คุยกับ ดร.อมร

พาลูกสาวมาแข่งขันกอล์ฟที่อเมริกา

เล่าประสบการณ์ พาลูกสาวมาแข่งขันกอล์ฟที่อเมริกา

สวัสดีครับคุยกับดร.อมร สัปดาห์นี้ ผมอยากจะเล่าประสบการณ์ต่างแดน ที่ได้พาลูกสาวมาแข่งขันกอล์ฟ ที่อเมริกา ซึ่งขณะกำลังเขียนบทความนี้ ผมก็ยังอยู่ที่อเมริกา เพราะได้เลื่อนการกลับเมืองไทย เนื่องจากโควิท -19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก จนผู้ป่วยเพิ่มเป็นหลักหมื่นคนต่อวันแล้ว ตกใจอย่างมากว่า กลับไปเมืองไทยแล้วจะมีโอกาสเสี่ยงสูง

ช่วงนี้อาการที่อเมริกาดีขึ้นมาก ผมสามารถพาลูกสาวมาแข่งขันกอล์ฟ ในรายการ IMG Junior World Golf Championship และ FCG Callaway World 2021 ที่ เมือง San Diego รัฐ California ซึ่งผลการแข่งขันของลูกสาว รายการ IMG Junior World แข่งขัน 3 วันจบ ลำดับที่ 9 จากจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 36 คน จากนานาประเทศ และ รายการ FCG Callaway World จบอันดับที่ 3 ซึ่งผมถือว่าน่าพอใจ เพราะในวันแรกของการแข่งขันแพรี่ตีไม่ดีนัก วันเดียวเกินไป 8 แต่วันต่อมาเล่นได้ดีขึ้น ทำ -4 และ -1 ถือว่าพัฒนาขึ้น

วันแรกแพรี่บอกว่า กดดันมาก ตื่นเต้น และที่สำคัญคาดหวังมาก อยากได้แชมป์ อยากตีให้อันเดอร์ ซึ่งใน 9 หลุมแรก แพรี่ ตีได้ even par เป็นผลงานที่ดีมาก แต่ใน 9 หลุมหลัง เหมือนจะเป็นหนังคนละม้วน แพรี่เริ่มสร้างความกดดันให้กับตัวเอง หลุม 10 ออก โบกี้ แพรี่เริ่มออกอาการเกร็ง จนหลุมต่อ ๆ มาตีไม่ได้เลย มีแต่โบกี้ สติ สมาธิหลุดกระจาย จบ 9 หลุม Score +8 เลย จบอยู่อับดับที่ 17 วันที่ 2 เริ่มตีดีขึ้น Score + 4 จบขึ้นมาอยู่อันดับที่ 13 วันสุดท้าย Score +2 จบ 3 วันอันดับที่ 9 โดยผู้ชนะเลิศ เป็นสาวน้อยจากประเทศญี่ปุ่น ตัวเล็กมากตีไม่ได้ไกลเลย แต่ลูกสั้นดีมาก ๆ ไม่ว่า ชิพ หรือพัตต์ เห็นได้เลยว่าสำหรับเยาวชนต่างชาติ จะให้ความสำคัญกับการเล่นลูกสั้นมาก ผมเห็นซ้อมลูกสั้นเป็นชั่วโมง แต่ซ้อมไดรฟ์ แค่ 1 – 2 ถาด

อีกรายการที่แพรี่แข่ง FCG Callaway World Championship แข่งขัน 3 วัน วันละ 9 หลุม รายการนี้แพรี่เริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น นิ่ง และไม่กดดันตัวเอง วันแรก Score even par วันที่ 2 score -4 และ วันที่ 3 score -1 รวม 3 วัน score -5 จบเป็นอันดับที่ 3 ซึ่งผมก็พอใจกับคะแนนครับ แข่งขัน 3 วันไม่มีตีเกินเลย แพร์รี่ได้เรียนรู้ว่า ต้องรู้จักควบคุมสติและสมาธิของตัวเอง ประสบการณ์ครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับแพรี เพราะกีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่แข่งขันกับตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำตัวเราให้ดีที่สุด โฟกัสกับช็อตที่กำลังจะตี โฟกัสกับคะแนนที่เรามีอยู่

หลังจากแข่งขันเสร็จ ตามสัญญา ผมได้พาแพรี่ และครอบครัวไปเที่ยวทะเล ดูแมวน้ำ พาไปเที่ยวภูเขา ชมธรรมชาติ งดการเดินห้าง งดสวนสนุก ไม่ไปเที่ยวในที่มีคนแออัด พาแพรี่ไปออกรอบตามสนามกอล์ฟต่าง ๆ โดยค่าออกรอบที่นี่เพียง 5 เหรียญฯ เท่านั้น ซึ่งถูกมาก ๆ ที่อเมริกาไม่ใช่แคดดี้ แต่ถ้าจะใช้รถก็เพิ่มอีก 10 ถึง 20 เหรียญฯ แล้วแต่สนาม ใน San Diego มีสนามกอล์ฟเยอะมากเกือบทุกที่ แค่บริเวณที่พักของผม ก็มีถึงสามแห่ง ขับรถเพียง 5 – 10 นาทีก็ไปเล่นกอล์ฟได้เลย ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมเด็กอเมริกันที่นี่ชอบกอล์ฟ เก่งกอล์ฟเก่ง

กีฬากอล์ฟที่นี่เป็นที่นิยมมาก และราคาก็ไม่แพง โดยเฉพาะเยาวชน สนามกอล์ฟจะให้การสนับสนุนเกือบทุกแห่ง หลัง เที่ยง ราคาพิเศษ เพียง 5 เหรียญฯ และที่สำคัญ แค่สมัครเป็นสมาชิก San Diego Junior Golf Association ค่าสมัคร ปีละ 125 เหรียญฯ แต่ใช้ได้กับสนาม Public เท่านั้นนะครับ

เยาวชนที่นี่ แต่งชุดธรรมดา เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้ากีฬาปกติ ก็เล่นได้ ไม่ต้องแสดงบัตร ยื่นหน้ามาให้เห็นก็ตีได้เลย แล้วไม่ต้องมีค่าผู้ติดตาม ยกกันไปทั้งครอบครัวก็ยังได้ ผมก็เลยลองให้แพรี่ไปออกรอบกับเพื่อน ๆ สนุกมาก สนามสวย อากาศดี เย็นสบาย ได้เห็นสัตว์นานาชนิด พบทั้ง กระต่าย กระรอก นกเป็ดน้ำ นกอินทรี หมาจิ้งจอก เป็นต้น การเดินทาง ขับรถประมาณแค่ 10 นาที ก็ถึงสนามกอล์ฟแล้ว บ้าน โรงเรียน สนามกอล์ฟ เดินทางประหยัดเวลามาก 10 – 15 นาที เท่านั้น ส่วนไม้กอล์ฟ อุปกรณ์กอล์ฟอื่น ๆ ก็ถูกกว่าเมืองไทย

การเรียนการสอนของโปรกอล์ฟที่นี่ค่อนข้างมีมาตราฐานมาก มีใบรับรองจาก PGA ทุกคน โดยถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ จะนิยมสอนเป็นกลุ่ม 3 – 5 คน ราคาก็จะค่อนข้างถูก เพราะหารค่าสอนเฉลี่ยกันได้ ตกชั่วโมงละ 100-120 เหรียญฯ ต่อกลุ่ม แต่ถ้าเรียนเดี่ยว ก็จะสูงถึง 100 – 150 เหรียญฯ ต่อคน เด็ก ๆ ที่อเมริกา ส่วนใหญ่จะเริ่มแข่งขันกอล์ฟอย่างจริงจัง ตอนอายุประมาณ 12 ขวบขึ้นไป ต่ำกว่านั้น จะเน้นเพื่อความสนุกสนาน ทำให้เด็กมีความสุข

เห็นแล้วอิจฉาคนอเมริกัน จริง ๆ เมื่อไหร่เมืองไทย จะมีการสนับสนุนกีฬา ให้กับเยาวชนอย่างจริงจังเสียที พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องใช้เงินทุนของตัวเอง เล่นกอล์ฟไปเล่นกอล์ฟมา หมดเงินเป็นหลาย ๆ ล้านเลย คิดแล้ว……..!

พบกันฉบับหน้านะครับ

ดร.อมร นันทวะกุล
Parent Sport Coach
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขา Sport Management