอดเด็กก็น้อยลง เราจึงต้องขยายเครือข่ายโรงเรียน โดยการสอนวิชาชีพระยะสั้น ในโรงเรียนมัธยม หรือประถม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมาก โดยการบอกปากต่อปาก
พัฒนาหลักสูตร : ประชาชนที่มาหาเราจริง ๆ มีอยู่ไม่กี่หลักสูตร ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรพื้นฐานที่จะไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราจะไม่ทิ้งวิชาพื้นฐานเหล่านี้ แต่ก็ต้องพัฒนาหลักสูตรอื่นไปด้วย จึงทำสองระบบควบคู่กันไป เรายังเปิดรับหลักสูตรพื้นฐานทั่วไปตามปกติ เช่น ทำอาหาร ตัดผม นวด ฯลฯ ส่วนหลักสูตรที่รองรับกับการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน เพื่อไปใช้กับภาคอุตสาหกรรม ก็เปิดควบคู่กัน แต่กลุ่มเป้าหมายจะต่างกันไป เราได้ไปพูดคุยกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้สหภาพคัดกรองส่งคนให้มาเรียนที่วิทยาลัย ในสาขาเฉพาะ เช่น เครื่องปรับอากาศ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม แขนกล พีแอลซี ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีกหลาย ๆ หลักสูตร หากสถานศึกษาหรือสถานประกอบการมีความต้องการในหลักสูตรใด แต่เราไม่มีมาก่อน ก็จะมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เช่น หลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางด้านกีฬากอล์ฟ ซึ่งเราก็ได้เริ่มเปิดให้การอบรมเบื้องต้นไปแล้ว
เหนื่อยวันนี้เพื่อวันหน้า : ผมบอกบุคลากรในวิทยาลัยเสมอว่า เหนื่อยกันหน่อย ลำบากกันหน่อยนะช่วงนี้ เพราะในอนาคตเราจะสบาย ในอนาคตเด็ก ปวช. ที่เรียนค้างอยู่แต่ก็จะเริ่มหมดไป และจะไม่มีเด็กในระบบปกติแล้ว ดังนั้นถ้าใคร โรงเรียนไหน เข้ามาขอให้เราไปสอน แล้วเราไม่ตอบรับ อีกหน่อยเมื่อหมดเด็ก ปวช. แล้วเราจะหันไปขอความช่วยเหลือใครคงยาก ดังนั้น ใครเข้ามาขอให้วิทยาลัยไปสอนผมไม่ปฏิเสธเลย ไกลหน่อย วิชาน้อย ก็ไปสอนให้ ปัจจุบันเราจึงได้ทำ บันทึกข้อตกลง กับ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 21 แห่ง ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา, ในปีถัดไป เด็กของเราจะจบไปอีกหนึ่งรุ่น ครู อาจารย์ ก็จะมีชั่วโมงว่างขึ้น แต่จำนวนผู้เรียนจะลดลง เราจึงต้องขยายความร่วมมือ ขยายรายวิชาออกไป
ศูนย์ทดสอบ : โดยจะทำร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการทดสอบ สมรรถนะอาชีพ ตั้งเป้าหมายไว้ จำนวน 3 สาขา ในแต่ละปีเวลาจะได้รับงบประมาณครุภัณฑ์มา ก็จะขอคำปรึกษากับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเลยว่า เงื่อนไขข้อกำหนดของการตั้งศูนย์คืออะไร แล้วนำมาเขียนคุณสมบัติของครุภัณฑ์เพื่อให้สอดรับกับการตั้งศูนย์ทดสอบ ได้ครุภัณฑ์มาก็จะตอบโจทย์ อย่างตอนนี้ที่เราเตรียมความพร้อมไว้แล้วก็คือ 1. เครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ 2. ยานยนต์ไฟฟ้า 3.คอมพิวเตอร์ และต่อไปที่นี่ยังจะเป็นจุดชาร์จของรถไฟฟ้า โดยได้มีการประสานงานกับทางจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังรออนุมัติการดำเนินงาน
ขยัน เสียสละ ซื่อสัตย์ : ผมเต็มที่กับงาน อยากให้วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทราเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อม ชุมชนและจังหวัดรู้จัก สามารถอบรมประชาชนให้มีความรู้ มีทักษะ สร้างชื่อเสียงให้กับวิทยาลัยได้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองทำงานมากเกินไปหรือเปล่า แต่ถ้างานไม่เสร็จก็จะไม่เลิก ถ้ามีงานวันเสาร์ก็จะมาทำ ไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ผมจะไม่รบกวนคนอื่นนอกเหนือเวลาทำงานปกติ มากสุดก็แค่โทรถามรายละเอียด แล้วลงมือทำเอง
ดูแลตัวเอง : ก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายมากนัก จนกระทั่งได้มาอยู่ที่นี่ มีเครื่องออกกำลังกาย อุปกรณ์ครบครัน ช่วงก่อนโควิดได้เปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไปด้วย เก็บค่าบริการถูกมาก ถึงจะไม่คุ้มทุน เพราะต้องจ้างครูมาคอยดูแล คอยให้คำแนะนำ มีค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา แต่ทางวิทยาลัยก็อยากให้บริการสังคม ผมก็ได้อาศัยออกกำลังกายด้วย แต่ถ้ากิจกรรมหลักในช่วงก่อนหน้าโควิด ผมก็จะนัดเพื่อน ๆ ไปเที่ยวธรรมชาติกันบ้าง ทานข้าวกันบ้างสัปดาห์จะหนึ่งวัน หรือก่อนหน้านี้ เมื่อมีโอกาสได้ออกไปบรรยายทางวิชาการตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็จะอาศัยเวลาว่างที่เสร็จจากการทำงานไปแวะเที่ยว ส่วนทางจิตใจ ทุกวันพระผมจะใช้เวลาสวดมนต์บทยาว ๆ ส่วนวันธรรมดาก็จะสวดมนต์สั้น ๆ ตามเวลาที่เหมาะสม และที่พยายามทำอยู่บ่อย ๆ คือ การบริจาคเกล็ดเลือดทุกเดือน ซึ่งทำได้ที่สภากาชาดไทยเท่านั้น พอได้ทำเป็นประจำแล้ว ทางด้านสุขภาพกาย ก็รู้สึกว่าแข็งแรง มีความพร้อมอยู่เสมอ ส่วนสุขภาพใจ ก็อิ่มบุญมีความสุขในฐานะเป็นผู้ให้ด้วยครับ