จังหวะ สำคัญกว่า โชคชะตา
จังหวะ สำคัญกว่า โชคชะตา
โชคชะตา ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย แต่มันจะผ่านเข้ามาในชีวิตทุกวัน
จังหวะในที่นี้หมายถึง การ ที่เราตอบสนองต่อโอกาส หรือโชคชะตาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยเราเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะหมายถึงจังหวะเวลาในการ เตรียมตัวและรับมือกับปัญหาหรือโอกาส เช่น การเข้าฉวยโอกาสแบบทันที การรอโอกาส หรือการชะลอ หรือพุ่งชน เมื่อมีอุปสรรค
การเปรียบเทียบเรื่อง จังหวะและโชคชะตา กับกีฬานั้นเข้าใจง่าย แต่ยังขาดตัวแปรบางอย่างและเมื่อจบเกมส์กีฬาก็ถือว่าจบ ต่างกับชีวิตคนเราที่เดินไปเรื่อยๆไม่มีวันหยุดเดินทางจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ (ชีวิตคือการเดินทาง) ดังนั้นผมจะขอเปรียบเทียบ จังหวะและโชคชะตา ของคน กับการขับรถยนต์ (แม้หยุดหายใจแล้วก็ยังต้องเดินทางด้วยรถจากโรงพยาบาลไปวัด)
การขับรถ หากมีคนนั่งมาด้วยนั้นโดยปกติเราจะขับช้าลง เพราะเวลาขับรถคนเดียวนั้น หากจะเบรคแรงๆเลี้ยวแรงๆคนขับก็มักจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนนั่งมาด้วย มักจะเวียนหัวก่อนเสมอดังนั้น การขับรถให้ผู้ร่วมทางไปถึงที่หมายอย่างมีความสุขด้วยกันและทันเวลาจึงต้องมีจังหวะที่ดี ไม่จำเป็นต้องเร่งตลอดเวลา ต้องมีผ่อนบ้าง
“ช้าคือเร็ว เร็วคือช้า” ตัวอย่างนี้เห็นได้จากรถกระบะส่งของบนถนน ขับรถยังไม่เก่ง เป็นวัยรุ่น เถ้าแก่ที่ร้านโทรมา เร่งมาว่าให้ส่งของให้ทัน พวกนี้ผมขอเรียกว่า จังหวะ นรก คือการเร่งออกตัวอย่างแรงทุกเกียร์ แซงซ้ายขวาไม่ดูจังหวะ หัวทิ่มหัวต่ำ เร่งจี้คันหน้าจนไม่เหลือ ระยะว่าง เมื่อ ออกซ้ายเจอรถเมล์จอดก็เบรคหัวทิ่มจนเกือบชน แล้วก็ไม่สามารเบี่ยงออกขวาได้เพราะไปจี้ท้ายจนเลี้ยวไม่พ้น ในที่สุดรถซึ่งขับมาเรื่อยๆก็ขับแซงไปสบายๆ เปรียบเทียบกับชีวิตคน ผมเห็นหลายคนทำธุรกิจแบบทุ่มเทพุ่งชน แต่เมื่อเจออุปสรรค์ขวาง ก็โทษ โชคชะตา ว่าดวงมันไม่ดีเลย หรือโทษว่าตัวเองไม่เก่ง แต่ความจริง อุปสรรค์อันนี้ คุณเลี่ยงได้ ถ้าคุณมีจังหวะที่ดี เพราะเร็วไปก็ใช่ว่าจะดี
“แท็กซี่แซงเฟอรารี่” เหตุการณ์นี้เห็นได้บ่อยๆแถวทองหล่อ ”โชคชะตา” ให้คนเรามาไม่เท่ากัน คันนึงเป็นรถญี่ปุ่นติดแก๊ส อีกคันเป็น สุดยอดรถสปอร์ตตลอดกาล แต่ขับในถนนแคบๆรถติดๆ แท็กซี่ก็อาศัยความคล่องตัวบวกประสพการ์ณและ”จังหวะ”แทรกที่ดีกว่าแซงเฟอร่ารี่ไปได้ไม่ยาก เหมือนมหาเศรษฐีหลายคนมักจะมาจากเด็กที่ต้องปากกัดตีนถีบแต่ขยันอดทนและใช้”จังหวะ”ที่ดีในการฉวยโอกาสที่มีอยู่น้อยนิดได้บ่อยๆ
“รถเมล์เจ้าถิ่นรู้ไลน์เสมอ” เคยสังเกตุไหมครับว่า บนถนนที่รถติดมาก มีรถเมล์คนใหญ่อยู่ข้างๆ ในขณะที่เราพยายามเปลี่ยนหาเลนที่เร็วที่สุดแต่รู้ตัวอีกทีรถเมล์คันข้างๆแซงเราไปไกลมากทั้งๆที่บนถนนไม่มีช่องว่างเลย ผมเคยสงสัยว่ารถเมล์รู้ได้ยังไง จนกระทั่ง วันที่ได้ขับรถสูงๆเช่นรถตู้หรือ SUV จึงได้รู้ว่าเราสามารถมองข้ามหลังคารถได้หลายคันและรู้เหตุการณ์ข้างหน้าจึงสามารถ หลบหลีกอุปสรรค์และเลือกช่องทางที่ดีที่สุด ผมขับรถไปต่างจังหวัดบ่อย และผมเลือกที่จะขับรถสูงๆแม้จะวิ่งได้ช้ากว่ารถเก๋ง แต่เมื่อรถติดผมจะเห็นเลนที่ว่างด้านหน้า เสมอ และผมจะสามารถสังเกตุที่ท้ายรถของ คันที่สามถัดไปด้านหน้า และจะเริ่มเบรคทันทีที่รถคันนั้นเบรค โอกาสเบรคแรงๆและชนท้ายคันหน้าจึงลดลง ผมคิดว่าการก้มหน้าก้มตาทำอะไรไม่เงยหน้าขึ้นมามองเลย ใจจดจ่ออยู่กับมันมากเกินไปบางครั้งก็ไม่ดี ควรจะเงยหน้าขึ้นมาดูสิ่งรอบข้างเราและมองไปข้างหน้าไกลๆบ้าง มันจะทำให้เราปรับจังหวะของเราให้เหมาะกับสถานะการณ์ได้
“แซงไปเถอะแล้วเจอกันแยกหน้า” ผมขับรถไป จังหวัดปราจีนบุรีเป็นประจำ ขับผ่านเส้น นครนายกซึ่งเป็นถนน 4 เลนถนนค่่อนข้างจะว่างและพื้นถนนค่อนข้างเรียบจนเป็นเส้นทางยอดฮิตของ เหล่า Big bike แต่มีแยกไฟแดงอยู่หลายช่วงเว้นระยะพอได้ทำ Top Speed ระหว่างจอดรอไฟแดง มีรถหลากหลายชนิด ทั้ง Big bike ขาแรง Fortuner ขาซิ่ง กระบะลงเครื่อง รถเบนซ์ สปอร์ต BMW ป้ายแดง รวมทั้ง สองแถวเทค (รถสองแถวระบบแสงสีเสียง พร้อมแดนเซอร์ท้ายรถ) พร้อม ทุกคนแอบเหลือบตามองคันข้างๆ ทำเป็นนิ่ง ไม่ให้รู้ แต่ไม่มีใครเข้าเกียร์ว่าง พอไฟเขียวปุ๊บทุกคนพุ่งออกไปอย่างกับแข่ง รถ Drag ผู้นำคือ Bigbikeเพราะอยู่ด้านหน้าสุดและอัตราเร่งไม่มีใครสู้ได้อยู่แล้ว จะมีที่ไล่ตามได้ก็พวก เบนซ์ กับ BMW พอครึ่งทาง เริ่มเห็นท้าย Bigbike ก็พยายามเหยียบคันเร่งสู้ ลองดูสิ ว่าจะทันไม๊ พอเห็นท้าย Bigbike ใกล้ขึ้นมาเรื่อยๆก็ดีใจ แต่ปรากฏว่าที่ตามทันเพราะ Bigbike ต้องเบรคก่อนเพราะถึงสี่แยกแล้ว Big bike, เบนซ์ BMW จึงจอดติดไฟแดงข้างๆกันอีกครั้ง สักพัก กระบะแต่ง และ Fortuner จึงตามมาจอด และในที่สุด สองแถวดิสโก้เทค ก็ตามมาจอดด้วย เหตุการ์ณนี้ เกิดขึ้นซ้ำอีกเรื่อยๆเพราะมีหลายไฟแดง กว่าจะถึงนครนายก และเหตุการ์ณแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับผมบ่อยจนปลงได้ว่า ไม่ต้องไปแข่งกับใครมาหรอกสุดท้ายก็ถึงที่หมายพอๆกัน ขับเรื่อยๆเปิดเพลงฟังไปด้วยดีกว่า
“สี่แยกวัดใจ” แยกนี้อยู่ในซอย 20 มิถุนา รถผ่านเยอะมากมากันทั้ง 4 ทิศทาง รถติดพอควร วันนึงตำรวจจึงมายืนโบกรถหวังว่าจะช่วยระบายรถแต่ปรากฏว่ารถติดเพิ่มขึ้น เพราะที่มาและเอกลักษณ์ ของแยกนี้คือ เมื่อรถจากสี่ทิศมาเจอกันที่แยก ผู้ขับแต่ละคันจะสามารถ เดาใจกันแล้วสลับกันไปได้โดยไม่ต้องพึ่งสัญญานไฟและตำรวจจราจร จนเป็นที่มาของชื่อ ”แยกวัดใจ” ผมขับผ่านแยกนี้ประจำและสังเกตุว่าเมื่อผมขับรถ 4WD ของผมซึ่งมันก็คือกระบะดัดแปลงหน้าตาเหมือนกระบะส่งของ ผมจะผ่านแยกนี้ได้เร็วมากไม่มีใครกล้าวัดด้วย แต่เมื่อใดที่ขับรถเก๋งดูดีโดยเฉพาะสีขาว จะไม่มีใครยอมหยุดรถให้ผมเลย “จังหวะ” ของแต่ละคนนั้นคงจะขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของตัวเอง ด้วย หากคุณเป็นคนสุภาพเดินไปขอความช่วยเหลือจากใครส่วนใหญ่ก็คงได้มาง่ายๆ แต่ถ้าจะต้องวัดใจกันเหมือนแยกนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่มีใครยอม และหากใจร้อนพุ่งออกไปคงได้เรียกประกันแน่นอน เพราะมันผิด ”จังหวะ”
“ไม่เปิดไฟเลี้ยวบางครั้งก็ปลอดภัยกว่า” เวลาเปลี่ยนเลนผมมักจะไม่เปิดไฟเลี้ยวเตือนล่วงหน้านานมากนัก เพราะที่นี่เมืองไทยเมื่อคุณเปิดไฟเลี้ยวปุ๊บ คุณจะถูกรถพุ่งเข้ามากันทันที สิ่งที่ผมมักจะทำคือ นิ่งๆรอโอกาสแต่เตรียมพร้อมเสมอ เมื่อเห็นว่าว่างค่อยเปลี่ยนเลนพร้อมเปิดไฟเลี้ยวซึ่งส่วนใหญ่ จะสำเร็จโดยไม่โดนบีบแตรไล่ คนนั่งในรถก็สบาย เพราะไม่ต้องเร่งและเบรคแรงๆ การทำตัวแบบราบเรียบไหลไปตามน้ำ นอกจากทำให้ไม่มีศัตรูแล้ว ยังเปิดโอกาส ให้กับเราอย่างดี หากเราเตรียมพร้อมเสมอและไม่เฉื่อยแฉะจนเกินไป
“คันหน้าจะปาดให้เหยียบคนเร่ง คนข้ามถนนให้เหยียบเบรค”
อันนี้ไม่ต้องอธิบายยาว เวลามีคนจะเอาเปรียบเราก็เร่งจังหวะหน่อย เวลาคนต้องการความช่วยเหลือก็ผ่อนให้เค้าหน่อย
“จังหวะ” ที่เล่ามาด้านบนนี้ ถ้าให้สารภาพมันก็คือจังหวะการใช้ชีวิตของผมเอง ซึ่งมันตรงกับลักษณะการขับรถและประสพการ์ณบนถนนของผม มีเร็วมีช้า มี โมโหร้าย มีทำผิดกฏ มีการแบ่งปัน ให้ผู้อื่น ซึ่งการใช้ชีวิตตามจังหวะแบบนี้ คาดว่าคงไม่รวย ไม่ได้โลห์ เพราะไม่เหยียบคันเร่งตลอดเวลา แต่ก็คงไม่ถึงขั้นจน เพราะเป้าหมายของผมคือ ทำวันนี้ให้ตัวเองและคนรอบข้างมีความสุข ไม่ต้องเร่งรีบแบบ ยอมทนทุกข์วันนี้เพื่อสุขวันหน้า แต่ก็ไม่เฉื่อยแฉะจนเจอปัญหาแล้วค่อยแก้ไข และ จะต้องพร้อมกระโดดตะครุบเสมอ เมื่อโอกาสมาถึง
แล้วจังหวะชีวิตของคุณละครับเป็นแบบไหน ลองสังเกตุตัวเองตอนขับรถดูครับ มีคนเคยบอกผมว่า นิสัย ที่แท้จริงของคนเราจะเผยออกมาตอนเราขับรถ ผมลองมองตัวเองแล้วรู้สึกว่าจริงจนเป็นที่มาของบทความตอนนี้ครับ
อัคนิษฐ พีชผล