Just Say Know

เภสัชฯ จุฬาฯ แนะวิธีซื้อและใช้ “ฟ้าทะลายโจร”

เภสัชฯ จุฬาฯ แนะวิธีซื้อและใช้ “ฟ้าทะลายโจร”

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเสวนาเรื่อง “ฟังให้ชัดกับการเลือกซื้อฟ้าทะลายโจรในสภาวะวิกฤต ในประเด็น ราคา คุณภาพ และความปลอดภัย” ขึ้น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และการนำไปใช้อย่างเหมาะสมปลอดภัย โดยได้รับเกียรติจาก คุณสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค, รศ.ภญ.ดร.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ชัยสัมฤทธิ์โชค, ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ รศ.ภก.ดร.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเป็นวิทยากร

ในมุมของสภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่า การจำหน่ายฟ้าทะลายโจร มีปัญหาในเรื่องราคาที่สูงมากอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการปลอมและการสวมทะเบียนผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งขณะนี้ สภาองค์กรฯ พยายามประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ยังไม่ได้รับการประสานงานอย่างจริงจัง

รศ.ภญ.ดร.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีการวิจัยยืนยันว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถใช้ในการป้องกันโรค COVID-19 จึงไม่แนะนำให้ใช้ในการป้องกัน เพราะพบว่าหลายคนใช้ในขนาดต่ำๆ เป็นระยะเวลานาน แล้วพบว่าค่าเอนไซม์ Enzyme บางชนิดในตับสูงขึ้น มีการอ้างถึงกรณีการใช้ฟ้าทะลายโจรในเรือนจำกลางของ กทม. ซึ่งใช้ผงฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 144 มิลลิกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ในกรณีที่เราไม่ทราบปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ที่แน่นอน อาจอ้างอิงการใช้จากบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการรักษาไข้หวัด ซึ่งแนะนำว่าสามารถใช้ได้สูงสุดสำหรับผู้ใหญ่ ครั้งละ 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

ทั้งนี้ กรมการแพทย์มีแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการ โดยให้การใช้ฟ้าทะลายโจร 180 มิลลิกรัม/วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง (มื้อละ 60 มิลลิกรัม) ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ ซึ่งในปัจจุบัน กรณีที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จะห้ามใช้คู่กับฟ้าทะลายโจร ดังนั้นการใช้ฟ้าทะลายโจรจะต้องมีการติดตามประสิทธิผล รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจะเกิดขึ้น เบื้องต้นรับประทานติดต่อกัน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ถ้าไม่มีความเสี่ยงเรื่องตับ อาจจะรับประทานต่อได้ แต่ควรจะไม่เกิน 14 วัน

หากนำใบฟ้าทะลายโจรมาใช้ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะนำให้ใช้ใบฟ้าทะลายโจรจากต้นที่เริ่มออกดอกแล้ว ซึ่งในใบจะมีแอนโดรกราโฟไลด์สูงสุด โดยรับประทานครั้งละ 5-10 ใบ วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบติดต่อเพื่อหายาฟาวิพิราเวียร์ นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังเรื่องยาตีกันจากการใช้ฟ้าทะลายโจร ดังนั้นจึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร หากต้องรับประทานติดต่อกันเป็นหลายวัน สำหรับในเด็ก 4-11 ปี มีข้อแนะนำให้ใช้ สารแอนโดรกราโฟไลด์ 30 มิลลิกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง รับประทานไม่เกิน 5 วัน

ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ชัยสัมฤทธิ์โชค กล่าวเสริมเรื่องการดูฉลากยา เพราะบางฉลากไม่มีข้อมูลปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ในขณะที่บางฉลาก ข้อมูลแผ่นพับ หรือ ในโซเชียลมีเดีย มีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด จงใจหลอกหลวง หรืออาจเกิดจากความไม่รู้ข้อมูลที่เพียงพอของผู้ผลิตเอง ผู้บริโภคต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์องค์กรที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ปัจจุบันมียาปลอมเกิดขึ้น โดยฟ้าทะลายโจรจะต้องเป็นยากลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีเลขทะเบียน G ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบชื่อการค้า รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของผลิตภัณฑ์เบื้องต้นจากเว็บไซต์ของ อย. ได้

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ รศ.ภก.ดร.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ย้ำว่า คุณภาพของฟ้าทะลายโจรไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์เพียงอย่างเดียว ต้องควบคุมคุณภาพในแง่มุมอื่นๆ ด้วย เช่น เวลาที่ใช้ในการแตกกระจายตัวของยา ความแตกต่างจากน้ำหนักเฉลี่ย ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนัก ปริมาณการตกค้างของตัวทำละลายที่ใช้สกัด และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็ ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรแก่ประชาชนด้วย

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย