จิตวิทยาการกีฬา

เราจะแพ้เมื่อไหร่ เราจะชนะเมื่อไหร่ ในการเล่นกอล์ฟ

เราจะแพ้เมื่อไหร่ เราจะชนะเมื่อไหร่ ในการเล่นกอล์ฟ

ในการแข่งขันเทควันโดหญิง รอบชิงชนะลิศ น้ำหนัก 58 กก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิคเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ที่น้องเทนนิส (พาณิพัค วงศ์พัฒนกิจ) อันดับที่ 1 ของโลก อายุ 23 ปี ความสูง 173 ซม กับนักกีฬาวัยรุ่นจากสเปญ (Adriana Iglesias) อายุ 17 ปี อันดับที่ 15 ของโลก ความสูง 168 ซม มีคนพูดถึงเรื่องนี้ในระหว่างการแข่งขันว่า น้องเทนนิสชนะแน่นอน (ตอนที่มีคะแนนนำ) คำพูดนี้นำไปสู่ประเด็นทางด้านจิตวิทยา ว่าเราควรจะคิด รู้สึกและควบคุมจิตใจอย่างไรเวลาแข่งขัน และนำไปสูคำถามว่าเวลาแข่งขันกีฬา “เราจะแพ้เมื่อไหร่ และเราจะชนะเมื่อไหร่”

คำตอบที่สะท้อนความคิดที่ดี ที่เหมาะสมของนักกีฬเก่งๆคือ “เราจะแพ้เมื่อเราแพ้ และเราจะชนะเมื่อเราชนะ” ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ คำตอบนี้หมายความว่าอย่างไร

เหตุผลที่แท้จริงของการตอบหรือหลักการที่ตอบแบบนี้นอกจากจะทำให้นักกีฬาสบายใจ มีสมาธิและอดทนแล้ว ยังจะทำให้นักกีฬามุ่งมั่นในการเล่นต่อไปจนกว่าการแข่งขันจะสิ้นสุดลง จะไม่มีการยอมแพ้ หรือประมาทในการแข่งขันเมื่อการแข่งขันยังไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นลักษณะของจิตใจที่เราต้องสร้างและปลูกฝังให้เกิดกับนักกีฬา

ในกีฬากอล์ฟ การสิ้นสุดการแข่งขันหรือนักกีฬาหยุดเล่นได้แล้ว คือเมื่อนักกีฬาทำการพัตต์ลูกลงในหลุมสุดท้าย (หลุมที่ 18) เมื่อใดก็ตามที่เราพัตต์ลงแล้ว เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแต้มได้ เราหยุดเล่นได้แล้ว ณ เวลานั้น ถ้าเราชนะก็คือชนะ ถ้ามีคนเล่นดีกว่าเรา ทำแต้มได้ดีกว่าเรา ก็หมายความว่าเราแพ้การการแข่งขันแล้ว แต่ถ้าเราสิ้นสุดการแข่งขันแล้ว เราทำได้ดีกว่าทุกคนที่ร่วมแข่งขัน ก็เท่ากับเราเป็นผู้ชนะแล้ว

ที่พูดถึงหลักการนี้เพราะในระหว่างการแข่งขันเทควันโดดังกล่าว หลายคนโพสต์ตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน และยิ่งแต้มของน้องเทนนิสนำในการแข่งขัน ยิ่งมั่นใจและพูดว่าชนะแน่ อย่างไรก็แล้วแต่ความคิดจากคนอื่นๆแบบนี้มีผลต่อนักกีฬาไม่มาก แต่ก็อาจจะทำให้พฤติกรรมของคนดู คนเชียร์เปลี่ยนไปได้

หลังการแข่งขันได้มีคลิปกองเชียร์ของทั้ง 2 ครอบครัวที่มีอาการขึ้นๆลงๆตลอดเวลา เมื่อคะแนนนำ คะแนนตาม และถ้านักกีฬาคิดอย่างนั้นก็ยิ่งจะส่งผลทำให้การเล่นขึ้นๆลงๆได้มากขึ้นด้วย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดถ้านักกีฬาต้องการเล่นให้ได้ดี

ทำไมเราถึงไม่ควรจะคิดไปล่วงหน้าว่าเราจะชนะ เราจะได้เหรียญทองแล้ว เมื่อนำ หรือเราจะรู้สึกและบอกกับตัวเองว่าเราคงแพ้หรือสู้ไม่ได้แล้ว เวลาจะหมดแล้ว เมื่อคะแนนเป็นรองหรือตามคู่ต่อสู้ เพราะสิ่งที่ทำให้เรานำหรือตามที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาเป็นจุดสำคัญเริ่มต้น การแพ้หรือชนะที่แท้จริงคือวิธีการเล่นที่ถูกต้อง/ไม่ถูกต้อง เหมาะสม/ไม่เหมาะสม ร่างกายที่พร้อมและจิตใจที่เข้มแข็ง/ไม่แข็งแรง สามารถควบคุมอารมณ์มากกว่า เพราฉะนั้นแม้จะมีเวลาเหลืออีกเพียง 5 หรือ 7 วินาที ถ้าเรายังคงอยู่กับวิธีการที่ถูกต้อง ตามที่ได้ฝึก ได้เตรียมมา โอกาสของการทำแต้มได้ก็จะเกิด และนั่นคือสิ่งที่มีผลต่อการเล่นตลอดเวลาการแข่งขัน รวมทั้งเวลาที่เหลือด้วย ตัวอย่างนี้ก็ได้เกิดให้เห็นชัดเจนแล้ว จากการแข่งขันโอลิมปิคที่ Rio ในปี 2016 และในครั้งนี้ (2020) ที่น้องเทนนิสแพ้ใน 5 วินาทีสุดท้าย และชนะใน 7 วินาทีสุดท้าย

ดังนั้นคนที่ทำแต้มนำ ก็ไม่ควรประหมาท อย่าชะล่าใจ หรือหลุดออกไปจากวิธีการเล่นของตัวเอง เพราะคิดว่านำแล้ว ชนะแน่ ขณะที่คนตามก็ต้องไม่ยอมแพ้ และไม่บอกตัวเองว่าไม่ไหวแล้ว สู้ไม่ได้ เมื่อตามและเวลาใกล้หมด นักกีฬาที่เก่งๆมีหลักการในการคิดในสถานการณ์แบบนี้ได้ดี และยังคงอยู่กับวิธีการของการเตรียมการ เตรียมใจและทักษะจนกว่าจะหมดเวลาจริงๆ ไม่ว่าจะนำหรือตาม

การเล่นกอล์ฟก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะนำ หรือตามอยู่กี่สโตรก นักกีฬาก็ยังต้องมุ่งมั่นและอยู่กับการเล่น การจัดการร่างกาย จิตใจเป็นสำคัญ ประเด็นนี้ยังมีหลักการที่สอดรับที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของโอลิมปิคด้วยว่า การแข่งขันในกีฬาโอลิมปิคนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลแพ้ชนะ แต่มุ่งที่การมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือ ต้องเล่นอย่างเต็มความสามารถ (เล่นอย่างเต็มความสามารถในทุกครั้ง หมายถึง เตรียมตัวดี อบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดดี Routine ดี คิด รู้สึกและควบคุมอารมณืได้ดี อดทน สงบ ฯ)

อีกประเด็นที่จะฝากไว้ในครั้งนี้ครับว่า ทุกหลุมมีความสำคัญหมดในการเล่นกอล์ฟ หลายคนคิดเผินๆว่า หลุมท้ายๆหรือหลุมที่ 18 คือหลุมที่สำคัญที่สุด เพราะนั่นคือหลุมที่ทำให้เรารู้ว่าแพ้หรือชนะ เดือนหน้าเรามาคุยกันถึงเรื่องนี้ต่อครับ และอย่าลืมที่จะเชียร์นักกีฬาไทยให้ได้แสดงความสามารถทุกครั้งที่ลงเล่น ไม่ใช่หวังอย่างเดียวว่าจะได้เหรียญรางวัลหรือเปล่า

ดูแลสุขภาพ ด้วยการเล่นกอล์ฟหรือออกกำลังกายที่บ้านในช่วงของการระบาดอย่างหนักหน่วงของโควิด 19 กันทุกท่านครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย