Interview

วุฒิรัฐ มณีอินทร์

“โปรก้อง” วุฒิรัฐ มณีอินทร์
หัวหน้าผู้ฝึกสอน พีจีเอ จูเนีย์ กอล์ฟ แคมป์

Lucky Boy :

ผมอยู่ในวงการกอล์ฟมาประมาณ 22 ปี เริ่มเป็นโปรมาตั้งแต่ตอนนั้น ได้ใช้กอล์ฟเป็นอาชีพ เราออกมาเล่นกอล์ฟทุกวัน ได้อยู่กับคนรักกีฬาชนิดเดียวกัน ได้ทำงานเกี่ยวกับกอล์ฟมาตลอด ผมถือว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีมาก ๆ ที่ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ ได้ทำงานที่ตัวเองรัก

ซานดิเอโก้ กอล์ฟ อะคาเดมี :

ผมเรียนที่ กรุงเทพคริสเตียน ตั้งแต่ ป. 1 จนถึง ม. 3 แล้วไปต่อ ม.ปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดม ส่วนระดับอุดมศึกษา เข้าเรียนคณะการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้า, ตอนนั้นสนามกอล์ฟในเมืองไทยเริ่มมีเยอะขึ้นแล้ว ธุรกิจสนามกอล์ฟกำลังบูม คิดว่า ถ้าเลือกไปเรียนต่อทางด้านกอล์ฟโดยตรง แล้วจบมาทำงานสายอาชีพด้านกอล์ฟ ก็คงมีงานทำแน่นอน เลยตัดสินใจไปที่ ซานดิเอโก้ กอล์ฟ อคาเดมี เมืองซานดิเอโก้ รัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริกา ได้เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นการสอนกอล์ฟ, การซ่อม การสร้างไม้กอล์ฟ และอุปกรณ์, การจัดการงานในสนามกอล์ฟ, การเป็นทัวร์โปร จะเล่นยังไง, จะเป็นผู้ออกแบบสนาม, เป็นผู้จัดการ, หรือทำงานกับบริษัทออกแบบก่อสร้างสนาม เรียกว่าเรียนทุกอย่างครบวงจร พอเรียนจบแล้ว ผมก็เรียนต่อปริญญาโทอีกใบ ในเรื่อง การจัดการ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกันได้

ทำงานตรงสาย :

พอเรียนจบ กลับมาประเทศไทย คุณพ่อบอกว่าไม่ต้องช่วยงานท่านอะไรหรอก มีคนช่วยเยอะแล้ว ให้ไปหางานข้างนอกเองได้เลย ผมก็เริ่มเข้าสนามซ้อมกอล์ฟ พอดีมีโค้ชอยู่ที่นั่น แล้วผมก็เล่นในทัวร์แข่งขันด้วย ทั้งไปซ้อมและไปสอนผู้มาเรียนกอล์ฟ แต่เงินรางวัลสมัยก่อนค่อนข้างน้อย ถ้าไม่สอนกอล์ฟก็คงอยู่ไม่ได้ เราต้องมีทุนและหาเลี้ยงชีพไปด้วย ซึ่งนับว่าอยู่รอดได้ เพราะยุคนั้น เพื่อนจบปริญญาโทมา ทำงานมีเงินเดือนหมื่นห้า ขณะที่เราสอนกอล์ฟเดือนแรก ได้สามหมื่นกว่าแล้ว รู้สึกว่ามาถูกทาง สามารถใช้ชีวิตเป็นนักกอล์ฟอาชีพได้ เริ่มเทิร์นโปร แข่งขัน ควบคู่กับการสอนกอล์ฟมาตลอด และเริ่มเข้าไปทำงานกับบริษัทอุปกรณ์กอล์ฟ ก่อนไปอยู่เกาะสมุย เป็นเฮดโปรของสนาม, จัดการแข่งขันอยู่กับสมาคมกอล์ฟอาชีพ, ทำงานกับบริษัทก่อสร้างกอล์ฟ แต่ทุกที่ ที่ไปทำงาน ผมไม่เคยหยุดสอนกอล์ฟ ตอนเย็นหลังเลิกงานประจำ มีใครมาขอให้สอนก็สอน เพราะรู้สึกสนุก ผูกพัน และสะสมประสบการณ์ด้านการสอนกอล์ฟมาตลอด

ไทยเบฟฯ :

ไทยเบฟฯ (ช้าง) เข้ามาเป็นสปอนเซอร์กับ ไทยพีจีเอ โดยผมรับหน้าที่เป็น ทัวร์นาเมนต์ ไดเรคเตอร์ ผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน จึงได้ร่วมงานกันตั้งแต่นั้น, เราสามารถให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาให้ได้ในทุก ๆ เรื่อง เพราะเป็นสิ่งที่ผมเรียนมาโดยตรงด้วย และมีประสบการณ์จริงมาด้วย ทำให้มีโอกาสสร้างโปรแกรมจูเนียร์ ร่วมกัน ชื่อ ไทยแลนด์ จูเนียร์ กอล์ฟ เซอร์กิต, ไทยแลนด์ จูเนียร์ กอล์ฟ คลินิก โดย ช้าง ได้เชิญ โค้ช ‘เชน เกลเลสพี’ จาก พีจีเอ ทัวร์ อะคาเดมี เข้ามาให้การอบรม โดยผมได้ทำงานควบคู่กันมาตลอดตั้งแต่เริ่ม เราได้เรียนรู้จากเขา เขาก็ได้เรียนรู้จากเราด้วยเช่นกัน ทำให้เขาเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ทำให้โครงการฯ ก้าวหน้าไปด้วยดี

ช้าง พีจีเอ จูเนียร์ กอล์ฟ แค้มป์ :

เมื่อสิบปีที่แล้วได้เริ่มโครงการฯ ขึ้น ขณะนั้นเด็กนักกอล์ฟที่มีฝีมือชั้นแนวหน้า เล่นอยู่ใน ทีจีเอ (สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, Thailand Golf Association), ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ได้ถูกเลือกไว้อยู่แล้วว่า จะขึ้นไปเล่นทีมชาติ แต่ก็มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในอันดับต้น ๆ หนึ่งถึงสาม อาจจะอยู่รอง ๆ ลงไป แต่มีทักษะสามารถพัฒนาได้ สิ่งที่ ไทยเบฟฯ ให้ก็คือ เราคัดเลือกนักกอล์ฟ จากทั่วประเทศ 50 อันดับแรก ของแต่ละภาค โดยการเล่นใน ช้าง จูเนียร์ ไทยแลนด์ กอล์ฟ เซอร์กิต แล้วนำมาเข้า กอล์ฟแค้มป์ โดยแบ่งเป็น 4 เลเวล ตั้งแต่ Fundamental ขั้นพื้นฐาน, How to Practice, How to Play เรื่องของ Mental Game Course, Management การออกกำลังกาย, การกินอาหาร, การใช้ชีวิตร่วมกันภายในแค้มป์ ฯลฯ ในหนึ่งแค้มป์ ก็จะมีเด็ก 30 คน ปีนึงมี 4 แค้มป์ 120 คน ยังไม่รวมของปีที่ผ่าน ๆ มา ที่จะร่วมสมทบเข้าไปอีก ทำให้มีเด็กหมุนเวียนอยู่โครงการฯ ประมาณ 200 คน, เด็กที่ผ่านการอบรมจะสามารถทำความเข้าใจในสิ่งที่สอน นำไปฝึกซ้อม และ ได้มิตรภาพ จากการใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในแค้มป์ ทำให้ทุกคนได้เป็นเพื่อนกัน เติบโตไปด้วยกัน

เทคนิคการสอนกอล์ฟ :

ยุคสมัยเปลี่ยนไป การสอนกอล์ฟก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย สมัยเรียนที่ซานดิเอโก้ ทฤษฎีกอล์ฟก็เป็นแบบหนึ่ง ห้าปีผ่านไปมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยน อุปกรณ์ต่าง ๆ มีการพัฒนาขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง Ball Flight Laws เมื่อก่อน เชื่อกันว่า 9 Ball Fligths ลูกกอล์ฟจะออกไปตามพาร์ท แล้วจะเลี้ยวตามหน้าไม้ แต่หลังจากมีเครื่องวัดวิถีของลูกกอล์ฟอย่าง TRACKMAN ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ลูกกอล์ฟ จะออกไปตามหน้าไม้ก่อน (Cupface) แล้วถึงจะเลี้ยวไปตามแนววิถีของไม้ (Path) ซึ่งตรงกันข้ามกัน ซึ่งถ้าไม่มีเครื่อง Lunch Moniter ที่เป็น ระบบ เรดาห์ ก็คงไม่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้ เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า คนก็ยังจะเชื่อผิด ๆ เพราะฉะนั้น การสอนกอล์ฟในเมืองไทย โปรยุคเก่าหน่อย ก็จะสอนด้วยวิธีเดิม ส่วนโปรยุคใหม่ ที่มีความเข้าใจเรื่องพวกนี้ ก็จะสอนอีกวิธีหนึ่ง คือการบังคับหน้าไม้ก่อน แล้วถึงจะเป็นเรื่องแนววิถีของไม้ แบบนี้จะทำให้กอล์ฟเล่นได้ง่ายขึ้น ใส่แรงเข้าไปได้มากขึ้น การได้รู้ข้อเท็จจริงจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ทุกอย่างถูกพัฒนาไปข้างหน้าได้ ฉะนั้น เราจึงต้องติดตามและค้นคว้า เพื่อนำนวัตกรรม และเทคนิคการสอนใหม่ ๆ มาใช้สอน ให้ทันยุคทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

กิจกรรมเพื่อการพักผ่อน :

ถึงแม้ว่า การใช้กอล์ฟเป็นอาชีพ จะถือว่าโชคดีมาก ๆ ที่ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก, บางคนทำงานออฟฟิศ ได้แต่อยู่ในห้อง ถึงเวลาได้ออกมาเล่นกอล์ฟกันบ้าง ก็เป็นการพักผ่อนที่ดีมาก ๆ แต่อะไรก็ตามที่ทำจนรู้สึกชินชาอยู่เรื่อย ๆ มันก็ย่อมมีโอกาสเครียดบ้างเหมือนกัน และเพราะทำงานอยู่กับกอล์ฟ ผมเลยชอบกีฬากลางแจ้ง บางครั้งที่อยู่กับกอล์ฟจนรู้สึกว่าเริ่มมีความเครียด ก็อาจจะไปตั้งแค้มป์ ขี่มอเตอร์ไซด์ ลงเรือ ตกปลา เป็นการพักผ่อน เพื่อจะได้มีแรงกลับมาทำงานที่ตัวเองรักต่อไป

การศึกษาสำคัญที่สุด :

ผมมีความเชื่อว่า ‘ดินสอ ต้องเหลาให้แหลม ถึงจะเขียนหนังสือได้สวย’ เพราะฉะนั้น การศึกษา ต้องควบคู่ไปกับกีฬา ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองในอนาคตเพิ่มขึ้น เผื่อวันใดวันหนึ่ง หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น จนไม่สามารถใช้ร่างกายเพื่อการเล่นกอล์ฟได้อย่างเต็มที่ ก็ยังมีทางเลือกที่สอง มีแผนสำรอง และเมื่อมีการศึกษาควบคู่กันไป ยิ่งจะทำให้สามารถนำหลักการคิด หลักการจัดการ จากการเรียนหนังสือ มาจัดการในกีฬากอล์ฟ หากเด็กคิดได้เร็ว ชีวิตก็ไม่ลำบาก นั่นคือ ต้องมีการเรียน เพื่อจะได้พาให้เด็กเหล่านั้น มีความคิด นำความรู้ที่เรียนไป มาต่อยอดได้ เพราะความสำเร็จในกีฬากอล์ฟ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการเล่นแค่เพียงอย่างเดียว ยังมีงานที่เกี่ยวข้องให้ทำอีกมากมาย ซึ่งก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น เราควรจะต้องรู้จัก ‘เหลาดินสอให้แหลม’ อยู่อยู่ตลอดเวลา

ช่วยกันส่งเสริมกอล์ฟให้เป็นระบบ :

กีฬากอล์ฟ ทุกวันนี้เกิดการ หดตัว คนเล่นหน้าใหม่ลดจำนวนลง, ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นกันทั้งโลก อย่างในอเมริกาเอง ก็เจอปัญหานี้เช่นกัน เพราะเด็กรุ่นใหม่ติดโซเชียล ใช้มือถือมากขึ้น อยู่หน้าคอมพิวเตอร์มากขึ้น และยังมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ทำให้หลายคนอาจจะคิดว่า ไม่เห็นจะต้องไปเป็นนักกีฬา ก็สามารถสร้างรายได้เหมือนกัน ทำให้กีฬามีการหดตัว, ดังนั้น การจะให้เด็กเล่นกอล์ฟ หรือเล่นกีฬาใด ๆ ควรจะทำให้เขารักกอล์ฟด้วยความเต็มใจ ปลูกฝังเรื่อง ความรักในกีฬา เล่นกีฬาด้วยความสนุก มีความสุข แต่ก็ต้องเรียนรู้ กฎกติกา มารยาท เล่นกอล์ฟอย่างถูกต้อง จึงควรไปหาโปร หาโค้ช ที่มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อจะได้เล่นกอล์ฟอย่างยั่งยืน ทำให้เขามีเพื่อน มีสังคมกอล์ฟที่ดี เช่น พาไปแข่งในทัวร์นาเมนต์ พาไปเล่นด้วยกัน ออกรอบด้วยกัน เมื่อลูกชอบกีฬาพ่อแม่ก็สบายใจ ยิ่งได้เห็นลูก ๆ มีกิจกรรมที่ดี และอยู่ในสายตาว่า ได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเด็กในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังอาจจะเป็นอนาคตที่สดใสสำหรับเด็กในอนาคตข้างหน้าด้วยครับ