ณัฐ ณ สงขลา
ณัฐ ณ สงขลา
Chang Thaibev Thai Talent
Physical Coach
“เล่นกีฬา ต้องรู้จักตัวเอง”
นักกีฬาทีมชาติ : ผมเล่นกีฬาตั้งแต่เริ่มเดินได้ และเล่นทุกประเภท ฟุตบอล รักบี้ ว่ายน้ำ กรีฑา ฯลฯ ได้รับการปลูกฝังความเป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเป็นโค้ชรักบี้ที่ยะลา ทำให้ผมได้เล่นมาตลอด พัฒนาตัวเองมาเรื่อย เวลามีคัดทีมชาติก็ขึ้นมาคัด จนติดทีมชาติ รุ่นอายุไม่เกิน 19 เพื่อจะไปแข่งชิงแชมป์เอเชีย แล้วก็มีได้เล่นตามสโมสรบ้าง แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยก็แทบจะไม่ได้ไปเล่นข้างนอก เล่นแค่กีฬามหาวิทยาลัย ที่เหลือก็หนักไปทางเรียน
มหาวิทยาลัยมหิดล : ด้วยความเป็นนักกีฬามาก่อน โชคดีที่มีโอกาสได้เลือกเรียนในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง นั่นคือ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือ กายภาพบำบัด สาเหตุที่เลือกเรียนคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เพราะเป็นสถาบันการศึกษาที่ผมใฝ่ฝันอยู่แล้ว และน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเรามีองค์ความรู้เหล่านี้ ไว้ดูแลตัวเอง ในฐานะที่ยังเป็นนักกีฬาด้วย และเพื่อดูแลครอบครัว ตอนนั้น คิดแค่นี้เอง ซึ่งในบ้านเราเองก็มีกำลังคนเพิ่มขึ้นมามากระดับหนึ่งแล้ว มีโรงเรียนสอนนักกายภาพผลิตบุคลากรออกมาอยู่เยอะมาก แต่ก็ยังมีความหลากหลายในแต่ละสาขาย่อยอยู่ โดยมากมักจะดูแลสุขภาพของร่างกายทั่ว ๆ ไป ส่วนนักกายภาพทางการกีฬาโดยเฉพาะก็ยังมีอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่
กายภาพบำบัด : มีองค์ความรู้หลัก ๆ อยู่สี่อย่างด้วยกัน เพื่อจะได้สอนให้เราได้ไปดูแลมนุษย์ในทุก ๆ เงื่อนไข ได้แก่ 1. รักษา เวลามีอาการบาดเจ็บ ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว ในบางอาการ โดยเฉพาะระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ก็จะส่งมาปรึกษานักกายภาพ เพื่อจะมาดูกันว่า มีวิธีการ มีเครื่องมือ ที่จะรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริมให้เนื้อเยื่อตรงนั้น ฟื้นตัวขึ้น เพื่อจะได้หายจากการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น, 2. ฟื้นฟู มีการออกแบบโปรแกรม ให้สอดคล้องกับอาการบาดเจ็บนั้น ๆ กับไลฟ์สไตล์ ประเภทกีฬา กิจกรรม ที่นักกีฬาจะไปทำต่อ, 3. ป้องกันการบาดเจ็บ นักกายภาพจะศึกษาในเรื่องกายวิภาค สรีระวิทยา ชีวะกลศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ ออกแบบโปรแกรม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ในมนุษย์ ในนักกีฬา โดยเฉพาะ กอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่ โอเวอร์ เรนจ์ ข้อต่อแต่ละข้อ ตั้งแต่ข้อเท้า จนถึงกระดูคอ ทำงานมากกว่าการเคลื่อนไหวปกติ ในชีวิตประจำวันมาก ๆ พอมีการทำซ้ำบ่อย ๆ ในมุมที่ใช้งานมากเกินไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บได้สูงมาก ๆ อาจจะมีอัตราส่วนมากกว่ากีฬาปะทะบางประเภทด้วยซ้ำ และ 4. ส่งเสริม ให้นักกีฬา คือคนปกติทั่วไป มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีสมรรถภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้ามองในมุมของกีฬา สามารถทำงานร่วมกับ นักวิทยาศาสตร์ทางการกีฬา ฟิตเนสเทรนเนอร์ นักโภชนาการ แม้กระทั่งกับโค้ช ให้สอดคล้องประสานกันไปได้ด้วยดี เพื่อสามารถเค้นศักยภาพที่ตัวนักกีฬามี ให้แสดงออกมาได้อย่างสูงสุด ในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่เกิดอาการบาดเจ็บ หรือส่งผลเสียให้กับร่างกาย
Thaibev Thai Talent : ผมมีโอกาสได้เจอกับโค้ชแจ็ค ของ ไทยเบฟ ไทยทาเล้นท์ เมื่อนานมาแล้ว จนกระทั่งได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง จึงได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมเป็นทีมโค้ชให้กับ ไทยเบฟไทยทาเล้นท์ ดูแลนักกีฬาในโครงการฯ และทำให้กิจกรรมมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมุมของกายภาพ รับผิดชอบ ดูแลเรื่องการบาดเจ็บของนักกีฬา โครงการ Thaibev Thai Talent รวมไปถึง ช้าง ไทยแลนด์ กอล์ฟ เซอร์กิต ให้ความรู้กับเด็ก ๆ ป้องกันการบาดเจ็บ รักษา ฟื้นฟู เพื่อทำให้นักกีฬากลับมามีความพร้อมมากที่สุด เร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด, โดยในกิจกรรมกอล์ฟคลีนิก, ช้าง จูเนียร์ กอล์ฟ เซอร์กิต มีการทำงานร่วมกับ โค้ชก้อง วุฒิรัฐ มณีอินทร์, โค้ชเชน กิลเลสพี, โค้ชแจ็ค นพไพสิษฐ์ กัณหาเจริญ และ ทีมงานฯ เราพยายามให้บริการด้วยความเป็นมืออาชีพมากที่สุด เช่นเดียวกับน้อง ๆ ในโครงการ ไทยเบฟไทยทาเล้นท์ ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎี ปฏิบัติ เราพาจับมือกันทำในทุก ๆ ทักษะที่ควรจะมี ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ
กอล์ฟ : ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานด้านกอล์ฟ ทำงานหนักมาก ๆ ต้องค้นคว้า ศึกษา จากทุกแหล่ง ทุก ๆ ครั้งที่ไปแค้มป์ฯ จะเข้าไปนั่งเรียนกับเด็ก ๆ เลย เพราะถือว่าเราใหม่มาก ๆ กับกอล์ฟ บวกกับการมีประสบการณ์จากนักกีฬาไทยเบฟไทยทาเล้นท์ เมื่อเขามาปรึกษา ก็จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน แล้วค่อย ๆ หล่อหลอมขึ้นมา พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน หาจุดลงตัวที่จะเซอร์วิสได้อย่าง เหมาะสมที่สุด ด้วยชนิดของกีฬากอล์ฟ ภาพที่ออกมาเหมือนกับไม่ค่อยได้ขยับอะไรมากมายเหมือนกีฬาอื่น ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว กอล์ฟต้องใช้การเคลื่อนไหวแทบทุกส่วน ประกอบกับบางครั้งเด็กอาจจะยังไม่ได้เจอกับโค้ชที่มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านกายภาพ ทำให้เรามองว่า น่าจะให้ความสำคัญของกายภาพให้มากกว่านี้ ซึ่งในช่วงหลัง ๆ มาก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เด็ก ๆ ผู้ปกครอง ให้ความสำคัญ อย่างเช่น การแกะรอย ดูแบบอย่างที่ดี จากนักกอล์ฟที่ประสบความสำเร็จ ทำให้มีอาการบาดเจ็บน้อยลง สนุกกับกิจกรรมมากขึ้น ได้ทำร่างกายเพื่อต่อยอดให้สำเร็จในเป้าที่วางไว้ เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว เราก็ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย
มืออาชีพ : จนมาถึงทุกวันนี้ ปรัชญาในการทำงานของผมก็คือ พยายามสร้าง ความเป็นมืออาชีพ ในการดูแลตัวเอง ให้กับนักกีฬา จะบอกน้อง ๆ ไทยทาเล้นท์ หรือเด็ก ๆ ผู้ปกครอง อยู่เสมอว่า สิ่งแรกในการทำงานร่วมกันกับผมคือ พยายามสร้างความเป็นมืออาชีพในการดูแลตัวเองให้กับเขา ควรจะรู้ว่า แต่ละวัน ควรจะกินอะไร ในวันแข่ง จะทำตัวอย่างไร ในช่วงฝึก ปฏิบัติแบบไหน ร่างกายมีปัญหาแบบนี้ ตึงตรงนี้ ควรจะยืดท่าไหน อยากจะกระตุ้น อยากจะบริหาร ควรจะทำอย่างไร เราพยายามปลูกฝังทักษะ ติดอาวุธ ให้กับเขา เพื่อจะได้ไปลุยเอง ไม่ว่าจะต้องไปเรียนเมื่อได้ทุน หรือเป็นนักกีฬาที่ต้องออกไปแข่งในทัวร์ยาว ๆ ระยะเวลาที่เราได้เจอกัน จึงควรเรียนรู้เพื่อจะได้จัดการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้ดีที่สุด
แค่โชคไม่พอ : ก่อนหน้านั้นงานของผมอยู่กับฟุตบอลเป็นหลัก แต่ก็เคยได้ทำเคสเกี่ยวกับกอล์ฟครั้งแรกโดยบังเอิญ ตอนนั้น กัญจน์ เจริญกุล เจ็บข้อมือ แล้วตัดสินใจว่าจะพักไปเลยสัก 2 – 3 เดือน ระหว่างนั้นก็จะมาฟื้นฟู รักษากับผม ช่วงนั้นจึงพบกันแทบทุกวัน เพื่อฝึกร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ จากการทำงานร่วมกัน พบว่า กัญจน์ เป็นนักกีฬาที่มีวินัยด้วยตัวเองสูงมาก พร้อมที่จะเรียนรู้ และรับนำไปปฏิบัติ เช่น เรานัดกัน 08:00 น. เพื่อทำกายภาพ พอเจอกันพบว่า กัญจน์ ไปวิ่งออกกำลังกายช่วงเช้ามาแล้ว ทำเองโดยที่เราไม่ต้องสั่ง ซึ่งเขาทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพทุกอย่างเอง จนเป็นไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบปกติของเขา แล้วก็ปฏิบัติมาโดยตลอด ซึ่งหาได้ยากมากในนักกีฬาไทย ผมจึงบอกกับน้อง ๆ และทุกคนว่า ไม่แปลกเลย ที่ กัญจน์ จะประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ นี่ไม่ใช่โชคช่วย แต่เป็นเรื่องของความมุ่งมั่น และพยายาม อย่างถูกวิธี เขาทำมากกว่าที่เราได้เห็นด้วยซ้ำ
กอล์ฟ กีฬาประเภทเดี่ยว แต่ทำงานกันเป็นทีม : ต้องทำความเข้าใจกันเยอะมาก ๆ ทั้งกับตัวนักกีฬา, โค้ช และผู้ปกครอง ต้องมีความละเอียด และไปด้วยกันได้ดีทั้งหมด อุปกรณ์ต้องเหมาะจริง ๆ กลไกในการสวิงต้องเหมาะกับตัวเองจริง ๆ สภาพร่างกาย ณ วันนั้น ต้องพร้อมจริง ๆ เมื่อทุกอย่างต้องละเอียดมากขนาดนี้ การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ว่าเราจะไปช่วยอะไรเขาบ้าง เช่น ต้องไปดูตั้งแต่ เพศ วัย สรีระ แผนที่วางไว้ของปีนี้ อาการบาดเจ็บที่มี อุปกรณ์ที่ใช้ หากไม่เหมาะ ก็ต้องส่งไปตรวจสอบเพื่อลดอาการบาดเจ็บให้ได้ ช่วงเวลาขณะนั้น อยู่ในหรือนอกฤดูกาลแข่งขัน รายละเอียดเยอะมาก การทำความเข้าใจนักกีฬา จึงต้องลงลึกทุก ๆ ฝ่าย ให้ได้มากที่สุด จนไปถึงครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจในการวางแผนฝึกซ้อม หรือเลือกการแข่งขัน
ใฝ่รู้อยู่เสมอ : มนุษย์ อาจจะมีความตั้งใจมาพร้อมกับพรสวรรค์ แต่ที่เหลือต้องมาหาเอาข้างหน้า ทีมจึงสำคัญมาก ที่จะทำให้เขาได้โตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพจริง ๆ ผมจึงต้องหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อจะไปทำงานกับทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจกัน ส่งต่อ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับเด็ก ๆ ได้ มีสื่อสารที่ดี เตรียมตัวเองให้มีองค์ความรู้อยู่เสมอ และยังต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกีฬาที่ทำ อย่างเรื่อง กลไกของวงสวิง เพื่อจะได้คุยกับโค้ช กับนักกีฬา บางครั้งต้องตอบคำถาม ขณะที่นักกีฬาแข่งอยู่ในต่างประเทศ อาจจะขึ้นสวิงแล้วมีอาการเจ็บ โค้ชวิเคราะห์บอกว่ามีปัญหาตรงไหน แล้วตัวนักกีฬาจะต้องแก้ไขอย่างไร หน้าที่ของเราคือ ให้คำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด
พลังโซเชี่ยล : ปัจจุบันงานออฟไลน์ ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะเราได้สอนความรู้เกี่ยวกับร่างกายไปแล้ว หน้าที่คือคอยติดตาม รักษาความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาให้ แต่งานที่มากขึ้นคืองานด้านออนไลน์ ที่ต้องติดตามกันตลอด คุยกันถึงชีวิตปัจจุบัน อาหารการกิน การฝึกซ้อม ตารางแข่งขัน ดูวงสวิงว่ามีอาการติดขัดตรงไหนหรือไม่ สภาพร่างกายเป็นอย่างไร เพราะเราต้องมาช่วยคิด หาวิธีดูแลให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดในทุก ๆ ด้าน ต้องติดตามทุกคน เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เป็นทั้งการป้องกัน รักษา และส่งเสริม
ปัญหาที่พบบ่อย : มีแนวโน้มว่าเกิดจาก การซ้อมมากเกินไปกว่าศักยภาพ, อาการบาดเจ็บ ในกีฬากอล์ฟ เกิดขึ้นโดยไม่มีการสัมผัส หรือปะทะจากบุคคลอื่น ส่วนใหญ่ได้แก่ การใช้งานหนัก ฝึกซ้อมมากเกินไป อุปกรณ์ไม่เหมาะสม เมื่อมีความรู้ในสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็สามารถไล่เรียง ค้นหาปัญหาได้ เพื่อจัดการอาการบาดเจ็บได้ดีขึ้น
ศักยภาพสูงสุด: โดยไม่บาดเจ็บ นี่คือหน้าที่ของทีมโค้ช ในการหาจุดลงตัว เพื่อให้นักกีฬาสามารถแสดงศักยภาพสูงสุด โดยไม่เสี่ยงกับอาการบาดเจ็บ ยกตัวอย่างเช่น เด็กตื่นเช้ารีบไปโรงเรียน นั่งเรียนทั้งวัน เย็นมาถึงสนาม ไม่ได้วอร์มอัพ รีบตี รับกลับบ้าน ไม่ได้ยืดเหยียด อาหารก็ไม่ครบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ร่างกายจะถูกใช้งานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ที่กินไปสารอาหารก็ไม่ถึง ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับกีฬากอล์ฟ ก็จะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เช่น กระดูกสันหลังคด ปวดหลัง เจ็บข้อมือ เพราะต้องตีกระแทกอยู่ตลอด นี่ยังไม่รวมไปถึงการซ้อมทุกเย็น ว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน ถูกต้องหรือไม่ เพราะแต่ละช่วงเวลา ก็ควรซ้อมให้แตกต่างกันออกไป องค์ความรู้ด้านนี้ ต้องได้รับการออกแบบมาจากทีมงาน ที่มีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก
Put the Right Man on the Right Job : หลาย ๆ ปัญหา คุยกับเด็กยังไงก็จบยาก แต่พอคุยกับครอบครัว จบได้ง่ายมาก เช่น อาหารการกิน สั่งให้เด็กกินยังไงก็ยังทำไม่ได้ แต่พอบอกพ่อแม่ ให้จัดเตรียมเมนูให้ ก็ได้ผลทันที ส่วนสำคัญมากที่สุดคือครอบครัว ผู้ปกครองต้องคอยดูแลใกล้ชิด คอยผลักดัน ไม่ใช่ตามใจเด็ก เช้าขึ้นมาให้ยืดเหยียด ตามการบ้านที่เราออกแบบไว้ให้ ระหว่างนั่งเรียนก็ต้องรู้จักเปลี่ยนอิริยาบถ อาหารก็ต้องเลือกที่ดีมีประโยชน์ ก่อนนอนต้องรู้จักปล่อยวางทุกอย่าง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อทำกิจวัตรให้ได้เป็นปกติ เป็นการทำงานร่วมกันของเรา กับโค้ช และครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากจริง ๆ
หักห้ามใจให้เป็น : เวลาที่นักกีฬาได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรง จนต้องพักนาน ๆ ต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา คุณสมบัติที่ดีของนักกีฬา คือ การเข้าใจตัวเอง หักห้ามใจที่จะทำอะไรสักอย่าง เช่น ตอนนี้เจ็บ ก็ต้องหยุดพัก ซึ่งในทางการแพทย์มีข้อมูลบอกไว้ว่า อาการบาดเจ็บแบบไหน ส่วนไหน หนักแค่ไหน ควรพักนานเท่าไหร่ ควบคู่ไปกับการทำกายภาพ มันมีข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาพัก ก็ต้องให้ความเคารพกับทีมแพทย์ ต้องหัดจัดการกับความรู้สึกตัวเอง ทุกคนต้องช่วยกัน อย่าผลักดันให้ตัวนักกีฬาเองต้องไปทำกิจกรรมจนได้รับอาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นทุก ๆ เรื่องในชีวิต พยายามหาที่ปรึกษาจากมืออาชีพ จากผู้รู้จริงในแต่ละสาขา
เล่นกีฬา ต้องรู้จักตัวเอง : เมื่อเรามีกิจกรรมใด ที่มากกว่าคนปกติ ย่อมมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บมากกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกีฬาใดก็ตาม, กีฬา ถ้าเล่นอย่างเหมาะสม ก็จะส่งเสริมสุขภาพ แต่หากเมื่อมีความจริงจังมากขึ้น มีแนวโน้มเฉียดไปในแนวการทำลายสุขภาพได้ จะเริ่มอะไร ควรพยายามปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อประเมินร่างกาย ศักยภาพ ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เมื่อถึงตรงนี้แล้ว เราจะรู้ข้อบกพร่อง แล้วนำข้อมูลนี้ไปแจ้งกับครอบครัว โค้ช ทีมงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าพบว่าเด็กมีอาการกระดูกสันหลังคด หรือเท้าแบน ก็จะได้วางแผนเพื่อออกแบบการฝึกซ้อมที่เหมาะสมให้ หรือจัดหาอุปกรณ์มาช่วยให้สภาพร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ เช่น เท้าแบน ก็เสริมพื้นรองเท้า หรือบาดเจ็บตรงไหนมาก ก็ต้องเลี่ยงไม่ไปใช้งาน หากไม่รู้ข้อมูลความผิดปกติ การที่เราพยายามฝึกซ้อมอย่างหนัก อาจจะยิ่งไปส่งเสริมความผิดปกติ จนก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บเข้าไปอีก แต่ถ้าหากรู้ว่าช่วงไหน มีอาการบาดเจ็บอย่างไร ก็เลี่ยงการฝึกซ้อมที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาเพิ่ม แล้วไปฝึกในส่วนอื่นแทนระหว่างรอให้หายดี หากฝืน ทำต่อไปโดยไม่มีความพร้อม นอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ยังจะไม่มีความสุขกับกิจกรรมนั้น เพราะอันดับแรกของการจะมาทำอะไรของมนุษย์นั้น ต้องสนุก มีความสุข เล่นแล้วไม่เจ็บ ถึงจะทำต่อไปได้ จนมีโอกาสประสบความสำเร็จครับ