For Golf Trust

ความเป็นจริงของธรรมชาติกีฬากอล์ฟ

ความเป็นจริงของธรรมชาติกีฬากอล์ฟที่ควรทราบ
เพื่อการเชีย์และการฝึกกีฬากอล์ฟอย่างมีความสุข

ช่วงของการล็อกดาวน์อยู่กับบ้านกับสถานะการณ์โควิด-19 เป็นช่วงพอดีกับการมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และมีการแข่งขันของนักกอล์ฟหญิงให้เราได้ติดตามคลายความหงุดหงิดไปได้บ้าง

หลังการแข่งขันโอลิมปิก มีดราม่าเกิดขึ้นมากมายกับนักกีฬาทั่วโลก มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือเกี่ยวกับนักว่ายน้ำของชาวสิงคโปร์ ชื่อ “โจเซฟ สคูลลิ่ง” ความหวังเหรียญใดเหรียญหนึ่งของโอลิมปิกที่โตเกียว แต่ปรากฎว่า นอกจากไม่ได้แค่เหรียญ แต่ยังตกรอบได้ที่สุดท้ายของการคัดเลือกในกลุ่มตัวเอง ทำความผิดหวังให้ชาวสิงโปร์เป็นอย่างมาก

“สคูลลิ่ง” เคยเป็น “เนชั่นแนล ฮีโร่” เมื่อปี 2016 ในกีฬาโอลิมปิคที่”ริโอเกมส์”ประเทศบราซิล เพราะเขาได้เหรียญทองว่ายน้ำท่าผีเสื้อ 100 เมตร เป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของว่ายน้ำชาวสิงคโปร์ เป็นการทำลายสถิติ และที่สำคัญได้เอาชนะ “ไมเคิล เฟลป์ส” อีกด้วย เมื่อเขาอายุ 21 ปี

เขาได้รับเงินรางวัลหลายสิบล้านจากรัฐบาล ได้รับเหรียญสดุดีเกียรติยศจากรัฐบาล ตามด้วยถูกเอาชื่อสกุล “สคูลลิ่ง” ไปใส่ในพันธุ์กล้วยไม้ ให้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล มีพวกสินค้ามาให้เขาเป็นพรีเซนเตอร์มากมาย เงินไหลมาเทมา ออกงานตลอด  และได้รับการผ่อนผันทหารไปจนถึงอายุ 26 ปี ซึ่งไม่ค่อยมีใครได้รับกัน

สาเหตุที่เขาพ่ายแพ้อย่างหลุดฟอร์ม ก็เพราะหลังจากได้เหรียญทองกลับมา ชีวิตเขาเปลี่ยนไป น้ำหนักเพิ่ม 7 ก.ก. ขาดการฝึกซ้อม

สคูลลิ่งมายอมรับเรื่องนี้ภายหลังว่า “พอคุณได้เหรียญโอลิมปิก คุณจะรู้สึกได้เลยว่า อะไรที่คุณจับก็เป็นทองคำไปหมด มันเลยกลายเป็นความลำพองใจ ผสมกับความย่ามใจในเวลาเดียวกัน จนคุณเชื่อว่า ทุกสิ่งที่คุณทำมันไม่มีอะไรผิดแน่ๆ”

เขายังเปิดเผยอีกว่า “ผมดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ผมชอบแม็คโดนัลด์ ผมชอบแม็คสไปซี่ ผมชอบกินของทอดชอบกินขนมผักกาด”

ช่วงที่เขาประสบความสำเร็จ เป็นเพราะว่าตอนนั้นเขาเรียนอยู่อเมริกา ฝึกซ้อมอย่างหนักกับโค้ชเก่งๆและกับนักกีฬาเก่งๆของมหาวิทยาลัย แต่พอกลับมาอยู่ที่สิงคโปร์ ไม่มีใครกล้าออกคำสั่งใดๆให้กับเขา โค้ชท้องถิ่นจะเก่งแค่ไหน ถึงจะมาสั่งสอนนักกีฬาระดับแชมป์โอลิมปิกได้ นั่นส่งผลให้สคูลลิ่งรู้สึกผ่อนคลายมากเกินไป จนเสียวินัยหลายๆอย่าง ทั้งการซ้อม และการกิน

ในเมื่อชีวิตนอกสนามมันสนุกกว่า ได้ชื่อเสียง ได้เงินทอง แล้วทำไมวัยรุ่นอายุยี่สิบต้นๆแบบเขาต้องผลักดันตัวเองให้เหนื่อยหนักหนาสาหัสซ้ำเดิมทุกๆ วันด้วย

สคูลลิ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวว่า “ถามว่าผมสนุกไหมกับการซ้อมว่ายน้ำเป็นพัน เป็นหมื่นเมตร คำตอบคือไม่เลย ไม่สนุก จริงๆผมก็ทึ่งกับตัวเองนะ ที่อดทนซ้อมมาได้หลายปีขนาดนั้น เพราะลึกๆแล้ว ผมเป็นคนขี้เบื่อมากๆ”

กว่าจะรู้ตัว มันก็สายไปแล้ว และอีก 4  ปีข้างหน้าก็ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เพราะอายุเพิ่มมากขึ้นประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อลดลง และที่สำคัญความอยาก ความกระหายมันหายไป

ที่ยกขึ้นมาเล่านี้ ก็เพื่อจะเป็นเครื่องเตือนสตินักกอล์ฟ ที่พอดังมีชื่อเสียงแล้ว ชีวิตจะเปลี่ยนไป ความมีเงินเข้ามา จับอะไรเป็นเงินเป็นทอง ทำให้วินัยและเวลาจะหายไป จะไม่ค่อยมีเวลาฝึกซ้อม ต้องมีงานแทรกเข้ามาต่อเนื่อง ยิ่งประเทศไทยด้วยแล้ว ขอให้มีใครดังขึ้นมาเถอะ คนอยากเจอ อยากช่วยมาก ต้องไม่ลืมว่า“กอล์ฟไม่ใช่เก่งแล้วเก่งเลย”

อันประการหนึ่งที่จะให้เห็นคือ กีฬากอล์ฟได้เปรียบตรงที่ไม่ใช่กีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแรง ความสดของกล้ามเนื้อเป็นหลัก จะต้องมีเรื่องของการควบคุมน้ำหนักในระยะต่างๆ

ทำให้ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบเรื่องรูปร่าง เรื่องวัย เรื่องความฟิต ขอเพียงฝึกซ้อมทุกๆทักษะอย่างต่อเนื่องสำหรับกีฬากอล์ฟแล้ว ถ้าคุณไม่ได้ซ้อม หรือซ้อมน้อย นั่นเท่ากับปิดโอกาสของการที่จะเป็นแชมป์หรืออยู่อันดับต้นๆ

สำหรับความสามารถของการเล่นกอล์ฟของคนเรานั้น แน่นอนว่า คนที่ยังไม่เก่งสกอร์ก็จะมากเกินร้อยคนที่เก่งขึ้นมาสกอร์ เฉลี่ย 80 อย่างไรเสียสกอร์ก็จะเฉลี่ยอยู่แถวนั้นโอกาสจะตีต่ำกว่า 72 ยาก และคนที่ตีเฉลี่ยต่ำกว่า 72  เขาก็จะมีความสามารถทำสกอร์ไปอยู่ใกล้เคียงแถวนั้น ซึ่งทุกค่ามาจากค่าเฉลี่ย มีบวกมีลบ ไม่ใช่ว่าครั้งหนึ่งเคยได้ 65 แล้วต่อไปทุกครั้งจะได้อีก ซึ่งถ้าเข้าไปดูเฉลี่ยสกอร์ของนักกอล์ฟดังๆ จะอยู่ประมาณ 68-69 ยังไม่มีใครต่ำกว่านั้น ทั้งๆที่บางคนตีได้สกอร์ 62 แต่เพราะว่าบางวันก็ตีเกิน 4 เกิน 5

เห็นอยู่เสมอๆว่า เป็นแชมป์รายการที่แล้ว แต่มารายการนี้ผลงานไม่ดี ตกรอบ ก็มีมากมาย หรือคนที่เป็นมือหนึ่งของโลก มาเล่นอีกรายการ อีกสนามหนึ่งประคองตัวไม่ให้ตกรอบก็แย่แล้ว

อยากยกตัวอย่างการแสดงความสามารถของการเล่นกอล์ฟให้เหมือนกับ “การเดาะลูกกอล์ฟ”

คนเดาะลูกกอล์ฟใหม่ ยังไงก็ยังไม่ได้ พอได้เกิน 5 แล้วก็จะเริ่มได้เป็น 10 กว่าจะได้ ครั้งก็ต้องใช้เวลา และพอผ่านเลยทำได้หลายๆครั้งแล้ว เป้าหมายเราก็จะให้มากที่สุด ซึ่งสมมุติพอได้ 60 ครั้ง เป้าหมายครั้งต่อไปก็จะให้มากขึ้น แต่มันอาจจะได้แค่ 45 แล้วตกก็ได้ หรือพอทำใหม่มันอาจจะได้ 80 ครั้งก็ได้ ทีนี้มันก็จะเป็นอย่างนี้สลับกันไป ได้มากกว่าเดิม ได้น้อยกว่าเดิม

มันยากถ้าจะบอกว่าครั้งต่อไปจะต้องได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม

นั่นคือการซ้อมทำคนเดียว แต่ถ้ามีการแข่งขันกันหลายๆคน โดยมีกติกาว่า ใครทำได้มากเป็นผู้ชนะ….คิดว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลง หรือจะมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น สถิติที่เราเคยทำได้เองคนเดียว มันจะสามารถทำได้เท่าเดิมหรือไม่ ท่านลองนึกภาพตามมา

ดังนั้นการจะเชียร์กอล์ฟ เพื่อความสนุก มีความสุขก็ควรจะมีความเข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมชาติอันนี้

ว่า “ลูกกอล์ฟลูกเล็ก ไม้กอล์ฟก็ลูกเล็ก สนามแต่ละสนามก็ไม่เหมือนกัน สภาพความรู้สึกก็ไม่เหมือนกันสิ่งแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน จึงยากที่จะทำให้ความสามารถมันคงที่ได้ มันก็อยู่ในพื้นฐานที่ทุกคนอยากทำให้ดีที่สุดนั่นแหละ แต่ถ้ามันจะเสียมันก็คือเสีย เรียกกลับมาไม่ได้”

เรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง คราวหน้าว่ากันใหม่

โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์